นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลก สงครามทางการค้า และหนักยิ่งขึ้นจากผลกระกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมต้องตกอยู่ในภาวะลำบาก
หนึ่งในนั้น คือ ‘การส่งออก’ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดย ‘คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ได้อัปเดตให้ฟังว่า โควิด-19 ได้ฉุดเศรษฐกิจและส่งออกทั่วโลกให้มีแนวโน้มหดตัวอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เห็นได้จากการส่งออกในหลาย ๆ ประเทศล้วนอยู่ในภาวะติดลบ
อาทิ จีน ภาพรวมใน 5 เดือนแรกปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม) การส่งออก -7.7% เฉพาะเดือนพฤษภาคม -3.3%, สหรัฐอเมริกา ฯ ใน 5 เดือนแรกของปีนี้การส่งออก -15.4% เฉพาะเดือนพฤษภาคม -36.7%, ญี่ปุ่น ภาพรวมใน 5 เดือนแรกของปีนี้ -13.1% เฉพาะเดือนพฤษภาคม -28.3%, สิงคโปร์ ภาพรวมใน 5 เดือนแรกของปีนี้ -8.5% เฉพาะเดือนพฤษภาคม -23.9%
ขณะที่ ‘ไทย’ แม้จะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ และเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวมไปถึงการบริโภคในประเทศ แต่จากการที่ในหลายประเทศยังควบคุมไม่ได้ ก็ส่งผลให้การส่งออกของไทย ใน 5 เดือนแรกของปีนี้ – 3.7% มีมูลค่า 97,899 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเฉพาะเดือนพฤษภาคม – 22.5% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี
“ส่งออกครึ่งปีหลังมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น มีการติดลบน้อยลงจากข่าวดีเรื่องวัคซีน โดยเซ็กเตอร์ที่เป็นความหวังของไทย คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นเล็ก อาทิ รถจักรยานยนต์ส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ, เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ฯลฯ กลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ไก่สดสุกรสดแช่แข็ง ผลไม้แช่แข็ง อีกกลุ่ม เป็นกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ชิ้นส่วนเล็ก ๆ เช่น ชิป ฯลฯ เนื่องจากมีดีมานต์ของตลาดต่อเนื่อง”
ผลกระทบ ‘โควิด-19’ หนักกว่าทุกวิกฤติ และกลุ่ม SMEs น่าห่วง
สำหรับผลกระทบของโควิด-19 ต่อการส่งออกนั้น คุณพิศิษฐ์ กล่าวว่า มีความรุนแรงอย่างไม่เคยมีวิกฤติใดทำมาก่อน เพราะโดนทุกธุรกิจไม่ว่าจะ ‘ใหญ่’ หรือ ‘เล็ก’ และทุกธุรกิจมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มละลายหรือปิดกิจการ ซึ่งบริษัทผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศได้ประเมินว่า จะมีธุรกิจล้มละลายราว 2 ล้านล้านบาท มากกว่าภาวะปกติถึง 2-3 เท่า
ขณะที่วิกฤติต้มยำกุ้ง ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหลัก ๆ จะเป็นกลุ่มที่กู้เงินจากต่างประเทศ และเก็งกำไรจากอสังหาริมทรัพย์ ส่วนกลุ่ม SMEs ที่ถือรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ สสว. พบว่า SMEs ของไทยมีอยู่กว่า 3 ล้านราย คิดเป็น 99% ของผู้ประกอบการทั้งหมด มีมูลค่า 43% ของ GPD และสร้างงานถึง 85% ของการจ้างงานทั้งระบบ ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้งมากนัก
“ภาวะแบบนี้ขนาดธุรกิจไม่สำคัญ ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็มีสิทธิ์ไม่รอด แต่กลุ่ม SMEs น่าห่วงสุด เพราะมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างทั้งเงินทุน, ความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัว โดยเฉพาะ SMEs ใน 3 กลุ่มนี้ ได้แก่ กลุ่มที่ผลิตสินค้ารูปแบบเดิม ๆ และเป็นสิ่งที่สามารถประหยัดได้ เช่น ของประดับบ้าน, เสื้อผ้า ฯลฯ
กลุ่มที่ผลิตสินค้าที่มีความจำเป็น แต่สามารถยืดอายุการใช้งานหรือการซื้อได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ และกลุ่มที่ผลิตสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน หรือสินค้าเพื่อตอบสนองความสุขส่วนตัว เช่น รถยนต์, โรงแรม และเครื่องประดับ ฯลฯ ที่ตอนนี้ดีมานต์ของผู้บริโภคและตลาดลดลงเป็นอย่างมาก”
EXIM BANK เร่งช่วยเหลือแบบเชิงรุกและต่อเนื่อง
อย่างที่บอกโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบที่รุนแรง อีกทั้งยังเกิดขึ้นกับธุรกิจทุกขนาดและทุกประเภท เรียกได้ว่า โดนหมดแบบถ้วนหน้า ซึ่งในฐานะ EXIM BANK มีบทบาทเป็น ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาลูกค้า SMEs ให้เป็นผู้ส่งออก’ ได้มีมาตราการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อฝ่าวิกฤตินี้แบบเชิงรุกและต่อเนื่อง โดยแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มลูกค้าของ EXIM BANK ได้มีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และหากลูกค้าที่ยังมีความสามารถในการชำระหนีได้ต้องการวงเงินเพิ่ม ก็พร้อมช่วยเหลือ ฯลฯ
- กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ EXIM BANK หากเป็น SMEs ที่มีการส่งออก มีวงเงินให้ตามเอกสารที่มีการส่งออก และมีโปรแกรมสินเชื่อสำหรับ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อให้เป็นเงินหมุนเวียน เป็นต้น
นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา ทาง EXIM BANK ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 4,100 ราย คิดเป็น 13% ของผู้ส่งออกทั้งประเทศ ด้วยวงเงินรวมกว่า 50,000 ล้านบาท และเมื่อเดือนกรกฏาคม 2563 ยังได้ออกสินเชื่อ ‘เอ็กซิมเสริมไทยแกร่ง’ เน้นช่วยเหลือ SMEs 3 กลุ่ม ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 สงบ ได้แก่ กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ, กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูป และกลุ่มเครื่องสำอาง สินค้าดูแลสุขภาพ มีวงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 4.75%
พร้อมกับสนับสนุนการบริหารความเสี่ยงทางการค้า ด้วยการให้บริการวิเคราะห์ความเสี่ยงของผู้ซื้อและธนาคารของผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่า คู่ค้าในต่างประเทศมีความน่าเชื่อถือ มีการได้ขยายเงื่อนไขระยะเวลาการคุ้มครองการรับประกันเป็น 270 วัน, บริการประกันการส่งออกสำหรับ SMEs (EXIM for Small Biz) ที่ใช้เวลาในการอนุมัติเร็วเพียง 5 วันทำการ ฯลฯ
ส่วนครึ่งปีหลัง เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งบริการประกันการส่งออกสำหรับ SMEs ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี หรือจ้างงานไม่เกิน 50 คน วงเงินผู้ซื้อ 100,000-500,000 บาท วงเงินรับประกันสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย, ‘สินเชื่อเอ็กซิมเสริมทุนธุรกิจขนาดกลาง’ วงเงินสูงสุด 80 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ต่อปี และ ‘สินเชื่อเอ็กซิมเสริมไทยเก่ง’ เงินทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ส่งออก SMEs ในกลุ่มเกษตรอาหาร และเครื่องสำอาง วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 4.75% ต่อปี, ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 4% ต่อปี กรณีส่งออกไปประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม), โครงการอบรมผู้ประกอบการให้เป็นผู้ค้าออนไลน์และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออก
พัฒนาศักยภาพ ผ่าน ‘ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า’
อย่างไรก็ตาม ด้วยโจทย์ของ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ที่ต้องการให้ SMEs ไทยที่ส่งออกมีความพร้อมและความแข็งแกร่งก่อนจะไปบุกตลาดต่างประเทศ เพื่อให้เมื่อออกไปแล้ว จะได้ประสบความสำเร็จกลับมา
นอกจากให้เงินทุนแล้ว ทาง EXIM BANK จึงต้องการพัฒนาศักยภาพในหลาย ๆ ด้านให้กับกลุ่ม SMEs ทั้งการบริหารจัดการ, นวัตกรรม รวมไปถึงความรู้เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ ด้วยการจัดตั้ง ‘ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า’ (EXAC : Excellence Academy) ในรูปแบบ One Stop Service เน้นสนับสนุนและเติมเต็มใน 3 ด้านหลัก คือ สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน, การสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้าระหว่างประเทศ และให้ข้อมูลตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการทำธุรกิจส่งออก
เริ่มตั้งแต่กระบวนการส่งออกเป็นอย่างไร การจัดเตรียมเอกสารสำหรับการส่งออก คำแนะนำในเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ต้องระมัดระวังสำหรับผู้ส่งออก และช่วยหาตลาดใหม่ ๆ ซึ่งการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาคมพ่อไทยในประเทศต่าง ๆ
นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าได้พัฒนาระบบการประเมินความพร้อมในการส่งออกไทย (Thailand Export Readiness Assessment & Knowledge Management) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า TERAK (ที่รัก) by EXIM เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ประกอบการได้วิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งธุรกิจของตนเองในเชิงลึก สำหรับวางแนวทางปรับปรุงธุรกิจอย่างมีขั้นตอน และเชื่อมโยงโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการส่งออกจากหลายหน่วยงานไว้ในที่เดียว
“เรามีศูนย์ EXAC แต่เราไม่รู้ SMEs อยู่ระดับไหน ต้องการการพัฒนาแบบไหน ถึงได้มีการเปิดตัว TERAK ออกมา ให้ผู้ประกอบการกรอกข้อมูลประเมินตัวเอง ให้รู้ว่า เราจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เช่น จัดคอร์สอบรมที่หากเป็นคอร์สของ EXIM BANK ก็สามารถเข้าร่วมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย”
โดย TERAK by EXIM จะเริ่มเปิดให้ใช้งานได้ครั้งแรกในงานสัมมนา The Exporter Forum วันที่ 5-7 สิงหาคม 2563 ซึ่งภายในงานสัมมนาผู้ประกอบการจะพบกับการแชร์ประสบการณ์จากผู้บริหารและนักส่งออกมืออาชีพจากบริษัทชั้นนำของประเทศ ตลอดจนบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกทั้งด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการวางแผนการเงินทางธุรกิจ
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย, สสว., ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง ทำ ‘โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน’ วงเงินโครงการ 450 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs ที่ทำการค้าระหว่างประเทศมีความรู้ด้านการบริหารจัดการ, มีประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ
โดยผู้เข้าร่วมโครงการ จะต้องรับการอบรมและตอบประเมินความเหมาะสมของลูกค้า (Client Suitability) เพื่อได้รับการจัดสรรวงเงินจำนวน 100,000 บาทต่อราย แบ่งเป็นค่าธรรมเนียม FX options 80,000 บาท และค่าธรรมเนียมการค่าระหว่างประเทศ (Trade Related Fees) ส่วนผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- เป็นเจ้าของกิจการ/ผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงิน/เจ้าหน้าที่การเงินที่ทำธุรกรรมกับธนาคาร
- เป็นสมาชิกของ สสว.
- เป็นผู้ส่งออก/นำเข้าที่มีรายได้หรือยอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี (กรณีธุรกิจการผลิต) หรือรายได้หรือยอดขายไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี (กรณีธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก/บริการ)
“อัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการส่งออกต้องคำนึงถึง เพราะถือเป็นอีกความความเสี่ยงสำคัญของการทำธุรกิจ และปัจจุบันมี SMEs เข้าใจเรื่องนี้เพียง 30% ซึ่ง EXIM BANK ต้องการเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น”
การดำเนินการทั้งหมด ทาง คุณพิศิษฐ์ ย้ำว่า เป็นการ ‘อาวุธ’ ให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความพร้อมและแข็งแกร่งก่อนจะไปบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นสนามที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดจากคู่แข่งมากมาย เพราะหากทำได้ ไม่ว่าจะผู้ประกอบการไทยจะไปตะลุยตลาดไหน ก็ไม่จำเป็นต้องกลัว