‘แพง รยา’ GENTLEWOMAN เปิดใจในวันที่ร้านต้องปิดตัวพร้อมกัน 10 สาขา ก่อนที่จะก้าวมาเป็น It Brand ที่สาวๆ ต้องมี

  • 312
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ธุรกิจแฟชั่นเป็นธุรกิจที่ทำเงิน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คุณจะก้าวมายืนอยู่แถวหน้าได้ เพราะเป็นธุรกิจที่มาเร็วไปเร็ว และต้องเดาใจเดาทางความต้องการผู้บริโภคได้ถูกที่ถูกเวลาเสียด้วย ซึ่งนี่เป็นเรื่องยากที่สุดที่ทำให้หลายแบรนด์แฟชั่นติดกับดัก

แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นสาวๆ มากมายต่างหิ้วกระเป๋าแบรนด์หนึ่งเต็มไปหมด จนเราเองก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมความนิยมถึงพุ่งพรวดขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ เป็นแบรนด์ไทยของคนไทยอีกด้วย กระเป๋าแบรนด์แฟชั่นที่เรากำลังพูดถึงเป็นแบรนด์อื่นไปไม่ได้นอกจาก GENTLEWOMAN

เราจึงต้องมาคุยเบื้องหลังการสร้างแบรนด์อย่างไรจนประสบความสำเร็จ ในธุรกิจแฟชั่นที่ต้องผ่านกำแพงหินทั้งจากแบรนด์ในประเทศและต่างประเทศมาได้ จากสาวสวยคนเก่ง แพง–รยา วรรณภิญโญ’ Co-founder GENTLEWOMAN

 

จุดเริ่มต้น

ค่อนข้างเซอร์ไพรส์มากทีเดียว ที่รู้ว่า “คุณแพง” ไม่ได้จบสายแฟชั่นหรือจบทางอาร์ตแต่อย่างใด แต่เธอจบบัญชีมา

“ไม่ได้จบแฟชั่นค่ะ เรียนจบบัญชีที่จุฬาฯ มาค่ะ แล้วก็ทำงานในบริษัทเอกชนทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีอยู่ 2 ปีก่อนที่จะมาเริ่มธุรกิจของตัวเองค่ะ”  

เพราะว่าพอเริ่มทำงานประจำได้สักพักเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่ เลยเริ่มต้นด้วยการขายเสื้อผ้าออนไลน์เอง คู่กับการทำงานประจำ (งานบัญชี) ไปด้วย พอทำคู่กันได้ประมาณ 1 ปีก็ลาออก แล้วมาทำธุรกิจของตัวเองอย่างเต็มตัว

ส่วนจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ เธอเล่าว่าเป็นเพราะส่วนตัวมี pain point ที่ว่าเป็นคนตัวเล็ก หาเสื้อผ้าใส่ไปทำงานยากมาก เพราะว่าเป็นคนตัวเล็ก แล้วเมื่อ 10 กว่าปีก่อนก็ไม่ได้มีแบรนด์คนไทยที่หลากหลายเท่านี้ ตอนนั้นก็เลยให้ช่างประจำที่ตัดชุดให้คุณแม่ตัดชุดให้ใส่ เพื่อนๆ ก็มักจะถามว่าชุดสวยจังซื้อทีไหนยี่ห้ออะไร เราก็บอกว่าไม่นี่ตัดเอง อันนั้นก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบบได้ก้าวมาทำธุรกิจที่เกี่ยวกับแฟชั่น

สาวนักบัญชี กับแพสชั่นด้านแฟชั่น

หลังจากที่ทำธุรกิจของตัวเองมาสักพักก็อยากมีความรู้ด้านบริหารธุรกิจ ทำให้ตัดสินใจไปเรียน MBA ที่ศศินทร์ แล้วก็ตัดสินใจมาเปิดธุรกิจกับหุ้นส่วน ซึ่งก็หุ้นส่วนที่ทำแบรนด์ GENTLEWOMAN ในปัจจุบัน แต่ว่าตอนนั้นเราไม่ได้เปิดแบรนด์เอง ยังเป็นร้านเสื้อผ้าในรูปแบบ Multi-brand ชื่อร้านแคมป์ ทำเหมือนห้างเล็กๆ ที่มีหลายๆ แบรนด์มารวมกัน ซึ่งพอทำได้สักพักเราก็ค่อยมาต่อยอด เป็นแบรนด์ GENTLEWOMAN จนทุกวันนี้

“ชื่อ GENTLEWOMAN ต้องบอกก่อนว่าตอนแรกเราตั้งใจจะทำเป็นแบรนด์แฟชั่นสำหรับกลุ่มคนทำงาน ก็อยากได้ชื่ออะไรที่มันมีความแบบ Empower อยู่ในตัวชื่อนิดนึง คำว่า GENTLEWOMAN มันฟังดูแบบมาจาก Gentleman ใช่ไหม มันก็ดูแบบ Strong หน่อย เพราะฉะนั้นชื่อนี้แหละมันดูสื่อถึงความเป็นแบบผู้หญิงที่มีความมั่นใจ”

ยุคบุกเบิกธุรกิจ โนไอจี โนเฟซบุ๊ก

สิ่งหนึ่งคือ คุณแพง ผ่านมาการทำธุรกิจออนไลน์ในยุคที่โซเชียลมีเดียยังไม่เฟื่องฟูเท่าปัจจุบัน แล้วเธอทำการค้าได้อย่างไร?

“แพงเริ่มต้นธุรกิจในช่วงแรกตั้งแต่ยังไม่มี Instagram แต่ใช้วิธีตอบเมล์เอา ซึ่งมันสอนเราหลายๆ อย่าง หรือแม้แต่การออกบูธเราก็ทำเอง ขนเอง แบกทั้งหุ่นเสื้อผ้าสต๊อกของ ทำเองแทบทุกอย่าง แล้วยังไม่ได้มีแอปเรียกรถอะไรแบบในตอนนี้ด้วยนะ ดังนั้น ทุกอย่างมันสอนเราหมดเลยว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ”

 

อุปสรรคและวิธีเอาชนะ

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ อย่างที่คุณแพงกล่าว เพราะว่าเปิดแบรนด์ GENTLEWOMAN มาได้ปีครึ่งก็ชนกับ ‘โควิด’ เต็มๆ

ตอนนั้นก็กระทบหนักเหมือนกัน เพราะว่าเราเพิ่งเปิดแบรนด์มาได้ปีกว่า ปีครึ่ง เรียกว่ายังจับทิศจับทางไม่ค่อยถูก กำลังแบบคลำ ๆ ทางอยู่ ปรากฏเปิดร้านไปปุ๊บปิดหมดเลย 10 สาขา แต่ว่าก็ถือเป็นโชคดีที่เราเริ่มมีเว็บไซต์ขายออนไลน์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทีมหลังบ้านก็ค่อนข้างพร้อมในการขายออนไลน์ แต่ก็ต้องมีการจัดแจงเอาพนักงานจากหน้าร้านกลับไปอยู่ที่คลังเพื่อไปแบบขายออนไลน์อย่างเดียว ตอนนั้นก็ตกใจเหมือนกัน

แล้วอะไรที่ทำให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตไปได้ คุณแพงบอกว่า “มันคือการปรับตัว” คือเราปรับทั้งทีมเลยทั้งพนักงาน ทั้งหน้าร้าน เราไม่ได้มีให้ใครหยุดทำงาน ทุกคนยังทำงานปกติแต่แค่โอเค. โปรดักส์ไหนที่เราคิดว่ามันขายช่วงปิด Work from Home ไม่ได้จริง ๆ เราก็ยังไม่ขาย เราก็เก็บไว้ก่อน แล้วเราก็ทำโปรดักส์ใหม่ที่รู้สึกว่าคนน่าจะใส่ได้นะ ใส่อยู่บ้าน แคชชวลขึ้นมาหน่อย ชิลขึ้นมาหน่อย เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนได้เห็น โปรดักส์ที่เป็นพวก Logo ของเราเยอะ ๆ ซึ่งจุดนั้นก็ทำให้เราเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น

 

พัฒนาการและคอลเลคชั่น

แน่นอนว่าเรารู้จัก GENTLEWOMAN จากกระเป๋า Tote แต่ปัจจุบันก็มีคอลเลคชั่นใหม่ๆ ลอนช์ออกมามากมาย โดยเฉพาะไลน์เสื้อผ้า คุณแพง เล่าว่า เราจะทำการลอนช์ไลน์เสื้อผ้าใหม่ทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งจะมีตั้งแต่กระเป๋า Tote เสื้อยืด หมวก และสนีกเกอร์ เป็นสิ่งที่คนใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เราจะเรียกสินค้ากลุ่มนี้ว่า GENTLEWOMAN Club

ล่าสุด ก็ออกแบรนด์น้องใหม่ออกมา ชื่อว่า GENTLE LITTLEWOMAN ออกมาด้วย เพราะเรารู้สึกว่า ลูกค้าเราชอบแต่งตัว แล้วก็ด้วยช่วงอายุก็น่าจะพอมีลูกกันบ้างแล้ว เรารู้สึกว่าถ้าคุณแม่ชอบแต่งตัวเขาก็น่าจะอยากแต่งตัวให้ลูกสาวเหมือนกัน อันนี้ก็เป็น Insight จากตัวเองด้วยก็เลยลองทำแบรนด์ลูกสาวขึ้นมา ตอนนี้ก็เรียกว่าผลตอบรับค่อนข้างดีมาก ๆ เลย

เมื่อถามถึงตรงนี้มีแฟนๆ แอบถามว่า จะมีการรีรันคอลเลคชั่นที่หมดไปแล้วหรือไม่เพราะหาซื้อกันไม่ทันจริงๆ คุณแพงให้คำตอบที่หักอกทุกคนว่า ทุกคอลเลคชั่นที่เราออก เราจะไม่รีพีท ถ้าหมดแล้วหมดเลย ไม่ว่าจะขายดี แย่งชิงกันหมดยังไงก็ตามแต่เราจะไม่ทำเพิ่ม (ติดตามอ่านมุมมองทางการเงินของ GENTLEWOMAN เพิ่มเติมที่ The Finverse)

 

บาลานซ์ ดาต้าครีเอทิวิตี้

เห็นแบบนี้ หลายคนอาจจะคิดว่า มีทีมงานกันเยอะแยะมากมาย แต่จริงๆ GENTLEWOMAN ทีมหลังบ้านทำงานกันเพียงแค่ประมาณ 40 คนเท่านั้น โดยในส่วนของงานดีไซน์ต่างๆ คุณแพง เปิดใจว่า ในพาร์ทนี้ปล่อยให้ทีมดีไซน์ได้ออกลวดลายกันเต็มที่เลย ส่วนตัวเองและหุ้นส่วน ซึ่งทุกคนล้วนแต่จบบัญชีกันมาทั้งนั้น ก็จะไม่ค่อยไปแตะมากนักแต่จะดูภาพรวมมากกว่า

“พาร์ทที่เป็นครีเอทิวตี้ เรามีการฟอร์มทีมขึ้นมา แต่ในส่วนการทำงานที่เป็นเรื่องของระบบหรือวิธีคิดวิเคราะห์พวกเราก็จะดูกันอีกที แต่ก็จะบอกน้องๆ ในองค์กรทุกคนว่า มันไม่ใช่แค่ดีไซน์อย่างเดียวนะ ถ้าแบบเราจะขายให้ได้ให้ถูกใจลูกค้าแล้ว เราจะแบบรันยังไงให้มันต่อเนื่องมันต้องดูข้อมูลด้วย ก็เหมือนเอามาเบลนด์กันระหว่างเรื่องของข้อมูลและเรื่องของพาร์ทที่เป็นอาร์ตด้วย”

P-Product สิแน่นอน

อีกจุดที่เรามองว่าเป็นความเจ๋งมากๆ ก็คือเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วแต่ทำการตลาดค่อนข้างน้อย คุณแพงเผยเคล็ดลับว่า จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยลอง Marketing Tools ต่าง ๆ เราก็ใช้เหมือนที่ทุกคนใช้กัน ทั้งยิง Ads เดือนละเป็นแสนเราก็เคยทำ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ สักพักหนึ่ง เราก็มองว่าสุดท้ายแล้ว Marketing ที่สำคัญที่สุดก็คือ “สินค้า” แล้วก็เราออกสินค้าบ่อยมากเราออก Collection ใหม่ทุกอาทิตย์ เพราะฉะนั้นเราเหมือนมีสนามให้ลองตลอด แล้วเราก็พร้อมจะปรับอะไรที่มันถูกใจลูกค้าเราต่อยอดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นพอถึงวันหนึ่ง พอลูกค้าเริ่มกลับมาหาเราเองแบบออร์แกนิค Marketing อะไรหลาย ๆ อย่างก็ถูกลดลงแล้วก็มาให้ความสำคัญกับด้านสินค้าแทน

สินค้ากลุ่ม GENTLEWOMAN Club มันค่อนข้างตะโกนด้วยชื่อแบรนด์อยู่แล้ว มันก็เหมือนโอเคเวลาลูกค้าถือไปไหนมาไหนก็คนก็เห็นว่านี่คือแบรนด์อะไรก็เหมือนจำได้ง่ายและก็ติดตา แพงว่าก็เป็นจุดที่ทำให้แบบลูกค้าทั้งไทยและก็ต่างชาติเขาเหมือนกลับมาดูว่าอันนี้มันแบรนด์อะไรเวลาที่เห็นคนใช้”

 

ปัจจุบันตอนนี้ GENTLEWOMAN มีทั้งหมด 14 สาขา คือ 12 สาขาที่กรุงเทพฯ และ 2 ที่ต่างจังหวัด โดยช่องทางการจำหน่าย เป็นการทำควบคู่กันไประหว่างหน้าร้านและออนไลน์คู่กันมาตั้งแต่แรกเลย

หัวใจสำคัญในธุรกิจแฟชั่น

ถ้าพูดถึงธุรกิจแฟชั่น เป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่ดุเดือดมาก แถมยังต้องแข่งกับเทรนด์แข่งกับความไปเร็วมาเร็วของความชอบอีกด้วย ยังไม่นับว่าที่แบรนด์คนไทยจะต้องแข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติที่โหมกันเข้ามาเปิดตลาดที่บ้านเราอีก อะไรคือสิ่งที่ทำให้ GENTLEWOMAN ยืนอยู่แถวหน้าได้ คุณแพงให้คำตอบว่า จริงอยู่ที่ธุรกิจแฟชั่นแข่งขันกันค่อนข้างสูง แต่ทุกๆ แบรนด์ต่างก็มี Identity ของตัวเองกันอยู่แล้ว แล้วลูกค้าในปัจจุบันก็เปิดกว้างด้านแฟชั่นกันมาก เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มองหรอกว่านี้คือแบรนด์ไทยแบรนด์ต่างชาติ ลูกค้าเขาเลือกเพราะว่าเขาชอบ แบรนด์นี้มันโอเค. มันแมทช์กับเขาหรือเปล่าเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ในวงการได้ก็เพราะว่าเราพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทำอย่างไรให้แบรนด์ของเราคนเห็นแล้วอยากซื้ออยากใส่ อยากถืออยู่ตลอดเวลา อันนี้ต้องไม่หยุด

อีกสิ่งที่สำคัญเลยก็คือ Teamwork ซึ่งสำคัญมากๆ คือเราจะให้คามสำคัญกับเรื่องของ “คน” และ Culture ขององค์กร เพราะฉะนั้นเวลาเราจะเลือกรับคน ๆ หนึ่ง เข้ามาในองค์กรเราเลือกเยอะมาก ต้องดูว่าโอเคเขาทำงานได้ และก็ต้องฟิตกับ Culture องค์กรที่เราสร้างมาจริง ๆ เพราะว่าที่บริษัทจะสื่อสารกันตลอด เวลาประชุมประจำเดือนทุกแผนกจะเข้าหมด น้องทุกคนในออฟฟิศจะรับรู้ว่าตอนนี้สถานการณ์เราเป็นยังไง และเป้าหมายเราจะไปที่ไหน แล้วพอเหมือนทุกคนมองไปที่จุดเดียวกัน มันค่อนข้างช่วยองค์กรให้มัน Drive ไปได้เร็ว

“แพงมองว่าเรา Invest in people เพราะว่าเราคือองค์กรเราขับเคลื่อนได้ด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ อย่างที่บอกเราเลือกคนที่จะเข้ามายาก แต่ว่าถ้าสมมติเขาไม่ฟิตอินอะไรอย่างนี้ เราก็เลือกที่จะตัดออกเลย เพราะเรามองว่าองค์กรเราเคลื่อนได้ด้วยคน เลือกคนที่เหมาะเข้ามาแล้วก็สร้าง Culture องค์กรให้แข็งแรงธุรกิจมันจะไปได้เร็ว”

“คิดแล้วต้องลงมือทำ”

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง คุณแพงแนะว่า อยากให้หาสิ่งที่ชอบแล้วก็รีบลอง อยากให้ทุกคนได้ลงมือทำ อย่าไปยึดติดกับ Comfort Zone มากๆ เพราะโลกในปัจจุบันบางทีมันก็เข้าถึงง่ายมากๆ คนอาจจะรู้สึกว่าไม่อยากออกจากจุดที่สลายอยู่แล้ว ดังนั้นควรได้ออกมาลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งถ้าให้แนะนำจริงๆ คือถ้าคุณมีแพสชั่นกับอะไร ก็ให้ลองทำดูเลย

“เริ่มเร็ว ก็เรียนรู้เร็ว คิดแล้วก็ต้องลองมือทำ อย่าปล่อยผ่านไปโดยไม่ได้ทำอะไรเลย”


  • 312
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!