ต้องยอมรับว่า กระแสสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา มีความร้อนแรงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) หลายแห่งที่ให้ความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการออกเหรียญโทเคนดิจิทัล (Digital Token) มากขึ้น กับเทรนการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ขยายตัวไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค พร้อมทั้งตอบสนองขยายฐานกลุ่มคนรุ่นใหม่ และสร้างรายได้ของกิจการให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยหลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ออกเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล
นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth และเลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ได้เล่าให้ทีมงานฟังว่า ปัจจุบันการออกเหรียญโทเคนดิจิทัลจากบริษัทจดทะเบียนมองออกได้ 2 แบบด้วยกัน โดยแบบแรกบริษัทจดทะเบียนออกมาเพื่อเป็นการชิมลางหรือทดลองตลาดก่อน และเป็นการเสริมธุรกิจที่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ที่มีการออกเหรียญของตัวเองแต่ยังมีข้อจำกัดที่สามารถใช้ได้แค่พนักงาน อาจจะยังไม่ได้มีสีสันมากนัก ลูกเล่นมีไม่เยอะ
ขณะที่แบบที่ 2 บริษัทจดทะเบียนออกมาเพื่อสร้าง New S-Curve หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใหม่ในอนาคต ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการต่อยอดทางธุรกิจที่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น กรณี บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ออกเหรียญ “Popcoin” โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาต่อยอดธุรกิจคอมเมิร์ซ และธุกิจสื่อบันเทิง เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้จากการออกเหรียญโทเคนดิจิทัล และเป็นการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
ด้านความเสี่ยงของการออกเหรียญโทเคนดิจิทัลเฉพาะในประเทศ แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลักคือ
1. เหรียญคริปโตส่วนใหญ่เป็นเหรียญที่สามารถซื้อขายกันได้ทั่วโลก อย่างเช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) หรือ BTC , อีเธอร์เรียม (Ethereum) หรือ ETH ที่คนทั้งโลกซื้อขายได้ แต่หากเป็นเหรียญโทเคนดิจิทัลที่อยู่แต่ในเมืองไทย ย่อมมีความเสี่ยงเรื่องของสภาพคล่องในการซื้อขาย เพราะจำกัดแค่คนไทยเท่านั้น ทำให้กลุ่มคนที่ซื้อขายมีจำนวนไม่มาก หากเทียบกับการซื้อขายในตลาดหุ้น
2. ความเสี่ยงในเรื่องของปัจจัยของตัวเหรียญเอง เหมือนกับการลงทุนในหุ้น อย่างเช่น หุ้นบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ก่อนหน้านี้มีการประกาศแผนลงทุนในไตรมาสก่อนไว้ แต่ไม่สามารถทำตามแผนที่ประกาศได้จริง ส่งผลให้ราคามีการเทขายออกมา เช่นเดียวกับเหรียญดิจิทัลหากบริษัทมีการประกาศว่าจะมีพาร์ทเนอร์เข้าร่วม แต่พอระยะผ่านไปไม่สามารถทำตามที่แจ้งไว้ ก็อาจจะเกิดแรงเทขายได้เช่นกัน และ
3. มีความเสี่ยงเรื่องกฎหมาย ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงเป็นอันดับต้น ๆ ของคริปโต แม้ ก.ล.ต.มีการออกกฎหมายมารองรับกับเจ้าของธุรกิจ และหากไม่มี Use Case หรือการออกเหรียญแบบไม่สามารถใช้ได้จริง ก็อาจจะเกิดความเสียหายกับประชาชนได้ เหรียญนั้นต้องสามารถนำมาใช้ได้จริง ยกตัวอย่าง Use Case เช่น JFin Coin ของบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทในกลุ่ม Jaymart ที่ต้องการระดมทุนผ่าน ICO (Initial Coin Offering) หรือเป็นการเสนอขายเหรียญดิจิทัลครั้งแรกแก่ประชาชนที่สามารถนำเหรียญไปแลกมือถือในเครือของ Jaymart เช่นโทรศัพท์มือถือ
ขณะที่เหรียญ KUB ของ Bitkub สามารถนำไปซื้อ NFT (Non-Fungible Token เป็น คริปโตเคอร์เรนซี่ประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ แต่ละเหรียญมีความแตกต่าง มีมูลค่าที่ไม่เท่ากัน) ได้ แบบนี้ถือว่า มี Use Case แต่หากเป็นเหรียญที่ออกมาลอย ๆ ไม่มี Use Case แบบนี้คืออันตรายนักลงทุนต้องพิจารณาให้ดี
สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ที่ออกเหรียญโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ปัจจุบันมีอยู่ 4 บริษัทคือ
1.บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ออกเหรียญ JFIN Coin เพื่อใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในเครือ JMART ซึ่งบริษัทคาดว่าการนำ JFIN COIN มาใช้ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
2.บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ออกเหรียญ Popcoin ต่อยอด Entertainmerce สมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์ม ด้วย Blockchain Technology เพื่อใช้ใน Ecosystem ของบริษัทในการซื้อสินค้าและบริการ
3.บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MVP ออกเหรียญ MVP coin ที่เป็นโทเคนดิจิทัลพร้อมใช้ หรือ utility token เป็นรูปแบบคล้ายคูปองดิจิทัล แทนเงินสด เพื่อนำไปแลกซื้อสินค้าและบริการในเครือของบริษัท
4.บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ออกเหรียญ P COIN ที่เป็นเหรียญ Utility Token โดยมี บริษัท พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น จำกัด บริษัทลูกที่ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์สมัยใหม่แบบครบวงจร และเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีนี้
ขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ที่ประกาศแผนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล พบว่ามีจำนวน 12 บริษัท ดังนี้
1.บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA
2.บริษัท โคแมนซี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ COMAN
3.บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA
4.บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI
5.บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS
6.บริษัท เอเจ แอควานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA
7.บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN
8.บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT
9.บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF
10.บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF
11.บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BROOK
12.บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ตั้งบริษัทย่อยลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.ล.ต.
ส่วนบริษัทรับชำระค่าสินค้า และบริการ ผ่านสกุลเงินคริปโต มีจำนวน บริษัท 5 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI
2.บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN
3.บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI
4.บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW
5.บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR
บริษัทที่ทำหน้าให้คำปรึกษาทางการเงิน มีจำนวน 4 บริษัท
1.บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร ทั้งผู้ค้าโทเคนดิจิทัล นายหน้าโทเคนดิจิทัล ICO Portal นายหน้าคริปโทฯ และผู้ค้าคริปโทรายแรกของไทย กับ แสนสิริ ในการลงทุนสิริฮับ (SiriHub Investment Token)
2.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ถือหุ้นสัดส่วน 51% ใน Bitkub Online ผู้ให้บริการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล
3.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK บริษัทย่อย Kubix ได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ขณะที่อีกหนึ่งบริษัทย่อย beacon เข้าลงทุนในคริปโตมายด์ กรุ๊ป
4.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จับมือ Binance ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นเทรนด์การเงินแห่งโลกอนาคตที่กำลังมาแรง แต่ต้องไม่ลืมว่า สินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ฉะนั้นแล้วนักลงทุนต้องศึกษาให้รอบครอบอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเข้าไปลงทุน