เจาะกลยุทธ์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เอาชนะใจผู้รับบริการของ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล BONE X BRAIN Hospital จนได้รางวัลการันตีระดับเอเชียแปซิฟิก

  • 918
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เราอาจจะเคยรู้จักโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูก และอาจจะเคยรู้จักโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมอง แต่โรงพยาบาลเฉพาะทั้งทางด้านกระดูกและสมองนั้น หาไม่ง่ายนัก

สำหรับในประเทศไทย โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล BONE X BRAIN Hospital ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ชูความเชี่ยวชาญทั้งสองด้านนี้ ซึ่งเปิดให้บริการมา 5 ปี ล่าสุดก็ได้สร้างชื่อและได้รับการยอมรับในระดับเอเชียแปซิฟิก ด้วยการการันตีรางวัล One of The Best Specialized Asia Pacific 2024 จากการจัดอันดับโดย Newsweek นิตยสารและสื่อออนไลน์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ Statista บริษัทข้อมูลระดับโลก

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมที่นี่ถึงชูความเฉพาะทางด้านกระดูกและสมอง เอาสองสิ่งที่ดูเหมือนไม่ค่อยเชื่อมโยงกันมารวมกัน และมีเคล็ดลับในการให้บริการอย่างไรจนเอาชนะใจผู้รับบริการจนได้รางวัลการันตี

 

คุณกบ-รัฐพงษ์ อำพันวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

 

เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณกบ-รัฐพงษ์ อำพันวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมด้วยแพทยผู้ชำนาญการเฉพาะทางอีก 3 ท่าน ซึ่งจะมาเล่าให้เราฟังตั้งแต่ที่มาที่ไป ความชำนาญการเฉพาะทาง ไปจนถึงแนวทางการให้บริการที่ใส่ใจในรายละเอียดแบบสุดๆ ของโรงพยาบาลแห่งนี้

 

ทำ Branding ด้วยการสื่อสารตรงๆ ไปเลยให้รู้ว่าเก่งด้านไหน

ว่าไปแล้ว การที่โรงพยาบาลแห่งนี้ชนะใจผู้รับบริการได้ อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะมีจุดกำเนิดมาจากเสียงสะท้อนของผู้รับบริการตั้งแต่ต้น

คุณกบ-รัฐพงษ์ อำพันวงษ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล Bone X Brain Hospital เล่าให้เราฟังว่า โรงพยาบาลกรุงเทพเองมีศูนย์กระดูกและศูนย์สมองมานานแล้ว แต่จำนวนผู้รับบริการ 2 กลุ่มโรคนี้มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้รับฟีดแบกว่าน่าจะขยาย

ขณะเดียวกัน การแพทย์ปัจจุบันซึ่งพัฒนาไปมาก ทำให้แพทย์ระบบสมองหรือกระดูก มีความเฉพาะทางลึกลงไปอีก เรียกว่า Subspecialist เช่น แพทย์กระดูก แยกไปเป็นกระดูกมือ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อเข่า กระดูกข้อเท้า แพทย์ด้านสมอง ก็แยกไปเป็นด้านความจำ หลอดเลือด โรคลมชัก เนื้องอก พันธุกรรม เป็นต้น

ทั้งสองเหตุผลประกอบกัน ทางโรงพยาบาลจึงเห็นว่า น่าจะขยายออกมาเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเฉพาะ 2 กลุ่มโรคนี้ได้ จึงได้ตั้งโรงพยาบาลแยกออกมาจากโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

“ใช้ชื่อนี้ไม่ได้หมายความว่าจะดูแลเฉพาะคนไข้ต่างชาติ แต่เพราะต้องการจะสื่อว่าเป็นโรงพยาบาลที่เป็นมาตรฐานสากลในทุกๆ ด้าน ใช้ชื่อนี้มาสักพักเราก็คุยกันในทีมว่า ชื่อนี้ไม่ได้สื่อว่าเราเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง เก่งด้านกระดูกและสมอง ควรจะโชว์ไปเลยมั้ยว่าเราเก่งเรื่องอะไร เลยเริ่มสื่อสารไปด้วยคีย์เวิร์ดว่า เราเป็น Bone X Brain Hospital”

สำหรับปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ความต้องการเฉพาะทางด้านกระดูกและสมองเติบโตขึ้น คุณกบบอกว่าเป็นเพราะสังคมผู้สูงอายุนั่นเอง

“บางคนอาจจะสงวัยว่าทำไมเราเป็นกระดูกและสมอง ฟังดูแล้วเหมือนไม่เชื่อมโยง แต่พอมาดูจริงๆ แล้วจะเห็นว่าสองระบบนี้เชื่อมต่อกัน พออายุมากขึ้นจะเริ่มมีความเสี่ยงเรื่องพลัดตกหกล้ม ถ้าสมองสั่งการไม่ดี ก็ทำให้การเคลื่อนไหวไม่ดีไปด้วย คราวนี้การเคลื่อนไหวจะดีได้ ระบบกระดูกต้องแข็งแรง ฉะนั้นเราก็จะดูแลสองระบบร่วมกัน ไม่ใช่ทำการเฉพาะรักษา แต่ดูแลให้ระบบสมองเขาเสื่อมถอยน้อยที่สุด ช้าที่สุด เพื่อให้เขามีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ”

 

คอนเซ็ปต์การให้บริการแบบ 3 EX

 

คุณกบเล่าให้เราฟังถึงแนวทางในการให้บริการของโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งใช้คอนเซ็ปต์เรียกว่า 3 EX

เริ่มจาก Experience

“เราหวังว่าผู้มารับบริการจะได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไป ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีเฉพาะในเรื่องของผลการรักษา แต่ว่ามองไปถึงประสบการณ์ที่ดีระหว่างมาทำการรักษาที่เรา อันนี้รวมไปถึงญาติคนไข้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วย”

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า โรงพยาบาลนี้เกิดจากเสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการ ซึ่งลงลึกไปถึงรายละเอียดการออกแบบประสบการณ์ต่างๆ จนออกมาเป็น ‘รูป รส กลิ่น เสียง’ ของโรงพยาบาลในปัจจุบัน อาทิ

 

 

บรรยากาศเหมือนโรงแรม, ไม่มีกลิ่นเหมือนโรงพยาบาล แต่ใช้กลิ่นที่มีผลวิจัยรองรับว่าทำให้ความรู้สึกสงบ ลดความกังวล, ในโถง OPD มีเสียงเพลงเป็นแบ็กกราวนด์ตลอดเวลา, ทุกวอร์ดมีเลานจ์ให้ญาติผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการได้, บนวอร์ดมีบัตเลอร์ให้บริการเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่การพยาบาล, สีบนห้องคนไข้ใช้สีโทนส้มหรือแดงเลือดนก ซึ่งมีผลการศึกษาว่ากระตุ้นคนไข้ให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น, พื้นห้องคนไข้รองรับการกระแทก, เพิ่มความหลากหลายของอาหารคนไข้ จัดให้ดูดีน่ารับประทานใกล้เคียงอาหารโรงแรม ฯลฯ

อันต่อมา สิ่งสำคัญที่จะสร้าง Experience ที่ดีได้ก็คือ Expertise 

“คือเรื่องความชำนาญของบุคลากร เราเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกและสมอง แพทย์ทุกท่านต้องมีประสบการณ์มามากเพียงพอ ผ่านคณะกรรมการพิจารณา พยาบาลเช่นเดียวกัน ไม่ใช่พยาบาลทั่วไปมาอยู่ที่นี่ได้ ต้องผ่านการเรียนเฉพาะทาง และแยกชัดเจนว่าวอร์ดนี้คนไข้กระดูก วอร์ดนี้คนไข้สมอง รวมถึงเภสัชก็มีความรู้เรื่องยาเฉพาะทางด้วย”

สุดท้าย คือ Excellent

“Excellent คือหลังจากมารับการดูแลแล้ว ได้รับความเป็นเลิศในเรื่องของการบริการทั้งหมด คนไข้ออกไปแล้วรู้สึกดี ทั้งผลการรักษาและประสบการณ์การใช้บริการ”

 

เจาะลึกเรื่องความเฉพาะทางแบบ Subspecialty กับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน

ในพาร์ทนี้เราอยากจะขยายความเรื่อง Expertise ความชำนาญการเฉพาะทางของโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โดยคุณหมอ 3 ท่านที่ได้มาให้ความรู้กับเรา

เราดีไซน์การรักษาผู้ป่วยแต่ละคนเหมือนการตัดสูทเพื่อคนๆ เดียว”

นพ.ชัยเดช สระสมบูรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

 

นพ.ชัยเดช สระสมบูรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

  

คุณหมอชัยเดชเล่าประสบการณ์การรักษาเคสหนึ่งที่น่าสนใจให้ฟัง

“คนไข้เป็นผู้ชายอายุ 21 ปี เกิดอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ มาที่เราพบว่ากระดูกสันหลังส่วนอกข้อที่ 5 หักเคลื่อน คนไข้ตอนมาที่เราขยับขาไม่ได้เลย ลักษณะนี้คือกระดูกหักไปกดทับไขสันหลัง จากประสบการณ์ส่วนตัวถ้าเป็นหนักขนาดนี้คนไข้ไม่น่าจะฟื้นคืนจนกลับมาเดินได้ ผมบอกคนไข้ว่าการผ่าตัดนี้จะเข้าไปจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่ ใส่เหล็กดามไว้ แต่สิ่งที่หมอทำไม่ได้คือการสั่งให้เส้นประสาทฟื้นตัว จะฟื้นมากฟื้นน้อยแล้วแต่คนไข้ คนไข้อยู่กับเรานานมาก 8-10 เดือนหลังผ่าตัด เพราะเขาทำกายภาพ Walkbot ปัจจุบันคนไข้กลับไปเดินได้ปกติ 95% เรียนหนังสือได้ ผมว่าไม่มีหมอคนไหนเคยเจอ ต้องขอบคุณ Facilities โดยเฉพาะเครื่องมือทางกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลเรา”

นอกจากนี้คุณหมอชัยเดชยังมีหลักการดูแลคนไข้ที่น่าสนใจ นั่นคือ จะเลือกวิธีการรักษาเหมือนคนในครอบครัว และดีไซน์การรักษาแบบ Tailor Made

“เราไม่ได้รักษาคนไข้แต่ละคนเหมือนกัน ยิ่งโรคทางกระดูกสันหลังรักษาได้หลายแบบ เราจะดีไซน์การรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนเหมือนการตัดสูทเพื่อคนๆ เดียว มองภายนอกผิวเผินคนอาจจะไม่รู้ แต่จริงๆ มีเก็บตรงนั้นนิด ขยายตรงนั้นหน่อย

เวลาวางแผนการผ่าตัดคนไข้แต่ละคน ผมจะใช้แนวคิดแบบ Tailor made คือใช้หลักการเดียวกันกับการตัดสูท ที่เราต้องดีไซน์และตัดเย็บออกมาตามขนาดและรูปร่างของคนๆนั้น แนวคิดนี้ทำให้การวางแผนการผ่าตัดคนไข้แต่ละคนจะจำเพาะเจาะจง และแตกต่างกันไปในแต่ละเคส

“สิ่งสำคัญคือ หนึ่ง, เราต้องบอกข้อมูลคนไข้อย่างละเอียดทั้งหมด ข้อดีข้อเสียแต่ละ Solution เป็นยังไง เพื่อให้คนไข้เลือกเอง สอง, ผมจะบอกว่าถ้าเป็นตัวผมหรือญาติผม ผมจะเลือกอะไร ”

 

“หลายๆ เคสที่กระดูกหักรุนแรงจนผู้ป่วยหรือผู้อื่นเห็นแล้วคิดว่าต้องตัดขา ทีมแพทย์ที่นี่ก็สามารถเซฟจนกลับมาเดินได้”

นพ.วัชระ พิภพมงคล ศัลยแพทย์อุบัติเหตุด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

 

นพ.วัชระ พิภพมงคล ศัลยแพทย์อุบัติเหตุด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

 

ด้วยความชำนาญเฉพาะทางของทีมแพทย์ บวกกับเครื่องมือที่ครบทันสมัย คุณหมอวัชระเล่าว่า หลายๆ เคสที่กระดูกหักรุนแรงจนใครๆ คิดว่าต้องตัดขา ไม่น่าจะเก็บไว้ได้ แต่ทีมแพทย์ที่นี่ก็พยายามสู้จนสามารถเซฟและกลับมาเดินได้

“ผู้ป่วย Trauma (ผู้ได้รับการบาดเจ็บ) มาที่นี่มีโอกาสรอดมากขึ้นด้วยประสบการณ์ของทีม Trauma ที่แต่ละคนในทีมมีความชำนาญอย่างมากต่างสาขากัน มาทำงานร่วมกัน Focus เพื่อผู้ป่วยรายเดียว เคยมีคนไข้ตกจากที่สูง กระดูกหักหลายๆ ส่วน กระดูกเชิงกรานหัก ข้อเท้าหัก ขาหัก มือหัก ทีม Trauma ก็ระดมความรู้ ความชำนาญจากแพทย์ต่างๆ พยายามผ่าตัดรักษาอย่างเต็มที่จากเดิมที่คิดว่าเดินไม่ได้ ปัจจุบันคนไข้ก็กลับมาเดินได้ แม้ไม่ใช่ทุกเคสนะครับ ขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ได้รับแต่แรกด้วย Orthopaedic Trauma ที่มีความชำนาญเฉพาะส่วนของร่างกายนั้นๆ มาผ่าตัดรักษาจริงๆ ไม่ใคนเดียวผ่าได้ทุกส่วน เราคัดเลือกแพทย์ต่างๆมาอยู่ในทีมอย่างเข้มงวด เพื่อพร้อมรับมือกับการบาดเจ็บในส่วนต่างๆอย่างมั่นใจ

“นอกจากนี้ในเรื่องของความปลอดภัยของผู้ป่วยก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ผ่าได้ แต่ผ่าแล้วต้องปลอดภัย เรามีการประชุมทีมผู้รักษาในกรณีผู้ป่วยซับซ้อนที่เรียกว่า Pro Active Team Meeting ที่แพทย์ต่างๆจะมาร่วม Brainsrom กัน แนะนำกันว่าต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ เช่น จะผ่าคนหนึ่งต้องดูว่าหมอดมยา หมอหัวใจ หมอผ่าตัดว่าอย่างไรกันบ้าง แต่ละ Unit ทำงานประสานกันด้วยระบบ ทำงานเป็นทีม เพราะทุกการผ่าตัดมีความเสี่ยง แต่การมี Pro Active Team Meeting จะ ช่วยให้ผ่าตัดได้อย่างมั่นใจขึ้น ปลอดภัยขึ้น”

 

“การวินิจฉัยก็คือส่วนที่ยากที่สุด ซึ่งแพทย์เฉพาะทางที่นี่จะมีประสบการณ์สูง”

นพ.โชติพัฒน์ ด่านชัยวิจิตร อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

 

นพ.โชติพัฒน์ ด่านชัยวิจิตร อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

 

สำหรับหลักการรักษาคนไข้ในมุมของหมอ Neuro Meddicine คุณหมอโชติพัฒน์บอกว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการวินิจฉัย ต้องบอกได้ว่าเป็นอะไร ถึงจะรู้ว่าจะรักษายังไง และการวินิจฉัยก็คือส่วนที่ยากที่สุด

“เราจะมีวิธีการตรวจเพิ่มเติมหลายอย่าง หนึ่งคือ ส่งให้ตรง Subspecialist เช่น คนไข้มาด้วยการเคลื่อนไหวลำบาก เป็นพาร์กินสันหรือหลอดเลือดสมอง อันดับแรกเราจะส่งให้หมอการเคลื่อนไหวผิดปกติ ประสบการณ์วินิจฉัยจะสูงขึ้นละ

“อย่างที่สองเราจะตรวจทุกอย่างเท่าที่จำเป็นและเท่าที่มี เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง และที่เราให้ความสำคัญในการรักษาคือความปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่คนไข้อายุเยอะ ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องยาสำคัญมาก ผู้สูงอายุมียาเยอะ ต้องระวังยาตีกัน เรามีกลุ่ม Clinical Pharmacist ที่ช่วยดูแลยาให้แพทย์ได้อย่างละเอียด

“ข้อที่สามที่เป็นจุดสำคัญคือ Communication หลังจากตรวจรักษา การให้ Information กับคนไข้สำคัญ เราต้องบอกว่าการวินิจฉัยคืออะไร การพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร รักษาแล้วดีขึ้น รักษาแล้วไม่ดีขึ้น รวมไปถึง Information สำหรับคนใกล้ตัวคนไข้เพื่อการดูแลต่างๆ”

 

Customize Care และการเข้าถึงผู้รับบริการต่างชาติ

 

ปัจจุบันโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล BONE X BRAIN Hospital รับคนไข้ต่างชาติประมาณ 30% ของคนไข้ทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากดูแลคนไข้ต่างชาติให้ถึง 50% คือดูแลคนไทยกับต่างชาติอย่างละครึ่ง

สำหรับกลุ่มต่างชาติ คุณกบบอกว่าทางโรงพยาบาลไม่ได้ใช้วิธีไปทำประชาสัมพันธ์ตรง แต่มีพาร์ทเนอร์ในกลุ่มประเทศต่างๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของโรงพยาบาล ทำหน้าที่คอยช่วยประชาสัมพันธ์ นำข้อมูลไปสื่อสารต่อ

โดยคนไข้กลุ่มใหญ่สุดได้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน พม่า กัมพูชา รองลงไปคือกลุ่มประเทศอาหรับ การ์ตาร์ ยูเออี คูเวต ถัดไปเป็นบังคลาเทศ สุดท้ายเป็นกลุ่มต่างชาติหรือ Expat ที่มาทำงานในไทย และทำงานรอบประเทศไทย ซึ่งมีชาวญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง

“ความพิเศษของที่นี่ เรามีทีมดูแลเฉพาะกลุ่ม เช่น คนไข้ Expat ญี่ปุ่นเยอะ เรามีคลินิกญี่ปุ่นโดยเฉพาะ OPD จะมีบรรยากาศญี่ปุ่น คนในแผนกมีทีมงานดูแลคนไข้ที่เป็นคนญี่ปุ่น มีแพทย์ที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ หรือจบแพทย์จากประเทศญี่ปุ่น

“คนไข้อาหรับคอนเซ็ปต์เดียวกัน เป็นแพทย์จบจากประเทศนั้นๆ พูดภาษาได้ หอผู้ป่วยในหรือวอร์ด ก็มีเฉพาะคนไข้กลุ่มอาหรับ พยาบาลที่ทำงานในวอร์ดนี้ส่วนใหญ่พูดอาหรับได้ หรือเป็นมุสลิม ฉะนั้นมีความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรม หรือกลุ่มอื่นๆ เราก็จะมีคนดูแลกลุ่มนี้ที่เป็นเนทีฟ เรียกว่า Customize Care พยายามทำความต้องการทางวัฒนธรรมของเขาให้ได้มากที่สุด” คุณกบเล่าอย่างภูมิใจนำเสนอ

 

โรงพยาบาลก็ต้องปรับตัวรับเทรนด์ และการสร้างชื่อเสียงในระดับเอเชียแปซิฟิก

สำหรับเทรนด์หรือแนวโน้มและเป้าหมายของโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ในอนาคต เพื่อให้โรงพยาบาลมีความสามารถในการแข่งขันและมีการเติบโตอย่างยั่งยืน คุณกบพูดถึง 2 เรื่องใหญ่ๆ

 

 

อย่างแรกคือเทรนด์ผู้สูงอายุกับเทรนด์ Wellness

“แต่ก่อนเราอาจจะมองโรงพยาบาลว่า เป็นที่ที่จะรักษา ก็คือป่วยแล้วมา แต่ถ้าจะปรับกับเทรนด์ ณ ปัจจุบัน เราต้องไม่ใช่แค่โรงพยาบาลเพื่อการรักษา แต่ทำยังไงให้เขามา โดยที่ไม่ต้องเจ็บป่วย เช่น ถ้ากลัวว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ในอนาคต มาตรวจให้รู้ หากมีแนวโน้ม จะชะลอการเกิดยังไง หรือดูแลให้เป็นน้อยที่สุด

“บางทีอาจจะมองว่าย้อนแย้ง ถ้าเราทำให้เขาไม่ป่วย เขาก็ไม่มารักษา แต่เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า Aging เป็นเรื่องที่หนีไม่ได้ ถ้าเราดูแลเขาดี ณ ตอนนี้ ให้เขามีความสุขกับคุณภาพชีวิตที่ดี ณ ปัจจุบันให้ได้ยาวนานที่สุด ถึงวันหนึ่งเขาก็น่าจะมาให้เราดูแล”

อันที่สองคือ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล มีเป้าหมายว่าอยากเติบโตและมีชื่อเสียงมากขึ้นในระดับเอเชียแปซิฟิก โดยคุณกบบอกว่า หนึ่ง, ต้องทำคุณภาพการรักษาให้ดีนำไปสู่การบอกต่อ

และ สอง, รักษาอันดับ Ranking จากการประเมินของหน่วยงานภายนอกระดับอินเตอร์ และทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งล่าสุดโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลได้รับการจัดอันดับให้เป็น One of The Best Specialized Asia Pacific 2024 จาก Newsweek & Statista

 

 

“สิ่งที่น่าภูมิใจก็คือว่า Newsweek เขามีวิธีสำรวจที่ไม่ได้เข้ามาเยี่ยมที่โรงพยาบาล แต่วัดจากความพึงพอใจของผู้ที่ได้มารับบริการแล้วในมุมมองที่เราไม่รู้ เขาไปทำสำรวจมาในหลายๆ ประเทศแล้วชื่อเราติดก็ถือเป็นเรื่องน่าภูมิใจ เราก็หวังว่าเราจะรักษาระดับนี้ และทำให้คะแนนหรือแรงกิ้งเราดีขึ้นในปีถัดๆ ไป” คุณกบกล่าวทิ้งท้าย

 

 


  • 918
  •  
  •  
  •  
  •