หลังการเปิดประเทศ พบตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทยอย่างคึกคัก ทั้งนี้ ตัวเลข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 มิถุนายน 2566 พบว่ามีจำนวน 12,464,812 คน เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 539% พร้อมๆ กับที่เราเห็นภาพของการจัดงานอีเวนท์ และงานออนกราวด์กันมากมายทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
รวมไปถึงอีกหนึ่งงานช้างสำคัญเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ จนเรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมของการแสดงระดับโลกเอาไว้ที่เดียว ได้แก่ มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ (Bangkok’s 25th International Festival of Dance & Music) ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรวบรวมโชว์ระดับมาสเตอร์พีซ และการรวมตัวกันของนักแสดงและนักดนตรีคลาสสิคชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 900 ชีวิต มาเปิดการแสดงตลอด 8 สัปดาห์ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จนเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่จะสร้างเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศ ผ่าน Soft Power ระดับโลกมากมาย ดังนั้น เราจึงเข้ามาคุยกับ คุณราซีน่าร์ อูเบรอย บาจาจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คัลเจอรัล โปรโมชั่น จำกัด เพื่อฉายให้เห็นว่าพลังของศิลปะบันเทิง เอ็นเตอร์เทนเมนต์ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างไร
คุณราซีน่าร์ เล่าย้อนให้ฟังถึงเป้าหมายแรกของการจัดงานนี้เลยก็คือ เราอยากให้กรุงเทพฯ เป็นหมุดหมายของการรวมการแสดงโชว์ระดับโลก อยากให้ทุกคนเมื่อนึกถึงกรุงเทพฯแล้วก็ต้องนึกถึงงานนี้ ซึ่งจัดที่กรุงเทพฯ เป็นการรวมตัวของการแสดงระดับโลก สะท้อนให้เห็นภาพว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงของเราไม่ธรรมดาในสายตาชาวโลกเลย เพราะไม่เช่นนั้นโชว์ระดับเวิล์ดคลาสหรือนักแสดงเหล่านี้คงไม่ตัดสินใจเดินทางมาโชว์ที่บ้านเรา นอกเหนือไปจากนี้ก็คือว่า เมื่อมีการแสดงระดับนี้บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาบ้านเรา ก็ย่อมทำให้นักลงทุนต่างๆ ตัดสินใจที่จะลงทุนในบ้านเรามากขึ้น ซึ่งทั้งสองส่วนนี้สุดท้ายก็คือการที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวบ้านเรามากขึ้นด้วยนั่นเอง
ทั้งนี้ การมาของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาเพื่อชมการแสดง ซึ่งเขาหาดูไม่ได้ง่ายๆ ยังไม่นับรวมคณะนักแสดงมากกว่าร้อยชีวิต ที่มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยตลอด 8 สัปดาห์ มันคือการกระจายเงินให้สะพัดในประเทศเรามากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายคนอาจจะตัดสินใจอยู่ต่อด้วยก็ได้ ยังไม่นับว่าเราจะเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศอีกเท่าไหร่เพื่อดูแลอีเวนต์นี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขของการใช้เงินตรงนี้ยังไม่มีการประเมินอย่างชัดเจนว่าเท่าไหร่ แต่มั่นใจว่าเป็นจำนวนมหาศาลอย่างแน่นอน ซึ่งช่วยขับเคลื่อนได้ทั้งพลัง Soft Power และเศรษฐกิจของไทย
“อีกหนึ่งผลพลอยได้คือ การยกระดับภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ และประเทศไทยให้คนต่างชาติยอมรับว่าเราคือให้ประเทศที่เฟื่องฟูด้านศิลปะวัฒนธรรม รวมถึงเราก็ยังมีศิลปะวัฒนธรรมอันดีงามมากมาย มีศิลปินไทยเก่งๆ มากมาย เมื่อจัดงานมหกรรมใหญ่อย่างนี้ ย่อมเกิดการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมกันเป็นธรรมดา”
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเองก็มองว่า ในการที่เราสามารถจัด บางกอกเฟสติวัลฯ มาได้ยาวนานถึง 25 ปีแล้ว โดยที่ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากศิลปินทั่วโลกที่ตัดสินใจมาร่วมกับเราต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมไทย ประเทศไทย ทำให้นักลงทุนเองก็กล้าที่จะนำเงินมาใช้ เพราะมั่นใจว่าผู้บริโภคชาวไทยเองก็เป็นกลุ่มคุณภาพที่จะไม่ทำให้เขาขาดทุนได้
ในแง่ของการดึงดูดคนรุ่นใหม่ หลายคนอาจจะไม่ทราบ คน Gen Z เขาชอบการเดินทางไปนิวยอร์ก เพื่อไปดูบรอดเวย์กันมาก แต่วันนี้เรามีมาให้ดูถึงเมืองไทยแล้วไม่ต้องบินไป ก็สามารถมาดูได้ หรือแม้แต่การแสดง THE ROOTS Cie Accrorap ซึ่งเป็นคณะฮิปฮอปชั้นนำ จากประเทศฝรั่งเศส ที่มาเปิดการแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก็มั่นใจว่าน่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่อย่างแน่อน
“เราอยากให้ชื่อกรุงเทพฯ เกิดขึ้นได้ อยู่ในใจนักลงทุนเป็นที่แรกๆ แล้วมันจะดึงให้การลงทุนต่างๆ เข้ามายังประเทศอย่างแน่นอน”
สิ่งที่คุณราซีน่าร์ บอกว่า อยากได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน ก็คือปัญหาเรื่องของ เวทีและสถานที่ในการแสดง ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญมากๆ เลย ตอนนี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สถานที่แห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถจัดการแสดงอย่างนี้ได้ คือมีแค่ที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเท่านั้นเลย หลายครั้งที่เรารู้สึกเสียดายโชว์ดีๆ ที่เราจะดึงมาให้คนไทยดูแต่ทำไม่ได้ เพราะว่าพื้นที่จำกัด แต่ลองนึกภาพว่าถ้าเรามีเวทีใหญ่ที่พร้อมในการแสดง มันจะสวยงามอลังการแค่ไหน
“บางโชว์เราเชิญไป ก็ขอว่า ถ้าไม่ต้องฟูลได้ไหม อาจจะแค่ครึ่งเดียวหรือ 70% เขาเซย์โนว! ไม่ได้ เขาบอกเลยว่าเขาจะไม่มีวันมาแสดงแบบ short cut ให้ใครได้ดู ถ้ามาต้องเต็มฟูลเซ็ตเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก”
3 ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด
West Side Story เป็นการแสดงที่เรานำมาจากบรอดเวย์เลย ที่สำคัญในโชว์ชุดนี้ เป็นโชว์ใหม่ ซึ่งยังไม่เคยจัดที่บอร์ดเวย์เลยด้วยซ้ำ มีกำหนดแสดงที่บอร์ดเวย์เดือนพฤศจิกายน แต่ก็นำมาให้ชมกันที่กรุงเทพฯ ก่อน นี่คือสิ่งที่สเปเชียลมากๆ ที่เรานำมาแสดงในงาน บางกอกเฟสติวัลฯ ในปีนี้
การแสดงอุปรากรจีน Dream of the Red Chamber ความฝันในหอแดง Shanghai Yue Opera ซึ่งได้รับการการสนับสนุนโดย สถานเอกอัคราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน และ หอการค้าไทย-จีน เป็นอุปรากรจีนจากนิยายชื่อดัง ความฝันในหอแดง หรือ หงโหลวเมิ่ง (红楼梦) หนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมเทียบเท่า สามก๊ก (三国演义) ไซอิ๋ว (西游记) และซ้องกั๋ง (水浒传) เรื่องราวความรักของหนุ่มสาวในสมัยราชวงศ์ชิง จากมิตรภาพที่ก่อขึ้นอย่างบริสุทธิ์ แต่กลับต้องถูกกีดกันโดยครอบครัวและสถานะทางสังคม จนนำพาไปสู่ความเข้าใจผิด การหลอกลวง และความรักที่ไม่อาจจะสมหวัง คุณจะซาบซึ้งไปกับเสียงร้องและดนตรีสดอันมีเอกลักษณ์ของงิ้วเส้าซิง โดยนักแสดงหญิงล้วนจากคณะงิ้วชื่อดัง Shanghai Yue Opera ที่มีประวัติยาวนานกว่า 60 ปี และมีผลงานมาแล้วมากว่า 400 โปรดักชั่น นับเป็นหนึ่งในคณะอุปรากรจีนที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ โดยผลงานที่งดงามทั้งฉาก แสง เสียง และเครื่องแต่งกายได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมมาแล้วทั่วโลก
การแสดงบัลเลต์สามสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยอดฮิตในใจทุกคนอย่าง สวอนเลค (Swan Lake) ฉบับใหม่โดย เลย์ บัลเลต์ เดอ มอนเต การ์โล (Les Ballets de Monte Carlo) การแสดง Gala Performance ที่รวมการแสดงสุดยอดบัลเลต์กว่าสิบชุดไว้ในหนึ่งค่ำคืนโดยคณะบัลเลต์อันดับท็อปของยุโรป สตุทการ์ท บัลเลต์ (Stuttgart Ballet) และครั้งแรกในไทยกับการแสดงบัลเลต์จากวรรณกรรมอมตะ แอนนา คาเรนินา (Anna Karenina) โดย ไอฟ์แมน บัลเลต์ (Eifman Ballet)
อย่างไรก็ตาม ถึงจะบอกว่าให้คุณราซีน่าร์ เลือกแค่ 3 การแสดง แต่เธอก็ยืนยันว่า อันที่จริงทุกชุดการแสดงคือไฮไลท์สำคัญที่ต้องห้ามพลาดหมดเลย
“เป็นหนึ่งในงานที่ทำให้เราได้มีโอกาสดูการแสดงจากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ต้องบินไปดูที่นั่นที่นี่ มันคือ “ขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรม” มาที่เดียวแต่ได้ดูวัฒนธรรมของทั้งโลก เพราะฉะนั้น Once in your life ก็เชิญชวนทุกท่านมาดูค่ะ” คุณราซีน่าร์ กล่าวเชิญชวนในตอนท้าย
สำหรับคนที่สนใจชมการแสดง จากงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ (Bangkok’s 25th International Festival of Dance & Music) ตลอด 8 สัปดาห์ ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 2 กันยายน ถึง 22 ตุลาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถสำรองที่นั่ง และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiticketmajor.com/bangkokfestivals หรือ www.bangkokfestivals.com