ถอดกลยุทธ์อำพลฟูดส์รับการปรับตัวครั้งใหญ่ เดินหน้าสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ปรับธุรกิจเข้ากับยุค AI สร้างความยั่งยืนครบวงจร

  • 871
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ในครัวของบ้านใครหลายคนอาจจะมีผลิตภัณฑ์ของ อำพลฟูดส์ (APF) แต่ปัจจุบันอำพลฟูดส์กำลังเป็นมากกว่าแค่ผลิตภัณฑ์สำหรับการทำอาหาร ด้วยพฤติกรรมและตลาดที่เปลี่ยนไป ทำให้อำพลฟูดส์ต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ผ่านมุมมองของ ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอำพลฟูดส์

 

 

อำพลฟูดส์เจาะเทรนด์ขยายตลาด

สำหรับตลาดหลักๆ ของอำพลฟูดส์จะยังคงเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับปรุงอาหารอย่าง กะทิชาวเกาะ, น้ำนมข้าว V-Fit, เครื่องปรุงอาหารรอยไทย และยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวไปที่ประเทศจีนในรูปแบบของเครื่องดื่มนมมะพร้าว โดยในปี 2024 อำพลฟูดส์ยังมองเห็นเทรนด์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะเทรนด์ Silver Gen ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการทำงานวิจัยในด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้เริ่มมีการผลิตสินค้าอย่างจริงจังสำหรับกลุ่ม Silver Gen มากขึ้น

 

 

“เรายังมองเห็นเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เรามีการทำวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของมะพร้าว พบว่าในกาบมะพร้าวที่เป็นของเหลือจากกระบวนการผลิต สามารถนำมาย่อยจนเกิดเป็นพรีไบโอติกส์ และเมื่อทำการวิจัยจึงพบว่า พรีไบโอติกส์นี้สามารถนำมาเป็นอาหารเสริมของสัตว์เลี้ยงได้ ช่วยทำให้ลำไส้ของสัตว์เลี้ยงดีขึ้นและพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการดีไซน์แบรนด์ใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง”

 

 

ขณะที่เรื่องของสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ซึ่งอำพลฟูดส์มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้อยู่แล้ว ล่าสุดมีการทำ MOU กับสถาบันโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล ในด้านการวิจัยเรื่องอาหารสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่เป็นรูปแบบ Low Sodium สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

 

ปรับตัวสู่การเป็นผู้กระจายสินค้า

ก่อนหน้านี้ อำพลฟูดส์เป็นธุรกิจผู้ผลิตเครื่องปรุงอาหารทั้งผลิตเองและขายเอง จนเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วก็เริ่มพัฒนาธุรกิจขยายไปสู่การเป็นบริษัทผู้จัดจําหน่ายด้วยการเป็น Distributor เนื่องจากมีการเปิดศูนย์กระจายสินค้าไปทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้ากว่า 80 แห่ง ส่งผลให้มีธุรกิจ SMEs เข้าร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อให้ทางอำพลฟูดส์ช่วยจัดจําหน่ายสินค้าให้กับทางร้านค้าท้องถิ่น ร้านโชห่วย สหกรณ์โรงเรียน เป็นต้น

 

 

“เราเป็นที่รู้จักในแง่ของผู้ผลิตสินค้าเครื่องปรุงเพื่อสุขภาพและโภชนาการที่ดี ในทางกลับกัน ธุรกิจกระจายสินค้า (Distribution) ช่วยให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้เรามีผลิตภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตและจำหน่ายเอง ขณะที่อีกผลิตภัณฑ์เป็นของพันธมิตรที่นำมาให้เราจำหน่ายผ่านรูปแบบ Distribution เมื่อรวมทั้ง 2 กลุ่มจะทำให้เรามีผลิตภัณฑ์อยู่ในมือถึง 35 แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลาร้าแซ่บไมค์ เครื่องดื่มโคล่าอย่าง RC Cola วุ้นเส้นต้นน้ำ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นอย่าง น้ำปลาตราหน่อไม้”

นั่นเป็นเพราะอำพลฟูดส์ได้รับความไว้วางใจในความสามารถของการกระจายสินค้า ที่ช่วยให้พันธมิตรเชื่อมั่นว่า จะสามารถนำพาผลิตภัณฑ์จากสินค้าท้องถิ่นไปถึงมือผู้บริโภคได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น ถั่วตราเจดีย์คู่ ที่เข้ามาใช้บริการ Distribution ของอำพลฟูดส์

 

ผู้ช่วยธุรกิจ SMEs สร้างการเติบโต

สำหรับ Business Model ของอำพลฟูดส์ในส่วนของ Distribution จะเน้นสร้างพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจ SMEs โดยจะได้รับการดูแลแบบครอบครัวและช่วยสร้างความยั่งยืนในการเติบโตร่วมกันผ่านรูปแบบความร่วมมือทั้ง 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบไปด้วย

  • โครงสร้างในการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ที่มีศูนยกระจายสินค้าทั่วประเทศ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจ SMEs
  • เทคโนโลยี ด้วยการผสานข้อมูลทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เข้ามาไว้ด้วยกัน ช่วยให้ธุรกิจสามารถเห็นลูกค้าคือคนเดียวกันในทุกช่องทาง ผ่านการจัดเก็บข้อมูลแบบ Data Lake ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs สามารถเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคในรูปแบบ Personaได้
  • ส่งมอบองค์ความรู้ โดยอำพลฟูดส์ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการสร้างหลักสูตรอบรม Food Work ซึ่ง SMEs ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอำพลฟูดส์ จะสามารถเข้าเรียนหลักสูตรนี้ โดยอำพลฟู้ดจะคัดเลือกพันธมิตรที่ผ่านการอบรมและมีศักยภาพเข้าร่วมเป้นพันธมิตรกับอำพลฟูดส์

“นอกจากนี้เรายังมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทุกปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบ CRM ทั้งในเรื่องของการสะสมคะแนนภายใต้ระบบ APF Family หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย PDPA โดยเทคโนโลยีทั้งหมดจะช่วยให้เราสามารถทำ Marketing Campaignร่วมกับพันธมิตร SMEs รวมไปถึงข้อมูล (DATA) ต่างๆ ที่พันธมิตรของเราจะได้รับไปด้วยเพื่อใช้ทำการตลาดเช่นกัน”

ในแง่ขององค์ความรู้จะช่วยให้ SMEs เข้าใจถึงวิธีการทำตลาดว่า จะต้องทำอย่างไรให้สินค้าสามารถขายได้ โดยอำพลฟูดส์จะเข้าไปทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษาทางการตลาดให้กับ SMEs ถือเป็นจุดที่แตกต่างในการตัดสินใจของ SMEs เพื่อใช้บริการ Distribution ซึ่งคำปรึกษายังรวมไปถึง การให้คำปรึกษาในกระบวนการผลิต การขอใบอนุญาตต่างๆ รวมไปถึงการสร้างระบบพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยปัจจุบันจะเน้น SMEs ในกลุ่มธุรกิจ Food & Beverage เป็นหลัก

 

Magnita เครื่องมือ AI พัฒนาธุรกิจ

นอกจากบริการ Distribution แล้ว อำพลฟูดส์ยังปรับตัวสู่ Digital Transformation โดยมีการดำเนินการมาตั้งแต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอำพลฟูดส์ได้ดำเนินการด้านเทคโนโลยีครบทั้ง 3 ขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วย

  • ปรับตัวสู่ Paperless โดยมีการติดตั้งเทคโนโลยีของ Microsoft ในด้าน Workflow Automate ด้วยการปรับเปลี่ยนเอกสารหลายพันแผ่น ให้กลายเป็นเอกสารทาง Digital ส่งผลให้ระยะเวลาในการอนุมัติต่างๆ ลดลงและรวดเร็วขึ้น รวมถึงยังค่อนข้างแม่นยำ
  • ปรับตัวสู่ Digitalization โดยมีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีของอำพลฟูดส์กับธุรกิจอื่นๆ เช่น การเชื่อมกับระบบของธนาคารด้วยรูปแบบ API ช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  • การสร้างที่จัดเก็บข้อมูล Data Lake ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนาพื้นที่จัดเก็บข้อมูลจำนวนมากและมีความปลอดภัยสูง

 

 

“เรายังได้สร้างธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Magnita โดยเป็นธุรกิจร่วมทุนกับ กานดา ดิจิทัล ที่เข้าไปลงทุนในเทคโนโลยี ChatBot AI ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถโต้ตอบได้บนแพลตฟอร์มต่างๆ และได้รับการดูแลตลอดเวลาอย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยให้สามารถปิดการขายและให้บริการหลังการขายได้อย่างครบถ้วน ซึ่ง Magnita จะถูกนำมาใช้กับธุรกิจของเราและพันธมิตรที่เข้าร่วม Distribution รวมไปถึงยังเปิดให้ธุรกิจอื่นภายนอกที่สนใจ เข้ามาใช้บริการของ Magnita ได้ด้วย

Magnita จะเป็นเทคโนโลยี Cognitive AI ที่ช่วยในด้านการขายและบริการหลังการขายสามารถเชื่อมโยงกับ Social Platform ได้ทั้งหมด และยังสามารถเชื่อมโยงกับระบบของธนาคารเพื่อดำเนินการด้าน Payment รวมไปถึงยังสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจขนส่ง ช่วยให้เกิดการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว Magnita จึงเหมาะอย่างยิ่งกับธุรกิจ e-Commerceอย่างมาก

 

อำพลฟูดส์ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

ไม่เพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยี อำพลฟูดส์ยังเป็นธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ผลิตภัณฑ์กะทิชาวเกาะ เป็นผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูปรายแรกของโลกที่ผ่านการรับรองระบบ CEMS ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบของ Circular Economy ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่กะทิชาวเกาะเป็นผลิตภัณฑ์รายแรกที่ได้รับ นอกจากนี้อำพลฟูดส์ยังได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น

  • การจัดหาพลังงานทดแทน ผ่านโครงการ “ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์” โดยตั้งแต่ปี 2021-2023 สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 5,039,464 หน่วย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,607 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ทดแทนการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 23%
  • พลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) ด้วยการใช้น้ำเสียที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต โดยริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2012 สามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 18.355 ล้านหน่วย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20,741 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • โครงการกล่องวิเศษ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2009 สามารถเรียกคืนกล่องยูเอชทีเพื่อนำมารีไซเคิลเป็นโต๊ะ –
    เก้าอี้นักเรียนได้แล้วกว่า 28 ล้านชิ้น โดยมีการบริจาคโต๊ะ – เก้าอี้นักเรียนไปแล้วกว่า 10,000 ชุด ส่งมอบสู่โรงเรียนที่ขาดแคลนกว่า 170 โรงเรียน
  • ทดลองใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 100% โดยอำพลฟูดส์ได้ร่วมกับ Nex Point ผู้ผลิตและจำหน่ายรถโดยสารเชิงพาณิชย์พลังงานไฟฟ้า เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ในการขนส่งสินค้าของภาคธุรกิจ เพื่อลดมลพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมคืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่สังคม

นอกจากนี้และยังมีการประกาศแผนสู่องค์กร Net Zero ในปี 2050 เพื่อร่วมส่งต่อโลกที่ยั่งยืนด้วยนิยามคำว่า GOOD โดยถือเป็นอีกก้าวสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของอำพลฟูดส์ ไม่เพียงเท่านี้อำพลฟูดส์ยังสนับสนุน Green Supply Chain โดยอำพลฟูดส์จะเข้าไปให้ความรู้กับกลุ่ม Supplier ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถขายได้ทั้งตัวผลิตภัณฑ์และของเหลือทิ้งได้ทั้งหมด

 

 

“เรายังเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทย หลังจากที่กำลังประสบปัญหามะพร้าวไม่เพียงพอต่อการผลิต ด้วยการส่งเสริมให้มีการปลูกมะพร้าวเพิ่มมากขึ้น โดยมีการแจกพันธุ์มะพร้าวเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปลูก ช่วยส่งเสริมเพิ่มปริมาณผลผลิตมะพร้าวในประเทศไทยให้มากขึ้น”

 

เป้าหมายต่อไปในปี 2024

ในแง่ของยอดขาย อำพลฟูดส์วางเป้าหมายยอดขายในปี 2024 ไว้ที่ 4,200 ล้านบาท โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้านอกประเทศไว้ที่ประมาณ 40% จากที่ในปัจจุบันมีอยู่เพียง 30% โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีนและตลาดตะวันออกกลาง ทั้งนี้เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งปัญหาในตลาดยุโรปและตลาดอเมริกา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตลาดจีนมีขนาดใหญ่ และมีความนิยมสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะผลไม้

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับมะพร้าวสามารถสร้างยอดขายเติบโตได้อย่างดีในประเทศจีน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กะทิ ประกอบกับอาหารไทยเริ่มเป็นที่นิยมในประเทศจีนมากขึ้น จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ด้านตลาดตะวันออกกลางก็มีแนวโน้มที่ดี หลังรัฐบาลไทยเปิดตลาด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์วัตถุดิบการทำอาหาร ขแงไทยได้รับความนิยมในตลาดตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น

“สำหรับกลยุทธ์ในปี 2024 นี้ เราจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกจะเป็นตลาดในประเทศ โดยเน้นเรื่องของ Flexible หรือความยืดหยุ่นและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และการให้ความสำคัญกับ Customer Centric ขณะที่อีกส่วนจะเน้นในเรื่องของ Globalization ด้วยการเชื่อมโยงกับตลาดภูมิภาคใหม่ๆ เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจ โดยยังคงเน้นผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพและเติบโตเคียงคู่กับธุรกิจ Distribution ที่มี SME เป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่น และเร่งสร้างการเติบโตด้วยเทคโนโลยี”

 

 

ทั้งหมดนี้คือความเปลี่ยนแปลงของอำพลฟูดส์ที่แม้จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงอาหาร แต่ยังคงไม่หยุดนิ่งและพัฒนาผลิตภัณ์และเจาะตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืนด้วยการเติบโตร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ SMEs ผ่านรูปแบบ Distribution โดยมีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมด้วยการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค เมื่อนึกถึงเครื่องปรุงอาหารจะต้องนึกถึงอำพลฟูดส์

 

 


  • 871
  •  
  •  
  •  
  •