15 ปี Big Bad Wolf กับ 15 เรื่องอินไซด์และการเรียนรู้ของ แจ็คเกอลีน อึ๊ง จากประสบการณ์จัดอีเวนต์เป็นศูนย์ สู่หนึ่งในเทศกาลหนังสือใหญ่ของโลก

  • 105
  •  
  •  
  •  
  •  

คนไทยรู้จักงานเทศกาลหนังสือ Big Bad Wolf ครั้งแรกในปี 2016 ถ้ายังจำกันได้ มันถูกพูดถึงในฐานะงานหนังสือภาษาอังกฤษที่เปิด 24 ชั่วโมง โดยจัดขึ้นที่เมืองทองธานี ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักอ่านชาวไทยเป็นอย่างดี 

หลังจากนั้น Big Bad Wolf ก็จัดในประเทศไทยมาต่อเนื่อง ก่อนจะต้องงดไปในช่วงโควิด และกลับมาอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยเปลี่ยนสถานที่จากเมืองทองธานีเป็น The Market Bangkok ราชประสงค์ ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวกขึ้น 

ในปีนี้ Big Bad Wolf กลับมาอีกครั้ง โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 พ.ค. – 4 มิ.ย. 2567 ณ The Market Bangkok ราชประสงค์ ที่พิเศษคือปีนี้ครบรอบ 15 ปีของหนึ่งในเทศกาลหนังสือที่ได้ชื่อว่าขายได้มากที่สุดในโลกอีกด้วย

ต่อไปนี้คือ 15 เรื่องอินไซด์จากการเรียนรู้ 15 ปี แจ็คเกอลีน อึ๊ง (Jacqueline Ng) ผู้ร่วมก่อตั้งงานหนังสือ Big Bad Wolf ที่เรามีโอกาสได้ฟังเรื่องราวเบื้องลึกเบื้อหลังต่างๆ จากปากของเธอ

1. คนที่จะเข้าร้านหนังสือก็มีแต่นักอ่านเท่านั้น แต่ถ้าจัดเป็นอีเวนต์ คนจะมาเป็นครอบครัว

แจ็คเกอลีน อึ๊ง เกิดและโตที่สิงคโปร์ หลังจากแต่งงานกับแอนดรูว์ ยับ (Andrew Yap) สามีของเธอซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Big Bad Wolf ทั้งคู่ย้ายมาตั้งรกรากที่มาเลเซีย และเริ่มต้นธุรกิจร้านขายนิตยสารในห้างเล็กๆ เงียบๆ เนื่องจากไม่มีทุนมากพอที่จะไปเช่าร้านในทำเลที่ดีกว่านี้ วันหนึ่งซัพพลายเออร์ของทางร้านถามเธอกับสามีว่า สนใจจะขายหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คด้วยหรือไม่ โดยเสนอหนังสือภาษาอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือของนักเขียนมีชื่อแต่ขายไม่ได้หรือหนังสือที่พิมพ์เกินดังนั้นจึงมีราคาถูก

สองสามีภรรยาจึงตัดสินใจเช่าห้องข้างๆ เพิ่มเพื่อขยายกิจการ ซึ่งแจ็คเกอลีนบอกว่าเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ เพราะในมาเลเซียใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง มีคนใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้มากมาย ขณะที่มีประชากรมาเลเซีย 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ตรงนี้เองที่ทั้งคู่ต้องคิดกลยุทธ์ทางการตลาดขึ้นมาเอง โดยพวกเขาทำราคาหนังสือให้ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ และโปรโมตหนังสือในฐานะของขวัญด้วย แถมมีบริการห่อของขวัญให้ฟรีโดยไม่มีขั้นต่ำ แต่ร้านก็ยังไปได้ลำบาก

นี่คือจุดที่ทั้งคู่คิดว่า ทำไมไม่ทำให้การช็อปปิ้งหนังสือกลายเป็นอีเวนต์ เพราะคนที่จะเข้าร้านหนังสือก็มีแต่นักอ่านเท่านั้น แต่ถ้าจัดเป็นงานอีเวนต์ คนจะมากันเป็นครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านหรือไม่ แม้เสี่ยงอีกครั้ง แต่พวกเขาเต็มใจเดิมพันครั้งใหญ่ และนี่คือกำเนิดของงาน Big Bad Wolf ซึ่งถูกจัดขึ้นครั้งแรกที่มาเลเซียในปี 2009 

2. ที่พูดกันว่าคนไม่อ่านหนังสือนั้น พิสูจน์ได้ว่าไม่จริง เพราะหนังสือขายหมด 

Big Bad Wolf ครั้งแรกจัดขึ้นในแวร์เฮ้าส์ที่ไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองด้วยซ้ำ แจ็คเกอลีนบอกว่าเธอไม่ได้มีทุนในการทำประชาสัมพันธ์ ตอนนั้นพวกเขาลงประกาศใน คลาสสิฟายด์หนังสือพิมพ์ซึ่งยังเป็นนิยมในมาเลเซีย กับใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ค การตั้งชื่องานว่า Big Bad Wolf ตัวละครร้ายๆ จากนิทานที่คนรู้จัก ก็ช่วยเรียกร้องความสนใจได้ดี ที่เหลือก็ปากต่อปาก

แจ็คเกอลีนเล่าว่า เราเริ่มต้นงานนี้จากเล็กๆ สองคนสามีภรรยา เราไม่ได้เป็นองค์กรใหญ่โต ไม่ได้มือพื้นฐานความรู้ในธุรกิจค้าปลีกหรือในอุตสาหกรรมหนังสือ เราอยากส่งเสริมการอ่านและความรู้ภาษาอังกฤษในมาเลเซีย เรารู้สึกว่า ไม่ควรมีเด็กคนไหน สูญเสียโอกาสในการอ่าน เพียงเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินซื้อหนังสือ เป้าหมายของเราคืออยากนำหนังสือคุณภาพมาขายในราคาถูกเท่าที่ทำได้ เพื่อให้สบายกระเป๋าของทั้งคนเป็นพ่อแม่และนักอ่านทั่วไป”

หลังจากลงประกาศในหนังสือพิมพ์ แจ็คเกอลีนได้แต่ภาวนาให้คนมางาน ไม่มีใครเคยได้ยินชื่องานนี้มาก่อน และขายอะไร เธอเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดงานอีเวนต์มาก่อน 

“ตอนนั้นมีแค่ฉันกับสามีและนักศึกษามหาวิทยาลัย 40 คนที่มาทำงานพาร์ทไทม์ หนังสือ 150,000 เล่ม เราขายได้ 95 เปอร์เซ็นต์ หลังจากงาน 6 วัน โต๊ะหนังสือหมวดต่างๆ ขายหมดเกลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธุรกิจ ทำอาหาร ท่องเที่ยว หนังสือเด็ก พวกเราประหลาดใจมาก ที่มาเลเซียเอง เราพูดกันว่าคนไม่อ่านหนังสือ แล้วใครกันล่ะที่มาซื้อหนังสือในงานของเราจน sold out มันก็ไม่จริงใช่มั้ยที่ว่า คนไม่อยากได้หนังสือ ไม่อยากอ่าน”

แม้จะยังจัดงานได้ไม่ดีนักในปีแรก ไม่มีรถเข็นให้ใส่หนังสือ หนังสือกองท่วมโต๊ะ แต่ก็ยังขายได้หมด และเพิ่มจำนวนขึ้นในปีถัดมาเป็น 300,000 เล่ม กระทั่งปี 2011 Big Bad Wolf กลายเป็นงานหนังสือที่ขายได้มากที่สุดในโลกที่จำนวน 1.5 ล้านเล่ม

มีเรื่องเล่าน่าสนใจที่แจ็กเกอลีนเล่าฟัง ในปีแรกเธอถามนักศึกษา 40 คนที่มาทำงานพาร์ทไทม์ว่า มีใครรู้ความแตกต่างระหว่างหนังสือ Fiction กับ Non-fiction บ้าง เพราะต้องการให้ช่วยแยกประเภทหนังสือ ปรากฏว่ามีนักศึกษาแค่ 2 คนจาก 40 คนที่ตอบได้ ซึ่ง 40 คนนี้มาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในมาเลเซีย ยิ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการอ่านเมื่อ 15 ปีก่อน และยิ่งทำให้แจ็กเกอลีนรู้สึกว่าต้องสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้น แต่เธอบอกว่า อย่างน้อยนักศึกษา 40 คนนั้นก็ได้ทำงานกับหนังสือแล้ว ได้สัมผัสหนังสือ ได้รู้จักชื่อนักเขียน ได้เห็นว่าหนังสือบางเล่มขายดี นี่คือความแตกต่างของการที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงหนังสือได้ผ่านการจัดงานอีเวนต์ เพราะคนที่ไม่ใช่นักอ่านก็ไม่เข้าร้านหนังสืออยู่ดี  

3. ในช่วง 5 ปีแรกหมวดหนังสือขายยากที่สุดคือ Young Adult

นั่นเป็นเพราะ กลุ่มลูกค้าที่เป็นพ่อแม่ก็มาเลือกซื้อหนังสือไปให้ลูก กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ก็มาซื้อหนังสือไปอ่านเอง แต่กลุ่มวัยรุ่น ไม่มีใครไปบอกให้อ่านได้ ถ้าไม่อ่านก็คือไม่อ่าน โต๊ะหนังสือ Young Adult เลยเป็นหมวดที่ขายไม่ค่อยออก

แต่ในปี 2019 แจ็คเกอลีนพบว่า หนังสือ Young Adult เป็นอีกหมวดที่ sold out ทั้งที่ไม่ได้ทำการตลาดอะไรเลย ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้เธอ แต่แล้วก็คิดได้ว่า เด็กที่เป็นผลผลิตของงาน Big Bad Wolf ครั้งแรกในปี 2009 ตอนนี้โตเป็นวัยรุ่นกันหมดแล้ว และกลายเป็นนักอ่าน และพวกเขานั่นเองที่มาซื้อหนังสือ Young Adult ตอกย้ำให้เห็นถึงดอกผลของสิ่งที่งาน Big Bad Wolf ได้สร้างไว้ 

4. นำงานออกไปสร้างอิมแพคยังประเทศที่มีเดโมกราฟิกคล้ายกัน

ผลสำเร็จของการจัดงาน Big Bad Wolf เป็นแรงผลักดันให้แจ็คเกอลีนต้องการสร้างอิมแพคแบบเดียวกันนี้ในประเทศอื่นๆ ที่มีเดโมกราฟิกหรือลักษณะของประชากรคล้ายกับมาเลเซีย คือไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แต่มีแพสชั่นอยากเก่งภาษาอังกฤษ รู้ว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากๆ ที่จะเติบโตหรือพัฒนาตัวเองในอนาคต และมีกลุ่มคนที่ต้องการเข้าถึงหนังสือในราคาที่ตัวเองเอื้อมถึง

ในปี 2016 Big Bad Wolf จึงออกไปจัดนอกมาเลเซียเป็นครั้งแรก ที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย ตามด้วยกรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักไมล์สำคัญของ Big Bad Wolf โดยปัจจุบัน Big Bad Wolf จัดงานอยู่ในกว่า 30 เมือง ใน 15 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย, กัมพูชา, ฮ่องกง, เมียนมาร์, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, แทนซาเนีย และเคนย่า 

5. อันดับประเทศที่มียอดขายหนังสือสูงสุด

  1. อินโดนีเซีย 
  2. ฟิลิปปินส์
  3. มาเลเซีย
  4. ไทย

อย่างไรก็ตาม มีตัวแปรในเรื่องของความถี่ในการจัดงานในแต่ละประเทศ และจำนวนประชากรด้วย ซึ่งอินโดนีเซียก็จัดงานถี่สุดและมีประชากรเยอะสุด 

6. การจัดงานบ่อยไม่ได้ดีเสมอไป

แจ็คเกอลีนจัดงาน Big Bad Wolf ประมาณ 30 อีเวนต์ต่อปี เท่ากับประมาณ 3 อีเวนต์ต่อเดือน เธอบอกว่าเป็นงานที่หนัก ไม่ว่าจะด้านโลจิสติกส์ แมนพาวเวอร์ ต้องใช้พลังงานเยอะ  

สำหรับในไทยมีงานใหญ่ 1 งาน แต่พาร์ทเนอร์อย่างสำนักพิมพ์แปลนฟอร์คิดส์นำไปจัดต่างจังหวัดร่วมกับหนังสือภาษาไทยอย่างละครึ่ง ในสเกลงานที่เล็กลงด้วย เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น 

พาร์เนอร์ของ Big Bad Wolf ในไทย: (จากซ้าย) ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ เลขาธิการสมาคมผู้พิมพ์หนังสือแห่งอาเซียน, แจ็คเกอลีน อึ๊ง, ริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด

ถามว่าทำไมไม่จัดที่ไทยให้บ่อยกว่านี้ แจ็คเกอลีนตอบว่า เพราะหลังจากครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จมาก ทางสถานที่เลยอยากให้มาจัดอีกครั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า แจ็คเกอลีนเลยจัดอีกครั้ง แต่เป็นงานเล็กกว่าและมีเฉพาะหนังสือเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นคือนักอ่านสับสนกับงานหลัก จึงง่ายกว่าที่จัดครั้งเดียวแบบฟูลสเกล เป็นเมเจออีเวนต์ปีละครั้ง ให้คนรอคอยปีถัดไป

7. ปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการตามพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไปและลดต้นทุน 

สำหรับประเทศไทย สาเหตุที่เปลี่ยนสถานที่จัดจากเมืองทองธานี มาเป็นที่ The Market Bangkok นั้น แจ็คเกอลีนให้เหตุผลว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด และต้องบริหารจัดการลดต้นทุน

“พฤติกรรมการซื้อหนังสือของคนเปลี่ยนไปทั่วโลกตั้งแต่โควิด ในหลายๆ ประเทศที่เราไป คนย้ายถิ่นที่อยู่ บางคนออกไปอยู่นอกเมือง บางคนเข้ามาอยู่ในเมือง ซื้อหนังสือออนไลน์ และไม่อยากไปงานหนังสือเพราะคนเยอะไป แต่ตั้งแต่ปีแรกในไทยแล้วที่คนก็อยากให้เรามาจัดในเมือง เพราะหลายคนรู้จักงาน Big Bad Wolf แต่ไม่เคยไป เพราะไกล ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ทีเดียว 

“ปัจจุบันต้นทุนทุกๆ อย่างปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่ากระดาษ โลจิสติกส์ ฉะนั้นเพื่อที่จะทำให้ธุรกิจเดินไปได้ เราต้องเข้าใจวิธีจัดการต้นทุน ดังนั้นในหลายๆ ประเทศเราจึงลดขนาดของสถานที่ แต่ไม่ได้ลดจำนวนหนังสือ และเราไม่ได้จัดงาน 24 ชั่วโมงอีกต่อไป แต่ก็ยังเปิดดึกอยู่ถึงเที่ยงคืน การจัดงาน 24 ชั่วโมงต้องมีคนทำงาน 3 กะ ซึ่งหลังโควิดคนไม่มางาน 24 ชั่วโมงอีก คนไม่ได้ใช้เวลากลางคืนเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นมันไม่ยังยืนสำหรับธุรกิจ นี่คือการเปลี่ยนแปลงแบบเมเจอร์เชนจ์จากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของเราหลังโควิด”

แจ็คเกอลีนบอกว่า การย้ายมาจัดที่ The Market Bangkok ซึ่งอาจจะเล็กกว่า แต่เดินทางสะดวกกว่า คนก็แฮปปี้ทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าใหม่

8. สัดส่วนประเภทหนังสือขายดี

แจ็คเกอลีนเล่าว่า หมวดหนังสือที่ขายดีอันดับหนึ่งในงาน Big Bad Wolf ได้แก่ หนังสือเด็ก เพราะพ่อแม่ซื้อให้ลูก เพราะอยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ และยังซื้อเป็นของขวัญของฝาก หรือซื้อเพื่อเก็บด้วย ดังนั้น จำนวนซื้อหนังสือที่งานจึงมากกว่าปกติ 2-3 เท่า 

ส่วนในประเทศที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา สัดส่วนหนังสือเด็กกับหนังสือ Adult หรือหนังสือทั่วไป อยู่ที่ 50/50 

ขณะที่ในประเทศที่ผู้ใหญ่ไม่ได้อ่านหนังสือเยอะมากนัก หรืออ่านหนังสือภาษาอังกฤษน้อย อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย หนังสือเด็กก็จะมีสัดส่วนเยอะกว่าเล็กน้อย เช่นที่มาเลเซีย 65/35 หรือ 60/40 แต่ไทยจะเป็น 70/30

แต่อย่างไต้หวันที่คนมีกำลังซื้อสูง และมีวัฒนธรรมการอ่าน แต่อ่านหนังสือภาษาจีนเท่านั้น ฉะนั้น 95 เปอร์เซ็นต์คือหนังสือเด็ก หนังสือทั่วไปขายได้น้อยมาก 

9. ร่วมมือกับสำนักพิมพ์ท้องถิ่น สร้างกลุ่มคนอ่านภาษาท้องถิ่น โตไปด้วยกัน

ในทุกประเทศที่ Big Bad Wolf ไปจะเชิญสำนักพิมพ์ในประเทศนั้นๆ มามีส่วนร่วมด้วย เพราะเล็งเห็นว่า สำนักพิมพ์และหนังสือภาษาท้องถิ่น รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ก็ควรได้รับการสนับสนุนด้วย และสำนักพิมพ์เหล่านั้นก็ต้องดิ้นรนในประเทศอยู่แล้ว เพราะเป็นตลาดโลคัล แต่ภาษาอังกฤษเป็นตลาดโกลบอล การทำงานร่วมกับ สำนักพิมพ์ท้องถิ่นจะช่วยให้พวกเขาได้มีแพลตฟอร์มที่ใหญ่ขึ้น 

10. เตรียมขยายตลาดสู่ภาษาจีน 

หนึ่งในการพัฒนาธุรกิจของ Big Bad Wolf ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คือ เพิ่งมีการเซ็นเอ็มโอยูกับรัฐบาลจีนในงานปักกิ่งบุ๊คแฟร์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเอ็มอยูนี้เกี่ยวกับการที่ Big Bad Wolf จะนำหนังสือภาษาอังกฤษไปที่จีน ขณะเดียวกับก็จะนำหนังสือภาษาจีนไปยังประเทศอื่นๆ 

“เพราะทุกประเทศมีกลุ่มคนจีน และทางจีนก็อยากเผยแพร่ภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนผ่านหนังสือด้วย แต่โปรเจ็กต์นี้ยังไม่ได้เริ่ม และหนังสือก็เป็นเรื่องยากที่จีนในแง่ของการเซ็นเซอร์ เรากำลังเรียนรู้ขั้นตอนอยู่ หรือเรื่องภาษีเองก็ตาม ซึ่งหวังว่าโปรเจ็กต์นี้จะเกิดขึ้นในปีนี้หรือปีหน้า”

หนึ่งในการเรียนรู้หลังเซ็นเอ็มโอยูคือ ทางแจ็คเกอลีนส่งหนังสือ 1,000 เรื่องไปให้ทางการจีนเซ็นเซอร์ เพื่อเรียนรู้กระบวนการ ซึ่งผ่านไปด้วยดี มีแค่บางเล่มที่ได้รับคอมเมนต์มาว่าไม่ผ่าน ซึ่งตอนนี้ยังเป็นการทดลองกับหนังสือกลุ่มต่ำกว่าอายุ 18 ปี ซึ่งถ้าเป็นหนังสือกลุ่ม Adult ก็จะยุ่งยากกว่านี้ ซึ่งทางแจ็คเกอลีนก็พยายามค่อยๆ เรียนรู้เป็นลำดับไป 

ส่วนเมืองที่ Big Bad Wolf จะไปในจีนก็คงไม่ใช่เมืองหลักอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หรือกว่างโจว แต่เมืองที่เล็กกว่านั้นก็ยังเป็นเมืองใหญ่อยู่ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่างด้วย ทั้งพาร์ทเนอร์ สถานที่ และมีไลเซนส์ที่ต้องขออนุญาตเยอะมาก

11. ที่มาเลเซียก็มีเซนเซอร์หนังสือ

 แต่แจ็คเกอลีนบอกว่าซีเรียสน้อยกว่าจีน เพราะเธอเป็นผู้อิมพอร์ตรายใหญ่ที่สุด ทางการเลยจะมาเซ็นเซอร์ถึงที่แวร์เฮ้าส์ “เราไม่สามารถเปิดคอนเทนเนอร์ได้ จนกว่าเจ้าหน้าที่ทางการจะมา เราตัดซีลต่อหน้าพวกเขา” เธอเล่าและว่า ขณะที่ประเทศอย่างกัมพูชาไม่มีปัญหาเรื่องเซนเซอร์

12. ไม่สต็อกหนังสือเยอะเกินไป 

แจ็คเกอลีนบอกว่า การสต็อกหนังสือเป็นงานช้าง Big Bad Wolf มีโกดังของตัวเองที่มาเลเซีย ช่วงก่อนโควิดยังไปเช่าโกดังเพิ่มที่ท่าเรือด้วย เพราะธุรกิจหลักคือการส่งหนังสือออกไปยังประเทศอื่น 

“ในช่วงโควิดเรามีหนังสือเก็บอยู่ในคลัง 20 ล้านเล่ม และไม่ได้ซื้อเพิ่มเลย 2 ปี เราพยายามเคลียร์สต็อก และเรียนรู้ที่จะขายออนไลน์ ตอนนั้นเดือนธันวาคม 2021 มาเลเซียมีน้ำท่วมใหญ่ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ มีคนเสียชีวิต ธุรกิจเสียหาย น้ำไม่ลดประมาณ 3 วัน ทำลายหนังสือเราไปประมาณ 4 ล้านเล่ม ทีนี้อย่างที่บอก ธุรกิจจะอยู่รอดต่อเมื่อเรารู้วิธีบริหารจัดการตุ้นทุน เราเลยต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้หน่อย จากนั้นเราจึงเรียนรู้ที่จะจัดการสต็อกไม่เกิน 10 ล้านเล่ม เราออร์เดอร์บ่อย แต่ไม่สต็อกเยอะ ปล่อยโกดังที่เช่าไป โฟกัสแค่โกดังของเรา ขณะที่ในบางเมืองที่มีอีเวนต์เกือบทุกเดือน เราก็จำเป็นต้องมีโกดังเก็บหนังสือไว้ที่เมืองนั้นๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้วิธีเช่าเอา” แจ็คเกอลีนเล่า 

13. จัดงานที่ห้างช่วยให้บริหารจัดการโลจิสติกส์ได้ดีขึ้น

Big Bad Wolf ที่กรุงเทพฯ ปีนี้มีหนังสือ 2 ล้านเล่ม หนังสือที่มาขายในบ้านเราจะมาโดยทางรถบรรทุกจากมาเลเซีย ใช้รถบรรทุกประมาณ 20 คัน ซึ่งการโหลดหนังสือจากรถบรรทุก 20 คันเป็นเรื่องใหญ่ แต่นี่เป็นข้อดีอีกอย่างของการที่แจ็คเกอลีนเปลี่ยนสถานที่จากศูนย์ประชุม มาเป็นห้างสรรพสินค้า กล่าวคือ ถ้าเป็นศูนย์ประชุมจะไม่มีที่ให้เก็บหนังสือ เพราะต้องใช้จัดงานตลอดเวลา นั่นหมายความว่าคุณจะต้องขนหนังสือมาทีเดียว 20 คันรถ และขนเข้าไปยังศูนย์ประชุม แต่ขณะที่ The Market Bangkok ด้วยความเป็นห้างจึงมีที่ให้เก็บหนังสือก่อน นั่นหมายความว่าแจ็กเกอลีนสามารถทยอยขนหนังสือมาเก็บไว้ก่อนได้ เช่นที่ละ 2 คัน การจัดการขนย้ายหนังสือก็จะเบาลง  

14. บนปกหนังสือในงาน Big Bad Wolf ไม่มีราคาแปะ แต่ใช้รหัสแทน 

เช่น ใช้เป็นตัวอักษร เช่น I K ซึ่งในงานจะมีป้ายบอกว่า รหัสนี้ราคาเท่าไหร่ เปลี่ยนไปตามประเทศ แปลว่า สติ๊กเกอร์บนปกไม่ต้องมารื้อแกะใหม่ทุกครั้ง เช่น หากเขียนเป็นไทยบาท ถ้าเล่มนี้ขายไม่ได้ ก็ต้องแกะเอาไปติดเป็นราคาประเทศอื่น แต่พอใช้เป็นตัวย่อ ทุกประเทศจะเป็นระบบเดียวกัน แค่เปลี่ยนป้ายที่อยู่ในงาน นี่คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์โดยแท้ 

15. ตลอดเส้นทางคือการเรียนรู้ และยังต้องเรียนรู้อยู่ทุกวัน

แจ็คเกอลีนและสามี เริ่มต้นงาน Big Bad Wolf  จากประสบการณ์เป็นศูนย์ ดังนั้นทุกสิ่งคือการเรียนรู้ ตั้งแต่หาหนังสือ ตั้งราคาหนังสือ จัดหนังสือ เสิร์ฟลูกค้า “งาน Big Bad Wolf ครั้งแรกๆ เรายังไม่มีรถเข็นให้ลูกค้าด้วยซ้ำ ลูกค้าต้องถือหนังสือด้วยมือ แต่จากนั้นเราก็มีกล่องให้ ทุกคนอุ้มกล่องคนละใบ ตลกมาก แล้วจะเลือกหนังสือยังไงถ้าต้องถือกล่องไปด้วย” เธอเล่าพลางหัวเราะ 

“15 ปีที่ผ่านมาฉันเรียนรู้เยอะมากเกี่ยวกับหนังสือ เพราะฉันทำทุกอย่างมาก่อนในงาน เป็นแคชเชียร์ก็ได้เรียนรู้เยอะมากจากลูกค้า ลูกค้าจะสอนเรื่องนักเขียน เรื่องอิลลัสเตชั่น ฉันทำจัดซื้อด้วย จึงได้เรียนรู้เรื่องดาต้า เราซื้ออะไร ขายไปเท่าไหร่ หนังสือที่ขายไม่ดีในประเทศหนึ่ง ขายดีมากในอีกประเทศหนึ่ง วิธีจัดงาน วิธีจัดคิว พอขยายธุรกิจ ต้องเรียนรู้เรื่อง export แต่ละประเทศก็มีกฎหมายต่างกัน ภาษี กฎระเบียบ วัฒนธรรม ไม่ง่าย เป็น learning curve ใหญ่ของฉันกับสามี” แจ็คเกอลีนกล่าวทิ้งท้าย 

 

 


  • 105
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE