ทำไมคนที่เงียบที่สุด ถึงกลายเป็น #คนฉลาดที่สุด ในที่ประชุมได้

  • 228
  •  
  •  
  •  
  •  

 

รู้หรือไม่ว่าปัญหาที่หลายๆ องค์กรเจออยู่บ่อยๆ หนึ่งในนั้นก็คือ การประชุมภายใน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมเพื่ออัพเดทโปรเจ็กต์, ทิศทางของบริษัท จนไปถึงการระดมสมอง ไอเดีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานร่วมกัน ให้บรรลุเป้าหมายเดียวกันได้ในที่สุด

แต่สิ่งที่น่าคิดจากบทความของ Tim Denning บล็อกเกอร์ชื่อดังจากออสเตรเลีย เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในที่ประชุมเราจะเห็นคนหลายบุคคลิกพอสมควรที่แชร์ไอเดียร่วมกัน ซึ่งเราก็พอจะเดาๆ ทางออกว่าคนนั้นๆ เป็นแบบไหน มีแนวคิดอย่างไร

แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่เงียบมากที่สุด จริงๆ แล้วพวกเขาเป็นแบบไหน คิดอะไร และมีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเชื่อหรือไม่ว่า คนที่เลือกจะเงียบในที่ประชุมมักจะโดนเพ่งเล็งอยู่บ่อยครั้ง เหตุผลแค่เพียงพวกเขาไม่แชร์ไอเดียร่วมกับคนอื่น ไม่ถกเถียงเหมือนคนอื่น

 

 

เงียบที่สุดไม่ได้แปลว่า ไม่ฉลาดไม่มีศักยภาพ

สิ่งที่ Tim มอง และอยากให้คนอ่านเห็นมุมกลับจากบทความนี้ ก็คือ “คนเงียบที่สุด ไม่ใช่คนไม่ฉลาด แต่พวกเขาอาจเป็นคนฉลาดที่สุดก็ได้”

จริงอยู่ว่า ถ้าเรามองผ่านๆ คนที่ถก คนที่แชร์ คนที่เสียงดังที่สุดในที่ประชุม จะกลายเป็นคนที่ดูฉลาดโดยอัตโนมัติแต่จริงๆ แล้วมันวัดกับศักยภาพจริงๆ ไม่ได้ เราไม่สามารถตัดสินว่า ใครจะฉลาดได้จากการพูดหรือถกเถียงกันในที่ประชุมเท่านั้น

แต่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ Tim ใช้อ้างอิง ระบุว่า ระหว่างคนที่ชอบถกเถียง กับคนที่เงียบตลอดการประชุม แนวโน้มที่จะเป็นคนฉลาด และทำงานได้ดีกว่า คือ คนเงียบ เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะว่าคนที่เงียบจะมีสติมากกว่า และควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าด้วย

Tim พูดว่า จากประสบการณ์ตรง และการสำรวจจากบริษัทหลายแห่ง พบว่า บางคนที่กล้าแสดงความคิดเห็น หรือกล้าที่จะถกเถียงกันในที่ประชุม อาจไม่ได้เป็นคนที่ฉลาด หรือทำงานได้ดีเสมอไป เพราะอารมณ์ขุ่นมัวจากการประชุมที่ดุเดือด ทำให้พวกเขาไม่มีสมาธิ และบางทีก็พูดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์กับงานออกมา อารมณ์ที่ไม่เสถียรของพวกเขา ทำให้ไม่สามารถโชว์ไอเดียที่แท้จริงของตัวเองได้

 

 

เหตุผลที่คนเงียบเป็น smartest เกิดจากอะไร?

#คนเงียบ ส่วนใหญ่จะทำได้ดีในสกิล ‘การฟัง’ เพราะมีปัญหาในการพูดมากกว่า ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้จากพวกเขาเหล่านี้ก็คือ สติ สมาธิ การจดจ่อ การทุกๆ สิ่ง ทุกๆ ข้อมูลที่ถกเถียงกันในที่ประชุม ซึ่งหลังจากที่จบการประชุม กลุ่มคนเงียบจะสามารถทำงานต่อตามที่ได้รับมอบหมายได้ทันที (ไม่ต้องปรับ mood ก่อนลงมือทำ)

 

#คนเงียบ หลีกเลี่ยงที่จะแชร์ไอเดีย หรือถกเถียง ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาจะพูดในบางครั้ง(ที่จำเป็น) จะตรงประเด็น ใช้คำน้อย และเข้าใจง่ายมากที่สุด และนี่คือข้อดีของคนเงียบเพราะการฟังเยอะๆ รับข้อมูลเข้ามามากๆ จะช่วยให้การทำงานมัน flow กว่าคนที่พูดเยอะฟังน้อย

 

#คนเงียบ จะรู้ว่าช่วงไหนที่ต้องพูด และช่วงไหนที่ต้องฟัง ซึ่งการฟังจะไม่ใช่การฟังเฉยๆ แต่เป็นการเก็บข้อมูล การเรียนรู้ การวิเคราะห์ว่าข้อมูลพวกนั้นสำคัญหรือไม่ และต้องต่อยอดข้อมูลนั้นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งนักจิตวิทยาชื่อดังระดับโลกหลายคน พูดว่า สกิลการฟัง คือทักษะแรกๆ ที่จะเปลี่ยนชีวิตเราให้ตัดสินใจได้ดีหรือแย่ ดังนั้น การฟังในระหว่างประชุมก็เหมือนกัน เราจะได้ข้อมูลบางอย่าง หรือรู้ความต้องการของลูกค้าที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในขณะที่คนอื่นไมได้ตั้งใจฟังมันทั้งหมด = สร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง

ในบทความนี้ชอบประโยคหนึ่งมากที่ Tim พูดทิ้งท้ายว่า The loudest person in the room is the dumbest because he/she doesn’t know, or have the discipline to shut up.” (คนที่เสียงดังในห้องประชุมที่สุด คือคนที่โง่ที่สุด เพราะว่าพวกเขาไม่รู้ หรือไม่มีวินัยพอที่จะหยุดพูด)”

 

เขาว่ากันว่า คนที่เงียบจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้ง่ายกว่าคนไม่เงียบ เพราะว่าพวกเขาจะได้ยินในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ยิน (หรือไม่ตั้งใจจะฟัง) แต่กว่าจะก้าวไปอยู่ในจุดที่เปลี่ยนโลกได้ เอาแค่เปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นก่อน ให้เป็นคนที่มีศักยภาพมากขึ้นในองค์กร ก็ถือว่า mission complete แล้วล่ะ

 

 

 

ที่มา: medium


  • 228
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม