“กันดาร คือ โอกาส” เชื่อหรือไม่..การเกิดของบะหมี่ และไอศกรีม ระดับมหาชน เริ่มต้นจากความกันดารระดับติดลบ

  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

ชายสี่

เชื่อว่า ทุกท่านคงรู้จัก ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว เจ้าของแบรนด์คือ คุณพันธ์รบ กำรา เคยเล่าให้ฟังว่า ย้อนหลังกลับไปหลายสิบปี แกเคยเดินทางจากต่างจังหวัด มาประกอบอาชีพขายเร่ขายของกิน ในกทม. เริ่มต้นจากการใช้เวลาช่วงที่ว่างจากการทำนา เดินทางเข้ากรุงเทพ มาขายไอติมแท่ง แบบสั่นกระดิ่ง เหตุเบื้องต้นก็เพราะ เพื่อนๆ ในหมู่บ้าน ทุกคนต่างเข้ากรุงเทพมาขายไอติมกัน ก็เลยลองตามเพื่อนๆ มาเสี่ยงโชค ทดลองหาโอกาสในอาชีพใหม่ๆ เพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง

จากขายไอติม ปีต่อๆ มาพันธ์รบ ก็เปลี่ยนกิจการมาขาย ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น ตามคำชักชวนของน้องชาย โดยตั้งร้านรถเข็นขายอยู่แถวๆ ลำลูกกา

ร้านของแกที่ว่ายอดขายดี แต่พอกลับไปคุยกับน้องชายอีกคน ที่เขาขายบะหมี่เกี๊ยว คำนวนเปรียบเทียบกันดูแล้วปรากฏว่าน้องชายมีกำไรมากกว่า ทั้งๆ ที่ออกขายพร้อมๆ กัน เลยพยายามคิดว่า ทำไมขายบะหมี่ถึงกำไรดี

แล้วแกพบคำตอบว่า ขายลูกชิ้นน้ำใส ในหนึ่งชามจะมีปริมาณลูกชิ้นกำหนดชัดเจน เรียกได้ว่า มีต้นทุนคงที่คือเส้น บวกลูกชิ้น 4 ลูก กำไรต่อชาม จึงคงที่ มันแตกต่างไม่เหมือนกับขายบะหมี่หมูแดง หมูแดงหั่นให้หนาให้บางได้ ควบคุมการหั่นให้ดีๆ จะขายได้จำนวนชามมากกว่าสามารถทำกำไรได้มากกว่า

“ผมเข้าไปคุยกับเถ้าแก่ บอกเค้าว่าอยากได้บะหมี่ไปขายครับ แต่เถ้าแก่เขาบอกว่า ไม่ได้ เหตุผลเพราะรถส่งบะหมี่ของโรงงานไม่ผ่านร้านที่ผมตั้งขาย”

ด้วยความอยากขายบะหมี่ ในช่วงแรก คุณพันธ์รบก็ต้องมาขอให้ร้านน้องชายช่วยสั่งเส้นบะหมี่เพิ่มให้ แล้วนำไปทดลองขายที่ร้านตัวเองที่ลำลูกกา ปรากฏว่าบะหมี่ขายดีมาก แต่ก็ประสบปัญหาว่า เส้นบะหมี่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน เส้นไม่เหลือง ลวกแล้วเส้นไม่เหนียว ขาดรุ่ย คุณภาพของเส้นบะหมี่ดูไม่ค่อยคงที่

อุปสรรคสองเรื่องที่พบเจอจากเส้นบะหมี่ กลายเป็นพลังผลักดัน ทำให้คุณพันธ์รบ ตั้งปณิธานให้กับตัวเองไว้ว่า..

อยากทำโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ ที่ได้คุณภาพ เส้นเหนียวนุ่ม สม่ำเสมอ และถ้าทำโรงงานบะหมี่ได้สำเร็จจริงๆ บะหมี่ของเขา ไม่ว่าใครที่ไหนสั่ง เขาจะต้องจัดส่งไปให้ได้ทั่วทั้งประเทศไทย ซึ่งต่อมากลายเป็นแนวคิดโครงสร้างธุรกิจที่สำคัญ

ลองผิดลองถูก โดนหลอกโดนโกง ขาดทุนไปมากมาย จนวันหนึ่ง คุณพันธ์รบก็ประสบความสำเร็จ สามารถทำบะหมี่ และพัฒนาจนกลายเป็น แบรนด์บะหมี่รถเข็นมหาชนชายสี่บะหมี่เกี๊ยวได้ และแน่นอน เส้นบะหมี่ของเค้าส่งขายไปทั่วไทย ไปที่ไหนๆ ก็มีให้รับประทานจนกลายเป็นบะหมี่ที่กำลังเดินหน้าสู่ความเป็นมหาชน

ในอีกมุมหนึ่ง มีพนักงานขายไอติม ที่รับไอติมแท่งจากโรงงาน.. ออกไปเร่ขายตามหมู่บ้าน ชายหนุ่มคนนี้ ขายไอติมด้วยความตั้งใจทุกวัน แต่ก็มีปัญหา เพราะลูกค้า มักจะบ่นว่า ไอติมที่เขาขายนั้น รสชาติไม่คงที่เหมือนเดิม แถมรสขาติก็ไม่ค่อยอร่อยไม่ถูกปากลูกค้า

นี่คือเรื่องราวย้อนหลังไปราวเมื่อปี พ.ศ.2490 ในตอนนั้นคุณตากิมเซ็ง แซ่ซี ต้นกำเนิดไอศกรีมไผ่ทอง ยังเป็นแค่พนักงานขายของโรงงานไอศกรีมแท่งแห่งหนึ่ง หลังจากที่โดนลูกค้าติเตียนแทบทุกวัน เขาตัดสินใจนำเอาปัญหานี้ ไปบอกเจ้าของโรงงาน เจ้าของโรงงานรับรู้ แต่ไม่แก้ไข แถมยังพูดตอกกลับให้เจ็บช้ำน้ำใจว่า

“ลื้อเป็นแค่คนขาย จะไปรู้อะไรว้ะ ถ้าอยากให้อร่อยกว่านี้ ก็ไปลองทำเอาเองซิ.. ”

แทนที่จะเก็บคำพูดนั้นไว้เป็นความโกรธ ทว่าคุณกิมเซ็ง กลับใช้มันเป็นแรงผลักดันชีวิต ตัดสินใจลาออกจากโรงงาน มาทดลองทำไอศกรีมกะทิสดด้วยสองมือของตัวเอง บนความตั้งใจว่า จะทำไอศกรีมให้รสชาติดี คงที่สม่ำเสมอ และทำให้ลูกค้าชอบ

เริ่มต้นด้วยยี่ห้อ “ไอศกรีมหมีบินเกาะต้นมะพร้าว” ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ยอดขายดี จนสามารถปรับปรุงธุรกิจ เปิดเป็นโรงงาน ใช้เครื่องจักรทันสมัย และปรับรสชาติให้ถูกปากลูกค้าคนไทย แต่คำว่าหมีบินนั้น ไปคล้ายกับแบรนด์นมตราหมี อันโด่งดัง

จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นแบรนด์ ไผ่ทอง ซึ่งมีที่มาจากชื่อของตัวเอง คำว่า กิมเต็ก แปลว่า คนที่มีคุณธรรมดั่งทอง และใช้ตราสัญลักษณ์เป็นต้นไผ่ซึ่งเป็นไม้มงคลของชาวจีน จนกลายเป็นแบรนด์ไผ่ทองที่ได้รับความนิยม

เพราะความกันดาร ของการไม่มีเส้นบะหมี่ขาย ผลักดันให้คุณพันธ์รบ กลายเป็นเจ้าของกิจการแฟรนไชส์รถขายบะหมี่ ที่โด่งดังที่สุดในเมืองไทย เป็นบะหมี่ที่ส่งถึงทุกที่ มีกระบวนการผลิต และมีระบบศูนย์กระจายสินค้าอันทันสมัย

ความกันดาร ของการที่ไอศกรีมรสชาติไม่คงที่ ไม่อร่อย กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้คุณกิมเซ็ง มุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะสร้างมาตรฐานในการผลิต และทำไอศกรีมที่รสชาติถูกปากผู้บริโภค เพราะมุมมองต่อโลกที่ต่างกัน..อย่างนี้นี่เองกระมังที่ทำให้คนเราต่างกัน

หากมีความเชื่อว่าแรงบันดาลใจ เกิดขึ้นได้ด้วยแรงผลัก จนทำให้เกิดพลังงานภายในบางอย่าง ที่มีทั้งบวกและลบ ถ้าเราใช้แรงผลักนั้น ไปในทิศทางที่ดี ด้วยสติ ด้วยความคิด ด้วยปัญญา และด้วยพละกำลังความตั้งใจ ความกันดาร ก็อาจจะพลิกผันกลายเป็นโอกาสได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ทุกครั้งที่พบกับทางกันดาร..อ่านเรื่องราวสองเรื่องข้างต้น แล้วพึงระลึกไว้ว่า อาจมีโอกาสใหม่ๆ ซุกซ่อนอยู่หลังเส้นทางเหล่านั้น และมันอาจกำลังรอคุณเดินทางไปพบเจอ


  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  
ก้า อรินธรณ์
อธิกร ศรียาสวิน (ก้า อรินธรณ์) ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity (ABC) ม.ศรีปทุม นักการตลาดอินดี้ ที่ปรึกษาด้านครีเอทีฟแบรนดิ้ง