ข้อมูลแบบไหนเหมาะกับการใช้บล็อคเชน (Blockchain)

  • 257
  •  
  •  
  •  
  •  

blockchain&fin

เป็นที่ทราบกันดีว่าบล็อคเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่หลายคนบอกว่าจะเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก แต่เราทราบกันหรือไม่ว่า การปฏิวัติดิจิตอลตั้งแต่ช่วงปี 1970 นั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีการแห่ไปใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างล้นหลาม มีการลงทุนเป็นจำนวนมากกับค่าที่ปรึกษา การออกแบบ การซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ การบำรุงรักษา การดำเนินงาน ค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญและการอบรมฝึกสอนพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ถือว่าระบบคอมพิวเตอร์นั้นเป็นต้นทุนทางธุรกิจที่สูงมาก ซึ่งหลายครั้งเราก็ไม่เคยคิดว่าจะคุ้มค่ากับเงินมหาศาลที่จะต้องลงไปหรือไม่? ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการตกหลุมพรางดังกล่าว วันนี้เราจะมาดูกันว่าข้อมูลแบบไหนเหมาะกับการใช้ Blockchain

อย่างแรกเราก็ต้องมาทำความรู้จักกับบล็อคเชนเสียก่อน บล็อคเชน (Blockchain) ประกอบด้วยศัพท์ 2 คำ คือ บล็อค (Block) ซึ่งเป็นโครงสร้างการบันทึกข้อมูลในทุกๆ หนึ่งช่วงเวลา (เช่น Bitcoin ทุกๆ 10 นาที เป็นต้น) และ เชน (Chain) ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ บล็อคเชนจะเชื่อมต่อกันด้วยวิชาการเข้ารหัส (Cryptography) ซึ่งในแต่ละ Block ก็จะมีตราประทับเวลา (Timestamp) และรหัสของ Block ก่อนหน้า (Cryptographic hash) รวมอยู่ด้วย การเข้ารหัสของ Blockchain เป็นการจับคู่ (Mapping) ข้อมูลกับรหัสแบบทางเดียว (ย้อนกลับได้ยากมาก) การยืนยันความถูกต้องของข้อมูลใน Block จะต้องอาศัยการถอดรหัสโดยการสุ่มตัวเลขโดยโหนด (Node) หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีกำลังประมวลผลสูงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเดาถูกต้อง จากขั้นตอนที่ซับซ้อนเหล่านี้ก็คงพอจะเดาได้แล้วว่า ข้อมูลที่เราจะเก็บใน Blockchain นั้นคงจะไม่ใช่ข้อมูลขนาดใหญ่ ซับซ้อน หรือเข้ารหัสยาก อย่างรูปภาพหรือวีดีโอแน่ๆ เพราะจะทำให้ใช้เวลาถอดรหัสที่ยาวนานซึ่งหมายถึงมีต้นทุนในการประมวลผลที่สูง

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่จะเก็บไว้ใน Blockchain มักจะเป็นข้อมูลขนาดเล็กที่ประกอบด้วย ที่อยู่ (Address) และ ค่า (Value) เช่น ข้อมูลในบันทึกบัญชี (Ledger) ของเงินสกุลคริปโต เช่น บิทคอยน์ จะเก็บ Address ผู้ส่ง, Address ผู้รับ และ Value หรือจำนวนเงินที่ส่ง เป็นต้น โดยแต่ละ Address ก็จะมี Private Key เสมือนเป็น Password หรือลายเซ็นต์ การจะเก็บข้อมูลชนิดอื่น เช่น รูปภาพ นั้น หากต้องการความปลอดภัยก็จะต้องใช้เทคนิคในการกระจายข้อมูลออกเป็นชิ้นเล็กๆ ไปเก็บไว้ในหลายๆ ที่และบันทึกที่อยู่ (Address) หรือตัวระบุตำแหน่งเหล่านั้น (Identifier) ลงใน Blockchain เช่น ใน Datachain ของ MAID SAFE (Secure Access For Everyone) เป็นต้น

ข้อมูลที่จะเก็บไว้ใน Blockchain นั้นควรจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ไม่ต้องมีการแก้ไขและต้องการความปลอดภัยสูง เนื่องจากการบันทึกด้วย Blockchain นั้นหากมีการแก้ไข ก็จะต้องเริ่มโซ่ใหม่หรือต้องรื้อแก้โซ่เก่าทิ้งทั้งหมด ซึ่งเป็นไปได้ยากหากในเครือข่ายของ Blockchain นั้นมี Node จำนวนมากที่คอยสร้าง Block และโซ่ใหม่อยู่ตลอดเวลา ประโยชน์ของการมี Node จำนวนมากในการดูแล Ledger คือการยืนยันความถูกต้องที่มากขึ้นจาก Node หลายๆ Node ซึ่งหากมีการทุจริต ถูกโจมตี หรือแก้ไขข้อมูลที่ Node ใด Node หนึ่งแล้ว Node ที่เหลือก็จะจับผิดได้เพราะผลลัพธ์จะไม่สอดคล้องกับ Node อื่นๆ ที่ทำถูก และ บล็อค หรือ โซ่เส้นนั้นก็จะไม่ถูกนำไปประมวลต่อ ฉะนั้นในทางกายภาพ หากเรามี Node หรือ Server กระจุกอยู่ที่เดียวกัน หรืออยู่ภายใต้การดูแลของบุคคลหรือองค์กรในจุดๆ เดียวกันกันแล้วหละก็ เราก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการให้ (คอมพิวเตอร์หรือ Node ของ) คนอื่นมาตรวจสอบยืนยันการบันทึกข้อมูลหรือธุรกรรมใน Blockchain ของเราเลย

โดยสรุป ในทาง Hardware เราสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และ Server เครื่องเดิม มา Modify Software ให้สามารถใช้ Blockchain ได้โดยที่ไม่ต้องซื้อเครื่องใหม่ หากเราใช้ Blockchain เช่น เพื่อการบันทึกบัญชี (Ledger) ของร้านค้าหลายสาขาร่วมกัน ก็คือมี Node หรือ Server กายภาพกระจายอยู่หลายๆ ที่แล้ว ระบบของเราก็จะมีความปลอดภัยมากกว่าการที่เราใช้เครือข่าย Client Server ที่รวมศูนย์แบบปัจจุบัน เพราะ Blockchain มีการทำงานแบบไม่มีศูนย์กลาง (Decentralized / Distributed) หาก Server มีปัญหา หรือ ถูกโจมตีจนระบบล่มนั้น Node อื่นในระบบที่ดูแล Ledger อยู่ก็สามารถทำงานต่อไปได้ หากโดนแฮ็ค หรือ Hacker สามารถดึงบันทึกใน Blockchain ออกไปได้ Hacker ก็ไม่สามารถถอดรหัสข้อมูลเหล่านั้นได้โดยง่าย ซึ่งถ้าหาก Hacker ไม่รู้ Private Key ของเจ้าของรายการหรือ Node นั้นแล้วหละก็ ต่อให้ Hacker สามารถเข้าควบคุมเครื่อง Server หรือ Node นั้นๆ ได้ Hacker ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบันทึกรายการเก่าและไม่สามารถลงบันทึกรายการใหม่ใดๆ ได้ เนื่องจาก Node อื่นๆ จะพบความผิดปกติของรายการที่ไม่ได้เซนต์ด้วย Private Key และจะไม่ได้รับฉันทามติให้กลายเป็นรายการ บล็อค หรือโซ่ที่ถูกต้องอยู่ดี เว้นเสียแต่ว่าจะสามารถยึดครองกำลังประมวลผลของทั้งเครือข่ายได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปได้ยากมากที่จะสามารถแฮ็คหลายๆ Node พร้อมกันได้

ภาพจาก Bitkub Blockchain Technology, Freepik.com

 

 

เขียนโดย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
Expertise:
  Blockchain & FinTech
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 257
  •  
  •  
  •  
  •  
Jirayut Srupsrisopa
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทำงานในแวดวงอุตสาหกรรม เทคโนโลยี Cryptocurrency และ Blockchain ก่อนหน้านี้เคยทำงานในฐานะนายธนาคารด้านการลงทุนที่ปรึกษาทางการเงินและนายธนาคารกลาง มีประสบการณ์การเป็นวิทยากรหนึ่งในทีมชั้นนำระดับประเทศ จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร ตอนนี้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ bitkub.com - การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย