‘ตามเทรนด์’ เพราะกลัว ‘ตกเทรนด์’ คือสัจธรรมของเหล่าสิ่งมีชีวิตที่วนเวียนในโลกใบเก่าและโลกออนไลน์ใบใหม่ต่างยึดมั่น จนทำให้สื่อสังคมออนไลน์เบ่งบานเติบโตชนิดที่ไม่มีเทคโนโลยีใดมาเทียบเคียง (คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่าทำไมกรุงเทพฯ ถึงกลายเป็นเมืองหลวง facebook อันดับหนึ่งของโลกได้)
ในยุคดอทคอมบูม ตอนนั้นไม่ว่าบริษัทระดับไหน ก็ต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง มีไว้โม้ไว้คุยกับเพื่อน CEO บริษัทอื่นได้ เน้นดีไซน์หวือหวาเทคนิคแพรวพราว ไม่สนว่าจริงๆ แล้วบริษัทมีกลยุทธ์อะไร เห็นบริษัทระดับช้างขี้ เลยอยากขี้ตามแม้จะเป็นแค่จิ้งจกขี้ เสียเงินเท่าไหร่ไม่ว่า อย่าให้เสียหน้า
จนมาถึงยุคสื่อสังคมออนไลน์ (ดีที่ Hi5 โบกมือลาไปแล้ว) ก็ทำ fanpage สิ ทำ line@ ด้วย IG เอา youtube ด้วยนะ twitter ห้ามลืม เพราะเมียบอสมี Google+ อะไรนะ Pinterest มาแรงเหรอ งั้นเหมาหมด ของฟรีนี่นา เห็นคู่แข่งมันทำหมดเหมือนกัน แต่ทีมงานที่ดูแลล่ะ หรืองบที่เอามาใช้โปรโมตให้คนรู้จักล่ะ
เวลาเป็นวิทยากรด้านออนไลน์หรือเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทต่างๆ เจอเลยว่าบางที่แต่งตั้งแอดมินจากคนชอบเล่นชอบโพสต์ใน facebook หรืออัพโหลดคลิปเป็นก็ให้ทำ youtube channel อืมมม…ไม่ได้ดูถูกฝีมือนะ แต่ทุกคนที่เล่นหม้อข้าวหม้อแกงเป็น คงไม่มีทางเป็นเชฟมิชิลินสตาร์ได้ทุกคน มันหมดยุคโพสต์อะไรมั่วๆ แล้ว คิดดูให้ดีว่าแพลทฟอร์มไหนจำเป็นต่อองค์กรเราจริงๆ อย่างน้อยทำ facebook fanpage ให้ดีก่อน แล้วตัวอื่นๆ ค่อยเลือกเอาตามความเหมาะสม อย่าโลภมากเหมาทำหมด จะพินาศหมด
ถ้าถามว่าอยากเอาสื่อดิจิทัลพวกนี้ไปทำแมวอะไร หลายๆ บริษัทถึงกับใบ้ คือทำเหมือนแค่จุดพลุ เอางบไปจ้างโปรโมตช่วงเปิดตัวให้ฮือฮาสักพัก สุดท้ายก็บัวแล้งน้ำ ขาดความต่อเนื่อง ไม่มีแผนรองรับหากสถานการณ์พลิกผัน ไม่เคยพิจารณาว่ามันเหมาะกับเราหรือเปล่า? สะท้อนถึงความเป็น brand ที่แท้จริงหรือเปล่า?
อยากรู้จริงอย่าแค่เชื่อรายงานผักชีโรยหน้า หรือทำตามคู่แข่ง ลองถามพนักงานระดับล่าง โดยเฉพาะส่วนที่ต้องเจอลูกค้าบ่อยๆ อย่างพนักงานต้อนรับ ทีมเซลส์ หรือแม้กระทั่งยามเฝ้าประตู ที่อาจรู้ว่าจริงๆ แล้วบริษัทต้องการแค่คนที่บริการลูกค้าเก่งๆ มาคอยตอบคำถามใน inbox ของ fanpage หรือคนที่สามารถสร้าง content น่าสนใจใน line เท่านั้นเอง ถ้าอันไหนทำแล้วไม่เวิร์ค ก็รีบตัดเนื้อร้ายเลิกทำซะ เน้นๆ เฉพาะอันที่เหมาะหรือมี feedback ดี (ถ้าไม่อยากมั่วเสี่ยงๆ ก็จ้างเค้าทำเหอะ ระหว่างนั้นก็เรียนรู้และเลียนรู้แนวทางของพวกมือโปร อนาคตจะได้มีปัญญาเอากลับมาทำเอง)
เขียนโดย กิตติกร อนุเธียร
Expertise: Creative & Content
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่
Copyright © MarketingOops.com