เมื่อยักษ์จีนด้าน E-Commerce อย่าง Alibaba ได้เข้าไทยมาอย่างเต็มตัวแล้วหลังจากได้ลงนามกันในความร่วมมือทั้ง 4 ด้านกับภาครัฐไทย ทางผู้ประกอบการไทยเองก็ควรจะได้ใช้เวลานี้ศึกษาช่องทาง E-Commerce เนื่องจากจะช้าหรือเร็ว มันก็ต้องเข้ามาอยู่ดีนั่นเอง
1. มีช่วงนาทีทองใน Shopping Festival
เรื่องนี้นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ Alibaba นำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จมาก จนแทบจะกลายเป็นประเพณีของธุรกิจจีนไปแล้ว เมื่อจะต้องมีช่วงเวลาเทศกาลหรือช่วงวันพิเศษที่ช่องทาง E-Commerce กระแสหลักของจีนจะทำการลดกระหน่ำ ออกโปรโมชั่นพิเศษ
ซึ่งวันที่โด่งดังมากก็คือ เทศกาลคนโสด ตรงกับวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะเป็นวันที่สินค้าบนช่องทางออนไลน์กระแสหลักอย่าง Tmall และ JD.com รวมถึงช่องทางอื่นๆต่างกระหน่ำลดราคาสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ ตั้งแต่ 30-50% แล้วยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์ท้องถิ่นและรายย่อยด้วย เพราะเป็นช่วงเทศกาลที่คนจีนจะเข้ามาช็อปปิ้งออนไลน์กันมาก
ในปลายปี 2017 มีรายงานจากทาง Alibaba ว่า ยอดจำนวนทางออนไลน์พุ่งสูงกว่า 168,000 ล้านหยวน ในขณะที่ JD.com อยู่ที่ 127,000 ล้านหยวน เป็นอัตราที่เติบโตกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 50 ซึ่งนอกจากเทศกาลวันคนโสดที่โด่งดังแล้ว ยังมีวันอื่นๆ อีก เช่นช่วงเทศกาลตรุษจีน และวันวาเลนไทน์ของจีน
2.ผู้บริโภคจีนต้องการอัพเกรด
คนจีนในยุคนี้มีกำลังซื้อสูง และมีความต้องการทั้งบริโภคและอุปโภคมากขึ้นทุกขณะ หรือจะเรียกว่าต้องการ “อัพเกรด” ในเรื่องของ ไลพ์สไตล์ อาหาร เครื่องดื่ม ความสะดวกสบาย ความเป็นอยู่ แฟชั่น และอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลทำให้ผู้บริโภคชาวจีนต้องการหาสินค้าที่ดี มีคุณภาพ เหมาะสมกับราคา
ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือ คนจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและในโซเชียลต่างๆ ซึ่งก็มีผลต่อการเลือกหาสินค้าทางออนไลน์จากต่างแดนด้วย
มีรายงานใน Chinainternetwatch ระบุว่าในปี 2017 ยอดซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านทางออนไลน์ของคนจีนพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 67 จากปีก่อนหน้านี้ โดยสามเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ Tmall, Kaola และ JD.com แล้วในรายงานของ World Economic Forum ก็ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตของผู้บริโภคสูงสุดในโลกด้วย
3.New Retail ออนไลน์และออฟไลน์จะผนวกกันมากกว่าแข่งขัน
นี่อาจจะเป็นอนาคตใหม่ของการค้าปลีก ด้วยการผสมแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน จนกระทั่งเกิดคำว่า “New Retail” ซึ่งทาง Jack Ma ได้ออกมาประกาศไว้ในปี 2016 ว่าต่อไปนี้การค้าปลีกซึ่งเป็นรูปแบบออฟไลน์จะมีการผสมผสานแบบออนไลน์ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ บริการ ระบบ Logistics Big Data และการบริหารจัดการต่างๆ เข้าด้วยกัน (ตัวอย่างเช่น Hema Supermarket แบบไร้เงินสดของ Alibaba)
ซึ่งคาดการณ์ว่ารูปแบบนี้จะเป็นอนาคตใหม่ของการค้าปลีกในจีนและทั่วโลกที่จะขยายต่อไป นั่นเท่ากับว่าผู้ค้าในจีนจะต้องร่วมกับเจ้าตลาดรายใหญ่ทาง E-Payment อย่างเลี่ยงไม่ได้
4.คุณต้องมี Digital Payment
จากในข้อ 3 ที่กล่าวมา ยังเป็นส่วนปลายหรือผลลัพธ์ในอนาคต แต่เอาแค่ในปัจจุบัน คนจีนใช้งานระบบ E-Payment กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Alipay และ WeChat Pay
จุดแข็งสำคัญอีกอย่างคือ ระบบการชำระเงินแบบนี้กำลังเข้ามาแทนที่ระบบการใช้บัตรเครดิต และยังเป็นที่ฝากเงินสดแทนที่ธนาคารมากขึ้น อย่างน้อยก็สำหรับคนจีนส่วนมากในเวลานี้
5.หน้าร้านอย่างเดียวไม่พอ ต้องกระตุ้นลงโซเชียลด้วย
ไม่เพียงแค่ออนไลน์ แต่ยังต้องทำตลาดหรือกระจายลง Platform Social Media อีกด้วย
ข้อสำคัญคือ โซเชียลเป็นช่องทางที่คนใช้งานกันผ่านทางมือถือ ซึ่งเวลานี้คนจีนนิยมเสพข้อมูลและค้นหาสิ่งต่างๆ ผ่านทางมือถือเป็นอันดับ 1 นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การตลาดในจีนยุคใหม่ รวมถึงการตลาดในแทบจะทุกประเทศทั่วโลก ต้องให้ความสำคัญกับการลงโซเชียลในมือถือไปด้วย อีกทั้งยังสามารถที่จะสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มผู้ติดตาม กลุ่มคนในช่วงอายุต่างๆ หรือกลุ่มคนที่มีความสนใจพิเศษในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้โดยตรงมากขึ้น
เขียนโดย อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร
Expertise: China Marketing
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่
Copyright © MarketingOops.com