โมเดลธุรกิจ O2O เขย่าธุรกิจ “ร้านอาหาร” ในประเทศจีน

  • 184
  •  
  •  
  •  
  •  

“อาหาร” หรือ “ธุรกิจอาหาร” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ เพราะมองว่าอาหาร คือ ปัจจัยสี่ ซึ่งสอดคล้องกับหลักอุปทาน หนึ่งในความต้องการที่มนุษย์ทุกคนพึงมี คนส่วนใหญ่มองว่าอาหารเป็นธุรกิจที่ไม่ยุ่งยาก เริ่มต้นและทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะ การเปิด “ร้านอาหาร” ซึ่งจัดได้ว่าเป็นธุรกิจยอดนิยมของการลงทุนในรอบทศวรรษนี้เลยทีเดียว

^65FA2D6C90CF16718C67D34B79F4536D4048BB83795977FD91^pimgpsh_fullsize_distr

ในประเทศจีนนั้น ธุรกิจ “ร้านอาหาร” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าลงทุนและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก ด้านวัฒนธรรม นักธุรกิจจีนให้ความสำคัญในเรื่อง “ความสัมพันธ์กับคู่ค้า” เป็นอันดับหนึ่ง การได้ร่วมรับประทานอาหาร และ การดื่มเหล้าเพื่อวัดใจ เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เลยหากต้องการทำธุรกิจกับคนจีน ซึ่งการที่จะเปิดร้านอาหารที่มีบรรยากาศดีดี บริการดี รสชาติประทับใจ และ ที่สำคัญคือ มีความเป็นส่วนตัว นั้น เป็นที่ต้องการสำหรับตลาดจีนในยุคปัจจุบันอย่างมาก หากเราได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวที่ประเทศจีน จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลามื้ออาหารที่นั่น ถ้าไม่ได้มีการจองล่วงหน้า โอกาสที่เราจะได้เข้าไปนั่งรับประทานอาหารนั้น แทบจะเป็นไปได้ยาก

จากสถิติปี 2559 มูลค่ารายได้รวมของธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีนนั้นอยู่ที่ 3.577 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.8% จากปีก่อน ในส่วนของประเภทของร้านอาหารที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนได้แก่ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หม้อไฟ ร้านเบเกอร์รี่ และ ร้านขนมหวาน เป็นต้น ข้อสังเกตุคือ ร้านอาหารที่มีการตกแต่งหรูหรา และ ค่าบริการแพง (ค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายสูงกว่า 400 หยวนต่อคนต่อมื้อ หรือ ประมาณ 2,000 บาทต่อคนต่อมื้อ) มียอดขายและจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย ในขณะที่ ร้านอาหาร ประเภทที่มีราคาเป็นกันเอง มีการตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ และ ราคาจับต้องได้ มีการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน

อีกสถิติหนึ่ง ที่น่าสนใจมากก็คือ หัวเมืองหลัก ๆ ในโซนเทียร์หนึ่งของประเทศจีน เช่น กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา และ เซินเจิ้น มีจำนวนร้านอาหารลดน้อยลง หรือก็คือ ปิดกิจการ จากที่มีจำนวน 590,000 กว่าร้านในปี 2557 ปรับลดลงเหลือประมาณ 576,000 ร้าน ปรับตัวลดลงกว่า 2.4% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านอาหารในกรุงปักกิ่ง และ มหานครเซี่ยงไฮ้นั้น มีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 36,500 ร้าน การแข่งขันในธุรกิจอาหารนั้น เพิ่มความดุเดือดมากขึ้น ร้านอาหารในปัจจุบัน จำเป็นต้องพึ่งพาการตลาดออนไลน์ ในการช่วยสร้างแบรนด์ และ อำนวยความสะดวก ลูกค้าให้ได้มากที่สุด โมเดลธุรกิจ O2O ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งซึ่งนำเอาข้อดี ของการลดต้นทุนในการส่งสินค้าและให้บริการ นำข้อดีของการติดต่อผ่านช่องทาง ออนไลน์มาช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านเวลา และ ต้นทุนการเดินทาง เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการเข้าสู่สินค้าและบริการให้กับผู้บริโภค

3174A2178D58CDF82F222FEC3666329

ปัจจุบัน ตลาดโมเดล O2O ในส่วนของการให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศจีนนั้น มี DAU (Daily Active User) สูงถึง 293 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าทางการตลาดกว่า หนึ่งแสนล้านหยวน (ราวๆห้าแสนล้านบาท) จากแอปพลิเคชั่น O2O ที่เปิดให้บริการและมียอดผู้ใช้ค่อนข้างเยอะไม่ถึง 30 แอปพลิเคชั่น (จริงๆมีเยอะแต่ปีสองปีนี้ปิดตัวไปเยอะมาก) ซึ่งในจำนวนนี้ มีอยู่ 3 แอปพลิเคชั่น ที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 87.9% ได้แก่ Meituan-Dianping (美团点评) 45.2%, Ele.me (饿了吗) 36.4%, Baidu-Waimai (百度外卖) 6.3% และ อื่น ๆ 12.1% ตามลำดับ

ะบบ Supply Chain Management ในประเทศจีนที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ทั้งในเรื่องการควบคุมต้นทุนการส่งสินค้า จำนวนปริมาณของผู้ส่งสินค้าที่มากพอ และอีกหลาย ๆ ประเด็น ทำให้โมเดลธุรกิจ O2O ของประเทศจีนนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่นแอปพลิเคชั่น Meituan-Dianping (美团点评) ซึ่งเริ่มเติบโตจากการให้บริการด้านแนะนำร้านอาหาร สามารถเปิดให้ Users เข้ามาเขียนเนื้อหาติชม รีวีวร้านได้ คล้ายคลึงกับวงในของบ้านเรา แต่ผันตัวมาทำ O2O อย่างเต็มตัว ให้บริการเพิ่มเติมในส่วนของ Food Delivery ด้วย ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีจำนวน พนักงานส่งอาหาร มากกว่า 8,000 ชีวิต ข้อมูลร้านค้าคลอบคลุม 2,800 เมืองในประเทศจีน และมีสำนักงานกระจายตามหัวเมืองหลักกว่า 1,100 เมือง มีจำนวนร้านค้า ร้านอาหาร ที่ลงทะเบียนข้อมูลมากกว่า 3 ล้านแห่ง

นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่นได้มีการพัฒนาระบบหลายอย่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น LBS (Location Based Service), Online Payment, Coupon รวมถึงขยายโมเดล O2O เพิ่มไปยังธุรกิจประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากอาหาร เช่น ร้านค้าออนไลน์, บริการ โรงภาพยนตร์, คาราโอเกะ รวมไปถึงการขยายฐานข้อมูลร้านค้า มายังประเทศต่าง ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวจีนเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส รวมถึง ประเทศไทยของเราเช่นกัน

โมเดลธุรกิจ O2O ในประเทศจีนนั้น ได้รับการสนับสนุน จากรัฐบาล และถือเป็นหนึ่งในนโยบายยุทธศาสตร์ ของท่านนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ที่ได้เน้นย้ำไว้ตั้งแต่ปีต้นปี 2558 ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยเสถียรภาพทางการเมืองและการเงินของประเทศจีน น่าจะส่งผลกระทบให้ตลาด O2O นั้นก้าวทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และเชื่อว่า แอปพลิเคชั่น O2O ของประเทศจีน ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ผู้ประกอบการชาวไทย เข้าถึงตลาดผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

เขียนโดย เธียรศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ 

Expertise: Marketing Strategy

อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 184
  •  
  •  
  •  
  •  
Tiensak Thamcharonkij
ผู้ก่อตั้งธุรกิจเครือท่องไทยกรุ๊ป สื่อภาษาจีน มีเดียเอเจนซี่จีน แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ใช้ภาษาจีน และที่ปรึกษาด้านการเจาะตลาดจีนที่ได้รับความนิยมในกล่มธุรกิจชั้นนำ ผ่านประสบการณ์ การเรียน ทำงาน และ เปิดบริษัท ในประเทศจีน กว่า 10 ปี จบการศึกษาทั้งปริญญาตรีและโท ในสาขาเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการจัดการองค์กรและกลยุทธ์ ปัจจุบัน เริ่มจัดตั้งบริษัทสื่อภาษาจีน ทั้งประเภทสิ่งพิมพ์และออนไลน์ รวมถึงการเป็น Full Service Agency ที่ให้บริการองค์กรชั้นนำในประเทศไทยหลากหลายองค์กร