คงเป็นที่ปฏิเสธได้ยากว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงหลายประเภทธุรกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะอาชีพบริการ การท่องเที่ยว อุปโภค บริโภค ธุรกิจอาหาร โรงแรม สปา อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ อีกมากมาย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยถือเป็นพลังขับเคลื่อนที่มีบทบาทชัดเจนต่อกลไลเศรษฐกิจไทยอย่างมากมาโดยตลอด ในอดีตนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตลาดที่ผู้ประกอบการต่างๆให้ความสนใจ แต่สำหรับหลายๆ ผู้ประกอบการในปัจจุบันแล้วรายได้จากนักท่องเที่ยวกลายเป็นทางรอดของธุรกิจ ผู้ประกอบการเริ่มตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดการท่องเที่ยวสมัยใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น คู่แข่งน้อยใหญ่ที่พร้อมที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งของตลาดภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงเทรนด์ของตลาดการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนทำให้เกิดธุรกิจที่ให้บริการกับชาวต่างชาติโดยเฉพาะมากขึ้น เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ร้านคาราโอเกะ โดยกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้ามามากที่สุดหนีไม่พ้น “นักท่องเที่ยวชาวจีน”
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวสมัยใหม่ มีดังนี้
1.“Globalization” โลกาภิวัฒน์
ผลลัพธ์จากการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศได้นำความหลากหลายทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม นวัตกรรม เทคโนโลยี แรงงาน ฯลฯ ของแต่ละมุมโลกเข้าด้วยกัน โดยผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างชัดเจนคือ “การเปลี่ยนแปลง” โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันสภาพการณ์ของตลาดในปัจจุบันและอนาคตเพื่อมัดใจกลุ่มลูกค้า และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านธุรกิจ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
2.“Specialty Interest Tourism” การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม
รูปแบบของการท่องเที่ยวมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต นักท่องเที่ยวหลายกลุ่มมีความรู้ความเข้าใจต่อประเทศไทยมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศท่องเที่ยวยอดฮิตในสายตาชาวต่างชาติ หัวเมืองต่างๆ เช่น กรุงเทพ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต หัวหิน โด่งดังมีชื่อเสียง สามารถดึงดูดนักเดินทางจำนวนมากในแต่ละปี ด้วยความแตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์ ความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจุดเด่นเยอะส่งผลให้เรามีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวโดยมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่มาก นักเดินทางมีจุดประสงค์หลักในการเดินทางมาไทยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชิงเกษตร เชิงอุตสาหรรม เชิงพานิชย์ เชิงวัฒนธรรม เชิงศาสนา เชิงการแพทย์ เชิงสุขภาพ เชิงกิจกรรมและกีฬา สรุปคือปัจจุบันนักเดินทางมีจุดประสงค์และเป้าหมายในการมาไทยที่กว้างมากขึ้น ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สุด
3.“Digital Lifestyle” ชีวิตยุคดิจิทัล
เทคโนโลยี นวัตกรรมในยุคดิจิตอลได้สร้างความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางทั้งในและนอกประเทศ การศึกษาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ การแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยวในโลกออนไลน์มีให้เห็นอย่างแพร่หลาย การจ่ายเงินออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติในยุคดิจิตอล โดยทุกวันนี้ชาวจีนมาเที่ยวไทยไม่จำเป็นต้องพกเงินสดมา ทุกอย่างสามารถจบในระบบออนไลน์ได้แทบทั้งหมด ฉะนั้นแล้ว “การเชื่อมต่อ” และ “การเข้าถึง” โลกออนไลน์จึงส่งผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยตรง ทำให้สัดส่วนของกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภท F.I.T.เพิ่มมากขึ้น โดยทุกคนสามารถศึกษาข้อมูลด้านการท่องเที่ยว จองตั๋วเครื่องบิน จองห้อง จองโรงแรม จองรถ จองตั๋วด้วยตนเอง และสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศที่ตนไม่เคยไปได้อย่างไม่ยากลำบาก ฉะนั้นการเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือออนไลน์ที่กลุ่มลูกค้านิยมใช้อย่างเป็นประจำจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ จนอินเตอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง
4.“Travel safety” ความปลอดภัยระหว่างการเดินทาง
คงไม่มีนักท่องเที่ยวท่านไหนที่ต้องการไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาสงครามกลางเมือง การจลาจล ผู้ก่อการร้าย การชิงทรัพย์ ภัยธรรมชาติ ภูมิอากาศที่เลวร้าย การระบาดของโรค ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ไม่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในประเทศที่ประสบปัญหาเหล่านี้อย่างแน่นอน ในยุคสมัยปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ สามารถถูกเผยแพร่ไปสู่อีกมุมโลกภายในไม่กี่วินาที นักเดินทางเปลี่ยนเป้าหมายในการเดินทางได้ทุกเมื่อ
5.“Low-cost Airline” สายการบินราคาประหยัด
การแข่งขันของธุรกิจสายการบินเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยราคาค่าโดยสารที่น่าสนใจทำให้สายการบินราคาประหยัดกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำคัญในการเดินทางที่นักท่องเที่ยวนักเดินทางทั้งหลายมักจะใช้บริการอยู่เสมอ ราคาที่ถูกทำให้นักเดินทางรู้สึกว่าการไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกสบายขึ้น ฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อตั๋วในราคาที่ถูกส่วนใหญ่แล้วจะทำการวางแผนล่วงหน้าและจองตั๋วเครื่องบินเนิ่นๆ ก่อนไปท่องเที่ยวเสมอ
6.“Politics” นโยบายทางการเมือง
นโยบายต่างประเทศส่งผลโดยตรงกับจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยว นโยบายผ่อนผันต่างๆในการขอยื่นวีซ่า การยกเลิกการขอวีซ่า การยกเลิกค่าทำเนียมระยะสั้น เป็นการกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวที่ชัดเจนที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีย่อมเพิ่มจำนวนการไปมาหาสู่โดยปริยาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่หม่นหมองก็ส่งผลด้านลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการเช่นกัน โดยกรณีที่ชัดเจนที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาความขัดแย้งในเชิงนโยบายต่างประเทศของจีนและเกาหลีใต้ทำให้กระแสต่อต้านเกาหลีมีให้เห็นอย่างแพร่หลายในประเทศจีน นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่เบนเข็มไปท่องเที่ยวที่ประเทศอื่น ทำให้หลายประเทศรอบข้างรวมถึงประเทศไทยได้รับอานิสงค์ไปด้วย
7.“Aging society” สังคมผู้สูงอายุ
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยหลากหลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาธิเช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน หรือแม้กระทั่งประเทศไทยเองก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าตลาดนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุจะขยายตัวเช่นกัน นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงมาก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีคุณภาพ มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยสูง เน้นการท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพดี ฉะนั้นเราจะเห็นว่าธุรกิจที่เจาะกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุโดยเฉพาะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างแพร่หลาย รวมถึงธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์
สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวและบริการจำเป็นต้องเรียนรู้เจาะลึกพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอเพื่อที่จะรับมือและสนองความต้องการลูกค้าในยุคดิจิทัลที่นักท่องเที่ยวมีช่องทางและตัวเลือกที่เจาะลึกมากกว่าเดิม แน่นอนว่าถ้าไม่เตรียมพร้อมเพื่อรับมืออย่างถูกต้อง คงยากที่จะตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ ในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นโอกาสทางการธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่ก้าวตามกลไลตลาดได้ทัน วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล การใช้เครื่องมือที่ตอบโจทย์ลูกค้า การศึกษาและวิจัยตลาดการท่องเที่ยว จำเป็นต้องทำควบคู่ด้วยกันไปเพื่อที่จะสามารถวางแผนตั้งรับได้อย่างถูกวิธี เพราะอาชีพบริการคืออาชีพที่ต้องอัพเดทตนเองอยู่เสมอ!