เทรนด์อีคอมเมิร์ซจีน ฝ่าวิกฤตโควิด-19

  • 310
  •  
  •  
  •  
  •  

จับเทรนด์อีคอมเมิร์ซจีน หลังยุคโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน เทคโนโลนีเปลี่ยน ไปจนถึงความจำเป็นต่างๆด้วย มาลองดูว่าหลังยุคโควิด-19 มีอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นกับเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซในจีน ซึ่งคนที่จะบุกตลาดจีนควรต้องคำนึงครับ

 

ต้องใช้ ฟีเจอร์ WeChat Mini Program

Credit : Jirapong Manustrong / Shutterstock.com

เนื่องจากคนจีนในเวลานี้ ขอแค่มีมือถือมาร์ทโฟนที่โหลดแอพต่างๆมาใช้งานเพียงเครื่องเดียว คนจีนก็สามารถใช้งานฟีเจอร์ที่จำเป็นได้แบบครบวงจรแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของ การทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ไปจนถึงเรื่อง ธนาคาร โรงพยาบาล ค่าทางด่วน สุขภาพ

 

แต่หนึ่งในแอพฯที่สำคัญที่สุดคือ WeChat ซึ่งภายในนั้นก็มีโปรแกรมย่อยที่เรียกว่า WeChat Mini Program ที่ถูกพัฒนามาแล้วมีแอพฯจำนวนนับร้อยอยู่ในนั้นที่เชื่อมโยงกับ WeChat อีกที ตัวอย่างของโปรแกรมย่อยที่คนจีนใช้งานสูงสุดก็คือ WeChat Pay ที่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ยอดนิยม เป็นรองแค่ Alipay เท่านั้น

ดังนั้นถ้าจะบุกตลาดจีนออนไลน์ ต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อการใช้งานภายใน WeChat Mini Program อย่างเลี่ยงไม่ได้ครับ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายของคนจีนทุกระดับ ที่ขอแค่มีมือถือเครื่องเดียวก็สามารถใช้บริการแบบครบวงจรได้ ซึ่งหากการท่องเที่ยวเปิดอีกครั้ง คนจีนที่กลับเข้ามาในเมืองไทย ก็ไม่ต้องพกเงินสด แต่ใช้การสแกน QR Code จ่ายด้วยมือถือได้ทันที

สำหรับในแง่ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีน มันก็คือการทำให้รูปแบบชำระเงินและธุรกรรมต่าง ๆ ให้ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มบนมือถือเป็นหลัก ภายใต้การใช้งานแบบครบวงจร หรือ One Platform

 

เนตไอดอล KOL Influencer ยังสำคัญมากในตลาดจีน

Young asian woman blogger with makeup cosmetics recording video clip online by smartphone at home. Teaching and selling product online concept.

จะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเป็น เนตไอดอล KOL ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไรนัก คนกลุ่มนี้ถือว่ามีอิทธิพลด้านการตลาดในจีนโดยเฉพาะทางออนไลน์อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการทำ Content บนช่องทางโซเชียลมีเดีย และการทำ Live สด เพื่อรีวิวสินค้า ที่มีส่วนชักจูงให้คนซื้อสินค้า นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนคอนเท้นต์ที่น่าเบื่อให้กลายเป็นเรื่องบันเทิง น่าติดตาม ขึ้นอยู่กับลีลาในการรีวิวสินค้าของคนเหล่านี้

แล้วที่สำคัญคือ บรรดาแบรนด์ยี่ห้อดัง หวังพึ่ง “จำนวนคนติดตาม” หรือแฟนคลับ ของคนกลุ่มนี้ด้วย แม้ว่าบางครั้งจะมีปัญหาในแง่ที่ สินค้าและเนตไอดอลอาจจะไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องนัก ทำให้ยอดขายอาจจะไม่เกิดอย่างที่ต้องการ

 

คลิปวีดีโอ และ Live Stream

ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการรายใหญ่สำหรับเว็บอีคอมเมิร์ซจีน เช่น Alibaba และ JD.com ก็กำลังแข่งขันกันผลิต Content เป็นคลิปวีดีโอผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากกว่า 10 ช่องทางเป็นอย่างต่ำ โดยเฉพาะเว็บไซต์เจ้าใหญ่อย่าง Taobao และ Tmall มีการผลิตคลิปวีดีโอที่มีจำนวนผู้เข้าชมรวมแล้วมากกว่า 100 ล้านครั้งเลยทีเดียว

เนื่องจากมีรายงานของ CIW ระบุว่า รูปแบบการทำตลาดด้วยคลิปวีดีโอออนไลน์ การทำ Live สด มีการเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงแพลตฟอร์มหลายช่องทางก็ทำให้รูปแบบการทำโฆษณาเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

ส่วนมูลค่าของการทำโฆษณาด้วยวีดีโอออนไลน์ มีมูลค่าขึ้นไปแตะถึง 4.59 หมื่นล้านหยวน ถือว่าเป็นรูปแบบที่มาแรงที่สุดในเวลานี้

สำหรับในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา การทำ Live กลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ ที่มาแรงสุดๆ และเป็นทางออกของการขายสินค้าและรีวิวสินค้าผ่านออนไลน์ เพราะการแข่งขันที่สูงมากขึ้น ดังนั้นการทำ Live จึงช่วยเรียกความสนใจได้ดี โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความงาม เครื่องสำอาง สุขภาพ เป็นต้น

แล้วยังมีสถิติว่า ยอดคนที่เข้ามาดูคลิป Live โดยเฉพาะสัดส่วนของการนำเสนอด้านบันเทิงและกลุ่ม Content ประเภท Entertainment มีสูงถึงกว่า 89 ล้านคนต่อวัน แล้วโดยเฉลี่ย ต่อหนึ่งคนจะเข้ามาดูประมาณ 5 ครั้งต่อวัน ใช้เวลาประมาณเฉลี่ย 43.8 นาที โดยเพศชายเข้ามามากที่สุด ที่สำคัญคือ พวกที่เข้ามามักมีกำลังจ่ายสูง โดยมักจะมาจากเมืองในระดับ Tier-1 ของจีน เช่น กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เป็นต้น

ในส่วนของแพลทฟอรมที่ถูกนำมาใช้สำหรับ Live ตัวที่มาแรงมากๆ ก็เช่น TikTok แต่ก็ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้งานด้วยว่าจะเข้ากับสินค้าบนอีคอมเมิร์ซของเรายังไง

 

ธุรกรรมออนไลน์ สังคมไร้เงินสด

Credit : StreetVJ / Shutterstock.com

ในเวลานี้จีนกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความนิยมของการเปิดให้บริการ Hema Supermarket ซุปเปอร์ไร้เงินสด ที่อยู่ในเครือของ Alibaba ได้เปิดให้บริการ โดยถูกออกแบบมาให้เป็นโมเดลของการทำซุปเปอร์มาร์เก็ตในแบบไร้เงินสด

รูปแบบที่ใช้คือ ลูกค้าสามารถเข้าไปเลือกสั่งอาหารสด อาหารทะเล และของต่าง ๆ จากในซุปเปอร์ โดยที่ไม่ต้องพกเงินสดติดตัว แล้วยังมีบริการส่งอาหารสดให้สำหรับใกล้บ้านอีกด้วย ขอเพียงมี Alipay อยู่ในมือถือเท่านั้นก็สามารถจัดการทุกอย่างได้แล้วนั่นเอง

สำหรับในส่วนของ WeChat Pay ก็จะมีการเปิดให้บริการสำหรับลูกค้าที่เข้าไปจ่ายเงินซื้อของใน Supermarket ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการสแกน โดยที่ไม่ต้องเอามือถือขึ้นมาสแกนได้ด้วยซ้ำ

ซึ่งตากเทรนด์เหล่านี้ เกี่ยวข้องพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคชาวจีน การตลาดจีน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ซึ่งมีผลกับการบุกตลาดออนไลน์ในจีนโดยตรงด้วย

 

 

เขียนโดย อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร
Expertise: China Marketing
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 310
  •  
  •  
  •  
  •  
Ittichai
ผู้ก่อตั้ง บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านการตลาดจีน เจ้าของเพจ Level Up Thailand, Level Up China และ เว็บไซต์ Level Up Thailand (https://www.levelupthailand.com) มีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ในจีน เป็นนักพูดสร้างสรรค์ และผู้เขียนหนังสือ “บุกตลาดจีนด้วยโซเชียลมีเดีย”