เมื่อเมืองใหญ่ในจีนหลายแห่ง กำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด สำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาโอกาสในตลาดจีน ควรต้องรู้อะไรบ้าง เพื่อไม่ให้ตกขบวนครับ
พฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากในเวลานี้ แทบจะทุกสิ่งในวิถีชีวิตของคนจีนกำลังเปลี่ยนแปลงไปมากและกำลังเข้าสู่ความเป็นยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
มีการสำรวจพบว่า คนหนุ่มสาวชาวจีน คือกลุ่มที่นิยมใช้แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมต่าง ๆ แทนการใช้จ่ายเงินแทนเงินสด โดยเฉพาะการซื้ออาหาร จ่ายค่าทางด่วน ค่าโรงพยาบาล ไปจนถึงระบบการจองตั๋วเครื่องบิน โดยมีการใช้งานผ่านทางระบบชำระเงินออนไลน์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ยอดนิยม เช่น วีแช็ทเพย์ (WeChat Pay) และ อาลีเพย์ (Alipay)
มีการสำรวจจากปี 2018 พบว่ากว่าร้อยละ 90 ของประชากรจีน ใช้การชำระเงินทางออนไลน์ และนิยมใช้ผ่านทางมือถือกันมากที่สุด
Alipay และ WeChatPay ยังเป็นสองแอปพลิเคชั่นสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการทำธุรกรรมโดยไม่ใช้เงินสด โดยเฉพาะในหลายเมืองของจีน นอกเหนือจากเมืองระดับ 1-2 ซึ่งในช่วงแรกก็มีปัญหาอยู่บ้างเมื่อร้านค้าบางแห่งปฏิเสธลูกค้าที่นำเงินสดมาชำระ แต่นั่นก็ทำให้ลูกค้าต้องปรับตัวและดาวโหลดแอบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย
คนจีนสบายใจมากกว่าใช้เงินสด??
เป็นประเด็นที่มีการสำรวจกันมาตั้งแต่ปี 2017 มาแล้ว เมื่อสถาบันการเงินศึกษาฉงหยัง (Chongyang Institute for Financial Studies) ของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ร่วมกับ Ipsos ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดของฝรั่งเศส ได้ทำการสำรวจเชิงการตลาดในหัวข้อ คือ “ความสบายใจในการใช้จ่ายเงินโดยไร้เงินสดของคนจีน” ซึ่งจากการวิจัยครั้งนี้ เป็นการสุ่มตัวอย่างจากร้านค้าในเมืองต่าง ๆ จากทั่วประเทศจีน จำนวนกว่า 300 แห่งขึ้นไป
ในผลสำรวจชี้ว่า คนจีนในกรุงปักกิ่งมีความสบายใจในการจ่ายเงินโดยไร้เงินสดมากที่สุด ถึงกว่าร้อยละ 70 เลยทีเดียว โดยมีสาเหตุหลักคือ คนจีนในปักกิ่งมีความรู้สึกว่า การพกเงินสดติดตัวไม่มากนัก ช่วยทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะพกพาเยอะ แล้วยังมีรายงานชี้ว่า คนส่วนใหญ่จะพกเงินสดติดตัวแค่ประมาณราว 100 หยวน (หรือประมาณ 500 บาท)
นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 80% ยังมีความรู้สึกว่า การเดินออกจากบ้านโดยไม่ต้องพกเงินสุดติดตัว และพกพาแค่โทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ใช่ปัญหา และสะดวกมากกว่า
แล้วนอกจากที่ปักกิ่ง มีข้อมูลว่า เมืองใหญ่ที่สำคัญเช่น เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เซินเจิ้น ก็เป็นเมืองใหญ่ที่คนนิยมใช้การชำระเงินโดยไม่มีเงินสดมากถึงร้อยละ 60
ใช้จ่ายผ่าน Alipay และ WeChatPay
ในปัจจุบันมีรายงานจาก Chinainternetwatch ที่ชี้ว่า
- WeChat มีผู้ใช้บริการมากกว่า 1,000 ล้านคน
- Alipay มีผู้ใช้บริการมากกว่า 700 ล้านคน
แล้วยังมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในเมืองใหญ่อย่างเช่นเซี่ยงไฮ้ มีการใช้จ่ายเงินโดยเฉลี่ยต่อคนมากกว่า 150,000 หยวนต่อปีภายในระบบ
ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายเงินทางออนไลน์ในจีนจากปี 2018 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 7.18 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ถึงร้อยละ 32.2
ร้านค้าและเจ้าของธุรกิจรายย่อย ตอบรับ
สำหรับบริการที่ใช้งานร่วมกับแอพกระเป๋าเงินออนไลน์ทั้งสอง ยังได้แก่ ห้างสรรพสินค้า Supermarket ร้านอาหาร ธุรกรรมทางการเงิน ธนาคาร ร้านค้าท้องถิ่น โรงพยาบาล โรงแรม ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน จองตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ
นอกจากนี้ การแข่งขันกันระหว่างผู้ให้บริการรายใหญ่ในจีน ยังส่งผลโดยตรงต่อการเปิดห้างสรรพสินค้าแบบไร้เงินสด เช่น Super Species โปรเจคซูเปอร์มาร์เก็ตแนวใหม่ที่อยู่ในเครือ Yonghui ธุรกิจด้านซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของจีน ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 20 สาขา ส่วน Hema Supermarket ที่อยู่ในเครือของ Alibaba มีอยู่ 17 สาขา การที่ทั้งนี่จึงเป็นการเปิดศึกกันระหว่างสองบริการใหญ่ของจีน ซึ่งก็ทำให้พฤติกรรมของผู้คนในการใช้ระบบกระเป๋าเงินออนไลน์ถูกกระตุ้นไปด้วย
แล้วไม่เพียงแค่ร้านอาหาร หรือร้านค้าทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริการต่าง ๆ เช่น บริการเรียกรถรับส่งและการส่งอาหารแบบ Delivery ได้มีการผูกเข้ามาร่วมกับการใช้จ่ายผ่านระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง ซึ่งก็มีส่วนทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าของคนจีนที่หน้าร้านลดน้อยลง
มีข้อมูลว่า เมื่อสิ้นปี 2017 พบว่ามีผู้ใช้บริการส่งอาหารสูงราว 435 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 19.2 และมีผู้ใช้บริการเรียกรถรับส่งผ่านออนไลน์ราว 287 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5
อีกทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยีการทำธุรกรรมทางออนไลน์ก็มีการยกระดับมากขึ้น จากที่แต่เดิมเป็นการสแกนด้วย QR Code ปัจจุบันเริ่มนำระบบสแกนใบหน้าเข้ามาใช้ในบางบริการแล้วด้วย
นอกจากนี้ ตามข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ชี้ว่า ในประเทศจีนมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ราว 900 ล้านบัญชี ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า คนจีน ที่ทำธุรกิจผ่านทางช่องทางอีคอมเมิร์ซและชำระเงินทางระบบกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เขียนโดย อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร
Expertise: China Marketing
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่
Copyright © MarketingOops.com