“มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ…”
คือเว้นจากการพูดไม่จริง ซึ่งเป็นเส้นทางขนานกับสิ่งไม่มีชีวิตที่เรียกว่า ‘โฆษณา’ รู้กันอยู่แล้วว่าถ้าเป็นโฆษณาแบบปกติทั่วไปก็ต้องมุ่งเน้นให้คนสนใจทุกวิถีทาง ล่อหลอกด้วยสารพันกลยุทธ์ ให้บรรลุสู่เป้าหมายสูงสุดนั่นก็คือ ‘ยอดขาย’ ส่วนเรื่องออนไลน์นั้นไซร้ โหดแท้ไม่แพ้กัน บ่อยครั้งที่แกล้งหลับตาลืมจรรยาบรรณสื่อสารมวลชน หรือธรรมาภิบาลใดๆ ถ้าโดนบอสตั้ง KPI ที่เน้นแต่ยอด traffic ขอ like เยอะๆ share กันเพียบ เพื่อเอาตัวเลขไปคุยข่มผู้บริหารบริษัทอื่น (แล้วยอดขายล่ะ กล้าบอกหรือเปล่า?)
ในเมื่อเป้าหมายของการทำธุรกิจคือผลกำไร ในฐานะผู้บริโภคก็น่าทำใจไว้ก่อนว่าการสื่อสารการตลาดไม่ว่าโฆษณาใน traditional media หรือ digital media ต่างๆ ก็ต้องเน้นยอดขาย ด้วยเพราะการแข่งขันที่กลายเป็นว่าสินค้าแต่ละอย่างหาจุดขายยากมาก เพราะผลิตมาด้วยเทคโนโลยีเท่าเทียมกัน
ที่เคยโอ้อวดนำเสนอจุดขายที่เป็นจริงได้ เมื่อมันหายากแล้ว ทีนี้ก็ต้องมาเน้นตรงเทคนิคจอมปลอม เริ่มจากการใช้ภาพล่อหลอก รีทัชซะจนจำเค้าโครงเดิมไม่ได้ หรือแม้กระทั่ง TVC หรือ vdo clip ก็ใช้ CGI สร้างแอนนิเมชั่นเหมือนเกินของจริง แน่นอนละ ยั่วยวนจนเวลาผู้บริโภคเจอสินค้าจริงถึงกับก่ายหน้าผาก สุดท้ายเป็นอันหมดศรัทธา โฆษณาคือมายา สติผู้บริโภคคือของจริง
ลืมๆ เรื่องโฆษณาสื่อโบราณคร่ำครึไปก่อน ยุคที่ผู้คนหลงระเริงสื่อออนไลน์ คงไม่ใช่แค่ภาพสวยงามๆ ที่จะมาสะกดจิตได้ ต้องจัดเต็มเนื้อหา หรือที่เรียกว่า content ขอเคลียร์ตรงนี้เลยว่า content นั้นไม่ใช่แค่ caption หรือเขียนข้อความอธิบายภาพ มันคือการรวมกันของทั้งภาพและข้อความเป็นหนึ่งเดียวกัน เสริมด้วย ‘บริบท’ อืม…วิชาการไปนิด เอาให้เข้าใจง่ายๆ คือจะมีบางสิ่งบางอย่างเข้ามา ‘เสริม’ ให้เนื้อหานั้นคมขึ้น เรียกไลค์สร้าง engagement ได้สูงขึ้น
อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถ้าจะทำ content โดยใช้ภาพฟักทอง แล้วอธิบายถึงสรรพคุณอาจน่าเบื่อไปหน่อย แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นฟักทองที่เจาะเป็นตาและฟัน ‘เสริม’ ด้วยการโพสต์ช่วงปลายเดือนตุลา แล้วใช้ headline ว่า ‘ฟักทองมีดีกว่าแค่ของตกแต่งคืนฮาโลวีน’ รับรองเลยว่าคนจะสนใจมากกว่าปกติ (แต่ถ้าเอา content เดียวกันนี้ไปโพสต์ช่วงตรุษจีนคงกร่อยแน่)
ไม่ว่าจะสร้างสรรค์เนื้อหายั่วยวน ล่อหลอก หรือโน้มน้าวแค่ไหน ผู้บริโภคหรือว่าที่ลูกค้าทั้งหลายสามารถค้นหาข้อมูลมาเปรียบเทียบ หรือพิสูจน์ได้ในเวลาไม่กี่วินาที ว่าสินค้านั้นโอ้อวดเกินจริง หรือจริงใจแสนแฟร์ จะได้หากินกันยาวๆ ถ้าพลาดโดนจับได้เมื่อไหร่ crisis ที่เกิดขึ้นมันไม่คุ้มกันหรอก แถมรอยด่างนั้นจะจารึกอยู่ใน google ชนิดไม่มีวันลบหายไปได้