น่าเสียดายถ้าเรามีแค่เว็บไซต์ มีสื่อสังคมออนไลน์ มีแผนการตลาด แต่ไม่เคยเก็บข้อมูลเอามาวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง ว่าคนที่สนใจแบรนด์ สินค้าหรือบริการของเรามีพฤติกรรมการใช้งานบนเว็บไซต์ของเราอย่างไร? ใช้ช่องทางไหนถึงเจอเว็บไซต์ของเรา? เป็นคนจังหวัดไหน? ซื้อของไปแล้วกี่ครั้งในแต่ละวัน แต่ละเดือน?
ข้อมูลพวกนี้ เราสามารถเอาไปปรับปรุงแผนการตลาดของเรา สร้างยอดขายได้ แต่ถ้าเราละเลยข้อมูลพวกนี้ ไม่รู้ว่าจะรวมข้อมูลพวกนี้มาได้อย่างไร? หากธุรกิจไม่เอาใจใส่การรวมข้อมูลและมาวิเคราะห์วางแผนตั้งแต่ตอนนี้ก็เท่ากับว่าทำเงินเป็นแสนเป็นล้านหายไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
Google Analytics จึงเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือจำพวก Data Analytics สำหรับเว็บไซต์ขายของที่จะมาช่วยคนขายของออนไลน์ตรงนี้ได้
Google Analytics คืออะไร?
เกริ่นไปตั้งแต่ต้นง่ายๆว่ามันคือเครื่องมือช่วยรวมและจำแนกข้อมูลลักษณะและพฤติกรรมของคนที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ของเราในรูปแบบของสถิติอย่างละเอียด ข้อมูลพวกนี้มันก็จะแสดงผ่านตัวชี้วัด (Metrics) ต่างๆเช่นจำนวนคนดู ในแต่ละเว็บเพจ แต่ละช่วงเวลา แต่ละพื้นที่ อัตราการออกจากเว็บไซต์โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลยในช่วงๆหนึ่ง (Bounce Rate) ซึ่งเรื่องข้อมูลตัวชี้วัด จะขอพูดทีหลัง
ประโยชน์ของ Google Analytics คืออะไร?
– เจาะกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำมากขึ้น: ถ้า Facebook Insight สามารถบอกได้ว่าคนแบบไหนถึงจะมาดูมาไลค์ คอมเมนต์ แชร์บน Facebook Page ตัว Google Analytics เองก็ทำได้กับเว็บไซต์และแต่ละเว็บเพจของเราได้ไม่แพ้กัน ว่าคนที่มาดูนั้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงมากกว่ากัน มีอายุเท่าไหร่ มาจากพื้นที่ไหน ใช้อุปกรณ์อะไรในการดูเว็บไซต์ของเรา พอเรารู้ลักษณะของคนที่เข้ามาดู เราก็สามารถจัดการปรับคอนเทนต์ รูปแบบบนเว็บไซต์และแคมเปญการตลาดให้เข้ากับกลุ่มคนพวกนี้ได้แม่นและน่าสนใจมากขึ้น
– รู้ว่าสินค้าตัวไหนขายดีหรือขายไม่ดีและในช่วงไหนบ้าง: ถ้าเราดูใน Dashboard ของ Google Analytics มันจะบอกได้เลยว่าเว็บเพจไหนมีคนเข้าดูมากที่สุด ดูนานกี่นาที ไม่เว้นแต่เว็บเพจที่แสดงว่าเราปิดการขาย ลูกค้าซื้อของจ่ายเงินเสร็จเรียบร้อย หรือแม้แต่เว็บเพจของสินค้าแต่ละตัวที่คนดูกดปิดออกกลางคันในช่วงของการซื้อของ ที่สำคัญ Google Analytics บอกได้ว่าเพจสินค้าตัวนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่ ทำให้แต่ละวันเราสามารถดูว่าสินค้าตัวไหนขายดี ขายไม่ดีและเอาไปคิดวิเคราะห์หาทางปรับปรุงต่อไปได้
– เลือกใช้ช่องทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพได้ถูกต้อง: Google Analytics บอกหมดว่าคนที่เข้ามาดูเว็บไซต์ของเรานั้นมาจากช่องทางไหนบ้าง จาก Acquisition Report เราจะได้เห็นช่องทางที่คนเข้ามาดูมากที่สุด ช่องทางไหนที่มีคนเข้ามาดูน้อยแต่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาต่อไป
ประโยชน์ยังมีอีกเยอะครับ เพราะข้อมูลที่ Google รวมมาและแจกแจงให้มีเยอะ เช่นถ้าเว็บเพจหน้าไหนมี Bounce Rate สูง และมีคนเข้ามาดูผ่านมือถือเยอะ นั่นแปลว่ารูปแบบหรือคอนเทนต์บนเว็บเพจหน้านั้นอาจจะมีปัญหาต้องปรับให้กดดูบนมือถือง่ายขึ้น จริงๆแล้วการรวมข้อมูลและจำแนกไม่ใช่เรื่องยากอะไรสำหรับคนใช้ Google Analytics แต่สำคัญตรงที่เราจะเอาข้อมูลที่ได้มาไปต่อยอดอย่างไรต่างหาก
Google Analytics ทำงานอย่างไร?
หลังจากที่เราฝัง Javascript Code ต่อจากคำสั่ง <head> ที่ Google Analytics ให้หลังจากที่เราเปิดบัญชี Google Analytics Code ตัวนี้จะคอยติดตามทุกการกระทำในแต่ละเว็บเพจ เก็บข้อมูล แยกแยะผ่าน Analytics แล้วเอามาสรุปเป็นรายงานบน Dashboard ที่เราเห็น เราสามารถสร้างตัวคัดกรอง (Filter) เพื่อเลือกข้อมูลที่เราจะเก็บ(หรือไม่เก็บ)ได้ เช่นถ้าเราไม่อยากได้ข้อมูลจากคนที่อยู่ในบริษัทของเราและมาใช้เว็บไซต์ของบริษัท เราก็ตั้ง Filter กรองข้อมูลพวกนี้ออกได้ และเมื่อ Analytics ประมวลผลข้อมูลและบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนข้อมูลตัวนั้นได้
Google Analytics ใช้งานอย่างไร?
หลังจากที่ Google Analytics รวมข้อมูลมาให้ มันก็จะทำรายงานมาให้ดูบน Dashboard ซึ่งขอเน้น 4 รายงานหลักๆ
1. Audience Report
เป็นรายงานที่รวมข้อมูลอย่างเช่นจำนวนผู้ใช้งานในแต่ละช่วงเวลาทั้งหน้าใหม่และขาประจำ และมีเพศอะไร อายุเท่าไหร่ กดเข้ามาดูที่ไหน ใช่อุปกรณ์อะไรกดเข้ามาดู
2. Acquisition Report
เป็นรายงานที่รวมข้อมูลว่าเว็บไซต์ของเรามีคนรับรู้และมีผู้ใช้งานเว็บไซต์หน้าใหม่ๆมาได้มากน้อยแค่ไหน ตัวชี้วัดในรายงานจะบอกแหล่งหรือช่องทางที่คนดูเข้ามาเจอและดูเว็บไซต์เช่น Facebook อีเมล Youtube หรือ Google เป็นต้น
3. Behavioral Report
เป็นรายงานที่รวมข้อมูลว่าเว็บไซต์ธุรกิจของเรามีปฎิสัมพันธ์กับคนดูมาน้อยแค่ไหน พฤติกรรมของคนเวลาดูเว็บเพจเป็นอย่างไร ตัวชี้วัดในรายงานก็ได้แก่ ระยะเวลาการดู Bounce Rate ยอดดูในแต่ละเพจ เพจไหนมีคนกดออกเยอะที่สุด เพจไหนมีคนกดเข้าไปดูมากที่สุด มีคนกดเข้าไปดูวีดีโอบนเพจหรือไม่ เป็นต้น
4. Conversion Report
เป็นรายงานที่รวมข้อมูลว่าเว็บไซต์ธุรกิจของเราสามารถทำให้คนเยี่ยมชมเว็บไซต์ซื้อของได้มากน้อยแค่ไหน ตัวชี้วัดที่มีในรายงานนี้จะบอกว่าขั้นตอนทั้งหมดที่ลูกค้าผ่านมาทั้งหมดจบด้วยการซื้อของสำเร็จแล้วนั้น ใช้เวลาไปกี่ชั่วโมงหรือกี่วัน? เพจไหนที่ใช้เวลามากหรือน้อยที่สุด ลำดับเพจที่ลูกค้ากดเข้าไปก่อนซื้อสินค้า รายงานนี้จะบอกหมด
และถ้าใครสังเกตดีๆ 3 รายงานหลังจะเรียงเป็น Customer Journey ตามแนวทางของ Google Analytics เลยคือเริ่มจากรู้จักเว็บไซต์ ใช้เวลาไปกับเว็บไซต์ และจบด้วยจ่ายเงินซื้อของบนเว็บไซต์
สมัคร Google Analytics เสียเงินหรือไม่?
ฟรีครับ เว้นแต่ว่าเราจะใช้บริการที่พรีเมี่ยมกว่าอย่าง Google Analytics 360 ที่เปิดตัวเมื่อปี 2559 ว่าง่ายๆมันเป็นเครื่องมือที่รับมือกับข้อมูลที่มหาศาลได้ดีกว่า Google Analytics ธรรมดา (อยากรู้ว่ามันต่างกันอย่างไรคลิกที่นี่) ส่วนราคาก็ไม่เท่าไหร่ ตกประมาณ 150,000 เหรียญสหรัฐต่อปี
เตือนไว้ก่อนว่าพอเราเริ่มใช้ Google Analytics แล้ว มันจะเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่เราฝัง Code ให้มันทำงาน ฉะนั้นมันเก็บข้อมูลย้อนหลังก่อนที่เราติดตั้งมันไม่ได้นะครับ ฉะนั้นเวลานี้คือเวลาที่ดีที่สุดในการใช้ Google Analytics เก็บข้อมูล ถ้าอยากใช้งานแล้ว คลิกที่นี่เลย
เริ่มต้นปีใหม่แล้ว อย่าให้แต่ละวันของธุรกิจของเราต้องพลาดข้อมูลของลูกค้านะครับ
Copyright © MarketingOops.com