หนทางสร้างนวัตกรรม คือการมีอิสระที่จะล้มเหลวในองค์กร

  • 11
  •  
  •  
  •  
  •  

ยุคนี้การอยู่รอดขององค์กรนั้นคือสิ่งสำคัญ และการอยู่รอดได้นั้นองค์กรต้องปรับตัวหนีการ Disrupt จากผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เข้ามาแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วไม่มีใครแก้ไข ซึ่งวิธีการปรับตัวนี้ทุก ๆ องค์กรนั้นทำเหมือนกันนั้นคือการสร้างนวัตกรรมจากด้านในออกมาเพื่อตอบสนองผู้บริโภค แต่การจะสร้างนวัตกรรมได้นั้นไม่ใช่จะทำได้ทุกราย สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นได้นั้นคือการเรียนรู้ที่จะล้มเหลว

the-startup-curve1

ในงาน Advertising Week ที่เพิ่งจบไป มีหลาย ๆ Session ที่บรรดาเอเจนซี่และองค์กรลูกค้ากับสื่อเองมาเล่าถึงเรื่องการ Transformation รวมทั้งการเชิญ Startup ดัง ๆ ทั้ง Casper, Mashable และ Voxmedia มาพูดคุย ซึ่งทั้งหมดบอกตรงกันว่า การที่จะสามารถสร้างอะไรที่แตกต่างได้นั้น ความล้มเหลวเป็นหนึ่งหนทางที่ต้องเผชิญในการเดินทางเพื่อไปสู่ความสำเร็จและกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ ซึ่งทั้งนี้คนทำนวัตกรรมต้องเข้าใจในรูปแบบการพัฒนานวัตกรรมด้วยว่าควรจะใช้วิธีไหนในการพัฒนา สิ่งหนึ่งที่ในงานพูดถึงของการสร้างนวัตกรรมหรือผู้บุกเบิกนวัตกรรมใหม่นี้คือเรื่อง Mindset ที่คล้ายกับนักผจญภัยหรือนักบุกเบิก ที่ไม่รู้ว่าจะเจออะไรข้างหน้า แต่ก็พร้อมที่จะเผชิญ ซึ่งคนที่มีความตั้งใจก็จะสามารถสร้างชื่อได้อย่างมาก เช่น โคลัมบัสที่เดินทางไปด้านซ้ายของยุโรป โดยเชื่อว่าโลกกลมในสมัยนั้น จนเจออเมริกา หรือเอดิสันที่เผชิญความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน จนประดิษฐ์หลอดไฟได้ ทั้งนี้คนที่สร้างนวัตกรรมใหม่ในยุคนี้ต่างก็เผชิญความล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ความล้มเหลวนั้นไม่ใช่ความล้มเหลวเปล่า หากแต่ได้เรียนรู้บทเรียนอันแสนมีค่าเพื่อที่จะทำให้เกิดความสำเร็จต่อไป

success

ทั้งนี้การสร้างนวัตกรรมเพื่อให้องค์กรอยู่รอดได้นั้น ความอิสระที่จะล้มเหลวนั้นคือสิ่งที่จำเป็นและเกิดขึ้นเป็นประจำในหมู่ Startup ดังที่มีคำว่า Fail Fast Success Faster หรือในองค์กรใหญ่ ๆ ที่แสวงหานวัตกรรมการมีอิสระที่จะล้มเหลวนั้นกลายเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของทีม เช่น Moonshot Factory ที่คนที่สามารถหาจุดอ่อนจนสามารถล้มโครงการได้นั้นจะมีรางวัลให้อย่างงาม หรือในการทำยานอวกาศของ Elon Musk เองการล้มเหลวก็ถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้โครงการอวกาศนั้นสำเร็จได้ ซึ่งวัฒนธรรมการให้รางวัลความล้มเหลวนี้กำลังเป็นที่นิยมและมีการกระจายของแนวความคิดนี้เข้าไปสู่ในองค์กรต่างมากขึ้นแล้วด้วย เช่น IBM เองที่คนมองว่าเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ดูเป็น Corporate มาก ๆ ในปัจจุบันภาพลักษณ์ของ IBM นั้นเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นองค์กรทันสมัย ที่ทำงานกันด้วยเครื่อง Mac และมีการใช้นวัตกรรมหรือวิธีการทำ Agile ต่าง ๆ เข้ามาทำงาน

httpv://www.youtube.com/watch?v=lgUekXT6iuE

แต่ในความจริงแล้วหลาย ๆ องค์กรนั้นก็ไม่พร้อมที่จะเผชิญความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวนั้นหมายถึงการสูญเสียงบประมาณ ทรัพยากร และเวลาไปกับสิ่งนั้น ๆ ทำให้สุดท้ายแล้วเมื่อพนักงานหรือหน่วยงานเสนออะไรนั้นก็จะไม่ถูกอนุมัติถ้างานนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มเหลว หรือไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ และเมื่อเกิดคำถามเช่นนี้สิ่งที่ตามมาคือองค์กรก็จะไม่กล้าเสี่ยงและจะทำงานใน Comfort Zone ของตัวเองต่อไปหรือได้แต่หวังว่าจะเจออะไรที่สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือการที่องค์กรนั้นยอมเสี่ยงอย่างมากที่จะทำ แต่ด้วยความที่ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ใช้แนวปฏิบัติแบบเดิม ๆ ในการสร้างนวัตกรรมออกมา ซึ่งสิ่งที่ทำนั้นอาจจะไม่สะท้อนความต้องการของผู้บริโภคจริง ๆ เลยหรือไม่เคยเทสกับผู้บริโภคจริง ๆ เลย ทำให้สุดท้ายนวัตกกรมมนั้นไม่เกิดความสำเร็จและมีบทเรียนที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เข้าใจหรือกว่าจะเข้าใจก็สายไปเสียแล้ว ทั้งนี้ในต่างประเทศก็มีบทเรียนที่เกิดขึ้นเช่นนี้เหมือนกัน และจากประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรมที่ผ่านความล้มเหลวได้ สิ่งที่องค์กรต้องเรียนรู้คือการหนทางการสร้างนวัตกรรมนั้นจะต้องใช้แนวคิดเช่นเดียวกับ Startup คือ

  1. ไม่ควรใช้องค์กรหรือระบบขององค์กรและทีมใหญ่ในการทำงาน แต่ให้ใช้วิธีการสร้างทีมเล็ก ที่มีความคล่องตัวสูงในการออกไปหาไอเดีย และทำตัวต้นแบบเพื่อเทสไอเดียนั้น ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศจะใช้วิธีการสร้างทีมที่มีการบริหารเอกเทศจากบริษัทหรือใช้วิธีการตั้งบริษัทใหม่ไปเลย
  2. การใช้วิธีคิดแบบ Design Thinking ในการทำตัวต้นแบบ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจริง ๆ ได้ ไม่ใช่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์องค์กรเท่านั้น
  3. การทำ Lean และ Sprint เพื่อสร้างให้เกิดตัวตนแบบได้ไว และถ้าไม่สำเร็จก็สามารถที่จะล้มหรือแก้ไขโครงการก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่าที่จะเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่พร้อมเสร็จออกไป

ทั้งนี้องค์กรยุคใหม่ ที่อยากจะมีนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงในการจัดการองค์กร และการยอมรับความล้มเหลว กับการทำงานใหม่ ๆ นั้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก และหากยังไม่กล้าล้มเหลว องค์กรคุณก็อาจจะล้มเหลวจนไม่สามารถอยู่รอดได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

httpv://www.youtube.com/watch?v=_a3s0IXSuxY

 


  • 11
  •  
  •  
  •  
  •  
Molek
Head of Strategic Marketing ใน Integrated Service Agency ที่หนึ่ง ผู้หลงใหลในหลาย ๆ ที่มีความอยากรู้และเรียนรู้ในเรื่อง Startup, นวัตกรรม, การตลาด จากมุมมองหลาย ๆ ด้านและวัฒนธรรมของแบรนด์ต่าง ๆ