คำถามที่ผมมักเจออยู่บ่อยๆ (รวมทั้งวันนี้ก็เจอ) จากลูกค้าของผมคือจะโพสต์คอนเทนต์ที่เป็นวีดีโอ อย่างไรดีบน Facebook ให้มีคนดูเยอะๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะการทำคอนเทนต์ประเภทวีดีโอนั้นใช้เงินลงทุน ค่อนข้างสูง ถ้าคนดูไม่เยอะก็คงจะน่าเสียดายไม่น้อย แถม KPI ของหลายๆ แคมเปญก็อยู่ที่จำนวนยอดวิวเสียด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนก็จะสงสัยว่าแล้วการโพสต์คอนเทนต์วีดีโอใน Facebook ทำกันได้กี่แบบ ผมขอยกสามประเภทหลักๆ ที่คนมักจะใช้มาประกอบบล็อกนี้แล้วกันนะครับ
1. โพสต์แบบอัพโหลด Video ขึ้นไปใน Facebook โดยตรง
ข้อดี:
- สามารถกดดูได้ทันทีบน News Feed / Timeline
- แสดงผลเห็นเป็นภาพขนาดใหญ่ใน News Feed / Timeline ทำให้ดึงดูดสายตา
- ถ้ามีการแชร์ต่อก็จะแสดงผลในแบบเดียวกัน
ข้อเสีย
- นำไป Embed ในเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ได้
- ไม่ได้แสดงผลจำนวนคนดูคลิปแบบ Public คนที่เห็นคือเจ้าของเพจ
- ไม่ถูกนำไปแสดงผลในการ Search ผ่าน Google
2. นำวีดีโอไปเก็บไว้ที่ YouTube แล้วนำมาโพสต์เป็น Link
ข้อดี
- ถูกค้นหาได้ผ่านทาง YouTube Search / Google Search
- ตัววีดีโอสามารถนำไป Embed แชร์ต่อได้ในช่องทางอื่นๆ เช่น Twitter / Blog / Website
- ข้อมูลสถิติต่างๆ ของ YouTube ค่อนข้างละเอียด แถมแสดงจำนวนวิวให้คนทั่วไปดูได้
- สามารถดูได้ทันทีบน News Feed ในลักษณะของ Embed Player
ข้อเสีย
- แสดงผลแบบ Thumbnail ซึ่งเล็กกว่าเมื่อเทียบกับการโพสต์แบบวีดีโอโดยตรง
- ถูกนับว่าเป็นการโพสต์ “Link” ไม่ใช่การโพสต์ Video
3. นำวีดีโอไปเก็บไว้ที่ YouTube แคปเจอร์ภาพ Screenshot แล้วนำมาโพสต์โดยมีลิงค์เพื่อกลับไปที่คลิปอีกที
ข้อดี
- ใช้ภาพขนาดใหญ่เป็นตัวดึงความสนใจ
- สามารถเลือกภาพ Screenshot ได้ตามที่ตัวเองต้องการ (หรือจะใช้ภาพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับวีดีโอเลยก็ยังได้)
- ได้ข้อดีจากการฝากไฟล์ไว้ที่ YouTube เช่นการได้สถิติ การแชร์ต่อใน Social Media อื่นๆ ฯลฯ
- ถูกนับเป็นการโพสต์ “Photo” ไม่ใช่การโพสต์ “Link”
ข้อเสีย
- ไม่สามารถดูได้ทันที ต้องอาศัยการกดลิงค์เพื่อเปิดหน้าต่างใหม่ที่เป็น YouTube URL
จากรายละเอียดข้างต้นที่ผมพอจำแนกไปนั้น ผมก็คงไม่อาจจะฟันธงไปได้ว่าแบบไหนดีที่สุดเพราะมันมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ เจ้าของเพจหรือแบรนด์ต้องพิจารณา
คุณมีความจำเป็นที่ต้องใช้ YouTube Channel มากน้อยแค่ไหน?
คำถามนี้เป็นสิ่งที่ผมมักถามกลับไปยังแบรนด์ กล่าวคือถ้าแบรนด์อยากมี YouTube Channel เป็นเหมือนห้องสมุดคอนเทนวีดีโอแล้ว จะใช้วิธีให้ทุกครั้งที่คนดูคอนเทนต์ต้องเข้ามาที่ห้องสมุดนี้หรือไม่ หรือจะคุณจะทำก๊อปปี้แล้วเอาไปให้ดูนอกห้องสมุดได้ ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นการเสียโอกาสที่ทำให้คนไม่เข้ามาห้องสมุดซึ่งมีหนังสือ อีกมากมาย
สถานการณ์ที่เรามักจะเจอคือแบรนด์คิดเผื่อว่าอนาคตจะมีคอนเทนต์วีดีโอ เยอะๆ เลยอยากให้ทำ YouTube Channel ไว้เป็นศูนย์กลางเพื่อให้คนเข้ามาดูและแชร์ออกไป และเมื่อเป็นแบบนี้แบรนด์ก็อยากให้คนรู้จัก YouTube Channel ด้วย ซึ่งก็จะไปตกว่าคนควรเข้ามาดูคอนเทนต์ที่ YouTube เพื่อที่จะได้เห็น YouTube Channel นั่นเอง (และเป็นเหตุให้หลังๆ แบรนด์เริ่มหันมาสนใจจำนวน Subscriber ของ YouTube Channel มากขึ้นด้วย)
ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่ได้คิดจะทำ YouTube Channel ให้เป็นการเพิ่มภาระการดูแล การโพสต์ตรงลงบน Facebook เลยก็เป็นทางเลือกที่ดี แถมยังมี Edgerank สูงซึ่งตามมาด้วยการโอกาสที่จะถูกแสดงบน News Feed มากกว่าการโพสต์แบบ Link หรือ Photo
สำหรับปัญหานี้ บางแบรนด์อาจจะมีเทคนิคผสมๆ กันคือ YouTube Channel ก็มีไปเพื่อเป็นคลังสะสมสำหรับคนที่อยากค้นหาวีดีโอหรือเอาไปแชร์แบบ Embed แต่บน Facebook ก็จะโพสต์แบบวีดีโอเพื่อเน้นการสร้าง Awareness มากกว่า แต่ที่ตามมาคือยอดวิวบน YouTube ก็อาจจะไม่ได้เยอะมากนักเพราะเมื่อโปรโมทใน Page ของตัวเอง ยอดวิวก็ไปลงที่วีดีโอบน Facebook แทนไป
คุณอยากให้คอนเทนต์คุณถูก “พบเห็น” แค่ไหน
แน่นอนว่า Facebook คงอยากให้ใช้ฟังก์ชั่นของตัวเองมากกว่าการไปใช้บริการของ YouTube ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ Facebook จะให้ Edgerank ของการโพสต์ Video ตรงสูงกว่าการโพสต์ลิงค์จาก YouTube ซึ่งถ้าเทียบปริมาณของ Reach แล้วจะเห็นความแตกต่างอยู่พอสมควร (ใครที่ดูแลเพจก็จะรู้ดีว่าการโพสต์ลิงค์นั้นจะสร้าง Reach ได้น้อยกว่าการโพสต์รูปและวีดีโอ)
วิธีการแก้ไขที่หลายๆ เพจทำคือแบบที่สาม คือการเปลี่ยนมาใช้คอนเทนต์ประเภทภาพในการดึงความสนใจและใช้ประโยชน์ของ Edgerank ในประเภทรูป จากนั้นก็เขียนคอนเทนต์ให้คนกดลิงค์ไปดูวีดีโอจากอีกหน้าต่างหนึ่งแทน วิธีนี้ก็จะเป็นการผสมผสานว่าใช้ News Feed ของ Facebook ในการดึง Traffic กลับไป 3rd Site อย่างไรให้ได้มากที่สุด
แต่ก็อีกนั่นแหละว่าถ้าคุณไม่ได้มี YouTube Channel หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันมากนัก การโพสต์เป็น Video โดยตรงเลยก็ย่อมได้ผลมากกว่า แถมโอกาสที่จะเกิดการดูวีดีโอก็ย่อมสูงกว่าด้วยเช่นกัน (ลองคิดง่ายๆ ว่าการกดลิงค์ไปข้างนอกกับการดูทันทีเลย การดูทันทีเลยย่อมสะดวกกว่าเป็นธรรมดา)
ถ้าเราตัดสินกันแค่การถูก “พบเห็น” แล้ว เราก็จะสรุปลำดับได้ประมาณนี้
โพสต์วีดีโอโดยตรง > โพสต์เป็นภาพ Screenshot > โพสต์เป็น Link จาก YouTube
แต่ถ้าเราวัดเรื่องความสะดวกในการดูวีดีโอแล้ว ก็จะมีการเปลี่ยนลำดับใหม่นิดหน่อยคือ
โพสต์วีดีโอโดยตรง = โพสต์เป็น Link จาก YouTube > โพสต์เป็นภาพ Screenshot
สรุป
จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับการถามทุกครั้งเพราะผมก็จะย้อนถามถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย ฉะนั้นถ้าใครที่จะทำคอนเทนต์วีดีโอและเอามาเผยแพร่บน Social Media ก็อาจจะคิดเรื่องที่ผมเอามาแชร์วันนี้ควบคู่ไปด้วยแล้วกันนะครับ