ในบทความก่อนหน้านั้น ผมได้มาเล่าถึงทางรอดของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ในอังกฤษนั้นมีการปรับตัวอย่างไร และการปรับตัวนั้นยังทำให้หนังสือพิมพ์นั้นยังครองใจผู้บริโภคแถมยังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก ในวันนี้ผมได้ไปอ่านเจอเรื่องราวการมองดูอนาคตสื่อสิ่งพิมพ์อีกอัน นั้นคือ สื่อนิตยสารว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรดี
ตอนนี้มีใครยังซื้อนิตยสารอยู่ไหม หรือครั้งสุดท้ายที่อ่านนิตยสารแบบเป็นเล่ม ๆ นั้นเมื่อไหร่กัน คำตอบคงชัดเจนในประเทศไทยอย่างมาก เพราะในปีนี้เองเราได้เห็นข่าวมากมายเกี่ยวกับการปิดตัวของนิตยสารหลาย ๆ ฉบับไป เพราะสู้ต้นทุนในตอนนี้ไม่ได้หรือ ทำนิตยสารเริ่มจะไม่มียอดรายได้เข้ามา ประกอบกับการโดนสื่อดิจิทัลในรูปแบบไม่ว่าจะเว็บไซต์ สื่อโซเซียลและรวมถึงการเกิด Disruption ในเรื่อง e-Book ที่เป็น App ต่าง ๆ มาอีก ทำให้สื่อนิตยสารนั้นสู้ไม่ไหว แต่ในต่างประเทศเองสื่อนิตยสารหลาย ๆ ฉบับยังมีความแข็งแกร่งอย่างมาก และสร้างยอดขายอย่างต่อเนื่องและมีรายได้ต่าง ๆ เข้ามาอีกมากมาย นั้นเป็นเพราะอะไรกัน สิ่งนั้นคือมูลค่าในความเป็นสิ่งพิมพ์ที่มอบให้ผู้บริโภค ซึ่งนั้นคือเรื่องแบรนด์ของสิ่งพิมพ์
httpv://www.youtube.com/watch?v=T0D4avXwMmM
ในยุคของดิจิทัลที่เป็นกระแสหลักเช่นนี้ คนทำสื่อนิตยสารนั้นต้องมองตัวเองว่าไม่ใช่แค่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์แบบหนึ่งอีกต่อไป แต่ต้องมองตัวเองเป็นแบรนด์หนึ่งแบรนด์ที่สร้างมูลค่าให้กับผู้บริโภค โดยแบรนด์นิตยสารนั้นก็อย่าไปจำกัดกรอบตัวเองที่สิ่งพิมพ์อีกด้วย แต่ให้มองว่าแบรนด์ทั้งหมดของตัวเองนั้นมีช่องทางในการสร้างแบรนด์ สื่อสารกับผู้บริโภคอย่างไรบ้าง โดยคิดถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะใช้เว็บไซต์ สื่อโซเซียล การทำ e-commerce การจัดกิจกรรม หรือการทำอีเว้นท์ต่าง ๆ มากมาย สิ่งที่เกิดขึ้นที่ทำให้นิตยสารหลาย ๆ ฉบับนั้นไม่สามารถอยู่รอดได้เพราะการไปโฟกัสในสื่อสิ่งพิมพ์จนไม่ได้สร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา ทำให้ผู้คนนั้นเวลาคิดถึงสื่อนิตยสารนั้นจะไม่รู้ว่าสื่อนิตยสารนั้นมีความสำคัญอะไรกับชีวิต แต่ในต่างประเทศเองนั้นสื่อนิตยสารหลาย ๆ ฉบับมีความแข็งแกร่งในแบรนด์ของตัวเอง เช่น Monocle, Wired, Fast Company และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ละนิตยสารก็แตกธุรกิจของตัวเองออกไป Horizontal โดยใช้แบรนด์ของนิตยสารเป็นหัวหอกในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับนิตยสารนั้น ๆ ขึ้นมา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือนิตยสารในต่างประเทศที่ชื่อ Better Homes and Gardens นั้นมียอดผู้อ่านในแต่ละเดือนกว่า 1,818,000 ฉบับ แต่ทางนิตยสารนั้นไม่ได้ยึดติดกับการขายนิตยสารให้กับสมาชิกเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีรายการทีวี เว็บไซต์ สื่อโซเซียล ร้านค้าออนไลน์ และจัดงานอีเว้นท์ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้โตมาจากนิตยสาร แต่ไม่ได้ติดที่นิตยสารอีกต่อไป แต่กลายเป็นแบรนด์ที่บ่งบอกถึงเรื่องบ้านอีกด้วย สื่อนิตยสารที่ชื่อ Grazia ซึ่งเป็นนิตยสารแฟชั่นนั้นก็ใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากนิตยสารออฟไลน์ มาสร้างเป็น Online Platform ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากการวิจัยของมหาวิทยาลัย Toronto ในปี 2014 ที่ระบุว่า สื่อนิตยสารที่หันมาให้ความสำคัญกับการทำดิจิทัลหรือสร้าง Platform Digital ของตัวเองขึ้นมานั้นมีแนวโน้มที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากการวิจัยนี้ยังพบว่าผู้อ่านนิตยสารนั้นมักจะมีความคล้ายคลึงกันที่ความสนใจอย่างมาก ทำให้แบรนด์นิตยสารนี้นั้นจะเหมาะกับนักการตลาดหรือคนที่ต้องการทำการสื่อสารกลุ่มที่มีความเฉพาะในความสนใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าได้ง่ายมาก นอกจากนี้ผลวิจัยยังพบว่าผู้บริโภคที่อ่านนิตยสารที่มีพฤติกรรมในการปฏิสัมพันธ์ในสื่อที่หลากหลาย เป็นกลุ่มที่กำลังมีการเติบโตสูงหรือมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งทำให้สื่อนิตยสารสามารถรักษาฐานแฟนกลุ่มนี้ไว้ได้หลายช่องทางอีกด้วย
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าทุกสื่อในต่างประเทศจะเป็นเช่นนี้ หลาย ๆ สื่อในต่างประเทศก็ยังคงยึดติดในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ที่ตัวเองทำมา เพราะสื่อที่มีความเฉพาะตัวนั้นต่างมียอดขายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 25% ต่อปีเลยก็มี ซึ่งสื่อเหล่านี้จต่างมีเนื้อหาที่มีความเฉพาะและไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงในบริบทมากนัก ยกตัวอย่างเช่นนิตยสารที่เกี่ยวกับบ้านในต่างประเทศนั้น เนื้อหาไม่ได้เปลี่ยนแปลงรุปแบบบ่อยเท่ากับเนื้อหาข่าวหรือเนื้อหาดารา แต่ไม่ว่าอย่างไรในอนาคตสื่อนิตยสารเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนแปลงความคิด เพราะโลกนั้นหมุนไปข้างหน้าอยู่ทุกวัน และดิจิทัลนั้นมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจากทั้งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้มันเห็นได้อย่างแน่ชัดแล้วว่า ดิจิทัลนั้นสามารถกลับมาช่วยยอดขายสื่อนิตยสารได้อีกด้วย (เช่นในไทย กับนิตยสาร Mars ปกที่มีการพูดถึงในโลกออนไลน์ก่อนออก พอนิตยสารออกจริงกับกลายเป็นนิตยสารปกหายากทันที)
สิ่งหนึ่งที่นิตยสารมีนั้นคือเนื้อหาที่มากมายที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากในยุคนี้ แต่ทำอย่างไรที่จะเอาทรัพย์สินที่เป้นเนื้อหาเหล่านี้มากสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างชื่อให้แบรนด์เพิ่มขึ้นมา ในยุคนี้อย่าไปติดที่รูปแบบของสื่อที่เป็น แต่ต้องคว้าโอกาสทุกอันที่เข้ามา แล้วคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อให้แบรนด์นั้นอยู่รอดได้ในอนาคตต่อไป