เรียนรู้ Reactive Marketing กับแบรนด์ Coors Light โชว์ Hijack กระแส “เบสบอล” ทำ “โฮมรัน” ด้วยการตลาดแบบไวรัล

  • 135
  •  
  •  
  •  
  •  

ในยุคที่โซเชียลมีเดียครองพื้นที่ข่าวตลอด 24 ชั่วโมง ยุคที่ข่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิด Toppic ให้ถกเถียงกลายเป็น Viral ได้แบบทั้งวี่ทั้งวัน หากแบรนด์หรือนักการตลาดมองออกว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้คนกำลังพูดถึงหรือเรื่องไหนกำลังฮอตฮิตติดกระแส และใช้สิ่งนั้นสื่อสารทำการตลาดออกไปได้ในวงกว้างไปพร้อมๆกันแบบ Real-Time นั่นคือ Reactive Marketing ที่หลายๆแบรนด์กำลังนำมาใช้และส่วนใหญ่ยังได้ผลลัพธ์ที่ดีด้วย

Reactive Marketing คืออะไร?

กลยุทธ์ “Reactive Marketing” หรืออาจะเรียกว่า Real-Time Marketing ก็ได้ ถูกอธิบายเอาไว้ว่าคือการทำการตลาดที่ตอบสนองกับเหตุการณ์หรือเทรนด์ไวรัลที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คน โดยคำว่า Reactive นั้นสื่อถึงการตอบสนองกับอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วอย่างทันท่วงที ต่างจาก Proactive Marketing ที่จะเป็นการทำอะไรตามแผนที่วางเอาไว้ล่วงหน้า กลยุทธ์นี้หลายๆแบรนด์ในประเทศไทยก็นำมาใช้ในการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในรูปแบบของ Reactive Content อย่างที่เราคุ้นเคยก็เช่นแบรนด์ “เนื้อแท้” เป็นต้น

Reactive Marketing เองก็เป็นกลยุทธ์ที่เป็นเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งหากใช้อย่างถูกต้อง มองขาด นำมาผสมผสานกับ “อารมณ์ขัน” และความยืดหยุ่นรวดเร็วในการ execute แคมเปญก่อนที่กระแสจะแผ่ว ก็จะสามารถ สร้าง Engagement ในโซเชียลมีเดียให้สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว สร้าง Brand Royalty และชื่อเสียงในฐานะการเป็นแบรนด์ที่เข้าใจลูกค้าในทุกสถานการณ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ก็มีเหรียญอีกด้านเพราะความเร็วก็ย่อมมาพร้อมกับความผิดพลาดและบางครั้งหากไม่รอบคอบก็อาจทำให้สิ่งที่จะสื่อสารไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่แบรนด์ต้องการก็เป็นได้ นอกจากนี้อารมณ์ขันบางครั้งก็มากับเรื่องราวอ่อนไหวในสังคมที่ส่งผลให้เกิดกระแสตีกลับในภายหลังได้เช่นกัน นอกจากนี้วิธีการ Reactive Marketing ก็ไม่ใช่ว่าทุกแบรนด์จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะเป็นงานที่ต้องมีทรัพยากรในการมอนิเตอร์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง และมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะสื่อสารไปได้ตรงจริตของคนส่วนใหญ่ได้

Coors Light กับ Reactive Marketing

ที่มา: Youtube Chanel LLLLITL

หนึ่งในตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ Reactive Marketing ได้อย่างชัดเจนก็คือแบรนด์ Coors Light เบียร์สัญชาติอเมริกันที่ใช้ในการทำการตลาดกับเหตุบังเอิญระหว่างการแข่งขันเบสบอล Major League ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ โชเฮอิ โอตานิ มือพิตเชอร์ สัญชาติญี่ปุ่นของทีม Los Angeles Angels ตีบอลพลาดลูกเบสบอลลอยไปโดน บิลบอร์ด LED ในสนาม Citi Field ในนครนิวยอร์ก ที่มีโฆษณาของเบียร์ Coors Light อยู่

คลิปเหตุการณ์ต้นเรื่อง

ความแรงของลูกบอลทำให้หน้าจอ LED ดับไปหนึ่งแผง จนเกิดเป็นสี่เหลี่ยมสีดำขนาดใหญ่บนภาพกระป๋องเบียร์ Coors Light ที่แสดงผลอยู่ และนับจากวินาทีนั้นคลิปวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวก็กลายเป็นไวรัลออกไปในสื่อสังคมออนไลน์ทันที

และในช่วงเวลานั้นเอง Coors Light ก็มองเห็นเหตุการณ์นี้ว่าเป็นโอกาสทอง ตัดสินใจจับมือกับเอเจนซีคู่ใจอย่าง Rethink ซึ่งได้ให้ไอเดียสุดเจ๋งในการใช้ Reactive Marketing เข้ามาจับกระแสนี้เอาไว้อย่างรวดเร็ว ด้วยการผลิต กระป๋องเบียร์ในเวอร์ชั่นที่มี “แถบสี่เหลี่ยมสีดำ” แบบในจอ LED ออกวางขายเป็น Limited-Edition

กระป๋องในเวอร์ชั่นนี้ถูกวางขายพร้อมกับ Tagline “Hit the Spot” ที่มีความหมายใน 2 แบบ หนึ่งคือ หมายถึง สิ่งที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างลงตัว หรือหมายถึง ลูกเบสบอลที่กระทบที่จอ LED จนเสียหายก็ได้ นอกจากนี้คำว่า Hit ยังเป็นภาษาเบสบอลที่แฟนๆเบสบอลเข้าใจ สื่อถึงการที่ไม้ตีกระทบลุกและทำให้เกมดำเนินต่อไปได้ นับเป็นการใช้ความหมายที่ชาญฉลาดและเชื่อมโยงถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแฟนเบสบอลได้อย่างดี

สำหรับ Coors Light Limited-Edition นี้วางขายทางออนไลน์ในราคา 17 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 625 บาท เรียกว่ามีราคาสูงกว่าเบียร์เวอร์ชั่นปกติ แต่กระป๋องเวอร์ชั่นกลับ Sold Out อย่างรวดเร็วหลังจากเปิดขายออนไลน์ไม่นาน สิ่งนี้สะท้อนความสำเร็จของ Coors Light ในการทำ Reactive Marketing ได้อย่างชัดเจน

Ads ที่เผยแพร่ทาง X

แน่นอนว่า Coors Light ไม่ได้หยุดแแค่นั้นแต่ยังขยายแคมเปญนี้ออกไปสู่การสื่อสารผ่านโฆษณาบนป้าย Billboard, Digital Signage ในสนามโปสเตอร์ ฉลาก และทุกๆสื่อโฆษณารวมไปถึงสื่อโซเชียลมีเดีย ของ Coors Light ให้มี แถมสี่เหลี่ยมสีดำ แปะไว้ในตำแหน่งเดียวกันกับบนจอ LED ต้นเรื่องทั้งหมดด้วย

จาก Case Study ของแบรนด์ Coors Light นับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกลยุทธ์ Reactive Marketing ที่แสดงให้เห็นถึง ความรวดเร็วและยืดหยุ่นในการสร้างสรรค์และ execute แคมเปญได้ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าจริงออกขายส่งผลให้เกิดการรับรู้และพูดคุยถึงประเด็นนี้ในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก และที่สำคัญก็คือ “อารมณ์ขัน” ที่เป็นส่วนสำคัญที่สามารถสร้างให้เกิด Engagement ในโซเชียลมีเดียให้เกิดขึ้นได้

อีกส่วนสำคัญก็คือกลยุทธ์สร้าง “Sense of Excusivity” จาก Coors Light ที่ทำออกมาในรูปแบบ Limited-Edition ทำให้เกิดความรู้สึก “ของมันต้องมี” ให้เกิดขึ้นในกลุ่มแฟนๆเบสบอล ก่อให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในคอมมิวนิตี้และสร้าง Brand Loyalty ต่อเนื่องไปได้ และสุดท้าย แคมเปญนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการเป็นแบรนด์ที่มีความเข้าใจกลุ่มลูกค้าแฟนๆเบสบอล เข้าใจวัฒนธรรมของกีฬาชนิดนี้ และสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าให้ลึกซึ้งไปได้อีกด้วย

ที่มา: econsultancy, yahoo, LLLLITL


  • 135
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE