วินาทีนี้สำหรับคอ Netflix คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักซีรีส์เรื่อง Squid Game โดยผู้กำกับชื่อดัง Hwang Dong-hyuk จากประเทศเกาหลี ที่เข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งนี้ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ในวันนี้ยังติดเป็น Top 3 ซีรีส์/หนังที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย และก็น่าจะติดอยู่ในลิสต์ของอีกหลายประเทศทั่วโลกด้วย
ความน่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้คงไม่ต้องบรรยายเพิ่มเติม เพราะทั้งกระแสข่าว, โซเชียลมีเดีย และอื่นๆ ต่างก็โหมกระหน่ำพูดถึงซีรีส์นี้ ซึ่งมีเนื้อหาเต็มไปด้วยความดิบเถื่อนในการดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดของมนุษย์กันไม่เว้นวัน
แต่สิ่งที่น่าสนใจและเรียนรู้ได้จากซีรีส์ Squid Game ก็คือ ‘กลยุทธ์การตลาด’ How to ในการโปรโมตซีรีส์ หรือทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างถือว่าเป็นไอเดียที่ดีทีเดียว โดยนักการตลาดหลายคน หนึ่งในนั้นคือ Deniz Anic ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลและเทคโนโลยี ทั้งยังเป็น brand partnerships lead กับ TikTok ด้วย ได้ยกตัวอย่างสิ่งที่เรียนรู้จากซีรีส์เรื่องนี้ เขามองว่ามันเป็น Organic Marketing หรือ Organic Traffic ซึ่งเกิดจากความสนใจ การคลิกดู และเกิดผลลัพธ์จากการค้นหาจริงๆ ไม่ใช่จากการซื้อโฆษณา
Word-of-mouth การตลาดแบบออร์แกนิคของ Squid Game
กลยุทธ์แบบ Word-of-mouth หรือ การพูดถึงปากต่อปาก นับว่าเป็นตัวอย่างและความสำเร็จของซีรีส์ Squid Game โดยเขามองว่าวิธีนี้มันเป็นวิธีคลาสิกตลอดกาล (all-time classic technique) แต่ไม่เคยพลาดสักครั้ง (หรือน้อยมากๆ) หากเราใช้วิธีเข้าถึงผู้บริโภคที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสร้างสรรค์
อีกทั้งยังนับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังมากสำหรับนักการตลาด และธุรกิจ ทั้งยังมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ในการโฆษณา
สำหรับ Word-of-mouth สิ่งที่นักการตลาดต้องมีคือ ไอเดียที่สร้างสรรค์, การคำนวน/คาดการณ์ช่วงเวลาที่เหมาะสม และโชค เพราะไม่มีอะไรที่จะการันตีว่าถ้าเราปล่อยกลยุทธ์นี้ไปแล้วมันจะไม่แป็ก หรือมันอาจจะปังมากจนฉุดไม่อยู่ก็ได้
จากนั้นต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมในทุกแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะ Facebook, Twitter, Instagram และ TikTok
Can’t get enough of these squid game memes pic.twitter.com/DPQ6JFBRvk
— ⭐Sophie Tragique ⭐ Power Tchoin (@STragique) September 29, 2021
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า TikTok สร้างการรับรู้ให้กับซีรีส์เรื่องนี้ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งจากความสร้างสรรค์ของ users และเกิดเป็นไวรัลบนแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งมีการพูดถึงและติดแฮชแท็ก #SquidGame มากกว่า 22.8 พันล้านครั้ง (หลังเปิดตัวได้เพียง 9 วัน)
ทั้งนี้ Julia Alexander นักวิเคราะห์กลยุทธ์อาวุโสของ Parrot Analytics ได้พูดว่า ความสำเร็จของ Squid Game ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเอเชียเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก มีหลายประเทศที่ซีรีส์เรื่องนี้ติดเป็นอันดับหนึ่ง เช่น สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร จากข้อมูลของ Flix Patrol
“ความสำเร็จจาก Squid Game เห็นได้จากการพูดปากต่อปากในสหรัฐฯ เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะใน TikTok อีกทั้งยังไม่มีการผลักดันกระแสนี้ด้วยการโฆษณาอย่างจริงจังด้วย ดังนั้น พูดได้ว่า Word-of-mouth เป็นตัวอย่างที่ดีมากจากซีรีส์เรื่องนี้”
แม้แต่ Ted Sarandos, CEO ของ Netflix ยังพูดถึงซีรีส์เรื่อง Squid Game ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากจาก Word-of-mouth โดยมองว่าส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเนื้อหาของเรื่องทำให้เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความดิบของมนุษย์ว่าลึกๆ แล้วมีบางอย่างซ่อนอยู่ในใจ
จากที่เห็นหลายๆ คนพูดถึงไม่ว่าจะนักการตลาด, นักวิเคราะห์ หรือแม้แต่บุคคลระดับ C-Suite เห็นได้ชัดว่าอิทธิพลจากซีรีส์ Squid Game ค่อนข้างน่าสนใจ โดยเฉพาะวิธีการที่ทำให้กลุ่มคนขนาดใหญ่พูดถึงกันปากต่อปากได้ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า กลยุทธ์การตลาดไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่หากปรับใช้ในจังหวะที่เหมาะสม บนโซเชียลมีเดียที่สร้าง engagement ได้สูง ความคลาสิกที่ว่าก็สามารถสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับธุรกิจได้เหมือนกัน
ที่มา: nbcnews, medium, entrepreneur, vogue