ว่ากันว่าเมื่อลูกค้าก้าวเท้าเข้ามาในร้านถือว่าการตลาดของเราสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือกลวิธีในการปิดการขายไม่ว่าจะผ่านพนักงานขาย ผ่านป้ายโฆษณาต่างๆ แต่ด้วยเทรนด์การเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคปัจจุบันนิยม window shopping เพื่อเล็งสินค้าแล้วค่อยไปเปรียบเทียบออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อ หน้าที่ของมาร์เกเตอร์ปัจจุบันคือทำอย่างไรให้พวกเขารู้สึกว่าข้อเสนอตรงหน้า “คุ้มค่า” และไม่ต้องการเสียเวลาไปรอสินค้าออนไลน์ต่อ กลยุทธ์ Close Range Marketing หรือ Proximity marketing คือการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ให้เป็นประโยชน์โดยหลักคือเมื่อ “อ้อยเข้าปากช้างแล้วก็ต้องกลืน” เมื่อลูกค้าย่างกรายเข้ามาในร้านของเรา เราต้องปิดการขายให้ได้ด้วยข้อเสนอสุดพิเศษ วิธีการส่วนใหญ่คือร้านค้าจะส่งโฆษณาหรือโปรโมชั่นเข้าสู่เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ของลูกค้าเมื่อพวกเขาเข้าสู่อาณาเขตร้าน ซึ่งข้อเสนอนี้จะไม่ซ้ำกับข้อเสนออื่นๆ ที่โปรโมทออกไป ลูกค้าจะรู้สึกเป็นคนสำคัญและได้โปรโมชั่นหาที่อื่นไม่ได้ เทคโนโลยีที่นิยมใช้งานสำหรับกลยุทธ์นี้มีทั้งหมด 3 ชนิดคือ Bluetooth, NFC และ SMS
1.เชื่อมต่อผ่าน Bluetooth
เมื่อลูกค้าเข้ามาในร้านค้าและเปิด Bluetooth ไว้ ระบบจะขออนุญาตผู้บริโภคเพื่อส่งเนื้อหาประชาสัมพันธ์ซึ่งส่งได้ทั้งข้อความ รูปภาพ เสียง หรือแม้แต่วีดีโอ แถมยังไม่ทำให้ลูกค้าเปลือง 3G หรือ 4G อีกด้วย แต่ข้อเสียของวิธีการนี้คือลูกค้าบางรายกังวลเรื่องความปลอดภัย บางรายก็ต้องการประหยัดแบตเตอรี่ (เพราะการเปิด Bluetooth กินพลังงานเยอะ) ขณะที่บางรายปิดการใช้งาน Bluetooth ตลอด ดังนั้น หากคุณต้องการใช้วิธีการเชื่อมต่อแบบนี้คุณอาจต้องมีโปสเตอร์ สื่อโทรทัศน์ หรือวิทยุช่วยแนะนำให้ผู้ใช้เปิดสัญญาณเพื่อรับคอนเทนต์ของคุณ อีกประเด็นที่ต้องคิดให้ดีคือเนื่องจากสมาร์ทโฟนปัจจุบันมีหลายรุ่น หลายขนาด ดังนั้นตัวส่งสัญญาณ Bluetooth ของร้านค้าต้อง “สมาร์ท” พอสมควรเพื่อให้สมาร์ทโฟนของผู้บริโภคเชื่อมต่อได้
2.เชื่อมต่อผ่าน NFC-based system
Near Field Communication (NFC) คือเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถส่งผ่านข้อมูลได้ผ่านการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ด้วยการรับคำสั่งผ่านตัวนำไฟฟ้าผ่านอากาศ RFID (Radio-Frequency IDentification) ที่จะกระตุ้นการทำงานด้วยการแตะใกล้กัน ในระยะห่างไม่เกิน 4 มิลลิเมตร โดยมาร์เกเตอร์สามารถคำสั่งเมื่อสัมผัสกันเพื่อเปิดหน้าเพจต่างๆ ในสมาร์ทโฟนของลูกค้า รับรายละเอียดสินค้า ส่วนลด หรือรีวิวสินค้าต่างๆ NFC ถือเป็นกลยุทธ์แนว pull marketing คือให้ลูกค้าเกิดความต้องการแล้วเข้ามาขอข้อมูลเองดังนั้นจึงมีข้อเด่นที่ไม่รบกวนลูกค้า และยังสามารถประยุกต์ใช้ทางด้านบริการคือใช้จ่ายเงินผ่านมือถือ (แต่ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่นิยมใช้มากนัก) อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ต้องรอให้ผู้บริโภคเข้ามาหาเองเลยไม่สามารถกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจสินค้าได้เท่าที่ควร
3.เชื่อมต่อผ่าน GSM-based system
การเชื่อมต่อประเภทนี้คือเน้นการส่งข้อความสั้นๆ ผ่านระบบ SMS โดยเน้นโฆษณาหรือข้อมูลประชาสัมพันธ์ยิงตรงเข้าโมบายโดยใช้วิธีกำหนดพื้นที่ คอนเทนต์อะไรบ้างที่สามารถส่งในการตลาดแบบ Close Range การตลาดชนิดนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลพิเศษที่หาไม่ได้จากที่อื่นและยังช่วยให้พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการทันทีในตอนนั้นและเลิกเปรียบเทียบราคา คอนเทนต์ที่สามารถลงตัวอย่างเช่น:
คูปอง
คูปองแบบนี้ไม่เหมือนกับที่ตัดออกมาจากหนังสือพิมพ์แต่เป็นคูปองดิจิตอลบนมือถือและสามารถสแกนที่เคาท์เตอร์เพื่อรับส่วนลดได้
ข้อมูลสำคัญ
บางครั้งผู้บริโภคยังไม่สามารถตัดสินใจซื้อสินค้าของคุณได้เพราะยังคาใจบางอย่าง คอนเทนต์บางอย่างสามารถช่วยไขความข้องใจของพวกเขาได้ เช่น หากคุณเป็นร้านไอศกรีมไขมันต่ำ ข้อมูลเกี่ยวกับสารอาหารและปริมาณแคลอรี่อาจทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อไอศกรีมได้ง่ายขึ้น
โปรโมชั่น
เหมือนกับการส่งพนักงานไปยืนแจกใบปลิวหน้าร้านแต่โปรโมชั่นแบบนี้จะยิงตรงเข้ามือถือของคนที่เดินผ่านไปมาและยินยอมที่จะดูโปรโมชั่นสินค้าเหล่านี้
Loyalty Programs
ขยายฐานลูกค้าใหม่ของคุณออกไปโดยมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้าหน้าใหม่ที่เดินผ่านร้านและสนใจเข้ามาเยี่ยมชม การลงทะเบียนออนไลน์เพื่อขอไลน์ไอดีหรือให้กดไลค์เพจเฟซบุ๊คก็เป็นไอเดียที่ดีในการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ออกไป
ลูกค้าแบบไหนที่เหมาะใช้การตลาดแบบนี้
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดจะสร้างฐานลูกค้าใหม่ Close Range Marketing น่าจะช่วยคุณได้เยอะทีเดียว นอกจากนั้นกลุ่มลูกค้าเหล่านี้เก่งเทคโนโลยีและชอบความตื่นเต้น แคมเปญการตลาดที่เปิดให้พวกเขามีส่วนร่วมในโลกดิจิตอลจึงน่าจะเป็นที่นิยม และเมื่อพวกเขาใช้บริการคุณจนกลายเป็นขาประจำ คุณยังสามารถสร้าง Loyalty Program ผ่านการสื่อสารช่องทางนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น เปิดให้พวกเขาดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นหรือมอบบัตรสะสมแต้มดิจิตอล จุดสำคัญที่ต้องระวังคือคุณต้องแน่ใจว่าคุณส่งข้อมูลให้แก่ลูกค้าในเวลาที่เขาต้องการข้อมูลจริงๆ เช่น ช่วงเวลากลางวัน ร้านขายเสื้อผ้าก็ไม่ควรส่งข้อมูลให้แก่ทุกคนที่เดินผ่านไปมาหน้าร้านเพราะทุกคนแข่งกับเวลาเพื่อทานอาหารเที่ยงแล้วกลับขึ้นไปทำงาน การยัดเยียดข้อมูลมากเกินไปอาจทำให้พวกเขาเกลียดคุณก็เป็นได้ อีกจุดหนึ่งที่ต้องระวังคือปัจจุบันมือถือกลายเป็นสมบัติส่วนตัวที่เจ้าของหวงแหนดังนั้นการพยายามเข้าไปโปรโมทร้านค้าในมือถือของพวกเขาโดยไม่ขออนุญาตอาจถูกรังเกียจและถูกวิจารณ์ว่าไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ดังนั้นมาร์เกเตอร์ต้องพิจารณาเวลาและสถานที่ที่จะส่งข้อความให้ดีๆ แม้จะมีข้อจำกัดกลายอย่างแต่ Close Range Marketing น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีในยุคที่ผู้บริโภค window shopping และตัดสินใจซื้อยากอย่างตอนนี้