การวางกลยุทธ์เป็นงานที่ไม่มีวันจบสิ้น ต่อให้ขบคิดมาอย่างดี การทำธุรกิจมีแง่มุมให้เข้าใจมากขึ้น มีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องคอยแยกแยะและพิจารณาข้อเท็จจริง เพื่อกำหนดเส้นทางและตัดสินใจ มิฉะนั้นหากสนามธุรกิจนั้นเป็นสนามที่ทำกำไรยาก แล้วเราลงทุนไปเยอะ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง ธุรกิจของเราอาจเสียหายจนต้องปิดกิจการ
งานแรกของนักวางกลยุทธ์คือการเข้าใจอิทธิพลที่มีต่อสนามธุรกิจที่เราอยู่
การตั้งเป้าหมายธุรกิจโดยที่ไม่รู้ว่าเรากำลังจะเข้าไปเล่นในสนามธุรกิจอะไรเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ก่อนที่ธุรกิจจะทำอะไรหรือใช้ทรัพยากรอะไร มากน้อยขนาดไหนเราต้องประเมิน “อิทธิพล” รอบๆธุรกิจเหล่านี้ให้ครบก่อน
- การแข่งขันระหว่างบริษัท: ดูว่าคนแข่งเยอะหรือไม่? คู่แข่งขายของหรือให้บริการที่เหมือนหรือต่างกับเรามากน้อยขนาดไหน? ลอกเลียนกันได้ยากง่ายขนาดไหน? คำถามพวกนี้ทำให้เรารู้ว่าอุตสาหกรรมที่ธุรกิจของเราอยู่จะเติบโตได้ช้าหรือเร็วแค่ไหน?
- อำนาจของซัพพลายเออร์: เราต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์มากน้อยแค่ไหน? มีเจ้าที่ผลิตวัตถุดิบที่ไม่เหมือนใคร หรือมีหลายเจ้าที่มีวัตถุดิบคล้ายๆกัน? วัตถุดิบที่ว่าหายได้ง่ายมีเยอะไป หรือหายากมีน้อย ราคาแพง?
- อำนาจของลูกค้า: ของที่เราขาย บริการที่เราให้ ลูกค้าหาซื้อหรือใช้ได้ทั่วไปหรือหายาก? ลูกค้าจำแบรนด์เราได้เพราะมีเอกลักษณ์ หรือจำไม่ได้ ไม่มีอะไรโดดเด่น
- ความยากง่ายในการเข้ามาและออกไปจากตลาด: ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อทำธุรกิจและเข้าสู่อุตสาหกรรมสูงหรือต่ำ? เป็นเรื่องง่ายหรือยาก? บางทีเข้ามาง่ายแต่ออกจากธุรกิจยากเพราะผลิตของได้เยอะ บางทีเข้ายากเพราะต้องอาศัยความสามารถเฉพาะต้องหรือต้องขออนุญาตจากทางการ
- สินค้าทดแทนกันได้: ถ้าตลาดไม่มีของที่เราขาย ลูกค้าหาของอย่างอื่นมาทดแทนได้หรือเปล่า? แล้วสินค้าหรือบริการที่แทนกันได้ แทนกันได้มากน้อยแค่ไหน? ลูกค้าหามาใช้ได้ยากง่ายแค่ไหน? ราคาต่างกับของเราขายมากหรือไม่?
พูดง่ายๆคือ ความสำเร็จของธุรกิจของเราถูกกำหนดมาไว้ล่วงหน้าแล้วนั่นเอง
อย่างไรถึงจะเรียกว่าธุรกิจมีกลยุทธ์ที่เฉียบคม?
เมื่อมีกลยุทธ์ ก็ต้องสื่อสารกลยุทธ์ออกไป คนดูออกว่ากลยุทธ์ของธุรกิจของเราชัดเจนหรือไม่ หากเราพูดกว้างๆ จนคนอื่นหรือแม้แต่พนักงานในบริษัทนึกไม่ออกว่าธุรกิจของเราทำอะไร หรือเขียนให้ครอบจักรวาล จนไม่รู้ว่าธุรกิจจะเอาอย่างไรกันแน่ มีแต่คำพูดลอยๆ ไม่เจาะจงเช่น “โดดเด่น” “ชั้นนำ” ”แถวหน้า” “เป็นที่หนึ่ง” บอกแค่ว่าบริษัททำอะไร แต่ไม่บอกว่าทำอย่างไร ไม่พูดถึงลูกค้า ก็ไม่รู้ว่าธุรกิจมีความหมายหรือเปล่า ที่สำคัญข้อความจืดชืด เรื่อยเปื่อย ไม่หนักแน่น ไม่บันดาลใจจนไม่แน่ใจว่าพนักงานอยากทำงานให้บริษัทหรือเปล่า
ฉะนั้น ต้องให้มั่นใจว่า
- กลยุทธ์อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลที่ว่า “ทำไมต้องมีธุรกิจของเรา?”
- ธุรกิจสร้างคุณค่าในตัวสินค้าและบริการที่ผู้คนต้องคิดถึงหากขาดคุณค่านั้นไป
- รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่จำเป็นต้องทำ
- รู้จักแปลงแนวคิดเป็นการลงมือทำ ให้กิจกรรมและทรัพยากรสอดคล้องและสนับสนุนกัน
- ระบุตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ออกมา เพื่อย่อยเป้าหมายใหญ่ออกมาที่เจาะจง วัดได้
- ที่สำคัญ รักและใส่ใจกับสิ่งที่ธุรกิจของตัวเองทำลงไป
สำคัญที่สุดคือตั้งเป้าหมายและสร้างองค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมาย และกลยุทธ์คือระบบสร้างคุณค่าที่เชื่อมระหว่างแนวคิดกับการลงมือทำครับ
ส่วนหนึ่งมาจาก The Strategist: คิดอย่างนักวางกลยุทธ์ โดย Cynthia A. Montgomery