วิกฤติ COVID-19 เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในเวลานี้ ผลพวงจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดส่งผลให้การใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมๆ ต้องหยุดชะงักลง และหาวิธีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่ลดการพบปะผู้คนให้น้อยลงมากที่สุด เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง นั่นรวมไปถึงการที่หลายองค์กรเริ่มออกนโยบาย Work from Home เพื่อลดการพบปะผู้คน
นั่นหมายความว่าผู้คนจะใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตการณ์ระบาดในครั้งนี้ และไม่เป็นผลดีต่อหลายธุรกิจที่ต้องการให้ผู็คนออกมานอกบ้าน เช่น ร้านอาหาร ทว่าก็ยังโชคดีที่ปัจจุบันมีบริการ Food Delivery ที่ช่วยให้ร้านอาหารสามารถจัดส่งอาหารเข้าถึงบ้านแต่ละหลังได้สะดวก หากแต่ร้านอาหารระดับ Micro SMEs บางร้านก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถใช้บริการ Food Delivery เหล่านี้ได้
นี่คือการรวมวิธีสมัครใช้บริการ Food Delivery สำหรับร้านค้าที่ต้องการส่งอาหารไปถึงมือลูกค้าที่บ้าน โดยเฉพาะ 4 ค่ายใหญ่ท้ัง LINE MAN, GRAB, Get และ Food Panda ซึ่งมีผู้นิยมใช้บริการมากที่สุด
ก่อนจะทราบวิธีการสมัคร ขอแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับระยะเวลาการสมัคร
จากการประกาศของภาครัฐ เชื่อว่าจะทำให้มีร้านค้าจำนวนมากต้องการเข้ามาใช้บริการ Food Delivery เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ถึงแม้ระยะเวลาที่ใช้ในการรับสมัครจะถูกกำหนดจากแพลตฟอร์มของแต่ละเจ้า เชื่อว่าขั้นตอนและระยะเวลาก็ยังขึ้นอยู่กับปริมาณร้านค้าที่สมัครเข้ามาใช้บริการ ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่าผู้ให้บริการ Food Delivery อาจจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาหรือดำเนินการล่าช้ากว่าเดิม ซึ่งยังไม่นับความล่าช้าที่อาจมีมาแต่เดิม
วิธีการสมัครใช้บริการ Food Delivery: LINE MAN
LINE MAN ถือเป็นหนึ่งในบริการ Food Delivery ที่มีการใช้งานมากที่สุด โดย LINE MAN จับมือกับ Wongnai ในการดำเนินการด้าน Food Delivery ซึ่งร้านค้าสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้บริการได้ที่ LINE MAN
สามารถกดปุ่ม “สมัครใช้งาน Wongnai Merchant App” จากนั้นร้านค้าสามารถเลือกได้ว่า ร้านค้าของตัวเองเป็นร้านค้าที่มีแบรนด์ (Franchise) หรือเป็นร้านค้าของตัวเอง โดยสามารถกด “ใส่ข้อมูลเอง” ได้ จากนั้นกรอกรายละเอียดของร้านค้าให้ครบถ้วน
เมื่อกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับร้านค้าเรียบร้อยแล้ว สามารถกดปุ่ม “ลงทะเบียน” ด้านล่าง จากนั้นจะมีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทาง e-Mail หากร้านค้าใดมีปัญหาในการลงทะเบียน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ด้านล่าง
ทั้งนี้ยังไม่มีการแจ้งเก็บค่าแรกเข้าหรือค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นใด โดยร้านค้าสามารถตั้งราคาอาหารได้ตามราคาในเมนูของร้านตามปกติ ซึ่ง LINE MAN จะทำการคิดค่าบริการจัดส่งกับลูกค้าที่ซื้ออาหารโดยเพิ่มไปในราคาอาหารเอง ทำให้ร้านค้าไม่ต้องเสียค่าบริการอย่างอื่นเพิ่มเติม
วิธีการสมัครใช้บริการ Food Delivery: Grab
นอกจาก LINE MAN แล้วบริการ Food Delivery อย่าง Grab ก็เป็นอีกหนึ่งค่ายที่มีการใช้บริการ Food Delivery มากที่สุด โดยเฉพาะการเปิดตัว GrabPay ที่ช่วยให้การชำระเงินสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งร้านค้าที่สนใจใช้บริการ Food Delivery สามารถลงทะเบียนได้ที่ Grab
จากนั้นกรอกรายละเอียดร้านค้าแล้วกด “SUBMIT” หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป โดยร้านค้าจะต้องเตรียมเมนูร้านค้าที่จะขายผ่าน GrabFood รวมถึงการเตรียมเอกสารสำคัญ ซึ่งหากเป็นร้านค้าในรูปแบบ นิติบุคคล จะต้องเตรียม สำเนาหนังสือรับรองบริษัท ที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยวันที่ออกหนังสือรับรองจะต้องไม่เกินระยะเวลา 3 เดือน นับจากวันที่มีผลบังคับใช้, ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20), หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองบริษัท, สำเนาบัตรประชาชน ของกรรมการผู้มีอำนาจในการลงลายมือหรือสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
สำหรับในกรณีที่เป็นร้านค้าทั่วไปไม่ใช่นิติบุคคล จะต้องเตรียม สำเนาบัตรประชำชน ของเจ้าของร้าน และใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ถ้ามี ที่สำคัญร้านค้าทั้งในรูปแบบนิติบุคคลและร้านค้ารูปแบบบุคคลธรรมดา ถ้ามี ใบรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล สามารถส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณา และสามารถใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ได้ในอนาคต
ร้านค้าจำเป็นต้องทราบว่า GrabFood จะมีการเก็บค่าบริการ 35% จากยอดขายผ่าน GrabFood (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) และไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าแต่อย่างใด ในกรณีที่เอกสารสัญญาไม่ผ่านการตรวจสอบ สามารถส่งเอกสารกลับมาใหม่ได้โดยมีโอกาส 3 ครั้งในการรับเอกสารสัญญา
วิธีการสมัครใช้บริการ Food Delivery: Foodpanda
อีกหนึ่งค่ายที่หลายคนเริ่มนิยมใช้บริการ Food Delivery มากขึ้น เห็นจะหนีไม่พ้น Foodpanda บริการ Food Delivery ที่หลายคนอาจเห็นชื่อมานาน แต่ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาชื่อของ Foodpanda เริ่มเป็นหนึ่งตัวเลือกที่สำคัญ โดยร้านค้าที่สนใจใช้บริการ Food Delivery สามารถลงทะเบียนได้ที่ Foodpanda
แล้วลือกในส่วนของร้านค้าเพื่อกดปุ่ม “สมัครเลย” จากนั้นจะเห็นแบบฟอร์มการสมัคร ร้านค้าสามารถกรอกข้อมูลรายอะเอียดให้ชัดเจนและอัพโหลดเมนูอาหารตามราคาจริง เมื่อมีการตรวจสอบและอนุมัติจากทาง Foodpanda แล้ว ร้านค้าที่ลงทะเบียนสมัครไว้จะได้รับหนังสือสัญญาและจะมีการนัดหมายเพื่อตกลงเซ็นสัญญา หลังจากนั้น Foodpanda จะดำเนินการตรวจสอบเมนูอาหารและราคาให้ตรงตามที่แจ้งไว้
เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว Foodpanda จะมอบแท็บเล็ตและคำแนะนำในการใช้งานแท็บเล็ต เพื่อใช้ในการรับออเดอร์ สำหรับ Foodpanda จะมีการคิดค่าคอมมิชชั่นในอัตรา 35% จากมูลค่าของออเดอร์ทั้งหมดที่สั่งผ่านทาง Foodpanda สำหรับออเดอร์ที่ชำระผ่านบัตรเครดิตจะยกเว้นค่าธรรมเนียม 3% แต่จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ไม่ได้เป็นร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีออเดอร์มูลค่า 100 บาท โดยยังไม่หักภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้านค้าจะต้องจ่ายส่วนแบ่งให้ทาง Foodpanda 35% หรือเท่ากับ 35 บาท ขณะที่ร้านค้าจะถูกหักภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในตัวอย่างนี้จะถูกหัก 2.45 บาท ทำให้รายได้สุทธิ (Net Income) ที่ร้านค้าได้รับอยู่ที่ 62.55 บาท
วิธีการสมัครใช้บริการ Food Delivery: GET
และน้องใหม่ของตลาด Food Delivery อย่าง GET ที่ชิงต่อยอดจากสถานการณ์การระบาด COVID-19 ด้วยการเปิดรับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารรายใหม่เข้าสู่ระบบการให้บริการ Delivery เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ร้านค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย สอดรับกับนโยบายรัฐทั้งด้าน Social Distancing และการปิดร้านอาหารไม่ให้นั่งทานที่ร้านแต่สามารถซื้อกลับบ้านหรือใช้บริการ Food Delivery ได้
โดยในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ร้านค้าที่ต้องสมัครใช้บริการ Food Delivery ของ GET จะต้องนัดหมายเพื่อตรวจสอบหลักฐานและรายละเอียดของร้านค้า รวมถึงเมนูและราคาอาหาร ตอนนี้ร้านค้าที่ต้องการใช้บริการ Food Delivery ของ GET สามารถสมัครผ่านระบบออนไลน์ได้และมีขั้นตอนที่สะดวกยิ่งขึ้น โดยร้านอาหารที่สนใจใช้บริการ สามารถส่งเอกสารที่จำเป็นผ่านทางออนไลน์ และสามารถเริ่มให้บริการ Delivery ได้ภายใน 7-10 วัน
โดยเจ้าของร้านอาหารที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ GET สามารถลงทะเบียนสมัครได้ที่ GET จากนั้นกรอกรายละเอีดร้านค้าให้ครบถ้วน สำหรับบริการของ GET จะมีค่าคอมมิชชั่น 30% (โดยยังไม่คิดรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) โดยร้านค้าจะต้องติดตั้งแอปฯ GoBiz เพื่อรับออเดอร์และตรวจสอบยอดขาย
ทั้งหมดนี้คือผู้ให้บริการ Food Delivery รายใหญ่ในประเทศไทยทั้ง 4 ค่าย ซึ่งแต่ละค่ายก็มีค่าบริการที่แตกต่าง อยู๋ที่ร้านค้าแต่ละร้านจะเลือกใช้บริการค่ายใดหรือจะเลือกใช้บริการมากกว่า 1 ค่ายก็ไม่ผิดกฎแต่อย่างใด เพราะในช่วงวิกฤติ COVID-19 การขายได้หลากหลายช่องทางน่าจะเป็นทางออกของร้านอาหารในช่วงนี้