ทำไงให้ ChatGPT พูดถึงธุรกิจเรา? กับ 10 กลยุทธ์พิชิตใจ AI เมื่อโลกการค้นหาเปลี่ยนไป

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

เดี๋ยวนี้เวลาเราอยากรู้อะไร หลายคนเริ่มหันไปถาม AI หลายๆตัวกันมากขึ้นโดยเฉพาะ ChatGPT ไม่ว่าจะถามเรื่องทั่วไป สูตรอาหาร หรือแม้แต่ “ช่วยแนะนำร้านอาหารอิตาเลียนดีๆแถวนี้หน่อย” หรือ “บริษัทไหนเก่งเรื่อง Digital Marketing บ้าง?”

แล้วเคยสงสัยไหมว่า ถ้ามีคนถามคำถามที่สินค้าหรือบริการของเราตอบโจทย์ได้พอดิบพอดี ทำไม ChatGPT ถึงไม่เคยแนะนำธุรกิจเราเลย? ทั้งๆ ที่เราก็ทำ SEO บน Google อย่างดีมาตลอด

ปัญหานี้กำลังเป็นเรื่องที่คนทำธุรกิจหลายคนเริ่มเจอเพราะโลกของการค้นหาตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว การทำให้ AI อย่าง ChatGPT รู้จักและแนะนำธุรกิจเรากลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้น และแน่นอนว่าวิธีการก็ไม่เหมือนกับการทำ SEO แบบเดิมๆ ที่เน้นเรื่อง Keyword หรือ Ranking

แล้ว ChatGPT ใช้อะไรตัดสิน?

จากข้อมูลที่รวบรวมมาล่าสุด (ช่วงปลายปี 2024 – ต้นปี 2025) พบว่า ChatGPT ไม่ได้มองแค่คำค้นหาแต่มันมองภาพรวมที่ซับซ้อนกว่านั้น ระบบนอกจากจะเรียนรู้จากข้อมูลที่ถูกใส่เข้าไปให้มันเรียนรู้แล้ว มันยังเชื่อมต่อกับข้อมูลในปัจจุบันดึงข้อมูลแบบเรียลไทม์มาพิจารณาด้วย และนี่คือปัจจัยหลักๆที่ ChatGPT รวมถึง AI ตัวอื่นๆจะเอาเข้ามาพิจารณาด้วย

  • คุณภาพและความน่าเชื่อถือ (Quality and Credibility): ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจคุณถูกต้อง อัปเดต และดูน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน
  • ชื่อเสียงและรีวิว (Reputation and Reviews): ร้านไหน บริษัทไหนรีวิวดีๆคนพูดถึงในแง่บวกเยอะๆ AI ก็มีแนวโน้มจะแนะนำมากกว่า
  • ความเกี่ยวข้องของเนื้อหา (Content Relevance): คอนเทนต์ของคุณตอบคำถามที่คนถามได้ตรงประเด็นแค่ไหน? เพราะ AI ชอบเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นคอนเทนต์ที่ทำก็ต้องไม่คลุมเครือ ต้องตอบคำถามให้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ (Authority and Expertise): เนื้อหาคุณภาพสูง ข้อมูลแม่นยำ แสดงถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะทำให้ AI มองว่าคุณเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในด้านนั้นๆจริงๆ
  • บริบทการสนทนา (Conversational Context): AI ทำงานเหมือนการพูดคุย มันจึงมองหาเนื้อหาที่ชัดเจน มีประโยชน์ และเขียนเหมือนภาษาคนคุยกัน ดังนั้นเนื้อหาต้องมีข้อมูลถูกต้องชัดเจนแล้วต้องอ่านง่ายเข้าใจง่ายด้วย

สรุปง่ายๆ คือ AI มันฉลาดกว่าที่เราคิด มันไม่ได้ดูแค่เว็บเรา แต่ดูทั้งรีวิว สิ่งที่คนอื่นพูดถึงเรา ข้อมูลที่เราเขียนมันน่าเชื่อถือแค่ไหน ตอบคำถามคนได้จริงหรือเปล่า

ทำยังไงให้ ChatGPT แนะนำธุรกิจของเรา?

เรื่องเป็นเรื่องของกลยุทธ์ที่คลายกับการทำ SEO ให้กับเว็บไซต์ของเรา แต่คราวนี้มีมากกว่านั้น และนี่คือ 10 วิธีที่เราสามารถเอาไปปรับใช้เพื่อให้ ChatGPT รู้จักธุรกิจของเรามากขึ้นและเลือกแนะนำธุรกิจเราให้กับผู้ใช้งาน

1. ปรับปรุง “เว็บไซต์” ให้ AI รัก

สร้างเนื้อหาคุณภาพสูง (High-Quality Content) หมายความว่า เราควรเขียนบทความ Blog, คอนเทนต์บนเว็บไซต์ให้มีข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียดให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่เป็นเว็บไซต์ที่มีแค่หน้าขายของธรรมดา อย่างเช่น ถ้าคุณขายเมล็ดกาแฟออร์แกนิก ลองเขียนบทความเจาะลึกเรื่องแหล่งที่มาของกาแฟแต่ละชนิด หรือเขียนคอนเทนต์เทคนิคการชงกาแฟอย่างไรให้อร่อยเอาไว้ด้วย

จัดโครงสร้างให้ชัดเจน (Structure Your Content) ใช้หัวข้อ (Headings), คำอธิบายย่อ (Meta Descriptions), และข้อมูลที่มีโครงสร้างเพื่อช่วยให้ทั้งคนและ AI เข้าใจว่าเว็บคุณเกี่ยวกับอะไร หลักการก็คล้ายๆกับการทำ SEO ให้คอนเทนต์ติดอันดับการค้นหานั่นเอง

ความโปร่งใส (Be Transparent) ให้เว็บไซต์มีหน้า “เกี่ยวกับเรา” (About Us) ชัดเจน, ข้อมูลติดต่อครบถ้วน, และใส่สัญลักษณ์สร้างความน่าเชื่อถือ (Trust Signals) เช่น รางวัลที่เคยได้ หรือใบรับรองต่างๆเข้าไปด้วย

2. ถ้ามีหน้าร้านต้อง “ปักหมุด” ให้แน่น

ยืนยัน Google Business Profile ใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน ถูกต้อง ทั้งเวลาเปิด-ปิด รูปภาพ เบอร์โทร ให้ชัดเจน

อย่าลืมใช้คีย์เวิร์ดเฉพาะพื้นที่ (Location-Specific Keywords) ให้ใส่ชื่อทำเล หรือย่าน เข้าไปในเนื้อหาเว็บอย่างเป็นธรรมชาติ ตัวอย่าง: “ร้านกาแฟ อารีย์หรือบริการออกแบบภายใน ขอนแก่นเป็นต้น

ลงข้อมูลใน Directory ท้องถิ่น: ให้ธุรกิจของคุณไปปรากฏในเว็บรวบรวมข้อมูลธุรกิจต่างๆ ที่ AI อาจจะดึงข้อมูลไปใช้ได้ลองหาดูว่ามีกลุ่มกระทู้หรือคอนเทนต์แนะนำในสื่อต่างๆที่เราจะไปอยู่ตรงนั้นได้หรือไม่

3.สร้างชื่อเสียงสร้างความน่าเชื่อถือ

ต้องมีรีวิวที่ดี (Reviews) กระตุ้นให้ลูกค้าที่พอใจเขียนรีวิวให้บนแพลตฟอร์มต่างๆ (Google Map, Facebook, Wongnai, เว็บ E-Commerce หรือเว็บเฉพาะทางอื่นๆ) และที่สำคัญ ต้องตอบรีวิว ด้วย ไม่ว่ารีวิวเหล่านั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม

มีตัวอย่างรีวิวจากลูกค้า (Highlight Case Studies) แชร์เรื่องราวความสำเร็จของลูกค้าที่ใช้สินค้า/บริการของคุณจริงๆ ให้เห็นภาพว่ามันช่วยแก้ปัญหาอะไรให้กับลูกค้าหรือมอบประสบการณ์ดีๆอย่างไร

สร้าง Social Proof พยายามใหธุรกิจเราถูกพูดถึงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ (สื่อ, บล็อกเกอร์, Influencer) สิ่งนี้จะช่วยให้มีน้ำหนักมากขึ้น ดังนั้นลองสร้างสัมพันธ์กับนักข่าวหรือบล็อกเกอร์ในวงการหรืออาจจะเป็นการทำ Advertorial Content ก็ได้

4.สร้างคอนเทนต์ให้ AI เข้าใจง่าย

ทำ FAQ คำถามที่พบบ่อยให้ดี สร้างส่วน FAQ ที่ตอบคำถามยอดฮิตของลูกค้า และเขียนด้วยภาษาเหมือนคนคุยกัน ไม่ใช่ภาษาทางการแข็งๆ

เน้นเนื้อหา Evergreen หรือการสร้างคอนเทนต์ที่ไม่ตกยุคง่ายๆอ่านได้ไปตลอดเช่น บทความ “5 วิธีดูแลสุขภาพทางการเงินซึ่งจะอยู่ได้นานกว่าเทรนด์การตลาดปี 2025″ เพราะบางครั้งการใส่ “ปี” ในหัวข้ออาจไม่เหมาะถ้าอยากให้เนื้อหาอยู่ไปยาวๆ

เขียนให้เหมือนคุยกับเพื่อน (Conversational Simplicity): ใช้ภาษาง่ายๆ ไม่ต้องศัพท์เทคนิคเยอะ แต่ยังคงความเป็นมืออาชีพ และ “ปรับให้เหมาะกับการค้นหา” ซึ่งคือการทำ SEO นั่นเอง ใช้ภาษาธรรมชาติเหมือนที่คนใช้ถามจริงๆ จัดโครงสร้างเนื้อหาเป็นแบบ ถาม-ตอบ (Q&A) และเขียนอย่างมีโครงสร้าง แบ่งเป็นหัวข้อๆ จะช่วย AI เข้าใจบริบทมากขึ้น

5. โชว์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ทำคอนเทนต์แบบ เจาะลึกอย่าทำตัวเป็นเป็ด (Specialize, Don’t Generalize) เน้นจุดแข็งหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของคุณให้ชัดเจนเพราะ AI ชอบผู้เชี่ยวชาญตัวจริง

สามารถใช้กลยุทธ์ “สร้างความร่วมมือ” (Collaborate and Partner) จับมือกับพันธทมิตร องค์กรหรือผู้นำในอุตสาหกรรมที่น่าเชื่อถือมาทำคอนเทนต์ร่วมกัน “ไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่” (Be Present Where It Matters) หมายถึงการพาธุรกิจของเราไปเข้าร่วมกลุ่ม, ฟอรั่ม, หรือชุมชนออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา และเข้าไปมีส่วนร่วม แบ่งปันความรู้บ่อยๆ

และอีกกลยุทธ์ก็คือการ “ให้แหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือพูดถึง” (Get Featured on High-Authority Sources) พยายามให้สื่อในวงการลงเรื่องของธุรกิจเรา, ได้ Backlink จากเว็บน่าเชื่อถือ, หรือถ้าเกี่ยวข้อง ลองสร้าง/ปรับปรุงหน้า Wikipedia ของแบรนด์ดู

6. วิดีโอ/พอดแคสต์ ต้องมี Metadata และ Transcript ที่เป๊ะ

ต้องไม่ลืมที่จะเขียน ชื่อ (Title), คำอธิบาย (Description), แท็ก (Tag) ของคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ หรือ podcast ให้สื่อความหมายชัดเจน มีคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง และอธิบายเนื้อหาสำคัญครบถ้วน

สำคัญก็คือ ใช้ “Transcript และ Caption” อย่างเช่นการมี Subtitle หรือ Transcript จะช่วยให้ AI “อ่าน” และเข้าใจเนื้อหาในวิดีโอหรือพอดแคสต์ของคุณได้ดีขึ้น อาจจะใส่ Transcript ไว้ใน Description หรือบนหน้าเว็บที่เกี่ยวข้องด้วยก็ได้

7. สร้างตัวตนข้ามแพลตฟอร์ม

ยิ่งเรา “มีคอนเทนต์หลายรูปแบบ” ทั้งวิดีโอบทความ Blog ก็จะทำให้เราได้เปรียบมากกว่า เวลาทำวิดีโอแล้วก็ลองสรุปประเด็นสำคัญแล้วลิงก์ไปหาวิดีโอด้วยอีกที การมีตัวตนที่เชื่อมโยงกันหลายๆ ที่ (เว็บ, บล็อก, โซเชียล, พอดแคสต์) จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตา AI ได้

เทคนิคอีกอย่างคือการ “Active บนแพลตฟอร์มสำคัญ” เช่น Facebook, IG, TikTok หรือเข้าไปตอบคำถามในเว็บฟอรั่มเฉพาะทางที่ AI มักจะเข้าไปเก็บข้อมูลบ่อยๆ ถ้าอย่างในต่างประเทศก็จะเป็น Quara หรือ Reddit เป็นต้นถ้าของไทยก็อาจจะเป็น Pantip หรือ Facebook Group ต่างๆเป็นต้น

8. ตอบให้ตรงใจคนถาม

คอนเทนต์ที่ดีจะต้องมีเนื้อหาที่ตรงใจลูกค้า ลอง “คิดแทนลูกค้า” ว่าพวกเขาอยากรู้อะไร? มีปัญหาอะไร? ค้นหาด้วยคำว่าอะไร? แล้วสร้างเนื้อหาที่ตอบคำถามเหล่านั้นโดยตรง หรือจะลอง “ใช้ AI ช่วยหาคำถาม” ให้ก็ได้ ลองถาม ChatGPT ดูก็ได้ว่า “คนส่วนใหญ่อยากรู้อะไรเกี่ยวกับ [หัวข้อธุรกิจของคุณ]?” แล้วเอาไอเดียมาสร้างคอนเทนต์

9. ทำ Engagement ให้ดี 

สำหรับงานวิดีโอหรือโซเชียลแม้ AI ไม่ได้ดู Analytics โดยตรง แต่ปัจจัยที่จะบอกได้ว่าคนชอบคอนเทนต์เหล่านั้นไหมอย่างยอด Engagement เช่น Watch Time, Likes, Shares ก็มีผลทางอ้อม ทำให้เนื้อหาน่าถูกแนะนำมากขึ้น เน้นทำ Hook เปิดให้น่าสนใจ, เนื้อหากระชับ, มี Call to Action ชัดเจน

10. ทำสม่ำเสมอและปรับตัวตลอดเวลา

สุดท้ายที่สำคัญก็คือ “ความสม่ำเสมอ” การทำให้ AI รู้จักและแนะนำเรา ต้องอาศัยความสม่ำเสมอในการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ และต้องพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ เพราะ AI มันเรียนรู้และอัปเดตข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา

อาจใช้เครื่องมือ AI ช่วยสร้างคอนเทนต์บางส่วนเพื่อให้สม่ำเสมอขึ้นก็ได้ และก็ต้องคอยติดตามประสิทธิภาพ SEO โดยรวม ใช้เครื่องมือ Social Listening อย่าง WiseSight, Mandala หรือ Zanroo ดูว่าธุรกิจเราถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์อย่างไร รวมถึงฟังเสียงตอบรับจากลูกค้า (Customer Feedback) สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ว่ากลยุทธ์ที่เราทำไปมันได้ผลแค่ไหน

การทำให้ ChatGPT หรือ AI อื่นๆ แนะนำธุรกิจของเราได้ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันคือผลจากการวางกลยุทธ์ การสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ที่แข็งแกร่ง มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และสร้างเนื้อหาที่ทั้งคนและ AI เข้าใจง่าย ดังนั้นอย่ารอช้า ต้องรีบทำตั้งแต่วันนี้โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกการค้นหาของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •