ภาพจาก http://www.dri-global.com/
ในยุคที่ทุกอย่างมาเร็ว ไปเร็ว เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การสร้างแบรนด์และการรีแบรนด์จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ และนักการตลาดหลายคนให้ความสำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งต้องผ่านกระบวนการคิดมานับไม่ถ้วน คุณและผู้ประกอบการอีกหลายราย อาจศึกษาตลาดมาพอสมควร แล้วคิดว่าได้เวลาเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ซึ่งก็มีแบรนด์ไม่น้อยที่กำลังสร้างภาพลักษณ์ และมุ่งมั่นในการทำธุรกิจใหม่ๆ
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ต้องการพลิกโฉมแบรนด์ คุณต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ขยายฐานลูกค้า รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่คุณต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร และทิศทางของผู้บริโภค
ก่อนจะทำการ Re-Branding ลองพิจารณา 3 สิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อจากนี้เสียก่อน ว่าคุณมีความพร้อมมากแค่ไหน
1. จุดประสงค์ที่แท้จริง
หากคุณยังไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการ Re-Branding แต่มีความต้องการที่จะทำ คุณสามารถว่าจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ได้ พวกเขาจะช่วยแนะนำขั้นตอนการทำงานให้คุณ คำถามแรกที่คุณต้องตอบให้ได้คือ “ทำไมถึงต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่” นี่คือคำถามสำคัญที่มักจะถูกมองข้าม และตอบไม่ได้ ซึ่งคำตอบที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ เช่น “ต้องการกำไรที่มากขึ้น” หรือ “ต้องการหาลูกค้าใหม่ๆ”
จริงๆ แล้วคำถามนี้หมายความว่า จุดประสงค์ในการ Re-Branding ของคุณคืออะไร รวมถึงแนวความคิด เป้าหมายหลัก ความเชื่อในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ และรู้หรือไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ การรีแบรนด์แต่ละครั้งจะมีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะคุณจะไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ คุณจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อมเสียก่อน
คำถามพวกนี้จะช่วยให้คุณและนักการตลาด ค้นพบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการพลิกโฉมแบรนด์ใหม่ เมื่อทราบความต้องการจริงๆ แล้ว การทำงานในขั้นตอนต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น
2. การสร้างการรับรู้
ความท้าทายในการสร้างแบรนด์ใหม่คือ “ทำอย่างไรผู้บริโภคต้องสนใจและเลือกใช้สินค้าของคุณ” เหตุผลที่คุณต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ นั่นก็เพราะคนส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ แม้คุณจะบอกว่าผลลัพธ์ก็สำคัญ เพราะเป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจคือ ผลกำไร ปิดการขายได้เร็ว ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่คุณจะตั้งเป้าหมายแบบนั้น แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายได้ คือ ขั้นตอนการสร้างการรับรู้ไปยังผู้บริโภค
ในช่วงแรกคุณต้องสร้างความเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างจุดเด่นที่น่าสนใจ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ให้คิดไว้เสมอว่าการรีแบรนด์ คือ การเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมที่อยู่ในใจผู้บริโภค ลบของเก่าออก แทนที่ด้วยของใหม่ลงไป คุณต้องมีความชัดเจน ทำให้ง่ายต่อการจดจำ และพยายามให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละองค์กรจะมีวิธีที่แตกต่างกันไป คุณต้องค้นหาให้เจอว่าวิธีไหนจะเหมาะสมกับองค์กรที่สุด
3. วิสัยทัศน์
หลังจากที่คุณมีวัตถุประสงค์ และมีแผนสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การสร้างวิสัยทัศน์ กำหนดจุดมุ่งหมายหรือความมุ่งมั่นที่องค์กรต้องการให้เกิดขึ้น ตำแหน่งขององค์กรในตลาด ภายใต้เวลาที่กำหนด เป็นการวางแผนอนาคตนั่นเอง ไม่มีถูกและไม่มีผิด เช่น ประสบการณ์ที่คุณต้องการมอบให้ผู้บริโภค และการรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร
แม้วิสัยทัศน์ขององค์กรจะเป็นเพียงประโยคสั้นๆ แต่จะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งองค์กร ทั้งการกำหนดทิศทางและเป้าหมาย กระตุ้นให้บุคลากรและผู้บริหารมุ่งไปสู่ปลายทางเดียวกัน หรือการสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบถึงบทบาทขององค์กร
จากทั้ง 3 ข้อที่กล่าวไปนั้น ล้วนมีความสำคัญอย่างมากในการปรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของคุณ แน่นอนว่าคุณภาพของสินค้าก็สำคัญเช่นกัน แต่การจะเปิดตลาดใหม่นั้นก็ไม่ง่าย คุณจำเป็นต้องใช้ทักษะและกลยุทธ์เพื่อสร้างความสำเร็จ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูล เปรียบเทียบคุณภาพ ราคา และเปิดรับข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เมื่อคุณตอบครบทั้งหมดแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบ ดีไซน์ ฯลฯ ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น คงต้องใช้กำลังอีกมากเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และตอบสนองผู้บริโภคได้ดีที่สุด