ผู้นำที่ดีคืออะไร? เป็นคำถามที่อาจมีคำตอบมากมาย แต่สำหรับการเป็น “ผู้นำ” ในองค์กรแล้วคำตอบในเรื่องนี้มีอยู่และถูกนำมาถอดบทเรียนบอกเล่าบนเวที CTC2023 โดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ ผู้พลิกฟื้นแบรนด์เก่าแก่สู่ SRICHAND จนกำลังจะเข้า IPO ในเร็วๆนี้ ในหัวข้อ Leader Vision: People you need in the World of Change จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา
“ผู้นำที่ดี” ไม่ได้สำคัญแค่กับคนที่ทำงานด้วยเท่านั้นแต่ยังสำคัญกับ “องค์กร” ในการที่จะช่วยดึงดูด Talent เข้าสู่องค์กรและยังช่วย Retain พนักงานให้อยู่กับองค์กรต่อไปได้ด้วย เรื่องนี้พิสูจน์มากแล้วจากผลสำรวจเหตุถึงเหตุผลที่พนักงานลาออกจากงานที่พบว่าเหตุผลส่วนใหญ่มากถึง 70% เป็นเพราะ “หัวหน้า” มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีเหตุผลเรื่องงาน
สำหรับการเป็น “ผู้นำที่ดี” คุณรวิศ บอกว่าจะต้องเป็น “Connector” ที่ดีที่สามารถ connect people ได้ และการที่จะเป็น “Connector ที่ดี” ได้ต้องมี 5 เรื่องสำคัญต่อไปนี้
1. Cross-functional working
คือการสามารถเชื่อมการทำงานข้ามแผนกกันได้ เพราะในยุคนี้ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ด้วยแผนกใดแผนกหนึ่ง และปัญหาที่หลายบริษัทมักจะเจอกันประจำก็คือความขัดแย้งระหว่างแผนกต่างๆ และการที่จะมีการทำงานในลักษณะนี้ได้มีเรื่องสำคัญ 3 เรื่องก็คือ
-
- Understanding of Other Roles – คือการเข้าใจบทบาทของหน่ยงานอื่นๆวิธีที่ง่ายที่สุดที่ทำให้เข้าใจเรื่องนี้ก็คือสลับหน้าที่กันทำ หรือหากทำไม่ได้ก็ต้องทำให้เกิดบรรยากาศที่สร้างความเข้าใจบทบาทซึ่งกันและกันให้ได้
- Project Management – การบริหารจัดการโครงการเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้และจะสามารถนำมาช่วยในเรื่องนี้ได้
- Problem-Solving – คือการวางโครงสร้างการแก้ปัญหาให้องค์กรอย่างถูกต้อง มีความชัดเจน มีทรัพยากรให้ใช้ในการแก้ปัญหาและสามารถวัดผลในการแก้ปัญหาได้
2. Lifelong Learning Mindset
คือการที่จะต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆทุกวัน และที่สำคัญที่สุดก็คือการโฟกัสให้ชัดเจนว่าต้องการจะเสริม skill ด้านไหน ไม่ควรที่จะเรียนแบบสะเปะสะปะ เพื่อตามให้ทันความรู้ในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วในเวลานี้ ซึ่งคุณรวิศ เองก็ระบุว่าในเวลานี้กำลังจะโฟกัสไปที่การเรียนรู้เรื่องจิตวิทยาเพื่อบริหารคน เป็นต้น
3. Give and Take Feedback
ผู้นำที่ดีจะต้องรับฟัง feedback จากพนักงานให้มาก และไม่ใช่แค่นั้นเพราะผู้นำที่ดีจะต้องสร้างบรรยากาศที่พนักงานกล้าที่จะให้ feedback กลับมาได้ด้วย และจะต้องวางเฟรมเวิร์คในลักษณะ Start- Stop-Continue, ทำให้ระบบสร้าง engagement จากพนักงานได้จริงๆ นอกจากนี้จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากพนักงานให้ได้มากที่สุดและจะต้องรับฟัง feedback อย่างตั้งใจ
-
- Start – สิ่งไหนที่ยังไม่ได้ทำและเราอยากเค้าให้ทำ
- Stop – สิ่งไหนที่เค้าทำอยู่และมันไม่ดีและเราอยากให้หยุด
- Continue – สิ่งไหนที่ทำอยู่แล้วดีอยู่แล้วและอยากให้ทำต่อไป
- Employee Engagement – ระบบ feedback ต้องทำให้เกิด engagement ที่ดีให้ได้ ขณะที่อัตราส่วนหัวหน้าต่อพนักงานเองก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจำนวนที่เหมาะสมก็คือหัวหน้า 1 คนต่อลูกต้อง 8 คนเพื่อให้การรับฟังมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด ขณะที่การรับฟัง feedback จะต้องไม่ใช่แค่เรื่องผลงานอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึง ความพึงพอใจในการทำงาน และเรื่องอื่นๆของพนักงานด้วย
- สิ่งที่ต้องพึงระวัง – ต้องตั้งใจฟัง feedback อยากเพิ่งตอบโต้ feedback ที่ไม่ชอบ และนึกไว้เสมอว่า feedback ที่ดีคือสิ่งที่เราฟังแล้วอาจโมโห และที่สำคัญต้องแยก Noice หรือ “เสียงบ่น” ออกจาก Feedback ที่มีประโยชน์ให้ได้
4. Technology Skill
หรือ “ทักษะด้านเทคโนโลยี” ที่ผู้นำในยุคนี้ต้องมีเพื่อที่จะไม่เป็นภาระกับ “ลูกน้อง” ต้องมีความเข้าใจกับเทคโนโลยีในยุคใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำองค์กรหรือเจ้าของแบรนด์จะต้องเข้าใจเทคโนโลยี Marketing Technology ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในยุคนี้ รวมถึงเทคโนโลยี AI ที่สามารถเข้ามาสร้าง Productivity ให้กับองค์กรได้อย่างมหาศาล
5. Common sense on people
เป็นเรื่องที่คุณรวิศย้ำว่าสำคัญและ “ยากมากที่สุด” เนื่องจากการคัดเลือกหรือสัมภาษณ์คนใหม่ๆนั้นจะมีเวลาอย่างมากที่สุดเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้นดังนั้นความสามารถในการมองคนให้ออกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคุณรวิศย้ำว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ อย่างไรก็ตามเราสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ได้ หรืออาจหาความรู้เพิ่มเติมได้จากหนังสือเกี่ยวกับ Behavioural Science หรือศาสตร์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ ก็จะช่วยได้เช่นกัน
บทสรุปของ “ผู้นำที่ดี” ในมุมของคุณรวิศ ก็คือผู้นำนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตำแหน่งการงานเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของผู้นำคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของ value ของบริษัทเท่านั้น แต่ “การเป็นผู้นำที่ดี” ก็คือ ผู้นำที่สามารถทำให้ลูกน้อง ลูกค้า รวมไปถึงคู่ค้ามีความสุขและพร้อมที่จะเดินเคียงข้างคุณไปด้วยนั่นเอง