COVID-19 ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติและเป็นสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจนหลายคนอาจตั้งตัวไม่ทัน ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค จนคาดการณ์กันว่า COVID-19 ก่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่และจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ถาวรในอนาคตหลังจบช่วงวิกฤติ COVID-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาและเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
โดย คุณสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่า วิกฤติครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น แต่ช่วงเวลาวิกฤติที่ยาวนานจะทำให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ถาวร ซึ่งสามารถแบ่งสถานการณ์ได้ออกมา 6 ขั้น สำหรับประเทศไทยอยู่ในขั้นการกักตัว โดยแต่ละขั้นจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป ผู้ประกอบการควรมองข้ามไปยังขั้นต่อไปเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้น
ปัญหาการติดลบของ GDP ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัย COVID-19 แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เช่น ภัยแล้ง หนี้ภาคครัวเรือน เป็นต้น แม้จะมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจ แต่มีการพบว่าความกังวลเรื่องสุขภาพกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องของสภาพหนี้สินที่สร้างความกังวลใจ
สินค้าที่มีความจำเป็นยังมีการเติบโตที่ดีอยู่ ในขณะที่การซื้อขายออนไลน์มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ในส่วนของการทานข้าวมีรูปแบบการซื้อทานกลับบ้าน รวมไปถึงการซื้อวัตถุดิบเพื่อนำไปประกอบอาหารเองที่บ้าน ซึ่งในต่างประเทศกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ แต่สำหรับในประเทศไทย ยังมองว่า คนไทยยังนิยมการทานข้าวนอกบ้านอยู่ รวมถึงการทำงานที่บ้านและการออกกำลังกายที่บ้าน ซึ่งผู้ประกอบการต้องมองถึงโอกาสในการเจาะตลาดกลุ่มนี้
สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เห็นได้ชัดคือมีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า ผู้ประกอบการสามารถใช้โอกาสนี้ในการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีควบคู่กับคุณภาพของสินค้าที่ดี ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้มองแค่เรื่องของราคาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ 70% ของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียยังนิยมใช้สินค้าภายในประเทศในช่วงนี้
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น คาดว่าเกิดจากการที่ผู้ประกอบการหันมาขายสินค้าภายในประเทศของตัวเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายปิดประเทศของหลายๆ ประเทศ และเกิดจากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องผ่านพื้นที่ต่างๆ ที่อาจจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 อีกทั้งผู้ผลิตภายในประเทศยังสามารถปรับเปลี่ยนสินค้าให้มีนวัตกรรมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศด้วยกันเองได้อย่างรวดเร็ว
นี่ถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทย แล้วสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องรีบดำเนินการอย่างยิ่ง คือการใช้กลยุทธ์ในด้าน Push หรือการผลักสินค้าของตัวเองให้เข้าไปหาผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นช่วงนาทีทองมีผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าภายในประเทศอยู่แล้วในใจ โดยไม่เน้นกลยุทธ์ Pull หรือการดึงผู้บริโภคเข้ามาหาสินค้าให้เสียเวลา
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่ผู้บริโภค ต้องการให้มาส่งสินค้าเป็นประจำตามช่วงระยะเวลาที่ผู้บริโภคกำหนด (Auto Shopping Subscription) ซึ่งการขายแบบนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่องและคงที่ รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องอยู่กับบ้านจะก่อให้เกิด Uncontact Relationship ซึ่งจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค เช่น เทคโนโลยี VR ที่ช่วยให้เห็นว่าเครื่องสำอางแบบใดเหมาะกับใบหน้าผ่านทาง คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เป็นต้น
ในส่วนของพฤติกรรมการเสพสื่อ ต้องบอกว่าช่วงวิกฤต COVID-19 มีการเสพสื่อเป็นจำนวนมากทั้งทาง TV และช่องทางดิจิทัล ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่วงเวลานี้ในการโฆษณาเพื่อให้เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสื่อสาร โดยในประเทศจีน Social Media กลายเป็นสื่อหลักที่มีผู้ติดตามมากที่สุด โดยในประเทศไทยพบว่ามีการติดตามข่าวเฉลี่ย 12 ครั้งต่อวัปดาห์ โดยมีการติดตามข่าวสารผ่าน Social Media สูงถึง 86% ขณะที่ TV มีผู้ติดตามข่าวสารอยู่ที่ 79%
ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณากลยุทธ์การสื่อสารผ่านสื่อที่ยังสามารถใช้งานได้ โดยเฉพาะการใช้สื่อในด้านการ Push ซึ่งจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ทั้งในด้านการผลิตคอนเท้นต์และการใช้สื่อ นอกจากนี้แอปพลิเคชั่นยังมีการดาวน์โหลดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแอปฯ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรมองเห็นโอกาสที่อยู่ในช่วงวิกฤติ เพื่อให้ตลาดยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ไม่หยุดนิ่ง
ซึ่งผู้ประกอบการเองควรใช้โอกาสนี้ในปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปผ่านการเรียนรู้ 4 รูปแบบ ทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจเป็น O2O (Online to Offline) ซึ่งผู้ประกอบต้องพิจารณาให้ดีเพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นเรื่องออนไลน์มากขึ้น การขยายพื้นที่บริการ (Area Coverage) ยกตัวอย่างเช่น Food Delivery ที่ร้านอาหารควรให้บริการด้านนี้เพื่อครอบคลุมการให้บริการที่หลากหลาย
ระบบการขนส่ง (Logistic) ถือเป็นเรื่องสำคัญหากขายสินค้าออนไลน์ด้แต่ระบบขนส่งมีปัญหาก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาจากสิงคโปร์หลังจาก Lockdown การขนส่งก็ติดขัด ผู้ประกอบการควรเตรียมระบบขนส่งไว้หากประเทศไทยต้องเข้าสู่การ Lockdown และ การใช้ Social Media ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนการใช้สื่อในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ด้วยต้นทุนที่ประหยัด
สำคัญที่สุดผู้ประกอบการควรเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้ เพราะผู้ประกอบการต้องเข้าใจความคิดและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค หากผู้ประกอบการเลือกเปลี่ยนแปลงตัวเองหลังจากสถานการณ์ สิ่งที่ผู้ประกอบการจะสูญเสียไปคือเหตุผลที่ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไป ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานี้จะช่วยให้ผู้ประกอยการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคทุกช่วงระยะสถานการณ์ และทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับสินค้าตลอดช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ผู้ประกอบการควรต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนธุรกิจและกลยุทธ์ ถ้าจะมองว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลา “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ก็คงไม่ผิด แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องประปัญหาด้านสุขภาพร่วมกัน