การใช้สีกับโลโก้ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของแบรนด์เป็นจิตวิทยาที่เหล่านักการตลาดและคนทำธุรกิจไม่รู้ไม่ได้ เพราะสีแต่ละสีนั้นก็จะมีพลังในการโน้มน้าวให้ลูกค้าจำและรักแบรนด์ของเรา
จากการศึกษาของนักวิจัยในต่างประเทศ นี่คือ 5 สาเหตุทำไมสีถึงสำคัญกับโลโก้และแบรนด์มากนัก
1. 90% ของการตัดสินในตัวสินค้าก็มาจากสีที่เห็นอย่างเดียว (แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าด้วยนะ) ดังนั้นเราต้องรู้จักเลือกสีให้เข้ากับสินค้าที่เราจะขาย
2. สีกับแบรนด์นั้นสัมพันธ์กันมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าสีที่ใช้นั้นเหมาะสมกับแบรนด์หรือไม่
3. สีมีผลต่อความตั้งใจที่จะซื้อของสักชิ้นและมุมมองต่อตัวตนของแบรนด์เอง เพราะตัวคนซื้อมองแบรนด์ของสินค้าไว้อย่างไร
4. สมองของเราชอบแบรนด์ที่เราสามารถจำได้ทันที ทำให้สีมีความสำคัญขึ้นมาทันทีเช่นกันในแง่ของการสร้างตัวตนเอกลักษณ์ของแบรนด์ ดังนั้นนักวิจัยแนะนำคนที่คิดจะสร่างแบรนด์ใหม่ว่าให้เลือกสีที่เด่นจากคู่แข่งให้ได้
5. 93% โฟกัสไปที่รูปลักษณ์ภายนอกของสินค้า 6% ดูที่ตัวอักษร มีแค่ 1% ที่สังเกตจากกลิ่นและเสียง สีเป็นเหตุผลเดียวเวลาซื้อสินค้าเพราะ 84.7% ของผู้ซื้อบอกว่าสีสำคัญที่สุด 52% ของลูกค้าไม่กลับมาถ้าไม่ชอบความสวยงามของตัวร้าน 80% ของลูกค้าเชื่อว่าสีทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้
อย่าเพิ่งเลือกสี ถ้าไม่รู้ตัวตนของแบรนด์
เพราะผู้ประกอบกิจการมือใหม่มองข้ามเรื่องตัวตนของแบรนด์ เผลอๆไม่ให้ความสำคัญของการทำแบรนด์เลยด้วยซ้ำ คิดว่าแบรนด์คือโลโก้ ซึ่งผิดถนัด
ฉะนั้นก่อนที่จะเลือกสี จงถามตัวเองให้ชัดว่าแบรนด์ของเราเป็นตัวแทนของอะไร เช่นถ้านึกว่าแบรนด์ของเราเป็นคนคนหนึ่ง คนนั้นต้องความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจและเป็นมิตร ฉะนั้นเสือผ้าที่คนนั้นใส่จะต้องมีสีน้ำเงินเป็นหลัก สีน้ำเงินจึงกลายเป็นสีของแบรนด์
ไม่ใช่เลือกสี ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าแบรนด์ของเรามีนิสัยอย่างไร เพราะลูกค้าตอบสนองได้เหมาะสมสำคัญกว่าตัวสีเองเสียอีก
ซึ่งข้อคิดนี้ไม่ได้มาลอยๆ นักจิตวิทยาจากมหาฯลัยสแตนฟอร์ดอย่าง Jennifer Aake เลยศึกษาเรื่องนี้ละเอียดเลยจนสรุปได้ว่า บุคลิกของแบรนด์มีอยู่แค่ 5 มิติเท่านั้น
1. ความจริงใจ (Sincerity): ความรักของครอบครัวและชุมชนเมืองเล็กๆ ความซื่อสัตย์ไม่เสแสร้ง ความดั้งเดิมของแท้ ความเป็นมิตร ความสดใส ความซาบซึ้ง
2. ความตื่นเต้นเร้าใจ (Excitement): ความรัก ความตื่นเต้น ความเท่ ความเป็นหนุ่มสาว มีเอกลักษณ์ชัดเจน ทันสมัย ร่วมสมัย มีอิสระและสร้างสรรค์
3. สมรรถนะ (Competence): ความน่าเชื่อถือ อุตสาหะ ความปลอดภัย ความฉลาด สำเร็จ ผู้นำ มั่นใจ องค์กรและเทคนิค
4. ความเจนจัด (Sophistication): เหนือชั้น ดูดี มีเสน่ห์ เรียบง่าย มีความเป็นอิสตรี
5. ความแข็งแกร่ง (Ruggedness): ความเป็นชาย เป็นตะวันตก แข็มแข็ง และลุยงานกลางแจ้งได้
ซึ่งตัวแบรนด์เองอาจจะมี 2 มิติซ้อนกัน แต่จะมีมิติหนึ่งที่เด่นกว่า ดังนั้นเราต้องกำหนดบุคลิกของแบรนด์ให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นไปเลย แล้วค่อยเลือกสี ไม่ใช่เลือกสีตามความหมายความรู้สึกของตัวสีเอง
ถ้ากำหนดบุคลิกของแบรนด์ได้แล้ว มาดูกันว่ามีสีอะไรบ้างที่ใช้สร้างแบรนด์กระแทกใจลูกค้า
ใช้สีน้ำเงิน เมื่ออยากให้ลูกค้าไว้ใจเรา
นักการตลาดรู้ดีว่าสีน้ำเงินเป็นสีที่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกชอบมากที่สุด จนกลายเป็นสีที่ยกระดับวัฒนธรรมของโลกไปแล้ว สีน้ำเงินนอกจากเป็นสีที่สื่อถึงความสงบและผ่อนคลาย สันติ เป็นสีของท้องฟ้าและทะเล ยังเป็นสีของความเป็นมืออาชีพ ความไว้วางใจ ความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นระเบียบ และความเข็มแข็งด้วย บริษัทเทคโนโลยีและอีกหลายบริษัทจึงใช้สีน้ำเงินในโลโก้และโฆษณา แบรนด์ที่ขายรถยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆก็ใช้สีนี้ด้วย อย่าง Facebook และ PayPal
สีแดงสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ
ถ้าเรานึกถึงสีแดง เรามักจะนึกถึงไฟหรือเลือด พลังงาน ความหิวกระหาย ความเร่งรีบ สงคราม อันตราย ความแข็งแกร่งและอำนาจ แต่สีแดงก็เป็นสีที่กระตุ้นความรู้สึกและทำให้หัวใจของเราเต้นตุบๆได้มากที่สุดในบรรดาสีทั้งหมด เป็นสีที่ปลุกความตื่นเต้น ความรัก ความโรแมนติก พลังปรารถนา และพลังงานทางเพศ จึงเป็นสีที่ถูกนำมาใช้ในวันวาเลนไทน์และสัญญาณจราจรบ่อยๆ เพราะเป็นสีที่ดึงความสนใจสู่แบรนด์ สินค้าและอีเวนท์การตลาดทั้งหลาย
ใครที่คิดจะล้างสต็อกสินค้า สีแดงได้ผลแน่นอน
สีเหลืองช่วยเรามองโลกในแง่บวก สดใสร่าเริง
ตามหลักจิตวิทยาแล้ว ในบรรดาทุกสี สีเหลืองเป็นสีที่สื่อถึงความสุขได้ดีที่สุด จนทำให้ดินสอสีเหลืองขายดิบขายดี 75% ในอเมริกา เวลาเราเห็นสีเหลือง เรามักจะนึกถึงพระอาทิตย์และดอกไม้ที่บานสะพรั่ง เป็นสีที่เพิ่มความมีชีวิตชีวา ให้คนมองโลกในแง่ดี เป็นมิตร ขี้เล่น เฉดสีเหลือที่เข้มกว่านี้จะทำให้เรานึกถึงทองคำและความมั่งคั่ง นักการตลาดจึงชอบใช้สีนี้เพื่อปลุกพลังในบริษัทและตัวสินค้าเอง แถมเป็นสีที่เด็กๆชอบรวมถึงคุณแม่ที่ช็อปปิ้งของให้เด็กๆด้วย
แต่ในขณะเดียวกันหากจะต้องการเตือนภัย สีเหลืองก็เป็นสีที่ได้ผลมากทีเดียว ลองดูป้ายจราจร หรือสัญลักษณ์บนถนนก็ดี นั่นก็เพราะจริงๆแล้วสมองของเราตีความสีเหลืองเป็นสีที่เพิ่มอารมณ์และการตอบสนอง จนอาจทำให้เกิดความกังวล ไม่ใช่เพื่อความสุขตรงๆเสียทีเดียว ฉะนั้นอย่าใช้สีเหลืองบนเว็บไซต์เยอะจนเกินไป ไม่งั้นจะเป็นการสร้างความกังวลให้คนใช้เว็บไซต์โดยไม่จำเป็น เว้นแต่ต้องการให้คนเข้าเว็บไซต์ต้องทำอะไรสักอย่าง
สีส้มสะบัดความสนุกและสร้างสรรค์ ความมั่นใจและความกระตือรือร้น
สีส้มไม่ร้อนแรงไม่เท่าสีแดงก็จริง แต่เป็นสีที่แสดงถึงความมั่นใจเต็มเปี่ยมและปฏิเสธไม่ได้ นับเป็นสีโทนอบอุ่น ช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ เป็นมิตรกับเด็กๆ และสร้างกระแสและความกระตือรือร้นได้ดี โดยเฉพาะกิจกรรมสันทนาการ ต้องใช้กำลัง มีการแข่งขันเช่นกีฬา หรือสินค้าสำหรับเด็กๆ แต่อย่าใช้มากจนเกินไปเพราะสีนี้อาจหมายถึงของที่มีราคาถูกก็ได้ ถ้าเอาไปใช้กับของมูลค่าแพง รับรองว่าไม่เหมาะ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Amazon.com ททที่เลือกใช้สีส้มตรงแบนเนอร์ “Limited Time Offer” สร้างความกระตืนรือร้น ให้ข้อความเห็นง่าย
สีเขียวรักษ์ธรรมชาติ เพิ่มความสดชื่นอีกครั้ง
เป็นสีที่กิจการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมชอบใช้กัน เป็นสีที่สื่อถึงธรรมชาติ ออร์แกนิค รักษาสุขภาพ ช่วยรักษาสมดุลระหว่างร่างกายและอารมณ์ และยังเป็นสีที่แสดงถึงความเจริญเติบโต ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ร้านไหนอยากให้ลูกค้าผ่อนคลายสบายๆ ใช้สีเขียวเลย แต่หากใช้เฉดสีที่เข้มขึ้นก็จะแสดงถึงการเงินและสถาบันทางการเงิน (นึกถึงธนาคารกสิกรไทยเป็นตัวอย่าง)
สีเขียวยังเป็นสีที่เป็นมิตรเวลาให้คนใช้งานหรือลูกค้าได้ทำอะไรบางอย่างด้วยเช่น กดปุ่มเขียวเพื่อสั่งสินค้า จำข้อความได้ง่ายขึ้น
สีม่วงแสดงพลังลึกลับ จิตวิญญาณและความยิ่งใหญ่
และเป็นสีที่แสดงถึงความมั่งคั่ง ความเคารพยำเกรง ความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาอีกด้วย เป็นสีที่แสดงถึงพลังจักระดับจิตวิญญาณ ทำให้เป็นสีที่ไม่ค่อยได้ใช้นักในแบรนด์ต่างๆเพราะเป็นสีที่ไม่ค่อยช่วยทำให้แบรนด์เด่นต่างจากแบรนด์อื่นมากสักเท่าไหร่ ไม่เหมือนสีอื่นๆ แต่ถึงอย่างนั้น สินค้าพวก Anti-Aging และเสริมสวยก็นิยมใช้สีม่วงกันบ่อยๆ
สีน้ำตาลแสดงถึงความเป็นชาย แข็งแกร่งดุจแผ่นดิน
ธุรกิจที่ต้องการสื่อถึงความเชื่อถือ ทำอะไรทำได้จริง สีน้ำตาลก็เป็นสีที่น่าสนใจ เป็นสีที่คู่กับสีเขียวแล้วจะดีหากต้องการสื่อถึงธรรมชาติด้วย หรือจะใช้แสดงความอบอุ่น ความเชื้อเชิญ และความเจริญอยากอาหารก็ดีเช่นสีของช็อกโกแลต
และยังมีสีขาวที่สื่อถึงความบริสุทธ์ ความสะอาด อิสระ ความเป็นกลาง ความปลอดภัย จะใช้สีนี้สื่อถึงความสร้างสรรค์ก็ได้
สีดำที่แสดงถึงอำนาจ ความมั่งคง ความแข็งแกร่ง แต่หลายๆครั้งสีดำถูกใช้เพื่อสื่อถึงความฉลาด ความหรูหราคลาสสิคมีระดับไร้กาลเวลา ถ้าทำอีคอมเมิร์ซระดับ High-End สีดำจะเหมาะที่สุด
และสีเทาที่สื่อถึงความเป็นนิรันดร์ ความว่างเปล่าและสันโดษในชีวิต แต่การใช้สีเทามากเกินไปก็สื่อถึงความชราภาพ ความตายและความหดหู่ ขอให้เลือกใช้สีดีๆเหมาะกับแบรนด์ ข้อความที่ต้องวการสื่อและคนที่จะรับรู้ด้วย
McDonald สีแดงเพิ่มความอยากอาหาร สร้างความรู้สึกเร่งด่วน สีเหลืองเสริมความร่าเริงสดใส มองโลกในแง่ดี เสริมด้วยคำว่า “i’m lovin it” มาสคอต Ronald McDonald แต่งชุดเหลืองและแดงสร้างความตื่นเต้น มีพลังเหลือเฟือ เป็นมิตรกับเด็กๆ
Starbucks เลือกใช้สีเขียว เป็นไม่กี่แบรนด์ระดับโลกที่ใช้สีเขียวเป็นสีหลัก ให้รู้สึกผ่อนคลาย เชิญให้ลูกค้าจิบกาแฟพักผ่อน มีนางเงือกให้ลูกค้าเข้าถึงธรรมชาติมากขึ้น
Fanta เลือกใช้สีส้มสดใสและอบอุ่น ชวนให้ลูกค้าดื่นให้สดชื่น Fanta พยายามออกรสชาติใหม่ๆและมีสีประจำรสชาติ ถึงอย่างงั้น รสส้มก็ขายดีที่สุดในบรรดาไลน์สินค้าของ Fanta
สีน้ำเงินเป็นสียอดฮิตทั้งชายทั้งหญิง
งานทดลองของ Joe Hallock ที่ชื่อ “Colour Assignment” ทำให้เราเห็นว่าแม้แต่ผู้หญิงก็ยังชอบโทนสีฟ้าสีน้ำเงินมากกว่าสีแดงสีชมพูเสียอีก แต่ขอบอกก่อนว่าคนที่เข้าร่วมทดลองส่วนใหญ่มาจากประเทศตะวันตกซึ่งวัฒนธรรมก็มีผลต่อรสนิยมเรื่องสีเหมือนกัน ผู้ชายจะชอบสีเข้มมากกว่า และมีสีดำแซมเข้าไปด้วยยิ่งดี ส่วนผู้หญิงจะชอบใช้สีเบาๆ มีสีขาวแซมด้วย
แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควร “เหมารวม” ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงต้องชอบสีโทนไหน
ผู้ชายชอบสีน้ำเงิน เขียว และดำมากที่สุด ส่วนผู้หญิงชอบสีน้ำเงิน ม่วงและเขียวมากที่สุดตามลำดับ
ผู้ชายชอบสีน้ำตาล ส้ม ม่วงและเหลืองน้อยที่สุด ส่วนผู้หญิงชอบสีส้ม น้ำตาลและเทาน้อยที่สุดตามลำดับ
แต่ความจริงคือ แต่ละคนชอบสีไม่เหมือนกันตามรสนิยม ประสบการณ์ และพื้นเพทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกัน ฉะนั้นจะให้สรุปว่าสีๆหนึ่งมีความหมายอย่างเดียวกันทั่วโลกทุกสังคมก็ไม่ถูกต้อง เพียงแต่ให้ความหมายกว้างๆเท่านั้น ไม่สามารถเจาะจงได้ว่าใครหรือสังคมไหนชอบสีอะไร
เพราะมนุษย์นั้นสัมผัสได้ถึงสีต่างๆได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจที่นักการตลาดจะต้องมีกลยุทธ์เลือกใช้สีในการทำแบรนด์และแคมเปญโฆษณา ลองพิจารณาจิตวิทยาของแต่ละสีก็จะช่วยเข้าใจสิ่งที่แต่ละสีกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภคจนตัดสินใจซื้อสินค้าและใช้บริการของเราได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
Source: Copyright © MarketingOops.com