“Click-Bait” ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเสมอไป

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ThinkstockPhotos-156386532-higlight

ในแต่ละวันเราได้รับอีเมล และเห็นการแชร์ข่าวในโลกออนไลน์มากมาย ทั้งใน Facebook, Twitter และใน Social Media อื่นๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่อยากรู้ น่าสนใจ และแปลกใจ ซึ่งเมื่อเกิดความอยากรู้แล้ว สิ่งต่อมาคือ คลิกลิ้งก์ไปยังเว็บไซต์นั้นๆ ด้วยคำพาดหัวที่ดึงดูดใจนี้ เมื่อเข้าไปยังเว็บไซต์ กลับเจอเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ที่ตัดอารมณ์ความรู้สึกขณะคลิกลิ้งก์ไปอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งการใช้กลยุทธ์ล่อให้คลิกนี้ เรียกว่า Click-Bait อันที่จริงแล้ว Click-Bait มีการใช้งานกันมานาน แต่จะใช้ในทางที่ดี หรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ใช้ ด้วยพาดหัวคำโปรยที่แสนจะดึงดูดใจ เมื่อใดที่ผู้บริโภคคลิกเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ พวกเขาย่อมคาดหวังว่าจะได้อะไรกลับไป การหลอกล่อให้คลิกนั้นก็นับว่าผิดจรรยาบรรณของผู้ผลิตคอนเท้นต์อย่างมาก

แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกกลุ่มที่เรียกผู้ชมด้วยพาดหัวหวือหวา อย่างคำเหล่านี้ “อึ้ง” “ทึ่ง” “ตะลึง” “ผงะ” และอีกหลายๆ คำที่เกินความจริง ทั้งนี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคคลิกไปอ่าน แน่นอนว่าพวกเขาย่อมประสบความสำเร็จในการเรียกคนเข้าเว็บ ในทางกลับกัน ถ้าคอนเท้นต์ไม่ดึงดูดเหมือนพาดหัว ผู้บริโภคก็อาจจะไม่กลับมายังเว็บไซต์คุณอีกก็ได้ หากจะบอกว่า เว็บไซต์จะได้ลูกค้าแค่เพียงครั้งเดียว ก็คงไม่ผิดนัก

สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้ Email Marketing การใช้ Click-Bait นั้นก็เปรียบเหมือนการเล่าเรื่องแบบย่อๆ เพื่อโปรโมทสินค้า นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การลดราคา กิจกรรมส่งเสริมการตลาด เป็นต้น

คำใดที่มีอยู่ในพาดหัว หรือชื่อเรื่อง จะทำให้ผู้รับไม่อยากอ่าน

ผู้ประกอบการมักจะใช้ Email Marketing ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ทั้งการแจ้งข่าวสารทั่วไป กิจกรรมทางการตลาด และการเก็บข้อมูลของลูกค้า Return Path จึงได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับคำต่างๆ ที่ใช้ในการพาดหัวของ Email Marketing ที่ควรรู้ อย่างเช่น คำว่า “ความลับ” หรือคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ถ้ามีอยู่ในพาดหัว จะทำให้ความอยากอ่านลดลง 8.69% และคำว่า “ช็อค!!” จะทำให้ความอยากลดลง 1.22% แสดงให้เห็นว่า การใช้คำที่ดูเกินจริง ก็ไม่ได้ผลเสมอไป

นอกจากนี้ Return Path ยังได้สำรวจอีกว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่คาดหวังจะเจอคำว่า “ส่วนลด” “ประหยัด” “Sale” และ “ฟรี” หากเป็นสถานการณ์เร่งด่วนคำว่า “ในเวลาจำกัด” “โอกาสสุดท้าย” และ “ใกล้หมดเขตแล้ว”(หรือคำใกล้เคียง) จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเปิดอ่านอีเมลมากขึ้น

ความยาวของพาดหัวก็มีผลต่อการเปิดอ่านเช่นกัน ควรมีตัวอักษรระหว่าง 91 – 100 ตัวอักษร จึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด

ในขณะที่การเลือกหัวข้อ หรือเลือกใช้คำ จะมีผลกระทบอย่างมากต่อแคมเปญทางการตลาด อย่างไรก็ตาม เจ้าของธุรกิจ หรือแบรนด์ ต้องพิจารณาการเลือกใช้คำ และการแชร์คอนเท้นต์ให้มากขึ้น ถ้าไม่อยากให้อีเมล หรือโพสของคุณกลายเป็น Click-Bait

แหล่งที่มา


  •  
  •  
  •  
  •  
  •