ปลดล็อกโอกาสใหม่กับ 10 เทรนด์ AI พร้อมตัวอย่าง Use Case ที่แบรนด์และนักการตลาดควรรู้ จากรายงานของ Amplify โดย TrendWatching

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

ตอนนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าโลกก้าวเข้าสู่ยุคที่ Generative AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นรวมไปถึงการเข้าไปมีบทบาทกับกลยุทธ์การตลาดในปัจจุบันที่ล้ำหน้าไปจนบางครั้งเราอาจจะคาดไม่ถึง คำถามก็คือแบรนด์และนักการตลาดจะรู้ได้อย่างไรว่าในเวลานี้ AI เข้ามามีบทบาทในโลกธุรกิจอย่างไรบ้าง ด้วยเหตุผลนี้แพลทฟอร์ม Amplify โดย TrendWatching จึงศึกษารวบรวมข้อมูลและเทรนด์การใช้ AI จากแบรนด์ต่างๆทั่วทุกมุมโลกโดยสามารถสรุปได้เป็น 5 Theme และ 10 เทรนด์ผ่านรายงาน Amplify AI Consumer Expectation Report 2024 ซึ่งเทรนด์เหล่านี้จะมีอะไรบ้าง Marketing Oops! สรุปมาให้อ่านกันในบทความนี้

[Theme 1] Imagination Era: ยุคแห่งจินตนาการ

ในธีมแรกนี้ Amplify เล่าว่าเป็นเทรนด์ของผู้บริโภคที่ต้องการปลดล็อกจินตนาการให้ก้าวไปสู่โลกใหม่ที่น่าตื่นตะลึงรวมไปถึงการสร้างเรื่องเล่าใหม่ในเชิงวัฒนธรรมที่บางครั้งยากจะเกิดขึ้นในโลกแห่งความจริงได้ ซึ่งแบรนด์ก็สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ โดยในธีม Imagination Era: ยุคแห่งจินตนาการ นั้นจะประกอบไปด้วย 2 Trend นั่นก็คือ

1. Dream Unbound

แบรนด์ใช้ AI ช่วยผู้บริโภคปลดปล่อยความฝันเหนือจินตนาการ เป็นเทรนด์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจุบันที่ แม้เทคโนโลยีมาตอบสนองความสะดวกสบายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้คนกลับมีระดับความสุขที่ลดน้อยถอยลงผลจากปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง อย่างไรก็ตาม AI ก็สามารถเข้ามาตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ด้วยการสร้างภาพแห่งอนาคต รวมไปถึงสร้างความจริงใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้ เทรนด์นี้สมเหตุสมผลมากขึ้นไปอีกเมื่อผลสำรวจพบว่า คนรุ่นใหม่ในอย่างกลุ่มคน Millennial และ GenZ ที่มองว่าสื่อบันเทิงบางชนิดที่ผลิตโดย AI จะน่าสนใจมากกว่าผลงานที่ผลิตโดยมนุษย์กำลังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเทรนด์นี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

เทรนด์นี้ก็มี Use Case จากแบรนด์ดังๆหลายแบรนด์ เช่น Coca-Cola ที่ปล่อยแคมเปญ WeChat Mini Program ในจีนให้ผู้บริโภคสามารถอัพโหลดรูปของตัวเองเข้าไปและกลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ในโฆษณาได้ หรือจะเป็น Honda ที่จับมือกับ Amazon สร้าง Dream Generator โปรแกรม AI สร้างหนังโฆษณาในแบบของเราเอง รวมไปถึงแบรนด์อย่าง IKEA ที่ใช้ AI สร้างภาพบ้านในอนาคตที่อยู่ในปี 2030 มาให้เราได้เห็นแบบชัดๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว

2. Reclaim the Narrative

เทรนด์นี้คือการที่แบรนด์ใช้ AI สร้างเรื่องเล่าใหม่ให้ผู้บริโภคที่ช่วยยกระดับในเชิงวัฒนธรรมให้กับคนกลุ่มน้อยในสังคมผ่านการเล่าเรื่องขึ้นใหม่และเผยแพร่ออกไปผ่านโซเชียลมีเดีย เทรนด์นี้เกิดขึ้นจากกระแสเกี่ยวกับความหลาหลายหรือ Diversity ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคม และ AI ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสียงของนักเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

เทรนด์นี้มี Use Case จากแบรนด์อยู่ด้วยเช่นกัน เช่น Revolt แพลทฟอร์มสื่อด้านวัฒธธรรม ก็เลือกใช้ Gen AI ให้เขียนและสร้างภาพโลกในอนาคตที่ปราศจากการเหยียดผิวต้อนรับเดือน Black History Month เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมี Panoramica กลุ่มนักออกแบบที่ต้องการผลักขอบเขตของการออกแบบให้กว้างออกไป สร้างเครื่องมือออกแบบที่มีชื่อว่า “Anybody Can Be a Mexican Designer” ที่ใช้ Gen AI ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีสไตล์แบบ Mexican เป็นตัวแทนส่งเสียงให้กับวัฒนธรรมและการออกแบบสไตล์เม็กซิกันให้ได้สื่อสารออกไปในวงกว้าง

[Theme 2] Plug & Play Creator: นักสร้างสรรค์ที่ใช้งานได้ง่ายดาย

ธีมที่สอง Amplify ระบุว่าปัจจุบันผู้บริโภคก็สามารถเป็นครีเอเตอร์ เป็นนักสร้างสรรค์ที่มาร่วมมือกับแบรนด์ ด้วยเทคโนโลยี Gen AI ที่จะสามารถนำมาให้ผู้บริโภคสร้างภาพความเป็นไปได้ใหม่ๆให้กับแบรนด์ที่อาจนำไปสู่ความร่วมมือหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆต่อไปได้

3. Remix Brand

เทรนด์นี้คือการที่แบรนด์และผู้บริโภคใช้ AI ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาได้ หรือจะเรียกว่าเป็นอีกวิธีที่แบรนด์จะได้รับฟังความต้องการของผู้บริโภคผ่านความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงยังเป็นการ Co-Create สิ่งใหม่ให้กับแบรนด์ด้วย

แน่นอนว่ามีหลายแบรนด์นำ Gen AI มาใช้ในเทรนด์นี้ โดยมี Use Case จากแบรนด์อย่าง Burger King ที่ให้ลูกค้าในสหรัฐอเมริกาใช้ Gen AI ออกแบบเบอร์เกอร์ Whopper ในฝันได้เอง สร้างภาพเบอร์เกอร์เมนูใหม่ด้วยการ Prompt วัตถุดิบที่ต้องการลงไป นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันโดยเมนูของผู้ชนะจะนำไปขายจริงทั่วประเทศ ส่วนอีก Use Case ที่น่าสนใจมาจากแบรนด์ Nike จับมือกับนักกีฬาดัง ใช้ AI สร้างรองเท้าที่สะท้อนตัวตนของนักกีฬาด้วยการป้อน Prompt ที่เกี่ยวกับความชอบของนักกีฬาดังๆหลายๆคน จนได้ภาพตัวอย่างและนำไปพัฒนาสู่รองเท้าต้นแบบจริงๆกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาได้ด้วย

หรือจะอีก Use Case จาก Spotify ที่ให้ผู้ฟังสามารถ Prompt เป็นตัวหนังสือและสร้าง Playlist ของตัวเองขึ้นมาได้ ก็นับเป็นการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นจากความร่วมกันระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคเช่นกัน

4. M.E.O (Maker C.E.O.)

เทรนด์ M.E.O หรือ Maker C.E.O. คือความหมายของการที่ทุกคนสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้ด้วย AI เทรนด์นี้รวมไปถึงการที่แบรนด์นำ AI มาช่วยทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทำให้ M.E.O สามารถโฟกัสไปที่งานอื่นๆที่สำคัญกว่าได้ เรียกว่า Gen AI สามารถทำให้คนเป็นเจ้าของธุรกิจได้ง่ายขึ้น และสิ่งนี้จะยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เติบโตขึ้นด้วย

หนึ่งในตัวอย่างน่าสนใจของการสร้างมูลค่าทางธุรกิจด้วย Gen AI คือ Pocket FM แพลทฟอร์มเพลงและ audio book จากประเทศอินเดียสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินลงทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็สร้างแพลทฟอร์ม AI สำหรับนักเขียนนิยายให้สามารถสร้าง audio book ได้ง่ายขึ้นสร้างรายได้ให้กับทั้งตัวแพลทฟอร์มและนักเขียนอีกทางหนึ่ง

อีกตัวอย่างน่าสนใจคือทีมฟุตบอลในเม็กซิโกอย่างสโมสร Aguilas Del America ที่ใช้ AI Avatar มาทำหน้าที่โฆษกของสโมสร สามารถเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างทีมฟุตบอลและแฟนๆ ตอบคำถาม FAQ กับแฟนๆแทนการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์หรือสื่อช่องทางอื่น สิ่งนี้คือตัวอย่างของการนำ AI มาช่วยสร้างความน่าสนใจ ลดภาระงานและ M.E.O. หรือผู้บริหารทีมสามารถไปโฟกัสเรื่องสำคัญอื่นๆแทนได้

[Theme 3] Better Being: เทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับชีวิต

ในธีมนี้คือการที่แบรนด์นำ AI มาช่วยให้ผู้คนได้พัฒนาตนเองไปอีกขั้นด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพและง่ายขึ้นกว่าเดิม โดย AI จะเข้ามาเป็น Smart Companion กับผู้บริโภคพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ตอบสนองเทรนด์ผู้บริโภคที่ต้องการละสายจากหน้าจอเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้นได้

5. Opti-Bots

เทรนด์ Opti-Bots คือเทรนด์ของการยกระดับเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ช่วยผู้คนพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่าไม่มีแรงจูงใจหรือมีสมาธิลดน้อยลงจากการใช้หน้าจอมากจนเกินไป ความต้องการนี้ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการศึกษาแต่รวมไปถึงเรื่องสุขภาพที่คาดหวังให้แบรนด์ตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะบุคคลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง AI ก็เข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้ได้

ตัวอย่างแบรนด์ใช้ AI ที่ช่วยผู้บริโภคพัฒนาตนเองแบบเฉพาะบุคคล ก็เช่น Sunnyside เปิดตัวแอปพลิเคชั่น Sunny ผู้ช่วยส่วนตัวที่สามารถพูดคุยได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถช่วยลดพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของแต่ละคนลงได้ ได้และหากอยากได้คำปรึกษาเชิงลึกก็สามารถเรียกคุยกับที่ปรึกษาที่เป็นคนจริงๆได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างจาก WHOOP บริษัทอุปกรณ์สวมใส่ออกกำลังกายที่จับมือกับ OpenAI พัฒนา WHOOP Coach แพลทฟอร์ม AI ที่สามารถแนะนำแผนการออกกำลังกายเฉพาะบุคคลได้ ในขณะที่ในเชิงการทำงานและการศึกษา Rize ก็พัฒนาโค้ช AI ที่สามารถช่วยพนักงานบริหารจัดการเวลาในการทำงาน เพิ่ม Productivity ให้มากขึ้นได้ แก้ปัญหา Burnout ที่คนทำงานกำลังเผชิญอยู่เป็นจำนวนมากในยุคนี้

6. Sapient System

เป็นอีกเทรนด์ที่หมายถึงการย้อนสู่โลกยุคเก่า ความต้องการของผู้คนที่ต้องการพักสายตาจากหน้าจอที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีการพูดถึงอนาคตที่ปราศจากสมาร์ทโฟนขึ้นมาบ้าง นั่นทำให้หลายแบรนด์ใช้ AI ช่วยผู้บริโภคพักสายจากหน้าจอตอบสนองกับความต้องการนี้ของผุ้บริโภคด้วยเช่นกัน

ตัวอย่าง Use Case ของแบรนด์ที่เล่นกับเทรนด์ Sapient System ก็เช่น XNote บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันที่เปิดตัวปากกาลูกลื่นพลัง ChatGPT ที่สามารถแปลงตัวอักษร หรือภาพวาดที่เราเขียนบนกระดาษให้ไปเป็นไฟล์ดิจิทัลได้ นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ สรุป แปลภาษา และประมวลผลข้อมูลได้ด้วย นับเป็นอีกทางในการลดเวลาจากหน้าจอ เพิ่มช่วงเวลา offline ให้กับชีวิต

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือแบรนด์รถยนต์สัญญาชาติญี่ปุ่นอย่าง Nissan ที่จับมือกับ Akachan Honpo สร้างระบบตุ๊กตา AI ที่ช่วยสร้างความบันเทิงให้เด็กๆขณะนั่งใน Car Seat แทนที่หน้าจอแบบเดิมๆ โดยผู้ปกครองที่ขับรถจะสามารถสั่งงานตุ๊กตาได้เช่น ร้องเพลง หรือจะสื่อสาร พูดคุยกับเด็กๆ โดยตัวตุ๊กตาสามารถสื่อสารยังคงขับว่าเด็กๆสงบลงหรือหลับไปแล้วได้

[Theme 4] The Ethical Imperative: จริยธรรมเพื่อสังคม

ธีมนี้เป็นอีกหนึ่งบทบาทของ AI เข้ามาสู่เรื่องความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคม ทั้งในแง่ของการสนับสนุนความเท่าเทียม การยกระดับทักษะการทำงานให้กว้างขึ้นรวมไปถึงการวิเคราะห์ตรวจสอบกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ AI จะเข้ามาทำให้มีประสิทธิภาพและง่ายมากขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน

7. Synthetic Inclusion

เทรนด์  Synthetic Inclusion คือการที่แบรนด์ใช้ AI เพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ เช่นเรื่องเพศ สิทธิของ LGBTQ+ ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยี AI

สำหรับแบรนด์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ตอบสนองกับเทรนด์ Synthetic Inclusion ก็เช่น Mastercard ที่สร้าง Gen AI ที่เรียกว่า Mastercard Small Business AI ที่จะวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจและเลือกให้การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กที่บางครั้งถูกมองข้าม รวมไปถึงธุรกิจของคนผิวสีที่ขอยื่นกู้ยากกว่าปกติในสหรัฐอเมริกา

อีกตัวอยางที่แสดงให้เห็นเทรนด์ความเสมอภาคนี้คือ SEA-LION ที่ย่อมาจาก (Southeast Asia Languages in One Network) โมเดล LLM แรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พัฒนาขึ้นโดย AI Singapore โมเดลนี้ถูกเทรนด์ด้วยข้อมูลท้องถิ่นอาเซียน 11 ภาษา โดยโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้โมเดล SEA-LION เป็นทางเลือกจากโมเดลภาษาที่ส่วนใหญ่พัฒนาด้วยข้อมูลภาษาอังกฤษ และอยู่บนพื้นฐานค่านิยมของชาติตะวันตก เทคโนโลยีนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้คนเข้าถึง AI ได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น

ด้านแบรนด์รถยนต์อย่าง Honda เองก็ใช้ AI ร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียมเช่นกันโดยร่วมมือกับโรงเรียนสอนคนตาบอดพัฒนาแพลทฟอร์ม Scenic Audio แอปพลิเคชั่นที่ AI จะอธิบายวิวทิวทัศน์ที่เห็นผ่านกล้องสมาร์ทโฟนแปลงมาเป็น “คำบรรยาย” ให้คนตาบอดที่กำลังเดินทางด้วยรถยนต์ได้ enjoy กับการเดินทางมากขึ้น โดย Scenic Audio ไม่ได้มีแค่คำอธิบายเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึง เสียงเพลงที่สื่อถึงภูมิประเทศและอุณหภูมิโดยรอบด้วย

8. The Computent

เทรนด์ที่เล่นคำมาจาก Competent ที่หมายถึง “ความชำนาญ” ด้าน AI และจะไปถึงจุดนั้นได้นั้นก็ต้องอัพสกิล AI ให้กับผู้คนให้ได้มากที่สุด เทรนด์นี้เกิดขึ้นเพราะการมาถึงของ AI ทำให้ผู้คนเกิดอาการ FOBO หรือ Fear of Becomming Obsolete หรือกลัวว่าความสามารถของตัวเองจะเป็นสิ่งล้าสมัย ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ในปัจจุบัน ซึ่งทางแก้ก็คือการสร้างทักษะ AI ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางให้ได้

Use Case ในการสร้างทักษะ AI มีตัวอย่างให้เห็นจาก IKEA ที่วางแผนที่จะฝึกอบรมพนักงาน 3,000 คนและคนในระดับบริหารอีก 500 คนให้มีทักษะด้าน AI โดยเปิดคอร์สฝึกอบรมแตกต่างกันตามตำแหน่งงาน นอกจากนี้ยังมีโครงการสำหรับผู้นำในการวางกลยุทธ์ AI ให้สอดรับกับเป้าหมายทางธุรกิจของ IKEA ด้วย

ด้าน Google ก็เดินหน้าในเทรนด์นี้เช่นกันโดยประกาศลงทุนมูลค่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่ออบรมทักษะ AI แบบฟรีๆให้กับชาวอเมริกัน 1 ล้านคนโดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่คนกลุ่มขาดโอกาสในสังคม เช่นเดียวกับ Singapore’s Ministry of Education หรือ “กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์” ที่เปิดโครงการ SkillFuture Level-Up Programme (SFLP) ที่จะยกระดับทักษะให้กับคนวัย 40 ขึ้นไปที่ต้องมีความรับผิดชอบครอบครัวมากขึ้น และการเรียนรู้ทักษะใหม่เป็นเรื่องท้าทาย ด้วยการให้ทุนการศึกษาในทักษะที่เกี่ยวข้องกับ AI ครอบคลุมงบในการเรียนถึง 90%

9. Verif-AI

อีกเทรนด์ AI ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ Verif-AI หรือ AI ที่สามารถช่วยวิเคราะห์กิจกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคกว่าครึ่งต้องเจอกับข้อมูลด้านความยั่งยืนที่บิดเบือนจากแบรนด์จำนวนมาก เช่นเดียวกับความกังวลเรื่อง “Green Washing” ที่กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ในการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และเทคโนโลยีที่ผู้บริโภคและองค์กรเฝ้าระวังจะนำมาใช้ได้ในยุคนี้ก็คือ AI ที่จะวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อยืนยันข้อมูลหรือรายงานรายละเอียดในกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนได้ดีขึ้น

เราได้เห็นเทคโนโลยีนี้ทำงานแล้วกับหน่วยงานอย่าง Advertising Standards Authority (ASA) ของประเทศอังกฤษที่ใช้ AI ช่วยตรวจสอบโฆษณานับ 10 ล้านชิ้นเพื่อทำให้แน่ใจว่าข้อความที่สื่อในโฆษณาอย่าง “รีไซเคิลได้”, “ย่อยสลายได้” รวมถึง “เป็นกลางทางคาร์บอน” ถูกอ้างอย่างถูกต้องไม่ over claim นั่นเองและในปีนี้ ASA ก็ได้ใช้วิธีนี้และแบนโฆษณารถยนต์ 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ไปหลายชิ้นด้วยกัน

นอกจากนี้แบรนด์อย่าง Lenovo เองก็ เปิดตัว Lenovo Intelligent Sustainability Solution Advisor (LISSA) ระบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้าน IT เพื่อความยั่งยืนให้ดีขึ้น เช่นช่วยคำนวนคาร์บอนจาก solution IT รูปแบบต่างๆ เพื่อให้องค์กรซื้อเทคโนโลยีโดยมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

อีกตัวอย่างคือ ClimateGPT ที่เปิดตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นแพลทฟอร์ม AI แบบ open-source ที่สามารถสรุปข้อมูลจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตภูมิอากาศ ช่วยหาเทคโนโลยีใหม่ๆในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดย ClimateGPT เรียนรู้จากข้อมูลเกี่ยวกับภูมิอากาศมากถึง 300 ล้านโทเคน และใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดด้วย

[Theme 5] Agentic Matters: AI ที่ใช้ง่ายกว่าเดิม

AI ในปัจจุบันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหรือ Tools อีกต่อไปแต่ถูกมองในฐานะ Assistant หรือผู้ช่วยที่จะมายกระดับความสามารถในการทำงานของมนุษย์ให้ดีขึ้น และสามารถทำงานรูปแบบต่างๆได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิม

10. AI Genies

AI Genies คือเทรนด์ของ AI ยุคใหม่สู่ผู้ช่วยส่วนตัวแบบเดียวกับ Geneis ยักษ์ในตะเกียงที่จะเรียกใช้เมื่อไหร่ก็ได้ โดยเทคโนโลยี AI จะทำให้มนุษย์เหมือนมีผู้ช่วยที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น สิ่งนี้คือความต้องการใหม่ของผู้บริโภคที่แบรนด์ต้องเรียนรู้และตอบสนองความต้องการเหล่านั้น

ตัวอย่าง Use Case ในเทรนด์ AI Genies ยกตัวอย่างเช่น eBay ที่ออกฟีเจอร์ใหม่อย่าง Shop the Look ฟีเจอร์ที่ใช้ AI นำเสนอภาพเซ็ตเสื้อผ้าที่มี item ต่างๆสอดคล้องกับประวัติการซื้อของแต่ละคน มีการผสมผสานสินค้าใหม่เข้ากับสินค้าที่เคยซื้อไปแล้วเพื่อให้มีสไตล์แบบเดียวกับผู้ใช้งาน เพิ่มความสะดวกให้กับคนซื้อรวมไปถึงเพิ่มโอกาสที่ eBay จะได้ยอดขายเพิ่มขึ้นด้วย

อีกตัวอย่างก็คือแบรนด์ค้าปลีกอย่าง Wallmart ที่เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาอย่าง InHome ที่สามารถคาดการณ์และสร้างรายการสินค้าที่ต้องซื้อสำหรับลูกค้าแต่ละคนได้จากประวัติการซื้อ และหลังจากนี้ Wallmart ก็เตรียมพัฒนาฟีเจอร์ที่สามารถให้ผู้ซื้อสั่ง AI ให้สร้างลิสต์สินค้าที่ต้องซื้อได้ตาม Prompt เช่น เมนูที่จะทำให้กับคน 5 คนทาน แล้ว AI ก็จะแนะนำเมนูต่างๆ พร้อมกับคำนวนว่าต้องซื้อวัตถุดิบอะไรบ้างจำนวนเท่าไหร่ให้เรากดใส่ตะกร้าได้เลย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือ 10 เทรนด์ AI ที่กำลังเกิดขึ้นเริ่มต้นจากเทคโนโลยี AI ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งนี้ทำให้แบรนด์ต้องมองให้ออกถึงความคาดหวังเหล่านั้นและใช้กลยุทธ์และเทคโนโลยีตอบสนองความคาดหวังเหล่านั้นให้ตรงจุด ซึ่ง 10 เทรนด์ AI ในรายงานฉบับนี้จาก Amplify น่าจะเป็นแนวทางให้แบรนด์และนักการตลาดสามารถหยิบเทคโนโลยี AI เหล่านี้ไปใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจได้ต่อไป

ที่มา: Amplify AI Consumer Expectation Report 2024


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •