“เสียง” (Sound) ครั้งนึงอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับการทำ Branding แต่ปัจจุบันทาง Wunderman Thompson ร่วมกับ Spotify Advertising ภายในรรีพอร์ทฉบับพิเศษ “Future of Sound” ออกมายืนยันแล้วว่า เสียงได้กลายมาเป็นเครื่องมืออันทรงพลังของแบรนด์เพื่อสร้างยอด engagement จากลูกค้า เนื่องจากมีความสามารถที่จะเชื่อมโยงกับอารมณ์ กระตุ้นประสาทสัมผัส และปลุกความทรงจำ ดังนั้นเชื่อเถอะว่าเสียงสามารถทำอะไรให้กับแบรนด์ได้มากกว่าที่คิด!
รีพอร์ทฉบับนี้แบ่งออกเป็นเทรนด์ต่าง ๆ ภายใต้ 3 หัวข้อหลัก :
Sound without Limits – วิวัฒนาการของเสียงในชีวิต จากเพียงประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส บัดนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้าง engagement การแสดงออก และแม้กระทั่งการบำบัด บทนี้จึงสำรวจแง่มุมต่าง ๆ ของเสียง และวิธีที่เสียงเปลี่ยนรูปแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างเราและสิ่งรอบตัว
Audio Branding – หัวข้อนี้เจาะจงถึงการสร้างแบรนด์ด้วยเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสริมสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์หรือเพิ่มยอด engagement เพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากเสียงในการสร้างเรื่องราว (narrative) เส้นทางของผู้บริโภค (customer journey) และประสบการณ์ที่ลื่นไหล (seamless experience)
Feel Good Vibes – สำรวจศักยภาพในการบำบัดของเสียง เพราะทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์กำลังผชิญกับวิกฤตทางด้าน well-being (ความเป็นอยู่ที่ดี) กันทั้งโลก แต่เสียงนั้นสามารถช่วยบำบัดจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการปลอบประโลมจิตใจหรือแม้แต่รักษาร่างกายของเรา
และเช่นเดิม เพื่อให้ผู้อ่านไม่เสียเวลา ทาง Marketing Oops! จึงคัดเทรนด์มาอัพเดททุกคน จะได้ลองนำไปสำรวจดูว่าสามารถนำเสียงไปประยุกต์ใช้กับการทำแบรนด์อย่างไรได้บ้าง
Sound without Limits
– Fandomonium : “แฟนเพลง” ไม่ได้มีบทบาทเหมือนในอดีตอีกต่อไป เพราะพัฒนาจากความ passive เป็น active มากขึ้น เช่น ผู้สนับสนุน นักเคลื่อนไหว ผู้ร่วมสร้าง และลงทุนควบคู่ไปกับศิลปินที่ชื่นชอบ การเปลี่ยนแปลงนี้ขับเคลื่อนโดยยุคดิจิทัลที่แฟน ๆ มีอำนาจในการสร้างกระแสอย่างท่วมท้น ดังนั้นศิลปินจึงค้นหาวิธีใหม่ๆ เพื่อมีส่วนร่วมกับแฟน ๆ บน “จักรวาล” แห่งนี้ สร้างประสบการณ์ที่โต้ตอบและมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นไป
– The gaming engine : การเล่นเกมถูกพูดถึงมากขึ้นในแวดวงการตลาด เพราะได้กลายเป็น “พันธมิตรเชิงกลยุทธ์” ที่สำคัญของอุตสาหกรรมเพลง ด้วยเหตุที่ความนิยมของเกมขับเคลื่อนงบประมาณการผลิตจำนวนมาก “เพลงประกอบเกม” จึงเป็นโอกาสดีสำหรับสำหรับผู้แต่งเพลงหรือโปรดิวเซอร์ในการเข้าถึงผู้ชมทั่วโลกโดยไม่มีอุปสรรคทางด้านภาษาเป็นตัวกีดกั้น
– Sonic serendipity : แอปฯฟังเพลงรุ่นใหม่ มอบวิธีการที่สนุกสนานและสามารถโต้ตอบได้อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อสำรวจและฟังเพลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว เครื่องมือเหล่านี้จึงเป็นมากกว่า “คำแนะนำ” ที่ดูจากประวัติการฟัง แต่สามารถช่วยให้ให้แฟนเพลง ค้นพบศิลปิน เพลง และแนวเพลงใหม่ ๆ ในรูปแบบที่โต้ตอบไปมาได้ดียิ่งขึ้น เช่น Spotify เคยมีกิจกรรมการจัดวางเพลงที่เราฟัง บ่งบอกนิสัยเราอย่างไร พร้อมกับเสนอเพลงและศิลปินใหม่ ๆ เข้าไปในเพย์ลิสนั้น
Audio Branding
– Contextual storytelling : การใช้เสียงในยุคนี้ เป็นเสมือนการเล่าไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพย์ลิสหรือพอดแคสต์ที่พัฒนาไปตามความสนใจและอารมณ์ของผู้ฟัง ทั้งนี้ก็เพื่อมอบความเป็น personalization ในรูปแบบที่สูงสุด สะท้อนคอนเทนต์ที่ช่วยสร้างทั้งความรู้และประสบการณ์ที่ดื่มด่ำหรือสมจริง (immersive)
– Sonic brand futures : การออกแบบจุด touchpoint ที่แบรนด์และลูกค้ามาเจอกัน เป็นส่วนสำคัญของ customer journey และในยุคดิจิทัลที่จุด touchpoint เหล่านี้กำลังขยับขยายอย่างรวดเร็ว และมีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น การออกแบบ เสียงที่สื่อถึงแบรนด์อย่างชัดเจนเพื่อสร้างการจดจำเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยได้อย่างดีเยี่ยม เพราะผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ทกว่า 3 ใน 4 “ฟัง” คอนเทนต์ในรูปแบบใดรูปแบบนึงทุกเดือน
Feel Good Vibes
– Minimizing the musical footprint : แน่นอนว่าผู้บริโภคหลายคนคาดหวังให้แบรนด์แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม และนั่นก็รวมถึงการ “บริโภคเสียงเพลง” ด้วย ดังนั้น ศิลปิน โปรดิวเซอร์ และแพลตฟอร์ม ควรหาวิธีในการมอบประสบการณ์ “รักษ์โลก” ผ่านเสียงเพลงให้ได้ เช่น วง Coldplay จัดทัวร์โดยเน้นใช้พลังงานหมุนเวียนจากการ “เต้น” ของผู้ที่มาเข้าร่วม
– Adaptive audio health : เสียงสามารถใช้มอบประสบการณ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพไปในเชิงบวกแบบ personalize ได้ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อจัดการความเครียด การนอนหลับ หรือสุขภาพจิตโดยรวม ซึ่งในวันนี้ แวดวงด้านการให้บริการสุขภาพได้นำมาใช้เพื่อสร้างความ “ละมุน” ให้กับสภาพแวดล้อมที่โรงพยาบาล ในการช่วยฟื้นฟูและบำบัด
– Architectural soundscapes : งานวิจัยจาก British Journal of Psychology กล่าวว่าเสียงรบกวนในพื้นที่ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงเกือบ 66%! ดังนั้น การดีไซน์เสียงที่อาจถูกละเลยมานานเวลาสร้างพื้นที่ส่วนรวม บรรดาสถาปนิกและนักวางผังเมืองจะเริ่มให้ความสำคัญงมากขึ้น เนื่องจากมีข้อพิสูจน์แล้วว่าเสียงสามารถทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นอย่างไร ดังนั้นในอนาคตเราอาจได้เห็นสตาร์ทอัพและธุรกิจที่มีความ “เชี่ยวชาญ” ด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ “สภาพแวดล้อมเสียง” ที่ชวนสร้างบรรยากาศอันรื่นรมย์เกิดขึ้นมากมาย
จากเทรนด์ที่ทางเราหยิบยกมานี้ ก็คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบรรดาแบรนด์และธุรกิจในเมืองไทยจะสามารถเอาไปปรับใช้ได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนออกมาเป็นแคมเปญอันต่อเป็น ที่ใส่ใจด้าน “Sonic branding” (ทำแบรนด์ด้วยเสียงเพลง) มากยิ่งขึ้น หรือไม่ก็เอาไปเพิ่มประสิทธิภาพให้กับที่ทำงานก็ยังได้!