หนึ่งในเมกะเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2024 ต้องยกให้เรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ ESG (Environment – Social – Governance) ที่จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ยิ่งเมื่อโลกให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม จนเกิดกฎระเบียบเพื่อให้ธุรกิจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
ยิ่งในกลุ่มธุรกิจ SME ที่ถือเป็น Backbone ของธุรกิจในประเทศไทยที่จำเป็นอย่างยิ่งในการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ซึ่งในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG อย่าง ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ที่มองว่าในปี 2024 ถือเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้การดำเนินการด้าน ESG
เส้นทาง ESG สู่การพัฒนาธุรกิจ
นับตั้งแต่ที่คำว่า ESG ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2004 เพื่อสนับสนุนแนวคิดของการบูรณาการปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในตลาดทุน ซึ่งเชื่อกันว่าไม่เพียงนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวตลาดทุนเอง ด้วยการทำให้ตลาดทุนมีความยั่งยืนมากขึ้น
ตลอดการพัฒนาเรื่อง ESG ในช่วงเวลา 20 ปี ตั้งแต่มีการจัดทำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบโดยการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) ในปี 2006 มาจนถึงมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุดที่ประกาศใช้โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ที่มีชื่อว่า ESRS (European Sustainability Reporting Standards) ในปี 2023
ทำให้การเปิดเผยข้อมูล ESG กลายเป็นข้อกำหนดสำหรับบริษัทที่มีถิ่นฐานในสหภาพยุโรป รวมทั้งสาขาของบริษัทนอกสหภาพยุโรปที่มีการดำเนินกิจการในสหภาพยุโรปซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ด้วย เนื่องจาก ESG ถูกริเริ่มขึ้นจากภาคตลาดทุน ทำให้หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินงาน ESG ของกิจการ จะต้องมีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการและผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ
ธุรกิจส่วนใหญ่จึงมองว่า ESG ที่เคยเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง มาสู่การใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจสำหรับรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่หลายกิจการเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งการเพิ่มผลผลิต (Productivity) และความสามารถในการทำกำไร (Profitability) จากการใช้ประโยชน์ในประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับบริบทของกิจการ
3 กลุ่มธุรกิจที่ต้องดำเนินการ ESG 2024
สำหรับในปี 2024 ทิศทางการดำเนินการด้าน ESG ในภาคธุรกิจจะเน้นการเดินหน้าในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อให้ธุรกิจเห็นประโยชน์ของการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบังคับ ซึ่งเมื่อธุรกิจเห็นผลลัพธ์ที่ดีก็จะเกิดความเชื่อมั่น และผลักดันการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นผลกระทบที่ดีทั้งกับกิจการและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งยังสร้างโอกาสมอบผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนที่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันให้น้ำหนักกับการลงทุนที่เน้นความยั่งยืน ในลักษณะ “Who Cares Earns” หรือยิ่งใส่ใจยิ่งได้รับมากขึ้น
โดยเฉพาะธุรกิจ 3 กลุ่มหลักที่ควรดำเนินการด้าน ESG อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ (Extractives)
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก (Mass Market)
- ธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นมากรายหรือเป็นบริษัทมหาชน (Public Company)
สำหรับ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ (Extractives) จะเป็นกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐาน ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงและถือเป็นธุรกิจต้นน้ำ ด้วยรูปแบบของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญหลักของธุรกิจ
ที่สำคัญทรัพยากรที่นำมาใช้ในธุรกิจ ส่วนใหญ่มักอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีชุมชนอยู่รอบพื้นที่เหล่านั้น ส่งผลให้มีเรื่องผลกระทบและความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้วยังมีเรื่องทางด้านสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทำให้การดำเนินการด้าน ESG ต้องระมัดระวังเพราะอาจกลายเป็นความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจในกลุ่มดังกล่าว
สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาลเรื่องที่ธุรกิจต้องรู้
ในด้าน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก (Mass Market) จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Packaged Goods) บริการทางการเงินที่เจาะกลุ่มลูกค้าบุคคล (Consumer Finance) บริการโทรคมนาคมสำหรับลูกค้ารายย่อย (Retail Telco) ด้วยลักษณะของธุรกิจที่มีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เรื่องความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งการให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสและคำแนะนำที่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค จึงเป็นประเด็นด้านสังคมที่มีนัยสำคัญ
ประกอบกับการที่ต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมากในการผลิตเพื่อรองรับผู้บริโภคจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หรือของเสีย จึงเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ ขณะที่ในแง่ของธุรกิจประเภทบริการ การบริหารสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องจะเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจประเภทดังกล่าว
ธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นมากรายหรือเป็นบริษัทมหาชน (Public Company) โดยเฉพาะบรรดาบริษัทจดทะเบียน หรือบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เสนอขายต่อประชาชนในวงกว้าง การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสแก่ผู้มีส่วนได้เสียและแก่ผู้ลงทุนสำหรับการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุนในกิจการ จะเป็นประเด็นด้านธรรมาภิบาลที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจกลุ่มนี้ นอกจากนี้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ยังรวมถึงความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จริยธรรมและการต้านทุจริต ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
3C ที่ธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัว
ในปี 2024 ที่หลายธุรกิจเริ่มใส่ใจในเรื่องของ ESG แต่บางธุรกิจอาจยังไม่ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้สอดรับกับการดำเนินการด้าน ESG ซึ่งทาง ดร.พิพัฒน์ มองแนวทางการดำเนินการของธุรกิจด้าน ESG ไว้ถึง 3 ด้านหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ 3C ซึ่งประกอบไปด้วย
- Chance: การมองหาโอกาสในมิติเศรษฐกิจ จากความอ่อนไหวด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศต่างขั้วมีแนวโน้มที่จะขยายวง ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยจากแรงกดดันของปัจจัยเงินเฟ้อในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในทุกภูมิภาคมีการเติบโตที่หดตัวลง และทำให้ต้นทุนทางการเงินในการประกอบธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
สิ่งที่ธุรกิจควรดำเนินการคือ การค้นหาโอกาสจากปัจจัย ESG ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการทำกำไร นอกเหนือจากการมอง ESG ว่าเป็นเรื่องของการจัดการความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบเพียงด้านเดียว
- Choice: การสร้างทางเลือกในมิติสังคม โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาคและการไม่ปิดกั้น เป็นประเด็น ESG ด้านสังคมในอันดับต้นๆ ที่หลายฝ่ายได้ให้น้ำหนักความสำคัญ ทั้งการบรรจุไว้เป็นนโยบายของธุรกิจ และการใช้เป็นมาตรการในการรับสมัครคัดเลือกบุคลากร อาทิ ความหลากหลายทางเพศ ความเสมอภาคระหว่างเพศ ขณะที่หลายธุรกิจไม่เพียงแต่ดำเนินการในองค์กรของตน แต่ยังขยายผลครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทานหรือเหล่า Supply Chain เช่น การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ หรือการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ (ทั้งสองกรณี สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด)
สิ่งที่ธุรกิจควรดำเนินการคือ การสร้างทางเลือกด้านบุคลากร โดยนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติด้านแรงงาน และเชื่อมโยงให้เกิดเป็นคุณค่าต่อผู้บริโภคจากการดำเนินการดังกล่าว
- Change: การเปลี่ยนแปลงในมิติสิ่งแวดล้อม เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การใช้ประโยชน์และผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และประเด็นมลภาวะที่เกิดจากการประกอบกิจการ เป็นประเด็น ESG ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทุกๆ ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งในแง่ของการบรรเทา (Mitigation) การปรับตัว (Adaptation) รวมทั้งการเยียวยาชดเชยความสูญเสียและความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับผลกระทบที่เกิดจากการประกอบการขององค์กร
สิ่งที่ธุรกิจควรดำเนินการคือ การปรับตัวและเตรียมความพร้อมในปี 2024 ธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติหรือใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำของเสียมาแปรสภาพใช้ใหม่ (Recycle) หรือใช้ผลิตใหม่ (Remanufacture) หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นต้น
เรื่องง่ายๆ ที่ธุรกิจสามารถดำเนินการในด้าน ESG
สิ่งหนึ่งที่มักจะเป็นคำถามของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กคือ จะดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อให้สอดรับกับแนวทางด้าน ESG ซึ่ง ดร.พิพัฒน์ แนะนำหลักหรือแนวทางการดำเนินการอย่างง่ายๆ ไว้ทั้ง 3 ด้านตามหลัก ESG
- แนวทางการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ
- การลดการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การติดโซลาร์เซลล์ หรือการเปลี่ยนพาหนะขนส่งเป็นรถ EV
- การลดขยะที่เป็นเครื่องใช้ในสำนักงาน เช่น กระดาษ ชิ้นส่วนพลาสติก ขวด แก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องพัสดุ
- การลดการใช้น้ำ-ใช้ไฟในสำนักงาน และในโรงงาน ซึ่งวัดผลได้ง่ายโดยประเมินจากบิลค่าใช้จ่ายที่ลดลง
- การลดการเดินทาง หรือเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งการเดินทางติดต่องานหรือไปทำธุรกิจ (Business Travel) และการเดินทางมาทำงานของพนักงาน (Employee Commuting) เพื่อทำให้คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรลดลง
- แนวทางการดำเนินการด้านสังคม อาทิ
- การจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานที่เหมาะสมเป็นธรรม
- การดูแลให้มีอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน
- การถ่ายทอดความรู้และพัฒนาทักษะความสามารถใหม่ๆ ให้พนักงานมีความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน
- การรักษาพันธะสัญญาและปฏิบัติต่อคู่ค้าด้วยความเป็นธรรม
- การไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับและไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของคู่ค้า
- การให้โอกาสการเข้าร่วมประกอบธุรกิจแก่คู่ค้าท้องถิ่น
- การค้าขายกับคู่ค้าที่มี ESG ในระดับเดียวกัน
- การอาสาพัฒนากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หรือช่วยเหลือชุมชนยามเกิดอุบัติภัยหรือเหตุเดือดร้อน
- แนวทางการดำเนินการด้านธรรมาภิบาล อาทิ
- การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสแก่ผู้มีส่วนได้เสีย
- การดูแลคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
- การต่อต้านการทุจริต โดยไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบ
โอกาสสุดท้ายของธุรกิจที่ยังไม่เน้น ESG
เมื่อมองย้อนกลับไปถึงธุรกิจที่มองว่า ESG ยังไม่ใช่เรื่องสำคัญ ดร.พิพัฒน์ ยังเตือนว่า ธุรกิจที่ยังมองไม่เห็นความสำคัญของ ESG อาจ “ตกขบวน” นั่นเพราะ ESG เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ธุรกิจไม่ว่าขนาดใหญ่ขนาดเล็ก ต้องดำเนินการในธุรกิจของตนไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ และมีคู่ค้าจำนวนมากนับหลายพันหลายหมื่นราย จะได้รับแรงกดดันจากผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ
รวมถึงยังถูกสังคมคาดหวังให้ต้องดำเนินการในห่วงโซ่อุปทานนั้นด้วย นั่นหมายความว่า บริษัทจะต้องค้าขายกับคู่ค้าที่มี ESG ในระดับเดียวกัน หรือมีการดำเนินการ ESG ในเกณฑ์ขั้นต่ำที่บริษัทเป็นผู้กำหนด หากคู่ค้าหรือธุรกิจรายใดไม่ดำเนินการหรือดำเนินการได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็อาจเสียโอกาสที่จะค้าขายกับบริษัทนั้นได้ จนกว่าจะสามารถปรับปรุงสถานะเรื่อง ESG ได้ตามเกณฑ์
นอกจากนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจอาจมีต้นทุนเพิ่ม เพราะการดำเนินการ ESG จะเริ่มมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ โดยจะมีบทลงโทษในรูปของค่าปรับหรือบทลงโทษอื่น ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนของธุรกิจที่ยังไม่ดำเนินการด้าน ESG อาทิ กรณีกฎหมาย CBAM ในสหภาพยุโรป หรือ กรณี PDPA ของไทย
ที่สำคัญ ธุรกิจอาจเสียโอกาสในการเข้าถึงตลาด นอกจากเรื่องของกฎหมาย ข้อบังคับให้ปฏิบัติแล้ว แต่ยังมีการกีดกันจากค้าจากภาคธุรกิจด้วยกันเอง ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการด้าน ESG แม้ไม่มีกฎหมายบังคับก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะคู่ค้ารายใหญ่ ที่จะผลักดันให้มีการดำเนินการด้าน ESG พร้อมด้วยเงื่อนไขหากไม่ดำเนินการหรือไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ด้วยการปฏิเสธสินค้าหรือบริการจากธุรกิจรายนั้นๆ ทำให้เกิดความสูญเสียทางธุรกิจ ทั้งตลาดเดิมที่มีเงื่อนไขใหม่ และการเข้าถึงตลาดใหม่ที่มาพร้อมกับเงื่อนไขด้าน ESG
ความท้าทายด้าน ESG ของธุรกิจของปี 2024
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของ ESG ในภาคธุรกิจปี 2024 จะมีความเข้นข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย แม้ในความเป็นจริงการดำเนินการด้าน ESG ควรจะเป็นเรื่องความสมัครใจโดยไม่จำเป็นต้องการออกกฎหมายฉบับใหม่มาบังคับ แต่เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG อยู่แล้ว ดังนั้นหนึ่งในความท้าทายในปี 2024 จึงเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเฉียบขาด เช่น กรณีทุจริตหุ้น STARK กรณีโกงหุ้น MORE หรือกรณีลักลอบนำเข้าหมู ฯลฯ
การเปลี่ยนผ่านรูปแบบพลังงาน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ อย่างกรณีการประชุม COP28 ที่มีการแก้ไขการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากการทยอยเลิกใช้ (Phase out) มาเป็นการเปลี่ยนผ่าน (Transition away) ซึ่งจะทำให้การดำเนินการด้าน ESG ของธุรกิจโดยรวมมีความท้าทายมากขึ้น นอกจากนี้การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่จำเป็นเร่งด่วน และเป็นความเสี่ยงต่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของแต่ละประเทศ
ปัจจุบัน ESG ถูกหยิบมาใช้ในวงกว้าง ไม่เว้นในแวดวงการตลาดที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์อย่างแพร่หลาย จนในปัจจุบัน ESG ส่วนใหญ่ถูกตีความว่าเป็น การฟอกเขียว (Green Washing) ซึ่งคือการดำเนินการที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่า รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่น การประกาศตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกินจริงหรือที่พิสูจน์ไม่ได้ การแสดงเครื่องหมายรับรองที่ออกโดยหน่วยงานที่ขาดความน่าเชื่อถือหรือได้มาด้วยการซื้อเครื่องหมายรับรองที่ไม่ได้มีมาตรฐานรองรับ ถือเป็นความท้าทายในปี 2024 และมีแนวโน้มที่ขยายวงเพิ่มสูงขึ้น
โดยจากงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ RepRisk บริษัทด้านวิทยาการข้อมูล ESG ที่ใหญ่สุดของโลก ซึ่งเปิดเผยในรายงาน 2023 Report on Greenwashing เมื่อเดือนตุลาคม 2023 แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงจากการฟอกเขียว โดยจากการสำรวจความเสี่ยงด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของกิจการทั่วโลก (ระหว่างเดือนกันยายน 2022 ถึงเดือนกันยายน 2023) พบว่าทุกๆ 1 ใน 4 ของอุบัติการณ์ (Incident) ที่เกิดขึ้น มีความเชื่อมโยงกับการฟอกเขียว เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เกิดขึ้นทุกๆ 1 ใน 5 กรณี
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ปี 2024 เรื่องราวของ ESG จะมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เนื่องจากธุรกิจใหญ่ได้รับความกดดันจากพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ธุรกิจลดการปล่อยมลพิษ ส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจขนาดเล็กที่ทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่ก็ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน