ขายชาบู เดลิเวอรี่ทุเรียนยังไม่พอ!!! เพราะต่อจากนี้ ‘เพนกวิน อีส ชาบู’ หรือที่เรามักจะเรียกกันติดปากกันว่า ‘เพนกวินชาบู’ จะขอแปลงร่างเป็น E- Marketplace ขายทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการ เพื่อเป็นทางรอดในการฝ่าวิกฤติที่กำลังเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้
“เรากำลังสู้อยู่ในสงครามที่ไม่มีวันรู้ว่าจะจบเมื่อไร ถึงรู้ ก็ใช่ว่าเราจะอยู่รอดได้ถึงวันนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องลืมตัวตนของตัวเองไปเลย ทำอะไรก็ได้เท่าที่คิดได้ และทำทันที” เป็นคำกล่าวของ ‘ต้น-ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี’ ผู้ก่อตั้ง และเจ้าของร้านอาหาร ‘เพนกวิน อีส ชาบู’ สะท้อนถึงการเดินเกมครั้งใหม่ในการสู้สงครามที่เกิดจากผลกระทบของโควิด-19
ช่วงปีกว่าที่ผ่านมาเพนกวินชาบูเองได้มีการปรับตัวอย่างหนัก ภายใต้วิธีคิดการเป็น SMEs ที่ต้องการเติบโต เน้น ‘หากระแสเงินสดเข้ามาให้ไว’ มาผนวกกับการทำงานสไตล์สตาร์ทอัพที่ต้อง ‘คิดเร็ว ทำเร็ว’ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งการขายชาบูที่แถมสารพัดสิ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ทั้งหม้อต้ม , โค้ด Tinder ให้ใช้ฟรี 1 เดือน หรือแถม ‘ฉีดโบท็อกซ์’ ไปจนถึงเปิดเดลิเวอรี่ขายทุเรียน ส่งตรงถึงหน้าบ้านคลอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศ
มาถึงการขยับล่าสุดที่เตรียมจะนำพลังแฟนเพจของเพนกกวินชาบูที่มีอยู่กว่า 500,000 ราย และการได้ลงทุนในเรื่องระบบลอจิสติกส์ กับระบบเพย์เม้นท์ไปก่อนหน้านี้มาต่อยอด เปลี่ยนให้เพจของเพนกวินชาบูเป็น E- Marketplace สำหรับเป็นพื้นที่ขายทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการ
ประเดิมด้วยแบรนด์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเอง นั่นคือ Happy freeze ไอศกรีมทุเรียน ซึ่งมีให้เลือกด้วยกัน 3 รสชาติ ได้แก่ รสทุเรียนหมอนทอง รสทุเรียนก้านยาว และข้าวเหนียวทุเรียน คาดว่า จะเปิดขายเร็ว ๆ นี้ทั่วประเทศ
“ไอศกรีมทุเรียนเราดีไซน์โลโก้ แพกเก็จเสร็จแล้ว เพราะปกติเรามีการผลิตไอศกรีมให้บริการภายในร้านอยู่แล้ว และตอนนี้มีการบริการเดลิเวอรี่ทุเรียนมีระบบลอจิสติกส์และเพย์เม้นท์พร้อม จึงนำสิ่งที่มีมาต่อยอด และหลังจากนี้ก็จะมีแบรนด์ออกมาเรื่อย ๆ”
ทำไมต้องเดินหน้าสู่ E- Marketplace
หลายคนอาจหวังเดลิเวอรี่มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่ง ธนพันธ์ บอกว่า ทำได้ยาก เพราะเดลิเวอรี่มีต้นทุนดำเนินการที่สูง ทั้งในเรื่องของแพ็กเกจจิ้งที่ต้องดีไซน์ให้เหมาะกับการขนส่ง อีกทั้งยังมีค่า GP ของเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มแต่ละรายที่เรียกเก็บในเรทสูงไม่ธรรมดา รวม ๆ แล้วต้นทุนที่บอกไว้ข้างต้นคิดเป็น 50% ของรายได้ ยังไม่คิดค่าเช่า ค่าแรงงาน หมายความว่า วันนึงต้องขายได้เท่าไรถึงจะอยู่ได้ ซึ่งความจริงแล้วก็ทำไม่ได้อยู่ดี
ขณะที่การเป็น E- Marketplace ขายในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ จะเปิดโอกาสทางการขายได้มากมาย หลัก ๆ คือ ‘ต้องจับความต้องการลูกค้าให้ถูก ตอบสนองให้เร็วที่สุด และนำเสนอโปรดักท์ที่มีคุณภาพ’ หากทำแบบนี้จะทำให้กลายเป็นพ่อค้าครอบจักรวาล ไม่มีวันอดตาย
“เราต้องลืมตัวเองทิ้งซะในช่วงเวลาสงคราม มาดูแฟนเบสว่า กำลังมองหาอะไร หาจุดซื้อของลูกค้า นำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อทันที ไม่ต้องการทดลอง เราคิดง่าย ๆ แล้วลงมือทำ อะไรที่ดีไปต่อ อะไรไม่ดีก็หยุด อย่างทุเรียนทีเราทำเพราะกำลังฮิต โดยเราจบเรื่องนี้ภายใน 24 ชั่วโมงแล้วออกสินค้าเลย ซึ่งตอนนี้ทุเรียนสร้างยอดขายให้คิดเป็น 60% ของรายได้ทั้งหมด การอยู่รอดต้องไม่ยึดติด พอไม่ยึดติดมันจะเห็นโอกาสเยอะมาก”
อย่างไรก็ตาม การจะรู้ความต้องการของลูกค้าแล้วนำเสนอได้ตรงจุด และถูกเวลา ก็เป็นโจทย์ที่ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ๆ เหมือนกัน ซึ่งธนพันธ์บอกว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเพนกวินชาบู
เพราะได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจในช่วงปีกว่าที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้ประโยชน์จากฐานผู้ติดตามเพจที่มีกว่า 500,000 ราย มาผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล (เพนกวินชาบูทำธุรกิจดิจิทัล เอเยนซี ในชื่อ เพนกวิน ดิจิทัล มานาน 5 ปี เน้นการกู้ยอดขายให้กับลูกค้า) เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด และทันเวลา
หลังจากนี้เราจะได้เห็นสินค้าและการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ๆ ออกมาวางขายผ่านเพจเพนกวินชาบู อย่างที่ทราบกันไปแล้วอย่าง Happy freeze ไอศกรีมทุเรียน ต่อไปจะเปิดพื้นที่เพจขายผลไม้ตามฤดูกาล เช่น เงาะ , มังคุด ,สตอเบอรี่ ฯลฯ หรือในอนาคตอาจจะเห็นเพจนี้ขายจักรยาน หรือโครงการอสังหาฯ ก็เป็นได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก