E-Commerce Trends 2024: ปีแห่ง Live Commerce – สินค้าจีนบุกหนัก – จับตา Pinduoduo เตรียมส่ง Temu ช้อปออนไลน์ใหม่รุกตลาดไทย

  • 199
  •  
  •  
  •  
  •  

E-Commerce Trends 2024

แม้ทั่วโลก และประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แต่สำหรับ “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยหนึ่งใน Growth Driver สำคัญมาจาก “อีคอมเมิร์ซ” (E-Commerce)

รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 8 (e-Conomy SEA 2023 Report) จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ฉายภาพมูลค่าอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทยปี 2023 อยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อัตราการเติบโต 10% เทียบกับปีก่อน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 และคาดการณ์ว่าปี 2030 จะแตะ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2023 ที่ผ่านมาจะเห็นความคึกคักของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย ไม่ใช่แค่ผู้เล่นรายเดิมๆ อย่างสองยักษ์ใหญ่ e-Marketplace LAZADA – Shopee หรือในกลุ่ม Social Commerce และ Chat Commerce เท่านั้น แต่ยังได้ปรากฏดาวรุ่งมาแรงอย่าง TikTok ที่ขยายจาก Short Video สู่การรุกตลาดอีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบด้วย TikTok Shop รวมทั้งการเข้ามาของ “สินค้าจีน” บุกตีตลาดไทย

สำหรับปี 2024 สมรภูมิการแข่งขันอีคอมเมิร์ซ มีแนวโน้มดุเดือดยิ่งขึ้น! โดย Marketing Oops! ได้พูดคุยกับ คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO & Co-Founder of Priceza, ที่ปรึกษา และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ฉายภาพเทรนด์ E-commerce Landscape 2024

ครอบคลุมทั้งทิศทางอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยปีนี้ ที่จะเป็นปีแห่ง Live Commerce, Cross-border E-Commerce สินค้าจีนตีตลาดไทยมากขึ้น ตลอดจนคาดการณ์ว่าจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาท้าชิง นั่นคือ “Temu” แพลตฟอร์มช้อปออนไลน์ เน้นสินค้าจีนราคาถูกในเครือ Pinduoduo อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน พร้อมั้งพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจผันผวน และเงินเฟ้อ ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่ามากขึ้น และคำแนะนำผู้ประกอบการไทยปรับตัวเตรียมความพร้อมรับมือสินค้าจีนตีตลาดไทย

รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ไปเจาะลึกกันได้เลย!

E-Commerce Trends 2024-Priceza
คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO & Co-Founder of Priceza, ที่ปรึกษา และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย

 

ปี 2024 ปีแห่ง Live Commerce – TikTok ชิงส่วนแบ่ง Shopee – LAZADA

คุณธนาวัฒน์ ฉายภาพเทรนด์อีคอมเมิร์ซในปี 2024 ของแต่ละช่องทางที่เติบโตอย่างโดดเด่น

Live Commerce โตเท่าตัวจากปี 2023

ช่องทาง E-Marketplace ทั้งสองแพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Shopee, LAZADA ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และในภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยจะเห็นการแข่งขัน Live Commerce มากขึ้น

“แม้ปัจจุบัน Live Commerce ในไทย ยังไม่ถึงขนาดที่จีน เพราะคน Live ขายเก่งๆ ในไทยยังน้อย เมื่อเทียบกับตลาดจีน แต่มองว่าในที่สุดแล้วเมื่อตลาดพัฒนาไปเรื่อยๆ คนจะมาทาง Live Commerce มากขึ้น อย่างปี 2023 เป็นปีที่แบรนด์เริ่มหาเอเจนซี่มาช่วย Live และแทบทุกแบรนด์ตั้งทีม Live โดยเฉพาะ แม้กระทั่งเปลี่ยนพนักงานตัวเองให้มา Live ขายสินค้า

ปี 2024 คาดว่า Live Commerce จะโตได้อีกเท่าตัวจากปี 2023 นำโดย TikTok และ Shopee Live ขณะที่ LAZADA จะโฟกัส LazLive เพราะมองว่าเขาวางตำแหน่งตัวเองเป็นศูนย์รวม Official Brand หรือ Official Shop ภายใต้ฟีเจอร์ LazMall ซึ่งคล้ายกับ Tmall ที่ประเทศจีน เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาซื้อสินค้าใน LAZADA ส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าฮาร์ดไลน์ สินค้าแบรนด์ ขณะที่คนซื้อสินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย ส่วนใหญ่จะไปซื้อที่ Shopee

E-Commerce Trends 2024-Live Commerce

 

– TikTok ชิงตลาดอีคอมเมิร์ซไทย สร้างความต่างด้วย “Entertainment

ตลาดอีคอมเมิร์ซ ปี 2023 – 2024 รายที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ TikTokเข้ามามีบทบาทในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมากขึ้น ด้วยฟีเจอร์ TikTok Shop เปิดตัวสู่ตลาดไทยในปี 2022 และเริ่มรุกหนักในปี 2023 ดังจะเห็นได้จากการชู Live Commerce และการอัดแคมเปญ Double Day ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เส้นทางการรุกตลาดอีคเมิร์ซของ TikTok มีบทเรียนความสำเร็จจากโมเดลที่ประเทศจีนมาก่อน ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในจีน ได้ชื่อว่าการแข่งขันรุนแรง และมีรายใหญ่ที่แข็งแกร่ง ครองตลาดมายาวนาน โดยกว่า 80% ถูก dominate เพียงไม่กี่รายเท่านั้น เช่น สองแพลตฟอร์มจากเครือ Alibaba ได้แก่ Tmall (B2C), Taobao (C2C) และค่าย JD.com

ขณะที่ ByteDance เจ้าของแพลตฟอร์ม Douyin (แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น สำหรับทำตลาดในจีน) และ​ TikTok (แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น สำหรับทำตลาดทั่วโลก) ตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยเริ่มทดลองในจีนก่อน ซึ่งเป็นตลาดบ้านเกิด ด้วยการพัฒนาฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซอยู่ในแพลตฟอร์ม Douyin

ผลปรากฏว่า Douyin สามารถเข้ามาท้าชิงตลาดอีคอมเมิร์ซจีนได้สำเร็จ! โดยหัวใจสำคัญที่ทำให้ได้การตอบรับจากผู้บริโภคคือ “สร้างต่างด้วย Shoppertainment ใช้ความบันเทิงนำ และตามด้วยการค้า (Entertainment first, Commerce second)

ต่อมาได้ขยายโมเดลอีคอมเมิร์ซนอกตลาดจีน ด้วยฟีเจอร์TikTok Shopออกสู่ทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำร่องที่อินโดนีเซีย ในปี 2021 (ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียสั่งแบน TikTok Shop) จากนั้นปี 2022 ได้แนะนำ TikTok Shop สู่ตลาดไทย

E-Commerce Trends 2024_TikTok Shop
Photo Credit: Tada Images / Shutterstock.com

Key ของ TikTok คือความต่างที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้วย “Entertainment” เอาความบันเทิงมาก่อน ให้คนรู้สึกสนุก แล้วตามด้วยอีคอมเมิร์ซ เพราะคนเข้ามาใช้ TikTok ต้องการความบันเทิง อยู่ในโหมดอยากพักผ่อน ซึ่งการช้อปปิ้งก็เป็นการพักผ่อนเช่นกัน

TikTok เปลี่ยนโหมดในช่วงที่คนกำลังเปิดรับความบันเทิง เป็นการเชื้อเชิญให้คนมาซื้อของ ซึ่งมีการทดสอบแล้วว่าคนที่อยู่ในโมเมนต์พักผ่อน มีความสุข กำลังสนุกสนาน จะตัดสินใจซื้อได้ง่าย”

คุณธนาวัฒน์ ขยายความเพิ่มเติมว่าในปี 2023 TikTok ผลักดัน 2 ช่องทางหลักๆ คือ 1. เอาตะกร้าไปติดที่ Short Video และ 2. Live Commerce ซึ่งอีคอมเมิร์ซ Douyin ที่จีน มากกว่า 60 – 70% มาจาก Live Commerce

สำหรับตลาดไทย Live Commerce เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่เมื่อครั้ง Facebook Live แต่ด้วยความที่ Facebook Live ไม่ได้ออกแบบเพื่อใช้สำหรับขายของ แต่เพื่อใช้งานทั่วไป เช่น งานแถลงข่าว หรือเวลาไปเที่ยว ไปสถานที่ต่างๆ แล้วทำการ Live โชว์สถานที่ ทำให้ฟีเจอร์ หรือลูกเล่นจึงแตกต่างจาก TikTok ที่ออกแบบ Live ให้รองรับการขาย และกระตุ้นคนมาซื้อได้มากกว่า

“แนวโน้มอีคอมเมิร์ซในไทย TikTok Shop จะมากินส่วนแบ่งการตลาดของ Shopee, LAZADA แต่ถึงอย่างไรผู้บริโภคก็ยังคงชอบเข้า Shopee, LAZADA และขณะเดียวกันก็ต้องการประสบการณ์การช้อปปิ้งใหม่ที่แตกต่าง เช่น ช้อปปิ้งแบบสนุกสนานตาม Influencer ซึ่ง TikTok เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการส่วนนี้”

E-Commerce Trends 2024-Priceza

 

– Social Commerce – Chat Commerce คนไทยยังนิยมช้อป

ช่องทาง Social Commerce และ Chat Commerce เช่น Messenger, LINE ยังคงเติบโต เนื่องจากคนไทยยังนิยมช้อปผ่านช่องทางแชทกันเยอะมาก เพราะสามารถจบการซื้อและการชำระค่าสินค้า/บริการในที่เดียว

 

ช่องทาง Vertical Focus ดึงแบรนด์จัดโปรโมชั่น ทำ Affiliate Marketing

ช่องทาง Vertical Focus แพลตฟอร์มช้อปออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะด้าน อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Tops, Lotus’s, Big C กลุ่มสุขภาพและความงาม เช่น Watsons, Konvy, EVEANDBOY กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับบ้าน เช่น HomePro, noc noc

ด้วยความที่ช่องทาง Vertical Focus โดดเด่นและเชี่ยวชาญในสินค้าและบริการเฉพาะด้าน จึงสามารถดึงแบรนด์ที่อยู่ในด้านนั้นๆ เข้ามาจัดโปรโมชั่นร่วมกัน และทำให้เมื่อผู้บริโภคนึกถึงสินค้าประเภทนั้นๆ ก็จะนึกถึงแพลตฟอร์มช้อปออนไลน์รูปแบบ Vertical Focus โดยในปี 2024 จะเห็นแพลตฟอร์มเหล่านี้ ยกระดับแอปพลิเคชันของตัวเอง และมีระบบ Affiliate Marketing เชื่อมต่อกับแอปฯ

E-Commerce Trends 2024-Online Supermarket

 

– Quick Commerce ตอบโจทย์ความต้องการสินค้าแบบเร่งด่วน 

อีกช่องทางที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนคือ Quick Commerce เป็น On Demand Service ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าบางประเภทแบบเร่งด่วน เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันที่หมดกะทันหัน ไม่ได้มีสต็อคที่บ้านไว้ เช่น นม น้ำ เนื้อสัตว์ ผัก ผ้าอนามัย หรือของที่จำเป็นต้องใช้ทันที เช่น พวงมาลัยไหว้พระ

 

– Omni-channel ผสานออนไลน์ออฟไลน์เข้าด้วยกัน

Omni-channel เป็นที่พูดถึงกันมาสักพักแล้ว และเริ่มมีการพัฒนาโมเดลดังกล่าว แต่ในปี 2024 จะปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นในตลาดค้าปลีกที่เกิดการผสมผสานระหว่างช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการ switch ไปมาระหว่างออนไลน์-ออฟไลน์

50% ของยอดขายออนไลน์ มาจากการที่ผู้บริโภคไปดูสินค้าที่ช่องทางออฟไลน์ก่อน แล้วมาซื้อที่ออนไลน์ เช่น ในช่วง Double Day ผู้บริโภคดูสินค้าจริงจากสโตร์ หรือร้านค้า เปรียบเทียบราคา แล้วลิสต์อยู่ในรายการซื้อ เมื่อถึงวัน Double Day ก็ซื้อผ่านออนไลน์

ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ดูสินค้าจากช่องทางออนไลน์ หาข้อมูล ดูรีวิวต่างๆ แต่สุดท้ายไปจบที่สโตร์ หรือร้านค้า ซึ่งปัจจุบันยอดขายจากฝั่งออฟไลน์ ยังคงใหญ่กว่าอีคอมเมิร์ซ

“แบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จ ต้องทำให้ประสบการณ์ในการช้อปปิ้ง ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เป็นองค์รวมเดียวกัน คือ ไม่ว่าลูกค้าจะไปใช้บริการช่องทางไหน แบรนด์ต้องรู้ว่าลูกค้าแต่ละคนมี Customer Journey อย่างไร และดูสินค้าอะไรมาบ้างแล้ว”

E-Commerce Trends 2024-Omni-channel

 

จับตา “Cross-border E-Commerce” สินค้าจีนราคาถูกบุกตีตลาดไทย การค้าประเทศเพื่อนบ้านเชื่อมโยงถึงกัน

ไม่เพียงแต่แนวโน้มอีคอมเมิร์ซแต่ละช่องทางเท่านั้น คุณธนาวัฒน์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การมาของ TikTok เป็นสัญญาณว่าจะเห็น Cross-border E-Commerce มากขึ้นในปี 2024 เนื่องจากสินค้าที่ขายใน TikTok จำนวนมาก เป็นสินค้าจากโรงงานจีน

แม้ที่ผ่านมาสินค้าจากจีน จะเข้ามาตีตลาดไทยก่อนหน้านั้นแล้ว ขายผ่านทั้ง Shopee, LAZADA แต่การเกิดขึ้นของ TikTok Shop ก็ยิ่งทำให้สินค้าจีนเข้ามามากขึ้นกว่าเดิม!

“เราจะเห็น Influencer รีวิวสินค้า Live ขายสินค้า ติดตะกร้าสินค้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว สินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าที่มาจากโรงงานจีน โดยทางโรงงานจีนมาติดต่อผู้ประกอบการไทยบอกว่ามีสินค้า แต่เขาไม่รู้จะขายอย่างไร ให้ช่วยเปิดตลาดไทยให้หน่อย โดยที่โรงงานจีนเป็นฝ่าย Supply ของให้ ซึ่งสินค้าจีนที่เข้ามาในไทย ทำราคาได้ดีมาก ไม่ว่าจะขายอย่างไร ก็ขายได้ ยิ่งถ้ามีคนรีวิวเก่งๆ ก็ยิ่งขายได้ พราะฉะนั้นต่อไปสินค้าจากโรงงานจีนจะ Cross-border เข้ามาเต็มไปหมด”

E-Commerce Trends 2024-Chinese Product-Made in China

ประกอบกับประเทศไทยมีสนธิสัญญาการค้าเสรี ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาทได้ เมื่อไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร และไม่ต้องจ่าย VAT ผู้ขายที่อยู่จีน จึงทำการค้าระหว่างประเทศได้อย่างง่ายขึ้น

“ปี 2024 สินค้าจีนจะบุกเข้ามามากขึ้นอีก และยิ่ง Alibaba ตั้งคลังสินค้าปลอดภาษี หรือ eWTP ย่อมาจาก electronic World Trade Platform ภายใน EEC ของไทย นั่นเท่ากับว่าสินค้าจีนที่มีราคาถูกอยู่แล้ว ไม่ต้องจ่ายภาษี มาตั้งพักรอไว้ในไทย รอการขนส่ง ทำให้สินค้าจีนมี “แต้มต่อในการขาย” เมื่อเทียบกับสินค้าไทยของผู้ประกอบการไทย จะทําให้ปี 2024 เป็นปีที่ชัดเจนว่าสินค้า Cross-border จะเติบโตมากขึ้น และเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น”

E-Commerce Trends 2024-Priceza

ไม่ใช่เฉพาะสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ก็ทำ Cross-border E-Commerce เชื่อมโยงการค้าขายออนไลน์กับตลาดไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง LAZADA และ Shopee ได้เปิดให้การค้าในภูมิภาคนี้เชื่อมโยงถึงกันแล้ว

“ปีนี้การค้าแต่ละประเทศจะเริ่มเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการไทย หรือร้านค้าในไทย คู่แข่งที่ขายอยู่ใน Shopee, LAZADA จะไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการไทยด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังมีจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเริ่มมองออกไปมากกว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย เพราะถ้ามองแค่ตลาดไทย มีประชากรกว่า 60 – 70 ล้านคน กำลังซื้อไม่ค่อยเติบโต เราต้องมองไปตลาดต่างประเทศ โดยสินค้าไทย หรือแบรนด์ไทยที่ควรส่งออกไปก่อน คือ สินค้าหรือแบรนด์ที่คนต่างชาติชื่นชอบ โดยดูจากเวลาคนต่างชาติมาไทย นิยมมาซื้ออะไร เช่น สินค้าสมุนไพร ยาหม่อง ซึ่งสินค้าเหล่านี้สามารถขายได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว” คุณธนาวัฒน์ ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดสู่ต่างประเทศ

E-Commerce Trends 2024-Chinese Product-Made in China

 

คาด Pinduoduo จากจีน ส่ง “Temu” บุกอีคอมเมิร์ซไทย ชูจุดเด่นสินค้าจีนราคาถูก

นอกจากนี้ คุณธนาวัฒน์ ยังได้คาดการณ์ว่าปี 2024 จะมีอีกหนึ่งแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์จากจีน เปิดตัวสู่ตลาดไทย นั่นคือ Temu ในเครือ Pinduoduo หนึ่งในยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซในจีน ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้โมเดล Group Buying หรือรวมกลุ่มกันซื้อ จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่ง Alibaba, JD.com

ยุทธศาสตร์ธุรกิจของ Pinduoduo Holding ต้องการขยายออกนอกประเทศจีน จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่ในชื่อ Temu ใช้โมเดล Cross-border E-Commerce เน้นนำสินค้าจากโรงงานจีนในหลากหลายหมวดหมู่ มาจำหน่ายในราคาถูก เพื่อกระจายสินค้าจีนออกสู่ตลาดโลก โดยปักหมุดที่แรกคือสหรัฐอเมริกาในปี 2022 จากนั้นขยายไปยังหลายประเทศในยุโรป

E-Commerce Trends 2024_Pinduodou
Photo Credit: Ascannio / Shutterstock.com

กระทั่งปี 2023 ที่ผ่านมา Temu ขยายสู่ตลาดเอเชียตะวันออกกเฉียงใต้ โดยเลือกปักหมุดแห่งแรกที่ฟิลิปปินส์ ต่อด้วยมาเลเซีย นี่จึงเป็นสัญญาณว่าอีกไม่นาน Temu จะขยายมายังตลาดไทย

Temu ในอเมริกา และยุโรป ได้ผลตอบรับดีมาก ติด Top Chart เพราะมีซัพพลายดี คือ เอาสินค้าจีน ราคาดีมาทำตลาด เน้นอัดโปรโมชั่น และทำระบบโลจิสติกส์ดี เพื่อขายไปในหลายๆ ประเทศ ซึ่งปี 2023 ขยายมายังตลาดฟิลิปปินส์ และมาเลเซียแล้ว จึงคาดการณ์ว่าอย่างไรต้องมาประเทศไทย คิดว่าน่าจะปี 2024

สะท้อนให้เห็นว่าจากตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัลในไทย และขนาดตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยที่มีมูลค่ามหาศาล “Pinduoduo” มองว่ายังมีโอกาสในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอีกมากที่จะเข้ามาท้าชิง

“โมเดลประเทศจีนตอนนี้คือ มี Mission ชัดเจนว่าเอาสินค้าจีนออกสู่ตลาดโลก และสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรกว่า 600 ล้านคน” CEO & Co-Founder แห่ง Priceza ขยายความเพิ่มเติม

E-Commerce Trends 2024_Pinduodou-TEMU
Photo Credit: yanishevska / Shutterstock.com

 

เม็ดเงินโฆษณา “Affiliate Marketing” โต

ปี 2023 แบรนด์ใช้กลยุทธ์ Affiliate Marketingที่ให้ Influencer หรือ KOLs โปรโมทสินค้า หรือรีวิวสินค้า และจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบ Commission มากขึ้น จนทำให้เม็ดเงินโฆษณา Affiliate Marketing เติบโต

ข้อมูล DAAT คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาผ่าน Affiliate Marketing อยู่ที่ 949 ล้านบาท เติบโต 114% เมื่อเทียบกับปี 2022 ซึ่งข้อมูลจาก DAAT สะท้อนถึงทิศทางแบรนด์ใหญ่ หรือแบรนด์ระดับโลก ขยับมาใช้กลยุทธ์นี้มากขึ้น และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับแบรนด์ต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรมใช้ Affiliate Marketing เช่นกัน

ในปี 2024 Affiliate Marketing ยังคงมีบทบาทต่อการทำการตลาดและการขาย เพราะคนไทยเปิดรับคอนเทนต์ผ่าน Social Media และชอบตาม Influencer ดังนั้นจะเห็น Influencer หันมาทำ Affiliate Marketing มากขึ้น

E-Commerce Trends 2024-Affiliate Marketing

“ที่ผ่านมา Influencer ในไทยส่วนใหญ่อยากรับค่าตอบแทนเป็นค่าตัว ขณะที่โมเดล Affiliate Marketing แบรนด์ว่าจ้าง Influencer ให้รีวิวสินค้า และได้รับเป็นค่า Commission นั้น โตในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก

เพราะ Influencer มองว่าเอาสินค้าไปรีวิว แล้วจะขายได้ไหม จะได้เงินค่า Commission หรือเปล่า แต่ Affiliate Marketing เริ่มโตเป็นทวีคูณในยุค TikTok เนื่องจากเอื้อให้ influencer รีวิว และมีโอกาสในการขายสูงกว่าแพลตฟอร์ม Social Media อื่น เนื่องจากทั้งหมดอยู่ในแอปฯ เดียว

ขณะที่แพลตฟอร์มอื่น เช่น Facebook ถูกออกแบบเพื่อเป็น Social Media ที่มีรายได้หลักจากค่าโฆษณา ไม่ได้ออกแบบเป็นแพลตฟอร์มที่ปิดการขายได้ในตัวเอง ทำให้เมื่อเข้ามาใน Facebook แล้ว นักช้อปกดออกไปซื้อที่ไหนก็ได้ หรือแพลตฟอร์ม E-Marketplace ก่อนตัดสินใจซื้อ ผู้ใช้งานจะเปรียบเทียบราคาจากหลายแหล่งก่อน

ดังนั้นเมื่อ Influencer ปิดการขายได้สูง จึงทำให้โมเดล Affiliate Marketing คุ้มสำหรับ Influencer โดยบางคนยอมลดค่าตัวลงมา และได้ค่า Commission ด้วย หรือบางคนยอมไม่รับค่าตัว แต่รับเป็นค่า Commission ส่งผลให้ Affiliate Marketing ในไทยเริ่มโตขึ้น และแพลฟตอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น เช่น Shopee, LAZADA ต้องปรับตัว ด้วยการให้ค่า Commission ในอัตราที่สูงขึ้น” คุณธนาวัฒน์ ขยายความเพิ่มเติม

E-Commerce Trends 2024-Priceza

 

3 ปัจจัยพิจารณาการซื้อของผู้บริโภค “ความคุ้มค่า แบรนด์ ช่องทางการขาย”

ขณะที่เทรนด์ฝั่งผู้บริโภคต่อการช้อปอีคอมเมิร์ซ ให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยในการพิจารณาและตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ หรือร้านค้าของผู้ประกอบการ

1. ราคาคุ้มค่า

2. แบรนด์ดิ้ง และความน่าเชื่อถือ

3. ช่องทางการขายแบบ Omni-channel ครอบคลุมทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

“ปี 2024 ยังเป็นปีที่การแข่งขันอีคอมเมิร์ซยังคงดุเดือด มีความหลากหลายของช่องทางการขายมากกว่าปี 2023 และแต่ละช่องทางมีแพลตฟอร์มให้แบรนด์ หรือผู้ประกอบการได้เลือก ดังนั้นแบรนด์ หรือผู้ประกอบการควรมี “ช่องทางหลัก” แล้วขยายไปในหลากหลายช่องทางให้ครอบคลุม ไม่ยึดติดกับช่องทางใดช่องทางเดียว เพราะแบรนด์ที่จะทำ “กำไร” ได้ ต้องเป็นแบรนด์ที่กระจายในหลายช่องาง และลูกค้ามี Loyalty กลับมาซื้อซ้ำด้วยความมั่นใจ

นอกจากนี้การจะขายของให้กับลูกค้าไทยได้ในปี 2024 ต้องนำเสนอราคาคุ้มค่า เนื่องจากลูกค้าให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า คนจะซื้อสินค้าสักอย่าง พิจารณาว่าคุ้มค่าไหม อะไรที่ยังไม่จำเป็น ก็ชะลอไปก่อน รวมทั้งให้ความสำคัญกับด้านแบรนด์ดิ้ง ส่งมอบประสบการณ์ Personalization ให้ตรงความต้องการ ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ซึงการจะสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคลได้ Data คือหัวใจสำคัญ เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเป็นแบรนด์ที่ตรงใจ” คุณธนาวัฒน์ สรุปทิ้งท้าย

E-Commerce Trends 2024-Priceza


  • 199
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ