ผ่าวิธีคิดต้นแบบ Startup ไทยสู่แนวคิด Think Global กับ “พสิษฐ์ วิวัฒน์เกื้อกูล” CEO Obaki

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

Startup ยังคงเป็นธุรกิจที่ชวนหลงใหลโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ที่พยายามก้าวสู้สู่แวดวงธุรกิจในรูปแบบของ Founder ของ Startup ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะมีสตาร์ทอัพเป็นจำนวนมาก แต่มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถ Exit สู่ การทำธุรกิจในโลกความเป็นจริง หลายรายท้อแท้และสิ้นหวังไปก่อนที่จะลงมือทำ และหลายธุรกิจก็ยุติบทบาทไปหลังไม่สามารถระดมทุนได้

วันนี้ Marketing Oops! ชวนมาเปิดมุมมองของ Startup ใหม่ กับคนไทยที่ไปอยู่ใน Silicon Valley และสร้างธุรกิจ Startup ที่สามารถ Exit ได้กว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งหลายคนมองว่า ที่สหรัฐฯ มีความพร้อมในหลายๆ ด้านที่เอื้อให้ธุรกิจ Startup เติบโตได้ง่าย แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่องกันเลยกับผู้ชายที่หลงใหลเสียงดนตรีแนวร็อค คุณพสิษฐ์ วิวัฒน์เกื้อกูล CEO Obaki

 

Startup ใน USA ไม่ง่ายอย่างที่คิด

สิ่งแรกที่คุณพสิษฐ์พูดถึงการสร้างธุรกิจ Startup ที่สหรัฐฯ คือ การยอมรับว่ามีโอกาสมากสำหรับธุรกิจ Startup จริง แต่ก็ต้องมาพร้อมกับการทำงานหนัก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก แล้วต้องทำมากกว่าคนอื่นถึง 10 เท่า โดยธุรกิจแรกของคุณพสิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จมีชื่อว่า “Music Freelancer” ที่สามารถ Exit ได้มูลค่าสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1,500 ล้านบาท

ซึ่งที่มาของ Platform ดังกล่าวเกิดจากการที่คุณพสิษฐ์อยู่ในค่ายเพลงเยอรมัน แล้วมองเห็น Pain Point ของนักดนตรี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีงานแม้จะมีชื่อเสียงก็ไม่สามารถหางานได้ จึงมีการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ Pain Point เหล่านั้น และพยายามทำจนสำเร็จ โดยการพัฒนา Platform ทั้งหมดเป็นการทำด้วยตัวเองเพียงคนเดียว เพราะไม่มีเงินทุนจะไปจ้างใคร

โดยคุณพสิษฐ์จะขับรถแวนส่วนตัวไปทั่วประเทศสหรัฐฯ โดยจะนำ Platform ไปให้นักดนตรีต่างๆ และนักศึกษามหาวิทยาลัยได้ลองใช้ รวมไปถึงการขับไปเคาะประตูหน้าบ้านของเหล่า VC แล้วนำเสนอผลงาน และให้ VC เหล่านั้นระดมทุนมาใช้ในการพัฒนา Platform ต่อไป ซึ่งทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลานานถึง 7-8 ปีกว่าจะสำเร็จ

 

Obaki เดินทางสู่ฐานธุรกิจประเทศไทย

ในช่วงปี 2020 คุณพสิษฐ์รู้สึกว่า ประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่เศร้า อันเนื่องมาจากหลายธุรกิจต้องปิดตัวลงไป ทำให้เกิดความรู้สึกอยากกลับเข้ามาช่วยเหลือประเทศไทย และยังคิดว่ากรุงเทพฯ น่าจะเหมาะกับ Platform ใหม่ที่กำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน อย่าง Obaki โดยจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานธุรกิจ ซึ่ง Obaki จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ของคนไทยมีโอกาสได้ฟื้นคืนความสุขใหม่อีกครั้ง

โดยแพลตฟอร์ม Obaki เกิดขึ้นมาด้วยแนวคิดการสร้างงานให้คน ซึ่งคุณพสิษฐ์มองว่า DNA ของคนไทย คือ การทำอาหาร แต่หากไม่มีทุนในการสร้างร้านอาหารก็แค่มาลงทะเบียนใน Platform Obaki แล้วเปิดร้านขายได้เลย สามารถไปเปิดร้านขายที่ไหนก็ได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเกิดจากการไปเที่ยวแล้วต้องการจะทานอาหารในบริเวณที่มีวิวสวยๆ สามารถเรียกเชฟและความบันเทิงต่างๆ มารวมตัวกันในที่นั้น

ซึ่ง Platform Obaki วางแผนจะเปิดให้บริการทั่วโลก โดยในปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วที่ประเทศเนปาล อินเดีย สหรัฐฯ และที่ประเทศไทย โดยเร็วๆ นี้มีแผนเตรียมจะเข้าสู่ตลาดประเทศเวียดนามเพิ่มเติม แน่นอนว่าการไปรุกตลาดคนเดียวค่อนข้างลำบาก ทำให้คุณพสิษฐ์มองหาพันธมิตรที่รู้จักวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่นั้นๆ เพื่อช่วยให้เข้าถึงตลาดนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยมองว่าตลาดประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจที่สุด เพราะประเทศไทยมีการท่องเที่ยวที่ดี อาหารอร่อยและยังเป็นแหล่งรวมความบันเทิงระดับโลก

คุณพสิษฐ์ ย้ำว่า ไม่ต้องบอกว่า Obaki จะเข้ามา Disrupt ธุรกิจอาหารในประเทศไทย แต่อยากให้มองว่า Obaki เป็นตัวเลือกที่จะเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจอาหารในประเทศไทย ให้มีโอกาสในการเข้าถึงตลาดได้กว้างมากขึ้น ง่ายมากขึ้น

 

เตรียมความพร้อมก่อนรุกตลาด

สิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณพสิษฐ์มั่นใจว่า Obaki จะสามารถประสบความสำเร็จได้ นั่นเป็นเพราะก่อนรุกไปในประเทศต่างๆ มีการทำ A/B Test หลายรอบ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าข้อมูลเหล่านั้นบอกว่าประเทศนี้ไม่เวิร์คกับ Obaki คุณพสิษฐ์จะไม่มองประเทศนั้นทันที เพราะหากเข้าไปก็ไม่สามารถแข่งขันได้ หมายความว่าทุกประเทศที่ Obaki เข้าไปบุกตลาดจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่า เหมาะสมกับ Obaki

คุณพสิษฐ์ ยังมองว่า ถ้าไม่ศึกษาประเทศนั้นหรือไม่มีพันธมิตรที่ดีในประเทศนั้น ก็คงจะทำธุรกิจในประเทศนั้นได้ยาก นั่นเพราะว่าไม่เคยอยู่ในประเทศเหล่านั้น และไม่รู้ว่าวัฒนธรรมของเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไร นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ต้องมีการเก็บข้อมูลของประเทศเหล่านั้น และต้องศึกษาวัฒนธรรมของพวกเขาเหล่านั้น รวมถึงต้องศึกษาถึงความพร้อมของประเทศเหล่านั้น เช่น มีเทคโนโลยีเพียงพอหรือไม่

 

Startup ไทยเก่ง แต่ยังกลัวเกินไป!!!

คุณพสิษฐ์ ยอมรับว่า Startup ไทยเก่งมีมาก แต่หากต้องการสู้กับ Startup ต่างชาติ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ อย่ากลัว!!! เพราะการแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี โดยคุณพสิษฐ์แนะนำให้ลองเริ่มจากการเข้า Social Media อย่าง LinkedIn, Twitter หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็น Community แล้วลองเอาตัวเข้าไปอยู่ในนั้น สร้างเพื่อนในกลุ่มเหล่านั้นดู จากนั้นลองถามไปว่า หากอยากเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านั้นมีใครแนะนำให้ได้บ้าง และถ้าอยากเข้าไปในประเทศนั้นจริงๆ ก็จะต้องพยายามหาทางเข้าไปในประเทศนั้นให้ได้

นอกจากนี้ Startup ไทยต้องเรียนรู้วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของฝรั่ง คือ การสร้าง Connection โดยเฉพาะพวกฝรั่งเขาจะแนะนำแล้วพาไปรู้จักคนอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิด Connection เชื่อมต่อออกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดการรับรู้กันในวงกว้างเป็นลูกโซ่ บางครั้งบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดแต่ไม่มี Connection ก็ทำให้ไม่มีใครรู้จักได้เช่นกัน

ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับธุรกิจ Startup ว่าต้องการไปแข่งขันในระดับโลกหรือไม่ ซึ่งธุรกิจ Startup สามารถเริ่มได้จากการไปร่วมงานกับผู้บริหารระดับโลก ช่วยทำให้ธุรกิจ Startup เป็นที่จดจำของผู้บริหารเหล่านั้น หรือการไปออกงานสัมมนาต่างๆ โดยเฉพาะงาน Web Summit โดยเท่าที่คุณพสิษฐ์สังเกตมา เด็กไทยที่ไปงาน Web Summit ส่วนใหญ่จะยืนนิ่งๆ ไม่สร้างจุดโดดเด่น แตกต่างจาก Startup ที่มาจากลาว เกาหลี เวียดนาม พวกนั้นจะทำอะไรแปลกๆ เพื่อดึงดูดความสนใจและเรียกทุกคนที่เดินอยู่ให้เข้ามาเยี่ยมชมที่บูธ

Startup ไทยต้องเรียนรู้ว่า ฝรั่งหากเห็นว่าคุณกล้ารุกตลาด เขาจะชอบมาก ในทางกลับกันถ้าเห็นยืนนิ่งๆ หรือไม่ทำอะไรเลย เขาจะมองว่าคุณอ่อนแอและไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเข้าไปร่วมลงทุนกับคุณ ที่สำคัญ Startup ไทยควรสร้าง Connection ให้ได้มากๆ โดยเฉพาะกับนักลงทุน ไม่ว่านักลงทุนจะไปอยู่ที่ไหนก็ควรจะเกาะติดเพื่อเข้าไปร่วมกิจกรรมกับนักลงทุน ถ้าอยากได้เงินทุนจริงๆ ก็ต้องลงมือพยายามทำเพื่อให้ได้เงินทุนเหล่านั้นมา

สิ่งสำคัญที่สุดที่ คุณพสิษฐ์ฝากไว้ คือ Startup ไทยควรเรียนรู้ไว้ ถ้าใครบอกว่า “ไม่ใช่” นั่นคือทางที่ “ใช่” ที่สุด เพราะถ้ามันไม่เวิร์คที่เมืองไทยก็ยังมีอีก 8,000 ล้านคนทั่วโลกที่อาจจะเวิร์คกับความคิดเหล่านั้นก็ได้ อีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญคือความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะต่อให้มีเงินจำนวนมาก มีทีมที่แข็งแกร่ง แต่ถ้าไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองก็ไปต่อไม่ได้ และต้องทำสิ่งเหล่านั้นให้สนุก คิดนอกกรอบอยู่ตลอดเวลา หมายถึงถ้าใครทำไปในทิศทางเดียวกันลองคิดย้อนกลับ มันอาจจะดียิ่งขึ้นกว่าเดิมก็ได้ ต้องลองทำให้หมดทุกอย่าง ลองดูหลายๆ ทาง เพราะสุดท้ายถ้ามันทำสำเร็จซักอย่างนั่นก็ถือว่า…โอเค!!!


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา