ภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย “อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ” ยังคงเป็น Growth Engine ในการขับเคลื่อนการเติบโต สะท้อนให้เห็นว่าการซื้อขายอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace, Social Commerce, Chat Commerce, Quick Commerce รวมไปถึงช่องทางของเชนค้าปลีกและแบรนด์เองอย่าง E-tailers เป็นช่องทางการซื้อขายหลักที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว
เพื่ออัปเดตภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้ และทิศทางของหนึ่งใน Major player ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยและในภูมิภาคนี้อย่าง LAZADA (ลาซาด้า) Marketing Oops! ได้มีโอกาสสนทนากับ “คุณวาริสฐา เกียรติภิญโญชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LAZADA ประเทศไทย และถือเป็น CEO หญิงคนไทยคนแรกของ LAZADA จะพาไปเจาะลึกเทรนด์อีคอมเมิร์ซ และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจปี 2025
![CEO-LAZADA-Thailand](https://cdn.marketingoops.com/wp-content/uploads/2025/02/CEO-LAZADA-Thailand-1.jpg)
E-Commerce Landscape 2025: เข้าสู่ยุค AI ยกระดับประสบการณ์ผู้ขาย–นักช้อป
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมีพัฒนาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงวันนี้ยังเป็น Sector ที่มีการเติบโตสูงในระดับ double digit โดยปี 2024 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราการเติบโต 19% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคาดการณ์ว่าในปี 2030 จะอยู่ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 ล้านล้านบาท ด้วย Market Size ดังกล่าว ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคนี้ รองจากอินโดนีเซีย
“ในอดีตตลาดอีคอมเมิร์ซมุ่งเน้นราคา–โปรโมชั่น มุ่งขยายฐานลูกค้า และเน้นการเติบโตระยะสั้น แต่ทุกวันนี้ช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยมากขึ้น เมื่อมีความคุ้นเคยมากขึ้น ผู้ซื้อจึงมีความคาดหวังมากขึ้น ดังนั้นเทรนด์ชัดเจนของตลาดอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน การดำเนินธุรกิจบนกลยุทธ์ระยะยาวมากขึ้น และมุ่งเน้นการสร้าง Engagement มากขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ซื้อ ทำให้ผู้ซื้อกลับมาใช้อย่างสม่ำเสมอ และบ่อยมากขึ้น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมานอกเหนือจากราคาและโปรโมชั่น คือ “ประสบการณ์การช้อปปิ้ง” ที่ผู้ซื้อมองหา ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาสินค้าแล้วเจอสิ่งที่เฉพาะเจาะจงเหมาะสำหรับเขา การจัดส่งรวดเร็วทันใจ รวมไปถึงบริการหลังการขาย เช่น นโยบายการคืนของ และนโยบายคืนเงิน เป็นต้น นั่นหมายความว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องมี Ecosystem ที่แข็งแกร่งและครบครัน” คุณวาริสฐา ฉายภาพพัฒนาการและทิศทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซนับจากนี้
พร้อมขยายความเพิ่มเติมถึงสิ่งที่จะปรากฏชัดเจนขึ้นในปี 2025 ไว้อย่างน่าสนใจว่า
1. เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทในการยกระดับประสบการณ์ของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ
– ฝั่งผู้ขาย: แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนำเทคโนโลยี AI มายกระดับให้ผู้ขายบริหารการขายได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น รูปสินค้า การอธิบายรายละเอียดสินค้า
– ฝั่งผู้ซื้อ: แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนำ AI มาใช้แนะนำสินค้าให้เหมาะสมเฉพาะบุคคลมากขึ้น และพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ช่วยให้ผู้ซื้อตัดสินใจง่ายขึ้น
2. หมวดหมู่สินค้าแฟชั่น และบิวตี้ เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2025
– ปัจจุบันหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น และความงาม คิดเป็นสัดส่วน 47% ของผู้ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์
– กว่า 70% ของผู้ซื้อออนไลน์กลุ่มสินค้าความงาม กลับมาซื้อออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ
ปัจจัยที่ทำให้หมวดหมู่สินค้าแฟชั่น และสินค้าความงามเป็นอันดับ 1 ของอีคอมเมิร์ซ มาจากลูกค้าเปลี่ยนจากซื้อช่องทางออฟไลน์ มาเป็นออนไลน์มากขึ้น อาจเพราะด้วยโปรโมชั่นราคาสินค้า ความหลากหลาย และประสบการณ์การช้อปที่สนุกสนานมากขึ้น อย่างการพัฒนาฟีเจอร์ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่นำ AR, VR มาใช้ เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลอง เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อ
“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของความคาดหวังจากผู้บริโภคมาโดยตลอด ตั้งแต่วันแรกที่ LAZADA เข้ามาตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้ เกือบ 13 ปีที่แล้ว เน้นสร้างความเชื่อใจ หรือ Trust การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นเรื่องที่ปลอดภัย และเราเริ่มให้บริการ Cash on Delivery
ตลอดจนบริการจัดส่งฟรี พัฒนามาถึงความรวดเร็วในการจัดส่ง ซึ่ง LAZADA มี In-house Logistic คือ LAZADA Express ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังร่วมกับพาร์ทเนอร์โลจิสติกส์ชั้นนำ ทำให้ปัจจุบันกว่า 95% ของสินค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถจัดส่งภายในวันถัดมา”
ชู 3 กลยุทธ์รุกตลาดอีคอมเมิร์ซ
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจ LAZADA ในปี 2024 สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับตลาดอีคอมเมิร์ซ นั่นคือ ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของ LAZADA Group ซึ่งทำตลาดครอบคลุม 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย, ไทย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์ สร้างผลกำไรเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคนี้
“ผลกำไรเป็นบวกสะท้อนกลับมาว่ากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของเรา และกระบวนการทำงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว พิสูจน์แล้วว่ายั่งยืนได้ สามารถทำให้เราสร้างผลกำไร สำหรับ LAZADA ประเทศไทย เติบโตเฉลี่ย 20% สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้”
สำหรับปี 2025 LAZADA เดินหน้ารุก 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย
กลยุทธ์ 1: เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อเนื่อง
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญเพื่อยกระดับประสบการณ์ ทั้งของผู้ขายและผู้ซื้อ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของแพลตฟอร์ม เพื่อตอบโจทย์ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการขายให้กับผู้ขาย และสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งให้กับผู้ซื้อได้เฉพาะบุคคล (Personalized Experience)
ตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ LAZADA ได้ลงทุนพัฒนา เช่น
– นำเทคโนโลยี AR และ VR มาใช้พัฒนาฟีเจอร์ “Virtual Try-On” ช่วยให้ลูกค้าสามารถทดลองแต่งหน้าเสมือนจริงได้ และทำ Skin Test ด้วยฟีเจอร์วิเคราะห์ปัญหาผิว เพื่อยกระดับประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าหมวดความงามบน LazBEAUTY ที่ช่วยให้ลูกค้าได้เจอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตัวเอง และทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจขึ้น
– พัฒนา Gen AI “Lazzie” ผู้ช่วยช้อปปิ้งส่วนบุคคลให้บริการ 24 ชั่วโมง และถือเป็นแชทบอท AI แรกของอีคอมเมิร์ซที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี OpenAI ChatGPT ให้คำแนะนำเฉพาะบุคคล พร้อมทั้งแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มนำร่องให้บริการแล้วใน 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อปี 2024 และสำหรับประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มแนะนำฟีเจอร์นี้ภายในปีนี้
![LAZADA AI Lazzie](https://cdn.marketingoops.com/wp-content/uploads/2025/02/LAZADA-AI-Lazzie-2-1.png)
“สิ่งที่เราเห็นมาตลอดในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภค คือ ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการค้นหาผ่าน Search Engine มาเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ดังนั้น LAZADA ในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ต้องทำให้ผู้บริโภคที่มาเสิร์ชแล้ว รู้สึกพึงพอใจมากที่สุด ส่วนหนึ่งมาจาก algorithm ของเราที่แสดงผลการเสิร์ชได้อย่างเฉพาะเจาะจง ตอบโจทย์ personalization
เช่น เสิร์ชคำว่าเสื้อ การแสดงผลการค้นหาแต่ละคนไม่เหมือนกัน มาจาก Big Data และเทคโนโลยี AI ของเรา นอกจากนั้นอีกสิ่งที่เราพัฒนาต่อเนื่องคือ ทำให้การเสิร์ชง่ายขึ้น อย่างการเพิ่ม Image search สามารถค้นหาจากภาพถ่ายได้
และต่อไป LAZADA ประเทศไทยจะมี Personal Assistance ผู้ช่วยช้อปปิ้งให้กับลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง วิธีใช้เหมือนพิมพ์ Chatbot AI ระบุว่าต้องการหาสินค้าอะไร หรือใส่คำอธิบายเพิ่ม “AI Lazzie” จะแนะนำสินค้าที่ตรงใจ พร้อมคำแนะนำ การเปรียบเทียบราคา การใช้คูปอง เพื่อให้ได้ส่วนลดมากที่สุดแก่ลูกค้า”
![AI Lazzie](https://cdn.marketingoops.com/wp-content/uploads/2025/02/LAZADA-AI-Lazzie-1.png)
– LAZADA Sponsored Solutions ศูนย์รวมเครื่องมือการโปรโมทแบบครบวงจร (end-to-end) ครอบคลุมทั้งบนแพลตฟอร์มและนอกแพลตฟอร์ม LAZADA เพื่อช่วยให้ผู้ขายและแบรนด์ขยายปริมาณการเข้าชม และยอดขาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานผ่านข้อมูลเชิงลึก เช่น
- Sponsored Affiliate: เครื่องมือโปรโมทสินค้าให้กับลูกค้านอกแพลตฟอร์ม โดยผ่านเครือข่ายพาร์ทเนอร์ของ LAZADA เพื่อนำผู้ซื้อที่อยู่นอก LAZADA เข้ามาในแพลตฟอร์ม LAZADA ช่วยเพิ่มโอกาสการขายให้กับผู้ขาย หรือแบรนด์
- Collaborative Ads (Sponsored Media): เครื่องมือการโปรโมทผ่านสื่อนอก ช่วยโปรโมทสินค้าให้กับลูกค้าภายนอก LAZADA ผ่าน Meta และ Google โดยร้านค้าสามารถสร้างแคมเปญโฆษณาได้จาก Lazada Seller Center ได้โดยตรง
- Direct Matching KOLs Affiliate: เครื่องมือการโปรโมทผ่านพาร์ทเนอร์ KOLs เป็นฟีเจอร์อัปเกรดใหม่ที่ LAZADA เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว เพื่อให้ร้านค้า/ผู้ขายสามารถเลือกพาร์ทเนอร์ KOLs เพื่อโปรโมตสินค้าได้ด้วยตนเอง ด้วยโปรแกรม Direct Matching จากในอดีตเป็นระบบ Auto Matching ซึ่งการให้ผู้ขายเลือก KOLs ได้เองนั้น จะทำให้ได้ KOLs ตรงกับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ดิ้งของร้านค้าที่ต้องการโปรโมทด้วยเช่นกัน
– กลยุทธ์ Gamification เข้ามาใช้ในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้งานในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมและการสะสมเหรียญเพื่อแลกเป็นสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในปี 2024 ที่ผ่านมา กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยเพิ่มยอดขายบนลาซาด้าได้กว่า 200% ในขณะที่นักช้อปก็สามารถประหยัดเงินไปได้มากถึง 170 ล้านบาทจากการสะสมเหรียญ LazCoins ตลอดปี
นอกจากนี้ที่ผ่านมา LazGame ได้รับผลตอบรับที่ดีเป็นอย่างมากในประเทศไทย โดยมีผู้เล่นเกมกว่า 1 ล้านคนต่อวัน ซึ่งนักช้อปกลุ่มนี้มีการใช้งานแอปพลิเคชันนานกว่าค่าเฉลี่ยของแพลตฟอร์มถึง 3 เท่า และราว 82% กลับมาใช้งานแอปพลิเคชันเป็นประจำทุกวัน
กลยุทธ์ 2: เข้าใจ Demand-driven เพิ่มความหลากหลายของหมวดหมู่สินค้า
ขึ้นชื่อว่าเป็นแพลตฟอร์ม Marketplace หนึ่งในหัวใจสำคัญคือ หมวดหมู่สินค้าที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกไลฟ์สไตล์
โดยหมวดหมู่สินค้าที่ LAZADA ให้ความสำคัญมาตลอดจนกลายเป็นจุดแข็งของแพลตฟอร์มมาถึงทุกวันนี้ และเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมช้อปผ่านช่องทางออนไลน์ คือ
– LazMall: รวมสินค้าแบรนด์ชั้นนำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยรับประกันสินค้าแบรนด์แท้ 100% พร้อมด้วยนโยบายบริการหลังการขายต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ และมอบดีล หรือสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นรับประกันการจัดส่งสินค้าภายในเวลาที่กำหนด, สามารถคืนสินค้า/คืนเงินภายใน 30 วัน, โปรแกรม Brand Membership เชื่อมต่อกับระบบสมาชิกของแบรนด์ร้านค้า เช่น สะสมแต้ม เอามาแลกสิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ สินค้าทดลอง คูปองส่วนลดของแบรนด์
ปัจจุบัน LAZADA ได้ขยายหมวดหมู่สินค้าบน LazMall มากขึ้น เช่น LazMall Luxury รวบรวมสินค้าลักชัวรีระดับโลกไว้บนแพลตฟอร์ม อาทิ LA MER, ESTEE LAUDER, SK-II, Paul Smith, POLO Ralph Lauren, CALVIN KLEIN, Dyson, BANG & OLUFSEN, Smeg และเตรียมจับมือกับแบรนด์ชั้นนำรายอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแบรนด์บิวตี้ระดับไฮเอนด์ที่จะเปิดร้านค้าออนไลน์เป็นครั้งแรกในไตรมาสแรกนี้
– LazBeauty: รวมผลิตภัณฑ์ความงาม พร้อมทั้งมีโปรแกรม LazBeauty Membership เพื่อให้ลูกค้าสะสมคะแนน ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกกว่า 1 ล้านคน โดยฐานสมาชิกมีอัตราการเติบโตกว่า 30% ซึ่งการพัฒนาระบบสมาชิก ช่วยสร้าง loyalty ให้กับแพลตฟอร์มในการดึงลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำเรื่อยๆ
– LazLOOK: แหล่งรวมแฟชั่น ทั้งแบรนด์และสไตล์ที่หลากหลาย ตั้งแต่แบรนด์ลักชัวรี ไปจนถึงแบรนด์ในโซเชียลมีเดีย ราคาเข้าถึงได้ ตลอดจนประสบการณ์ที่เอื้อให้นักช้อปเปรียบเทียบสินค้า ราคา และรีวิว ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
หนึ่งในกลุ่มสินค้าแฟชั่นที่นักช้อปไทยให้การตอบรับ คือ แบรนด์แฟชั่นไทย ติดอันดับขายดีอย่างต่อเนื่อง อย่างในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา (ตุลาคม-ธันวาคม 2024) มียอดขายบน LAZADA เติบโตขึ้นถึง 50% โดยมีแบรนด์อย่าง endless holiday, lookbooklookbook, Greyscale Studio ที่ exclusive บน LAZADA อยู่ในกลุ่มสินค้าขายดี
นอกจาก 3 หมวดหมู่สินค้าดังกล่าว LAZADA ยังได้ขยายอีก 2 หมวดหมู่ เพื่อให้เข้าถึงทุกไลฟ์สไตล์มากขึ้น
– LazMart: ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว มีสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งของสดของของแห้ง เช่น เนื้อสัตว์ ผัก น้ำดื่ม ข้าวสาร เส้นพาสต้า โดยลูกค้าสามารถเลือกวันและเวลาจัดส่งได้เอง
– LazTravel: รวมที่พัก ตั๋วเครื่องบิน กิจกรรม และแหล่งท่องเที่ยวครบในที่เดียว เป็นอีกหมวดของ LAZADA ที่เติบโตต่อเนื่องทุกไตรมาส อย่างไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ช่วงแคมเปญใหญ่ 11.11 “LazTravel” มียอดขายโตถึง 200%
“หมวดหมู่สินค้าที่ LAZADA ให้ความสำคัญ มาจาก Demand-driven เราเห็นเทรนด์ตลาด และความต้องการของผู้บริโภค หมวดหมู่ไหนมีการเติบโตค่อนข้างมาก มาแรง ผู้บริโภคให้ความสนใจค้นหา อย่าง LazBeauty, LazLOOK, LazMall ที่เราเน้นมาโดยตลอด และพฤติกรรมผู้บริโภคเน้นซื้อผ่านออนไลน์ค่อนข้างบ่อย
ขณะเดียวกันในตลาดก็มีช่องว่างในส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ที่นำเสนอสินค้าครบครันจริงๆ จึงเป็นที่มาของ LazMart ซึ่งช่วยเพิ่มความถี่ในการจับจ่ายใช้สอยบนแพลตฟอร์มมากขึ้นด้วย รวมทั้งความต้องการด้านท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เป็นที่มาของ LazTravel”
กลยุทธ์ 3: แคมเปญการตลาดและส่งเสริมการขาย
อีกหนึ่งกลยุทธ์หลักที่อยู่คู่ LAZADA มาโดยตลอด คือ แคมเปญการตลาดและส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะแคมเปญ Double Day ต้องถือว่า LAZADA เป็นผู้บุกเบิกในภูมิภาคนี้ก็ว่าได้ อย่าง 11.11
ปัจจุบันแคมเปญของ LAZADA มี 3 ประเภทหลัก และได้ขยายระยะเวลาการจัดให้ยาวขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทั้งฝั่งผู้ขายเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ส่งผลต่อยอดขายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันด้านผู้ซื้อได้มีเวลาช้อปมากขึ้น
– Mega Campaign แคมเปญใหญ่ที่จัดไตรมาสละครั้ง เริ่มจากเดือนมีนาคม 3.3 และวันที่ 27 มีนาคมนี้ เป็นวันเกิด LAZADA ครบรอบ 13 ปี จากนั้นช่วงกลางปีมี 6.6, 9.9 และเข้าสู่ช่วงปลายปี 11.11, 12.12 ซึ่งเป็น Original Mega Campaign ที่อยู่คู่กับ LAZADA มายาวนาน
เดิมทีระยะเวลาการจัด Mega Campaign 3 วันต่อแคมเปญ แต่ล่าสุดแคมเปญ 11.11, 12.12 ที่ผ่านมา ได้ขยายเป็น 5 วัน รวมทั้งได้ขยายเวลาการช้อป จากเริ่มตอนเที่ยงคืน ปัจจุบันเริ่มตั้งแต่ 20.00 น. เนื่องจากเห็น Customer Insights ผู้ซื้ออยากได้คูปองเร็วขึ้น ไม่อยากรอถึงเที่ยงคืน ซึ่งดึกเกินไป LAZADA จึงขยายเวลาการช้อปให้เร็วขึ้นอีก 4 ชั่วโมง ผลปรากฏว่าได้การตอบรับดีทั้งจากผู้ซื้อ และผู้ขายที่ทำให้ช่วยขยายฐานลูกค้าให้กับร้านค้ามากขึ้น
– Mid Month แคมเปญทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน ปัจจุบันได้ขยายระยะเวลาการจัดจาก 1 วันเป็น 3 วันระหว่างวันที่ 15 – 17 ของเดือน และ แคมเปญ Payday จัดขึ้นทุกวันที่ 25 ของทุกเดือนจนถึงสิ้นเดือน สอดคล้องกับวันเงินเดือนออก
– แคมเปญประจำหมวดหมู่สินค้า วันจันทร์เป็นแคมเปญของ LazMart ต่อด้วยแคมเปญ LazBeauty Tuesday สำหรับหมวดหมู่สินค้าความงาม จัดขึ้นทุกวันอังคาร และในวันศุกร์นักช้อปพบกับ LazLOOK Friday
หนุนแบรนด์ไทย เติบโตไปด้วยกัน
นอกจากนี้อีกสิ่งที่ LAZADA ประเทศไทยมุ่งเน้นมาตลอด และเป็นพันธกิจใหญ่ คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านการสนับสนุนศักยภาพการขายของผู้ประกอบการไทย ซึ่งปัจจุบัน LAZADA จับมือกับผู้ประกอบการไทยในแต่ละหมวดหมู่สินค้า เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน
ตัวอย่างแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จบน LAZADA เช่น
– lookbooklookbook แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยที่เอ็กซ์คลูซีฟบน LAZADA และร่วมงานกับ LAZADA มา 8 ปี แบรนด์มีการใช้งานโซลูชัน Sponsored Discovery อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มการมองเห็นของร้านค้า ผ่านคำค้นหาและสินค้าแนะนำ และเคยได้รับ ROI สูงสุดเกือบ 140 เท่าของเม็ดเงินที่ลงทุนไป โดยในปี 2023 ยังได้การต่อยอดแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Lookbook Petite อีกด้วย
– Her Hyness แบรนด์สกินแคร์ที่อยู่กับ LAZADA มา 4 ปี และเป็นแบรนด์สัญชาติไทยแบรนด์เดียวที่ได้ยอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มสินค้าสุขภาพความงามทั้งหมดใน LAZADA ช่วงแคมเปญ 11.11 เทียบเคียงแบรนด์ระดับโลกถึง 2 ปีซ้อน โดยฟีเจอร์ของ LAZADA ที่แบรนด์ใช้ อย่าง Pre-Sale หรือการที่ผู้ขายสามารถรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าได้ก่อนแคมเปญ ทำให้ลูกค้าได้ดีลที่คุ้มค่า
– กระเทียมดำ B – Garlic ยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นให้เป็นสินค้าพรีเมียมเพื่อสุขภาพ ได้เปิด Flagship Store บน LazMall และประยุกต์ใช้เครื่องมือการตลาดต่าง ๆ ในการเจาะข้อมูลเชิงลึกของพฤติกรรมลูกค้าแบบเรียลไทม์ พร้อมนำมาปรับกลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขายและสร้างการรับรู้ของแบรนด์ รวมถึงเข้าร่วมแคมเปญต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น จัดดีลพิเศษเพื่อจูงใจลูกค้าใหม่ และเข้าร่วมโปรแกรม LazCoins เพื่อมอบสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับนักช้อปขาประจำ ผ่านการสะสมและแลกเหรียญเป็นส่วนลด
“โจทย์สำคัญในปี 2025 เราเน้นยกระดับประสบการณ์ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย หลังจากปีที่ผ่านมา เราเน้นลงทุนไปกับคูปอง เพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้ขายในด้านยอดขาย และผู้ซื้อได้ความคุ้มค่า” คุณวาริสฐา ย้ำถึงเป้าหมาย LAZADA ประเทศไทยในปีนี้
รู้จัก Culture & DNA ของชาว Lazadian
นับตั้งแต่ LAZADA เข้ามาปักหมุดในประเทศไทย ถึงวันนี้เป็นเวลา 13 ปีแล้วที่ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง คุณวาริสฐา ถือเป็นลูกหม้อคนหนึ่งของ LAZADA โดยเข้าร่วมงานตั้งแต่ปี 2016 และเติบโตมาพร้อมกับองค์กรแห่งนี้
โดยก่อนจะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LAZADA ประเทศไทย คุณวาริสฐา เคยดูแลด้าน Performance Marketing ทั้ง LAZADA ประเทศไทย และ LAZADA Group นอกจากนี้ยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ดูแลการดำเนินงานของร้านค้าต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม รวมถึงดูแลผู้ขาย ความหลากหลายและครบครันของสินค้า ตลอดจนการกำกับดูแลนโยบาย และระบบจัดการธุรกิจของผู้ขาย
คุณวาริสฐา เล่าประสบการณ์การทำงานในฐานะที่เป็น Lazadian คนหนึ่ง (คำเรียกพนักงานในองค์กร LAZADA) ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 9 ปีที่ร่วมงานกับ LAZADA ที่นี่ให้ความสำคัญกับ spirit การทำงานและวัฒนธรรมองค์กร ทั้งโครงสร้างองค์กรแบบ Flat, เปิดกว้าง, สร้างการมีส่วนร่วม ทำให้ทุกคนกล้าคิด กล้าพูด กล้าแชร์ไอเดีย หรือคำแนะนำ ไม่ว่าตำแหน่งเล็กหรือตำแหน่งใหญ่
“ด้วยความที่ตนเองร่วมงานกับ LAZADA ในหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะดูแลผู้ซื้อ ด้านการตลาด ดูแลผู้ขาย ดูแล Operation และเป็น COO มาก่อน กระทั่งขึ้นเป็น CEO เมื่อปีที่แล้ว ที่นี่ให้ความสำคัญกับพันธกิจ-เป้าหมาย และวัฒนธรรมองค์กรมาโดยตลอด
อย่างแรกเป้าหมายของ LAZADA ชัดเจนว่าเราต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย สร้างแรงกระเพื่อมในการผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจไทย อย่างที่สอง วัฒนธรรมองค์กร เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ยังมีวิถีการทำงานแบบสตาร์ทอัพ
เพราะฉะนั้นองค์กรเราผลักดันการมีส่วนร่วมของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมให้พนักงานแชร์ไอเดีย ประสบการณ์ หรือความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ รวมทั้งให้โอกาสในการเติบโต และทดลองทำ ถ้าทำแล้วไม่เวิร์ค ก็กลับมารีวิว ปรับแก้ หรือลองใหม่ ไม่ได้ปิดกั้น เพื่อ empower ให้พนักงานรู้สึกว่างานที่ทำมีความหมาย และมีส่วนร่วมในการผลักดันองค์กร ทำให้ DNA ของ Lazadian มีความกล้าคิด กล้าพูด กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ และมองไปข้างหน้าเสมอ”
จากพันธกิจ เป้าหมาย และวัฒนธรรมองค์กรของ LAZADA สอดคล้องกับหลักการทำงานและการใช้ชีวิตของ คุณวาริสฐา ใน 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก การให้ความสำคัญกับการรู้จักตัวเอง และค่านิยม (Values) ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเธอเองต้องการทำงานที่มีส่วนช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และผู้ประกอบการไทย เมื่องานที่ทำตรงกับค่านิยม หรือสิ่งที่ตัวเราให้ความสำคัญ จะทำให้รู้สึกว่างานที่ทำนั้น มีความหมายและเต็มที่กับงานในทุกวัน อีกเรื่องคือ กล้าออกจาก Comfort Zone เพื่อลองทำสิ่งใหม่
“หลังจบมหาวิทยาลัย ทำ Investment Banking อยู่ช่วงหนึ่ง ทำไปได้สักพัก รู้สึกว่าอาจไม่ใช่ทางของเรา จึงตัดสินใจออกจากงาน แล้วมาร่วมงานกับ LAZADA ณ วันนั้นอีคอมเมิร์ซยังใหม่มากในประเทศไทย และ LAZADA ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างทุกวันนี้
หรือในวันที่ถูกทาบทามให้ขึ้นมาเป็น CEO เป็นช่วงที่เพิ่งกลับมาจากลาคลอดได้ไม่นาน ช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง ต้องพยายามปรับตัว บริหารจัดการเวลาและพลังงานต่างๆ ทั้งการดูแลลูกและการทำงานให้ลงตัว แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เข้ามา เป็นโอกาส และกล้าที่จะคว้าเอาไว้”
สื่อสารชัดเจน – มี Small Win เติมไฟการทำงานให้กับทีม
ขณะที่สไตล์การทำงานของ คุณวาริสฐา ให้ความสำคัญกับการสื่อสารในองค์กรถึงพันธกิจ เป้าหมาย ทิศทางการดำเนินงาน และกลยุทธ์ต้องชัดเจน รวมทั้งสนับสนุนให้พนักงานคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้น และนอกจากเป้าหมายใหญ่ที่มุ่งเดินหน้าไป ในระหว่างทางมี Small Win เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้กับพนักงาน
“ด้วยความที่ตลาดอีคอมเมิร์ซมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งความคาดหวังของผู้บริโภค และตลาดโดยรวม เพราะฉะนั้นองค์กรต้องมีเป้าหมายชัดเจน เพื่อทำให้ทีมรู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ขณะเดียวกันพร้อมปรับตัวในการทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว ยืดหยุ่นได้มากที่สุด และในองค์กรเรามีการฉลอง Small Win อย่างเวลาจบแคมเปญ จะมี Townhall เพื่อขอบคุณทุกคน แชร์ผลลัพธ์ของแคมเปญ และมี Appreciation note ขอบคุณซึ่งกันและกัน ซึ่งการมี Small Win เหมือนเป็นการเติมไฟให้กลับมาลุกขึ้นเรื่อยๆ”
ทั้งหมดนี้คือ ทิศทางอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในยุค AI แน่นอนว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ทั้งในมิติของภาพรวมทั้งตลาด การแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์ม การขาย ตลอดจนความคาดหวังจากผู้บริโภคที่มากขึ้นตามมา ดังนั้นแพลตฟอร์มใดที่สามารถตอบโจทย์ “ประสบการณ์ ทั้งผู้ขาย/ร้านค้า และผู้ซื้อ” ย่อมสามารถขยาย Ecosystem ของตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และสร้างการเติบโตในระยะยาว ซึ่ง LAZADA กำลังมุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนเช่นกัน