พูดถึงการโฆษณาแล้วแน่นอนว่าร้านค้าแบบบ้านๆ ก็คงไม่มีใครซื้อโฆษณาบนสื่อ traditional advertising เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ บิลล์บอร์ด กันให้เสียเงินหรอก แม้ผู้ประกอบการหลายคนต่างแย้งว่าถ้าอยากดังเร็วก็ควรจะเสียเงินลงโฆษณาเสียหน่อย แต่สำหรับธุรกิจดังสุดเจ๋ง 4 แบรนด์นี้ พวกเขาไม่เคยจ้างเอเจนซี่โฆษณามาดูแลแบรนด์เลยจนถึงเวลาที่ธุรกิจกินลมบน (แต่พอธุรกิจมีขนาดใหญ่มากจึงค่อยจ้างเอเจนซีมาดูแล)
เทคนิคที่น่าสนใจของพวกเขาในการสร้างเนื้อสร้างตัวคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระดับรากหญ้า และเน้นการขายด้วยสายสัมพันธ์ที่ช่วยให้ธุรกิจ SMEs เจริญเติบโตกันมานักต่อนักแล้ว
Krispy Kreme Doughnuts
ภายใต้บรรยากาศที่ Starbucks, Wendy’s, McDonalds หรือแบรนด์เจ้าพ่ออาหารเช้า Taco Bell ปรากฏตัวบนสื่อโฆษณากระแสหลักกันหมด Krispy Kreme เป็นแบรนด์ที่ผุดขึ้นมาโด่งดังได้ด้วยการตลาดแบบ word-of-mouth หรือการบอกต่ออย่างแท้จริง “ทุกคนที่อยู่ที่ร้านคือนักมาร์เกตเตอร์ของเรา” ซีอีโอของแบรนด์เคยให้สัมภาษณ์กับ Forbes
เทคนิคของ Krispy Kreme คือการอาศัยคอนเนคชั่นของตัวเองที่มีผู้ติดตามกว่า 5 ล้านคนบน Facebook หากคุณเปิดเข้าไปดูเพจของพวกเขาจะเห็นแฟนๆ ถ่ายรูปเซลฟี่คู่กับโดนัทและอ้อนวอนให้พวกเขามาเปิดร้านใกล้ๆ บ้าน
Costco
ร้านค้าส่งที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแต่มีคอนเซปต์จำหน่ายสินค้าในราคาถูกมากๆ ผลประกอบการของพวกเขาจึงเติบโตสวนกระแสกว่า 4-5% ต่อไตรมาศ ปัจจุบันนี้ Costco เป็นแบรนด์รีเทลเลอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสหรัฐอเมริกา มีรายได้มากกว่า 1 แสนล้านดอลล่าร์ต่อปี ถือว่าเป็นแบรนด์ที่นำคอนเซปต์สินค้าถูกมาโดนใจผู้บริโภคเลยไม่ต้องพึ่งแรงโฆษณาให้มากมาย กลยุทธ์ของพวกเขามีเพียงคูปองลดราคา อีเมล์แจ้งส่วนลด และขายสินค้าแบรนด์เนมในราคาต้นทุน
Sriracha
ซอสพริกศรีราชาเป็นอีกแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จถล่มถลาย เพียงปีที่แล้วพวกเขาขายซอสพริกได้มากกว่า 20 ล้านขวด CEO David Tran ระบุว่าพวกเขาไม่เคยคิดมากเรื่องการตลาดแต่เอาเงินพวกนั้นมาพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีที่สุดดีกว่า ที่น่าตกใจคือ Tran ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยซ้ำว่าบนขวดของซอสพริกศรีราชามีภาษาอะไรบ้างกำกับไว้
ซอสพริกศรีราชายังไม่มีโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ของพวกเขาก็ไม่อัพเดทมากแล้วตั้งแต่ปี 2004 ศรีราชาถือเป็นแบรนด์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สุดยอดที่เหลือก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคเองดีกว่า
GoPro
แบรนด์กล้องอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังนี้มีประวัติการลงโฆษณา traditional advertising นิดหน่อยแต่ก็ไม่สามารถเทียบได้กับยอด subscribers กว่า 2.6 ล้านคนบน YouTube ของพวกเขาได้หรอก (สร้างยอดขายกล้องกว่า 3.8 ล้านตัวเมื่อปีที่แล้ว)
บน YouTube channel ของเขามีวีดีโอจากลูกค้าที่ใช้กล้องของพวกเขาถ่ายประสบการณ์โดดหน้าผา ท่องทะเล หรือเล่นสกี ไม่ว่ากีฬา extreme ที่คุณชอบจะเป็นอะไร คุณสามารถหาดูได้จากช่องของ GoPro เป็นส่วนใหญ่ นี่เป็นตัวอย่างของบริษัทที่รู้ว่าผู้บริโภคเป็นใครและคอนเทนต์ของพวกเขาควรไปในทิศทางไหน คอนเซปต์ของพวกเขาก็ชัดเจน: ซื้อ GoPro แล้วคุณจะได้มากกว่ากล้อง