จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการ ‘ให้’ และเป็นการให้แบบ ‘ยั่งยืน’ ประกอบกับไปงานศพของผู้ใหญ่ที่เคารพแล้วเห็นพวงหรีดดอกไม้สดนับร้อยถูกส่งมาความเคารพต่อผู้ล่วงลับ ที่ส่วนใหญ่มีโฟมและพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งพวงหรีดเหล่านี้มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 วัน ก็จะกลายเป็นขยะที่ต้องทิ้ง และใช้เวลาย่อยสลายนานเป็นร้อย ๆ ปี หรือหากเผาทำลาย ก็สร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม
ทำให้ ‘ปริชญ์ รังสิมานนท์’ ผู้ที่ทำงานในแวดวงเพื่อสังคมมานานหลายสิบปี เกิดปิ๊งไอเดียในการสร้างธุรกิจ ‘พวงหรีดกระดาษ’ ภายใต้ชื่อ ‘Carenation’ ขึ้นมาในรูปแบบของบริษัทที่มีการบริหารงานคล้ายกับ SE (Social Enterprise) หรือธุรกิจเพื่อสังคม โดยไม่เน้นทำกำไร แต่ต้องมีรายได้หล่อเลี้ยงให้บริษัทอยู่ได้ และมีการเติบโต เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปสมทบทุนให้กับองค์กรการกุศลหรือมูลนิธิกว่า 10 แห่ง อาทิ ศิริราชมูลนิธิ,กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ , มูลนิธิรามาธิบดี , กลุ่มลูกเหรียง , ยูนิเซฟ ฯลฯ
“ตัวผมบริจาคช่วยเหลือสังคมมานาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกเหรียง ที่ช่วยเหลือและเยียวยาเด็กๆ จากความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ใช้ทั้งเงินตัวเองและขอเพื่อนบ้าง แต่การให้แบบนี้มันไม่ยั่งยืน เพราะทางมูลนิธิต่าง ๆ ต้องใช้เงินตลอด ทำให้จุดความคิดในการสร้างโมเดลที่จะทำให้ยั่งยืน ไม่ต้องไปขอใคร”
Carenation พวงหรีดกระดาษแห่งการให้
สำหรับชื่อของ Carenation เป็นการตั้งชื่อให้พ้องกับดอกคาร์เนชั่น (Carnation) และสะท้อนให้เห็นถึงคำว่า Care คือ ความห่วงใย โดยธุรกิจจะเป็นการให้ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อม เพราะ Carenation ทำมาจากกระดาษรีไซเคิลและกระดาษจากป่าปลูก 2.ชุมชน ให้โอกาส ให้อาชีพกับคนในชุมชนหรือคนที่ต้องการหารายได้ ด้วยการมาประกอบพวกหรีดกระดาษให้เป็นรูปร่าง
และ 3.สังคม การแบ่งรายได้ไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือมูลนิธิต่าง ๆ ที่จะแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ 10-40% ตามราคาของพวงหรีดที่เลือก โดยตอนนี้มีพวงหรีด 9 แบบ ราคาตั้งแต่ 1,000-4,000 บาท ซึ่งจะมีการใส่ข้อมูลให้เห็นชัดว่า ราคาเท่านี้ จะมีการบริจาคไปท่าไร และเทียบเท่ากับการเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กกำพร้ากี่คน
เช่น พวงหรีดชมพู ราคา 1,000 บาท จะมีการบริจาคให้มูลนิธิ 10% หรือ 100 บาท เทียบเท่ากับค่าอาหารกลางวันเด็กกำพร้า 3 คน , พวงหรีดเวหา ราคา 4,000 บาท จะมีการบริจาคให้มูลนิธิ 40% หรือ 1,600 บาท เทียบเท่ากับค่าอาหารกลางวันเด็กกำพร้า 53 คน เป็นต้น
ส่วนโมเดลที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับ Carenation จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ นวัตกรรม ความรู้ และหลักในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ตัวโปรดักท์ จะเป็นพวงหรีดกระดาษที่นำนวัตกรรมและความรู้มาใช้ในการออกแบบให้คล้ายกับพวงหรีดดอกไม้สด โดยกระดาษที่ใช้นั้นจะมาจากการรีไซเคิลและกระดาษจากป่าปลูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ช่องทางการสื่อสารและทำมาร์เก็ต ได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ เช่น ระบบสั่งซื้อผ่านทางเวบไซต์ Carenation และ Line OA รวมไปถึงยังใช้เครื่องมือของ google ในการทำการวิจัยความต้องการของลูกค้า และทำให้ Carenation เป็นที่รู้จักมากขึ้น
เน้นโปร่งใส สร้างความไว้ใจ
สำคัญไปกว่านั้น คือ การบริจาคจะเน้นความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกกระบวนการ โดยผู้ที่สั่งซื้อพวกหรีด สามารถเลือกแบบ เลือกมูลนิธิที่ต้องการบริจาคได้ และเมื่อชำระเงินมาแล้ว จะมีใบเสร็จให้ทุกการบริจาค ที่ผู้บริจาคนำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อให้ทราบว่า เงินได้ทำการบริจาคแล้ว
พร้อมกับมีการอัพเดทในเวบไซต์ทุกวันว่า ณ วันนี้มียอดบริจาคไปเท่าไร และประเด็นการช่วยเหลือสังคมอย่างความโปร่งใสนี้เอง ทางปริชญ์ บอกว่า ทำให้คนตัดสินใจมาใช้บริการมากขึ้น และส่วนใหญ่จะเป็นการกลับมาซื้อซ้ำ รองลงมา เป็นเรื่องกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งซื้อโปรดักท์ของ Carenation จะเป็นกลุ่มคนทำงาน และคนที่เข้าใจถึงสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งในอนาคต จะมีการเพิ่มฟังก์ชั่นในเวบไซต์ให้สามารถกดบริจาคได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อสินค้า
เป้าหมายเป็น SE ต้นแบบให้คนรุ่นใหม่ทำตาม
“เราเปิดมาปีครึ่งตอนนี้ธุรกิจใกล้จะ cover แล้ว ก็ถือว่าเร็ว และเมื่อดูแนวโน้มมั่นใจ Carenation จะไปได้ดี เพราะที่ผ่านมาเราเติบโตเฉลี่ยเดือนละกว่า 10% ยกเว้นช่วงโควิด-19 ระบาดมาก และดูได้จากยอดบริจาคจากช่วงต้นที่บริจาคเดือนละ 8,000 บาท ตอนนี้เป็นเดือนละ 300,000 บาท นอกจากนี้เราอยู่ระหว่างศึกษาจะขยายธุรกิจไปยังสิงคโปร์ ที่ตอนนี้กำลังพูดคุยกับพาร์ทเนอร์อยู่”
เมื่อถามถึงเป้าหมายของ Carenation ทาง ปริชญ์บอกว่า ถ้าในระยะอันใกล้ ต้องการให้สิ้นปี 63 Carenation สามารถสร้างยอดบริจาคได้ 10 ล้านบาท จากตอนนี้ยอดบริจาคอยู่เกือบ 4 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายไกล ๆ คือ ต้องการเป็น SE ที่ประสบความสำเร็จ และเมื่อพูดถึง SE ในไทย ต้องนึกถึง Carenation
ที่สำคัญ ต้องการเป็น Role Model ให้กับคนรุ่นใหม่เห็นว่า ธุรกิจเพื่อสังคมก็สามารถประสบความสำเร็จและเติบโตได้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่สนใจและหันมาทำกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับสังคมของเราให้น่าอยู่และดีกว่าเดิม
หากถามว่า การจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้นั้นเป็นเรื่องยากหรือไม่ คำตอบที่เราได้รับจากปริชญ์ คือ ไม่ เพราะเห็นแนวโน้มการสั่งซื้อและเงินบริจาคในแต่ละเดือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเขาฝันว่า อีกไม่นานรายได้จาก Carenation จะสร้างเงินบริจาคให้กับมูลนิธิต่าง ๆ ได้ปีละ 10 ล้านบาท และเป็นธุรกิจที่ช่วยให้ ‘คนตายได้ทำความดีเป็นครั้งสุดท้าย’