สำรวจตลาด “ขนมขบเคี้ยว-เครื่องดื่ม” ในเวียดนาม โอกาสแบรนด์ไทย ถอดกรณีศึกษา “ศรีนานาพร” พาแบรนด์เบนโตะ-ขาไก่โลตัส-เจเล่ ลุยตลาดเวียดนาม

  • 309
  •  
  •  
  •  
  •  

Snack and Beverage Market in Vietnam-SNNP

เป็นเวลา 36 ปีแล้วที่ “เวียดนาม” ใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ Đổi Mi” ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ลดการผูกขาดทางการค้า เปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภาคเอกชน และสร้างความตกลงทางการค้าการลงทุนในระดับโลก โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น อัตราภาษี

ถึงวันนี้ “เวียดนาม” เป็นหมุดหมายสำคัญของกลุ่มทุนต่างประเทศ ทั้ง Global Company และ Regional Company หนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มทุนจากประเทศไทย” เข้ามาลงทุนในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ด้วยหลากหลายโมเดล ตั้งแต่นำเข้าสินค้าจากไทยมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคชาวเวียดนาม ไปจนถึงสร้างฐานการผลิต ลงทุนระบบจัดจำหน่าย สร้างเครือข่ายเชนค้าปลีก-ค้าส่ง หรือแม้แต่เข้าซื้อกิจการท้องถิ่น เป็นวิธี short cut เข้าสู่ตลาดเวียดนามได้เร็ว!

หนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริษัทจากประเทศไทย นิยมเข้ามาลงทุนและทำตลาดในเวียดนามคือ สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม เนื่องจากประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านกลุ่มธุรกิจนี้ ขณะเดียวกันคนเวียดนามก็ชื่นชอบผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มจากไทยเช่นกัน

SNNP-Bento Vietnam

 

8 เหตุผล “เวียดนาม” โอกาสทองของแบรนด์ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มจากไทย

เหตุผลหลักที่ตลาดเวียดนาม เป็นโอกาสทองของแบรนด์ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มจากไทย ประกอบด้วย

1. เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้ในปี 2020 – 2021 ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาด COVID-19 ก็ตาม แต่ยังคงสถานะ GDP เป็นบวก และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็สามารถกลับมาขยายตัวได้เร็ว

– ปี 2012: GDP 5%

– ปี 2013: GDP 5.4%

– ปี 2014: GDP 6%

– ปี 2015: GDP 6.7%

– ปี 2016: GDP 6.2%

– ปี 2017: GDP 6.8%

– ปี 2018: GDP 7.1%

– ปี 2019: GDP 7%

– ปี 2020: GDP 2.9%

– ปี 2021: GDP 2.6%

– ปี 2022: ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา GDP 13.67% และคาดการณ์ว่าทั้งปี GDP จะอยู่ที่ 7.5%

– ปี 2023: คาดการณ์ว่า GDP จะอยู่ที่ 6.7%

Vietnam
Photo Credit: Elena Ermakova / Shutterstock.com

2. มีประชากรจำนวนมากถึง 99 ล้านคน และเป็นสังคมวัยทำงาน คาดปี 2030 ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 105 ล้านคน!

จำนวนประชากรในเวียดนาม ปี 2022 ประมาณการณ์ว่าอยู่ที่ 99 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย กว่า 273.5 ล้านคน, อันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ กว่า 109.5 ล้านคน)

ในจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นประชากรวัยทำงาน 50.3 ล้านคน โดย 38.9% (19.5 ล้านคน) เป็นแรงงานในภาคธุรกิจบริการ และจากประชากรทั้งหมด อยู่ในเขตเมือง (Urban Population) 37.7% และรอบนอกเมือง/พื้นที่ชนบท 62.3% ขณะที่อัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนาม อยู่ที่ 94.5%

นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 เวียดนามจะประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 105 ล้านคน

SNNP Vietnam

3. ความมั่นคงของระบบการเมือง และการสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)

ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นประเทศที่ระบบการเมืองมีเสถียรภาพ มีอุตสาหกรรมการผลิตแข็งแกร่ง และด้วยนโยบายสนับสนุนการลงทุน อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนิติบุคคล อย่างเช่นการตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่รัฐกำหนดไว้ ในช่วง 2 ปีแรก เสียภาษีอัตรา 0% และหลังจากนั้นอีก 4 ปี จะได้ส่วนลดอัตราภาษีที่ 50% ประกอบกับความได้เปรียบด้านอัตราค่าจ้าง และราคาวัตถุดิบการผลิต

ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนโดยสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 มีเงินลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและดำเนินการแล้วประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

SNNP Vietnam

4. ความเป็นเมือง (Urbanization) และชนชั้นกลาง (Middle Class) ขยายตัวอย่างรวดเร็วรัฐเร่งผลักดัน Digital Economy และเพิ่มงบพัฒนาประเทศ

ในแผนแม่บทแห่งชาติปี 2021 – 2030 ของเวียดนามตั้งเป้าจะเป็นประเทศ Upper Middle-class ด้วยอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ภายในปี 2030 โดยมีเป้าหมายผลักดัน GDP per capita หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว เพิ่มขึ้นจาก 7,500 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 เป็น 27,000 – 32,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2050

นอกจากนี้ภายใต้แผนพัฒนาประเทศ รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าทำ Digital Transformation ในระดับประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government), เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และสังคมดิจิทัล (Digital Society) โดยคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัล จะมีสัดส่วน 30% ของ GDP ประเทศ

ทั้งยังตั้งเป้าในปี 2050 เวียดนามจะกลายเป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้สูง, มีความเท่าเทียม มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องกำหนดกรอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับโครงสร้างการขนส่ง, ด้านพลังงาน, การพัฒนาพื้นที่ในเมือง, โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล, การปกป้องสิ่งแวดล้อม, ระบบชลประทาน, การป้องกันภัยพิบัติ, การปรับตัวให้เข้ากับภาวะ Climate Change และโครงสร้างพื้นฐานด้านวัฒนธรรมและสังคม

Vietnam
Photo Credit: Chansak Joe / Shutterstock.com

นอกจากนี้ข้อมูลจาก World Data Lab คาดการณ์ว่าในปี 2030 เวียดนามจะมี “กลุ่มชนชั้นกลาง” เพิ่มขึ้นอีก 23.2 ล้านคน อยู่อันดับ 7 จาก 9 ประเทศทั่วโลกที่มีประชากรกลุ่มชนชั้นกลางเติบโตเร็วที่สุด (นิยามของกลุ่มชนชั้นกลางคือ มีการใช้จ่ายตั้งแต่ 11 ดอลลาร์สหรัฐ – 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน)​

เมื่อถึงเวลานั้นจะทำให้ในเวียดนามมีผู้บริโภคกลุ่มชนชั้นกลางรวม 56 ล้านคน ขยับจากอันดับ 26 ในปัจจุบัน ขึ้นมาอยู่อันดับ 18 ของ 30 ประเทศที่มีประชากรชนชั้นกลางมากที่สุด

ขณะที่ประเทศที่ประชากรกลุ่มชนชั้นกลางเติบโตเร็วที่สุดในโลกคือ อินโดนีเซีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 75.8 ล้านคนภายในปี 2030 ตามมาด้วยปากีสถาน เพิ่มขึ้น 59.5 ล้านคน, บังคลาเทศ เพิ่ม 52.4 ล้านคน, ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 37.5 ล้านคน, อียิปต์ เพิ่ม 29.6 ล้านคน, สหรัฐอเมริกา 24.2 ล้านคน, เวียดนาม เพิ่ม 23.2 ล้านคน, บราซิล 20.6 ล้านคน และเม็กซิโก 20.1 ล้านคน

ผู้บริโภคชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นในเวียดนาม เป็นโอกาสของภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งค้าปลีก ในการขยายตลาดและฐานลูกค้า เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้มากขึ้น

อีกทั้งรัฐบาลเวีดนามยังได้เพิ่มงบประมาณการลงทุนพัฒนาประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและการขยายตัวของประเทศ โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปี 2022 งบประมาณการลงทุนของรัฐโดยรวมอยู่ที่ 285.4 ล้านล้านดง เพิ่มขึ้น 17% แบ่งเป็น

– งบลงทุนในส่วนกลาง 50.4 ล้านล้านดง

– งบลงทุนส่วนท้องถิ่น 235 ล้านล้านดง

SNNP Vietnam

5. ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโต

นอกจากการเป็นฐานการผลิตใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว “เวียดนาม” ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเช่นกัน โดยสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนรวม 1,440,968 คน เติบโต 1,200% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19

โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมาเวียดนาม คือ ชาวเอเชีย 996,900 คน ตามมาด้วยยุโรป 208,010 คน, อเมริกา 165,306 คน, โอเชียเนีย 65,710 คน และแอฟริกา 5,042 คน

SNNP Vietnam

6. ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และภาคบริการขยายตัว

ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods) และภาคบริการในเวียดนามมียอดขายรวม 3,679.2 ล้านล้านดง เติบโต 19.3% แบ่งเป็น

– กลุ่มค้าปลีก ด้วยมูลค่า 2,925 ล้านล้านดง เติบโต 15.4% คิดเป็นสัดส่วนมากสุด 80% ของมูลค่าค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ

– ธุรกิจที่พักและบริการจัดเลี้ยง 377.8 ล้านล้านดง โต 48.1%

– ธุรกิจการท่องเที่ยว 15.4 ล้านล้านดง โต 240.1%

– ธุรกิจบริการอื่นๆ 361 ล้านล้านดง โต 24.2%

SNNP Vietnam

7. การขยายตัวของค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) – ร้านค้าดั้งเดิมยังมีบทบาทต่อวิถีชีวิตชาวเวียดนาม

โครงสร้างตลาดค้าปลีกในเวียดนาม พบว่าส่วนใหญ่ยังคงเป็น “Traditional Trade” หรือร้านค้าปลีกดั้งเดิมมีบทบาทต่อวิถีชีวิตประจำวันของชาวเวียดนาม ขณะเดียวกัน “Modern Trade” หรือค้าปลีกสมัยใหม่เริ่มขยายตัวมากขึ้นตามเมืองหลักของประเทศ

โดยปัจจุบันร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือ mom & pop shop ในเวียดนาม คาดการณ์ว่ามีไม่ต่ำกว่า 600,000 ร้านค้ากระจายทั่วประเทศ ซึ่งยังเป็นช่องทางการซื้อขายสำคัญของผู้บริโภคชาวเวียนนาม โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และผู้บริโภคในเมืองที่มีรายได้น้อยที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแบบรายวันในปริมาณน้อย ทำให้ร้านค้าท้องถิ่นเหล่านี้ ตอบโจทย์ทั้งด้านความสะดวกสบาย การซื้อสินค้าเพียงไม่กี่ชิ้น – ในปริมาณไม่มาก สำหรับบริโภค/ใช้แบบรายวัน และราคาเข้าถึงง่าย

ขณะเดียวกันพบว่ามีการขยายตัวของเชนค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ในเซ็กเมนต์ต่างๆ ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมาพร้อมกับความทันสมัย ความครบครันของสินค้าและบริการ ประกอบด้วยเชนค้าปลีก

Snack Market in Vietnam

ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต

emart ของเกาหลี

GO! ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม

AEON ยักษ์ค้าปลีกจากญี่ปุ่น

Co.op เชนท้องถิ่นของ Saigon Co.op ถือเป็นเชนค้าปลีกสมัยใหม่รายแรกในเวียดนาม ก่อตั้งในปี 1989

WinMart ธุรกิจในเครือ Masan Group หนึ่งในกลุ่มทุนใหญ่ของเวียดนาม จากเดิมทีเป็นเชนค้าปลีกของ VinCommerce ในเครือ VinGroup ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่เวียดนาม ต่อมา Masan Group ได้ประกาศควบรวมธุรกิจ VinCommerce พร้อมกับรีแบรนด์เป็น WinCommerce

MM Mega Market ค้าส่งในเครือ BJC

Snack Market in Vietnam
ไฮเปอร์มาร์เก็ต emart ในเวียดนาม
ร้านสะดวกซื้อ

GS25 เชนจากเกาหลี

Circle K เชนจากสหรัฐอเมริกา โดยมีมาสเตอร์ แฟรนไชส์ในเวียดนามได้สิทธิขยายสาขาและทำตลาด

Ministop เชนจากญี่ปุ่นในเครือ AEON Group

FamilyMart เชนจากญี่ปุ่น

7-Eleven เชนจากสหรัฐฯ โดยมีมาสเตอร์ แฟรนไชส์ในเวียดนามได้สิทธิขยายสาขาและทำตลาด

B’s mart เชนร้านสะดวกซื้อในเครือ BJC

WinMart+ ในเครือ Masan Group

Convenience Store in Vietnam
GS25 เชนร้านสะดวกซื้อในเวียดนาม

8. สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคเวียดนาม

ผู้บริโภคเวียดนามให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพแบรนด์ไทย และสินค้าไทย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเวียดนามเดินทางมาเมืองไทย นิยมมาช้อปปิ้งของกิน ขนมขบเคี้ยวตามซูเปอร์มาร์เก็ต – ไฮเปอร์มาร์เก็ตกลับไปยังเวียดนาม และถึงผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะมีฐานการผลิตในเวียดนาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาคุณภาพ เอกลักษณ์ของแพคเกจจิ้งดีไซน์บางส่วนไว้ บนแพคเกจจิ้งต้องต้องมีภาษาไทย และมีกำกับว่าเป็น Product of Thailand ตอกย้ำว่าคนเวียดนามชื่นชอบสินค้าของไทย ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของแบรนด์ไทยในการขยายตลาดไปยังเวียดนาม

นอกจากนี้จากการที่ MarketingOops! ได้สำรวจตลาดในซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งร้านสะดวกซื้อในเวียดนามครั้งนี้ พบว่าปัจจุบันผู้บริโภคชาวเวียดนาม โดยเฉพาะในเมืองหันมาใช้บริการเชนร้านค้าปลีกสมัยใหม่มากขึ้น เนื่องจากสะดวกสบาย และมีสินค้าครบ

ในขณะที่สินค้าหมวดหมู่ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มมีความหลากหลายขึ้น ทั้งประเภทสินค้า และมีแบรนด์ระดับโลก และแบรนด์จากประเทศต่างๆ เช่น แบรนด์ไทย แบรนด์เกาหลี รวมไปถึงแบรนด์ท้องถิ่น ทั้งยังมีการพัฒนารสชาติเพื่อตลาดเวียดนามโดยเฉพาะ

ด้วยสังคมเมืองขยายตัว จำนวนประชากรมากถึง 99 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยเรียน-วัยทำงาน ซึ่งเป็นผู้บริโภคกลุ่มหลักที่มีการใช้จ่าย รวมถึงวิถีชีวิต-พฤติกรรมผู้บริโภคเปิดรับสิ่งใหม่ ความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของไทย และการขยายตัวของช่องทางการขาย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสทองของแบรนด์ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มจากไทยในการบุกตลาดเวียดนาม 

Snack Market in Vietnam
ขนมขบเคี้ยวมีให้เลือกหลากหลายขึ้น

 

กรณีศึกษา “ศรีนานาพร” ยกโมเดลในไทย ผสานกลยุทธ์ Localization ลุยตลาดขนมขบเคี้ยว-เครื่องดื่ม ชนะใจคนเวียดนาม

หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวของไทยที่เข้าไปบุกตลาดเวียดนามคือ “บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)” หรือ SNNP เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มที่คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักกัน เช่น ปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้นแบรนด์เบนโตะ, ขนมขึ้นรูป และขนมปังแท่งแบรนด์โลตัส, เยลลี่พร้อมดื่มเจเล่

กว่าจะมาเป็น “บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง” ที่มีฐานตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นมาจากการเป็นร้านค้าส่งขนมบรรจุปี๊บ หรือขนมปี๊บชื่อ “ร้านศรีวิวัฒน์” ก่อตั้งในปี 1972 โดย “คุณวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)

ต่อมาได้ปรับโครงสร้างธุรกิจจากค้าส่ง เป็นผู้ผลิตสินค้าสำหรับผู้บริโภค โดยจัดตั้ง “บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด” แนะนำแบรนด์ “เจเล่” (Jele) เข้าสู่ตลาดในปี 1994 จากนั้นในปี 1998 เปิดตัว “เบนโตะ” (Bento) และปี 2002 ส่งผลิตภัณฑ์ขนมขึ้นรูปและขนมปังแท่ง หรือขาไก่ “โลตัส” (Lotus) เข้าสู่ตลาด ตามมาด้วยเครื่องดื่มเมจิกฟาร์ม และอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์

กระทั่งปี 2019 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็น “บริษัทมหาชน” พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)” และดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าในชื่อบริษัทสิริ โปร จากนั้นปี 2021 ได้ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า SNNP

ปัจจุบันภายใต้ Brand Portfolio มี 3 แบรนด์หลักที่เป็นเรือธงคือ เบนโตะ มีส่วนแบ่งกาตลาด 73%, เจเล่ มีส่วนแบ่งการตลาด 76% ในกลุ่มสินค้าประเภทเดียวกัน และขนมขึ้นรูป – ขาไก่โลตัส

ไม่เพียงแต่สร้างฐานตลาดในไทยเท่านั้น SNNP ยังได้ขยายฐานธุรกิจไปตลาดต่างประเทศ ครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์, ตลาดเอเชีย เช่น จีน, ตลาดตะวันออกกลาง

SNNP Vietnam

โรดแมปการทำตลาดต่างประเทศของ “SNNP” ประกอบด้วย 3 โมเดลคือ

– โมเดลหนึ่ง Full System: ตั้งโรงงานในประเทศนั้นๆ มีคลังสินค้า มีทีมขาย และมีดิสทริบิวเตอร์จัดจำหน่ายและการะจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางการขายต่างๆ

โมเดลสอง Joint Venture: ร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจ มีทีมขายและการตลาด แต่ยังไม่มีการตั้งโรงงานในประเทศนั้นๆ

โมเดลสาม Export: ส่งออกสินค้า โดยมีดิสทริบิวเตอร์กระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางจำหน่ายต่างๆ

การเข้าไปปักหมุดในแต่ละประเทศ จะใช้โมเดลแตกต่างกัน และถ้าเห็นว่าตลาดนั้นสามารถทำยอดขายได้ดี มีศักยภาพที่จะขยายการเติบโตได้ จะปรับเป็นโมเดลที่ใหญ่ขึ้น เช่น แรกเริ่มทำตลาดด้วยโมเดลส่งออกสินค้า ต่อมาเห็นว่าตลาดมีศักยภาพสูง อาจพิจารณาปรับเป็นโมเดลร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น หรือโมเดล Full System

SNNP Vietnam

ปัจจุบันมีโรงงานทั้งสิ้น 6 โรงงานใน 3 ประเทศ ครอบคลุมประชากร 250 ล้านคนในไทย และกลุ่ม CLMV

– ไทย มี 4 โรงงาน

– กัมพูชา 1 โรงงาน

– เวียดนาม 1 โรงงาน

การมีฐานการผลิตในประเทศต่างๆ จะช่วยกระจายความเสี่ยง และสร้างความยืดหยุ่นด้านการผลิต เช่น อนาคตอาจนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากเวียดนาม หรือกัมพูชา เข้ามาจำหน่ายในไทย หรือหากฐานการผลิตใดมีปัญหา ก็สามารถโยกสินค้าบางตัวไปผลิตยังฐานการผลิตอื่น

SNNP Vietnam

SNNP Vietnam

นครึ่งปีแรกของปี 2022 SNNP” มีรายได้จากการส่งออกรวม 591 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากการส่งออกของกลุ่ม CLMV 77% และอีก 23% มาจากประเทศส่งออกอื่นๆ

รายได้จากยอดขายในเวียดนาม อยู่ที่ 218 ล้านบาท ขยายตัว 67% แบ่งเป็นกลุ่มขนมขบเคี้ยว 201 ล้านบาท กลุ่มเครื่องดื่ม 16 ล้านบาท

– รายได้จากยอดขายในกัมพูชา ขยายตัว 55%

– รายได้จากยอดขายในเมียนมาร์ ขยายตัว 123%

SNNP Vietnam

SNNP Vietnam

ทั้งนี้การบุกตลาดเวียดนาม SNNP เข้าไปปักหมุดเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เริ่มจากส่งออกสินค้าจากไทยไปจำหน่าย หลังจากทำตลาดมาได้สักพัก เล็งเห็นถึงศักยภาพการขยายโอกาสในประเทศเวียดนาม ที่มีความพร้อมในด้านแรงงาน วัตถุดิบ และภูมิประเทศ จนทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ต่างชาติให้ความสนใจในการลงทุน เนื่องจากมีอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่ง

จึงตัดสินใจยกระดับการลงทุนเป็นรูปแบบ Full Systemด้วยการตั้งโรงงานแห่งแรกในเวียดนาม ภายใต้ชื่อบริษัท “S.T. Food Marketing” (STFM) ถือหุ้น 100% ผ่าน บจก. SNNP Internation ซึ่งถือหุ้นโดย บมจ. ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง 99.9%

โรงงานแห่งแรกของ SNNP ในเวียดนาม มีขนาดพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ใช้ระบบเครื่องจักร automation เป็นหลัก ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมพื้นที่เศรษฐกิจเวียดนามสิงคโปร์อิดัสเทรียลพาร์ค หรือ VSIP ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ของเวียดนาม ในจังหวัดบินห์เชือง (Binh Duong) ห่างจากเมืองโฮจิมินห์ 30 กิโลเมตร

SNNP-Vietnam Factory

โดยจะเริ่มดำเนินการผลิตสินค้าในเฟสแรก ประเภทขนมขึ้นรูปและขนมปังแท่งแบรนด์โลตัสในไตรมาส 4/2022 จากนั้นเฟส 2 จะผลิตสินค้าประเภทปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้นแบรนด์เบนโตะ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 และเฟสที่ 3 จะผลิตสินค้าเยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่คาราจีแนนแบรนด์เจเล่ ภายในไตรมาส 3 ของปี 2023

SNNP-Vietnam Factory

ขณะที่การกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางการขายทั้งเชนค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านค้าดั้งเดิม ได้จับมือกับ ริษัท Chance and Challenge จำกัด” หรือ CAC พันธมิตรในการนำเข้าและจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวจากไทยเข้ามาจำหน่ายในเวียดนาม ก่อตั้งโดยคนไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนามมานานกว่า 18 ปีแล้ว

ทั้งนี้ โมเดลการทำตลาดเวียดนามของ SNNP ผสมผสานระหว่างโมเดลความสำเร็จในประเทศไทย ทั้งการนำแบรนด์เรือธงมาเจาะผู้บริโภคเวียดนาม, รักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งแพคเกจจิ้ง การใช้ภาษาไทย และรสชาติยอดนิยม ตลอดจนการตั้งโรงงาน เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าป้อนให้กับตลาดเวียดนาม และต่อไปเพื่อส่งออกประเทศต่างๆ

SNNP-Vietnam Factory

ผสานกับการใช้กลยุทธ์ Localization” ครอบคลุม 4 ด้านหลักคือ

– การออกสินค้าสำหรับตลาดเวียดนามโดยเฉพาะ เช่น เมื่อไม่นานนี้โลตัสขาไก่แนะนำรสชาติใหม่สู่ตลาดเวียดนามคือ รสหมึกสไปซี่ (Squid Spicy Sauce) และรสต้มยำ

นอกจากนี้ในปี 2023 เตรียมออกโลตัสขาไก่ รสซอสพริกเวียดนาม และรสเนื้อ มีขายเฉพาะในเวียดนาม และกัมพูชา ส่วนผลิตภัณฑ์เบนโตะ มีแผนเปิดตัวรสซอสเวียดนาม

– ราคา มีการวางกลยุทธ์ Coinless Strategy ปรับราคาขายให้ลงตัวกับธนบัตรของเวียดนาม

– แบรนด์ และการตลาด เช่น ใช้ “ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก” เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์เจเล่ในเวียดนามโดยเฉพาะ

– กระบวนการจัดจำหน่ายให้มีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของตลาดนั้นๆ

SNNP Vietnam

“ทิศทางธุรกิจ SNNP มีแผนเดินหน้าองค์กรสู่ความเป็นผู้นำตลาด และตั้งเป้าเติบโตในระดับอาเซียน หรือเป็น Regional Company จากการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเริ่มต้นที่ประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ภายใต้กลยุทธ์ Localization Strategy

โดยประเทศเวียดนามได้เริ่มเข้าไปเปิดตลาดร่วมกับบริษัท Chance and Challenge มากว่า 15 ปี ถึงวันนี้สินค้าเป็นที่นิยมจากผู้บริโภคชาวเวียดนาม

ความสำเร็จของเราในตลาดเวียดนาม มาจากคุณภาพสินค้าเป็นตัวตั้งอันดับหนึ่ง สินค้าผลิตในไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในเวียดนาม และต่อให้ผลิตในเวียดนาม ก็ต้องมีภาษาไทย และ Product of Thailand เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เหมือนคนไทยซื้อขนมขบเคี้ยวญี่ปุ่น ก็ต้องมีภาษาญี่ปุ่น เพราะเชื่อถือได้

ประกอบกับการทำกลยุทธ์การตลาดที่ได้พันธมิตรแข็งแกร่งมีความเชี่ยวชาญในการกระจายสินค้าครอบคลุมร้านค้า 140,000 ร้านค้า ผ่านช่องทางแบบดั้งเดิม และอีก 8,275 ร้านค้า ผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่  

รวมถึงทำกิจกรรมส่งเสริมการขายและโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า โดยเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ไทยที่ได้รับความยนิยมในเวียดนาม” คุณฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) เล่าถึงกลยุทธ์ชนะใจผู้บริโภคเวียดนาม

SNNP
คุณฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)

คุณวิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจ 1 ขยายความเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ราคาขายปลีกสินค้ายังไม่ลงตัวกับธนบัตรในเวียดนาม แต่บริษัทกำลังวาง Coinless Strategy เช่น สินค้าราคาขายในไทย 5 บาท คิดเป็นเงินเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 3,000 ดง ซึ่งเวียดนามไม่มีธนบัตรมูลค่านี้ ทำให้เมื่อลูกค้ามาซื้อสินค้า ทางร้านค้าต้องหาเงินทอน 

เพราะฉะนั้นหลังจากบริษัทตั้งโรงงานในเวียดนามแล้ว จะพัฒนาสินค้า ทั้ง Pack Size, น้ำหนัก และราคาขายให้ลงตัวกับธนบัตรของเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ Localization ที่สำคัญมาก

SNNP-Lotus Vietnam
โลตัส ขนมขึ้นรูปและขนมปังแท่ง หรือขาไก่ เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคเวียดนาม

ศรีนานาพร หรือ SNNP ตั้งเป้ารายได้จากเวียดนามในปี 2023 จะแตะระดับ 1,000 ล้านบาท จากเป้าหมายรายได้จากต่างประเทศ 2,000 ล้านบาท

พร้อมทั้งตั้งเป้าในปี 2026 รายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่กว่า 8,000 ล้านบาท โดย 50% มาจากตลาดไทย และอีก 50% จากต่างประเทศ ซึ่งในยอดขายจากต่างประเทศ SNNP มุ่งหวังว่าตลาดเวียดนามจะทำยอดขาย 2,000 ล้านบาท

“ศรีนานาพร เติบโตมาจาก Family Business และก่อตั้งโดยคนไทย ตอนนี้เรมุ่งก้าวสู่การเป็น Reginal Player ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะฉะนั้นการสร้างโรงงาน สร้างแบรนด์ เราต้องการเป็น Major Player ในภูมิภาคนี้ และเป้าหมายสูงสุดในสเต็ปต่อไปเราต้องการเป็น Global Company” คุณฐากร สรุปทิ้งท้าย

SNNP-Jele Vietnam
เยลลี่พร้อมดื่มเจเล่ในเวียดนาม เจาะตลาดวัยรุ่น – วัยทำงาน
Snack Market in Vietnam
โลตัส 2 รสชาติใหม่ รสหมึกสไปซี่ (Squid Spicy Sauce) และรสต้มยำ พัฒนาขึ้นสำหรับตลาดเวียดนามโดยเฉพาะ
Snack Market in Vietnam
เบนโตะ ได้รับการตอบรับจากคนเวียดนามเป็นอย่างดี
Snack Market in Vietnam
คนเวียดนามนิยมมาจับจ่ายในค้าปลีกสมัยใหม่มากขึ้น
Snack Market in Vietnam
ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวหลากหลายในค้าปลีกสมัยใหม่ให้ลูกค้าได้เลือกช้อป

  • 309
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ