เย็นวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท ทรู อินคิวบ์ จำกัด (True Incube) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ “กลุ่มทรู” ถือหุ้นอยู่ 100% ได้เข้าลงทุนใน บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ และเป็นเจ้าของแอป QueQ แอปจองคิวที่ดังที่สุดในเมืองไทย โดย True Incube ทุ่มทุน 81.68 ล้านบาท เข้าถือหุ้นใน QueQ 30% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง รองจากคุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) ที่ถือหุ้นอยู่ 44.55% เรียกได้วา เป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญเลยทีเดียว
เบื้องต้นทางกลุ่มทรูแจ้งเพียงว่า จุดประสงค์การลงทุนในครั้งนี้ ก็เพื่อสนับสนุนการขยายตัวในตลาด O2O (Offline to Online) ของกลุ่มทรูและบริษัทในเครือ และเป็นการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ ตลอดจนมองว่าเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคต
ย้อนรอยเส้นทางลงทุนของ True Incube
True Incube เปิดตัวครั้งแรกในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2556 ในฐานะโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพไทยซึ่งเปิดตัวหลังจากโปรแกรม Dtac Accelerate เพียงไม่กี่เดือน แต่เปิดตามหลังโครงการ AIS the Startup ประมาณ 2 ปีวัตถุประสงค์ของ True Incube ก็คล้ายกับอีก 2 โปรแกรม คือการบ่มเพาะและสานฝันบริษัทสตาร์ทอัพไทยหน้าใหม่ให้มีโอกาสขยายธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยอาศัยทรัพยากรและศักยภาพของกลุ่มทรูเข้าสนับสนุน
True Incube จดทะเบียนเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มทรูในปี 2558 ทำหน้าที่เป็นธุรกิจลงทุนในสตาร์ทอัพและบริษัทที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถตอบสนองกลุ่มทรูและบริษัทในเครือได้ โดยวันที่ 28 ธ.ค. 2559 True Incube ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ Capstream Ventures Inc. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศแคนาดา เป็นจำนวน 20 ล้านหุ้น รวมมูลค่าการลงทุน 10 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 268.47 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนณวันที่ 27 ธ.ค.2559) เป็นสัดส่วนประมาณ 8.84% ของหุ้นที่ออกแล้วภายหลังการเพิ่มทุน
โดยหลังปิดดีล True Incube ยังได้ร่วมทุนกับ Capstream จัดตั้ง บริษัท True Axion Games (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น True Axion Interactive) ขึ้นเพื่อผลิตและพัฒนาเกมส์และแอพพลิเคชั่นขึ้น รวมถึงสถาบันพัฒนาเกมส์ โดย True Incube ถือหุ้น 40% โดยต่อมา Capstream ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Axion Ventures Inc. และเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทพัฒนาเกมส์ชั้นนำของโลก หนึ่งในเกมที่คนทั่วโลกรู้จักดี ได้แก่ Rising Fire ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Axion Games Ltd. บริษัทลูกในเซี่ยงไฮ้ และได้เซ็นสัญญาให้ Tencent เป็นผู้วางตลาดในประเทศจีน
ความสำคัญของการลงทุนครั้งนี้ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เคยประกาศไว้ว่า นี่จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กลุ่มทรูสามารถขับเคลื่อนธุรกิจเกมส์ของทรูให้ประสบความสำเร็จในตลาดไทย รวมถึงพัฒนาเกมไทยขยายไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก พร้อมทั้งก้าวเป็นบริษัทพัฒนาเกมที่ดีที่สุดในอาเซียน
ในเดือน มี.ค. 2560 True Incube ได้ร่วมมือกับ Withfluence สตาร์ทอัพญี่ปุ่นที่ให้บริการเทคโนโลยีระบบการทำการตลาดออนไลน์และการสร้างแบรนด์ผ่าน Influencer โดยทั้งสองร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่อันชาญฉลาด (Cognitive Computing) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ตลาดและสร้างแคมเปญการตลาดออนไลน์ผ่านคอนเทนต์จากกลุ่ม Influencer อันจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กลุ่มดิจิทัลและเอ็นเทอร์เทนเมนต์ของกลุ่มทรู รวมถึงจะเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดด้านออนไลน์สู่ระดับภูมิภาคเอเชียให้กับกลุ่มทรูด้วย
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2561 True Incube ได้เข้าลงทุนเพิ่มใน บริษัท พี ยู ยู เอ็น อินเทลลิเจนท์ จำกัด หรือ PEAK บริษัทผู้ให้บริการโปรแกรมบัญชีออนไลน์สำหรับธุรกิจ SMEs เป็นเงินลงทุนกว่า 6.5 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน PEAK เพิ่มขึ้นเป็น 11.95% จากเดิมที่ถืออยู่แค่ 5% ทำให้ True Incube กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของ PEAK เนื่องจากกลุ่มทรูเห็นว่า PEAK ดำเนินธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตและจะสร้างผลตอบแทนได้สูง
ก่อนการลงทุนใน QueQ เพียงไม่ถึงเดือน (วันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา) True Incube ได้ร่วมทุนกับ Kona Venture Partners จัดตั้งบริษัท True-Kona Cayman GP เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนที่จะได้มีการจัดตั้งขึ้นในหมู่เกาะเคย์แมนไอร์แลนด์ โดย True Incube ลงทุนเป็นมูลค่า 45,480 เหรียญสหรัฐฯหรือ 1.43 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 50% ของหุ้นที่ออกทั้งหมด
และ True Incube ยังได้ร่วมลงทุนกับ Korea Ventures Investment Corporation, LINE Games Corporation และ True-Kona เพื่อจัดตั้งกองทุนในหมู่เกาะเคย์แมน ไอร์แลนด์ ที่มีชื่อว่า “กองทุน LINE GAMES-TRUE-KONA GLOBAL LIMITED PARTNERSHIP” โดย True Incube ลงทุนในกองทุนนี้เป็นสัดส่วน 26% มูลค่ากว่า 187 ล้านบาท (กว่า 5.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) วัตถุประสงค์ของกองทุน คือเพื่อหาโอกาสในการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเกมส์และเทคโนโลยี ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ส่งผลให้ True Incube จะได้รับสิทธิในการเผยแพร่เกมส์ออกสู่ตลาดอาเซียน อันจะนำไปสู่การขยายธุรกิจและขยายแพลตฟอร์มในการเข้าถึงลูกค้าของกลุ่มทรู และยังมีโอกาสที่จะได้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่ากองทุน (Capital Gain) ในอนาคต
QueQ สตาร์ทอัพดาวรุ่ง การลงทุนครั้งล่าสุดของกลุ่มทรู
นับว่าเป็น Pain Point ที่ผู้บริโภคชาวกรุงหลาย ๆ คนเคยประสบพบเจอ กับการเสียเวลารอคิวนานเป็นชั่วโมงเพื่อทำธุรกรรมหรือใช้บริการไม่กี่นาที เช่นเดียวกับที่ คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ QueQ (เดิมชื่อบริษัท วาย เอ็ม เอ็ม วาย จำกัด หรือ YMMY) เคยต้องเสียเวลารอคิวใช้บริการธนาคารแห่งหนึ่งยาวนานเป็นพิเศษเพราะเป็นช่วงปลายปี เขาเกิดความคิดว่าถ้ามีแอปที่จองคิวธนาคารได้ ก็คงจะช่วยประหยัดเวลาให้ผู้คนได้ไม่น้อย แต่ระหว่างทางเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารมีผู้บริโภคใช้บริการมากกว่าและบ่อยกว่า จึงน่าจะเกิดการทดลองใช้แอปในวงกว้างได้เร็วกว่า เขาจึงเริ่มจากการจองคิวร้านอาหารเป็นบริการแรก
บริษัท YMMY ก่อตั้งขึ้นช่วงกลางปี 2556 ซึ่งก็เหมือนสตาร์ทอัพทั่วไปที่ในช่วงปีแรกๆ ระหว่างพัฒนา MVP (Minimal Viable Product) ต้องใช้ทุนค่อนข้างเยอะ แต่ถึงจะได้ MVP มาแล้ว แต่การเชิญชวนพาร์ทเนอร์ให้มาทดลองใช้บริการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อพาร์ทเนอร์มาใช้บริการแล้ว ก็ยังต้องลองผิดลองถูกอีกหลายครั้งกว่าที่จะได้ Product ที่พร้อมเปิดให้บริการสู่กลุ่มคนในวงกว้าง ซึ่งช่วงเวลาทั้งหมดนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสตาร์ทอัพไทย ซึ่ง QueQ เองก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้เหมือนกัน
กระทั่งได้เชนร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ยอมให้ทดสอบระบบกับบริการของร้าน และหลังจากเห็นว่า ระบบ QueQ ทำงานได้ดี ช่วยลดเวลาในการรอคิวของลูกค้า ทำให้ร้านอาหารไม่เสียโอกาสในการรับลูกค้า เชนร้านอาหารใหญ่ๆ จำนวนมากก็เริ่มเข้ามาใช้บริการ
ปัจจุบัน QueQ ได้พัฒนาบริการใหม่ๆ เช่น Auto Bookin จองคิวให้อัตโนมัติโดยไม่ต้องกดเอง QueQ To Go จองคิวสั่งอาหารกลับบ้าน หรือ QueQ Next Door Delivery ส่งอาหารถึงบ้านตรงเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังขยายไปสู่การจองคิวสถานบริการอื่นที่ไม่ใช่ร้านอาหาร เช่น จองคิวธนาคาร สถาบันเสริมความงาม อีเวนท์สินค้าลดราคา ฯลฯ และล่าสุด เริ่มให้บริการจองคิวโรงพยาบาลด้วย โดยคุณรังสรรค์ตั้งเป้าว่าจะให้บริการกับโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนราว 100 แห่งภายในปีนี้ ซึ่งเขามองว่านี่น่าจะช่วยให้ชีวิตคนไข้และญาติดีขึ้นบ้าง เพราะไม่ต้องเสียเวลานั่งรอคิวอยู่ในโรงพยาบาลภายใต้บรรยากาศที่ไม่ค่อยน่ารื่นรมย์เป็นเวลาอันยาวนาน
นอกจากนี้ QueQ ยังร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อพัฒนาแอปอื่นๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาการเสียเวลาในการทำกิจกรรมบางเรื่องกับคนบางกลุ่ม เช่น Makub แอปผู้ช่วยฝ่าย HR ที่มาพร้อมฟีเจอร์ให้พนักงานลงเวลา เข้า-ออก หรือขอลางานกับหัวหน้า ผ่านทางมือถือได้ง่ายๆ เป็นต้น
ไม่เพียงในเมืองไทย QueQ ยังได้รับความสนใจจากต่างประเทศอีกด้วย โดยปัจจุบัน QueQ มีสำนักงานที่มาเลเซียอีกด้วย และยังร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท Advantech ในไต้หวัน รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับธนาคาร CIMB THAI ในการให้บริการกลุ่มลูกค้า Wealth ของธนาคาร ซึ่งหมายถึงโอกาสในการขยายไปยังกลุ่มเครือข่ายของ CIMB ที่มีอยู่ทั่วโลก รวมถึงมีโอกาสเพิ่มบริการบนแพลตฟอร์มจากแค่จองคิวไปสู่รับชำระเงินได้ด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ QueQ เพิ่งเสร็จสิ้นการระดมทุนในระดับ Series A โดยได้รับเงินลงทุนรวมมูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกลุ่มทรูผ่าน True Incube และกองทุน Bon Angels Venture Partners ประเทศเกาหลีใต้ โดยหลังจากได้รับทุน คุณรังสรรค์มองว่าจะทำให้ในปีนี้ บริษัทสามารถดำเนินแผนธุรกิจเชิงรุกได้อย่างเข้มข้น โดยเขาตั้งเป้าหมายขยายผู้ใช้งานจากประมาณ 1.5 ล้านรายเป็นกว่า 4 ล้านราย รวมทั้งยังมีแผนจะขยายไปในประเทศเกาหลีใต้และอาจไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่น และภายใน 1 ปีหลังจากนี้ เขายังตั้งใจจะพา QueQ ก้าวขึ้นสู่การเป็นสตาร์ทอัพไทยระดับ Series B ให้ได้
จากโอกาสการเติบโตทางธุรกิจของ QueQ ที่ดูว่าน่าจะเป็นไปได้อย่างสวยงาม จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมกลุ่มทรูถึงยอมทุ่มทุนกว่า 80 ล้านบาทในสตาร์ทอัพแห่งนี้ แต่อย่างที่ทราบว่า การลงทุนในสตาร์ทอัพไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถคาดหวังผลกำไรก้อนโตได้ในเวลาอันสั้น ต้องรอเวลาพิสูจน์ว่าโมเดลธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และแก้ Pain Point ให้กับคนจำนวนมากได้จริง เมื่อนั้น รายได้มหาศาลจึงจะตามมา
แต่จากงบการเงินปี 2560 (งวดล่าสุดที่ปรากฏในระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) ของบริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด พบว่ายังคงมีผลขาดทุนสุทธิอยู่กว่า 13 ล้านบาท เนื่องจากมีต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายในการขายและบริการค่อนข้างสูง จึงยังเป็นเรื่องที่นักลงทุนยังอาจต้องลุ้นกันก่อนในช่วงแรกๆ ว่า ….
ก้าวนี้ของกลุ่มทรูจะออกดอกออกผลให้ได้เก็บกินในเร็วๆ นี้หรือไม่ และที่สำคัญ การลงทุนครั้งนี้จะต่อยอดธุรกิจให้กับกลุ่มทรูได้มากเพียงไร