เรารู้อยู่แล้วว่ากลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน แต่ในยุคที่ทั่วโลกมองหาพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ GPSC หรือบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัทธุรกิจไฟฟ้าในเครือ ปตท. จึงเริ่มพัฒนา “อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน” โดยร่วมกับสตาร์ทอัพ พัฒนาโซลูชันกักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ตอบโจทย์ภาคครัวเรือนและการใช้งานในอาคาร เพื่อต่อยอดสู่ New S-Curves Business
เรื่องนี้ GPSC ร่วมลงทุนกับ บริษัท 24M Technologies สตาร์ทอัพด้านการวิจัยของสหรัฐอเมริกา โดยใช้งานวิจัยเกี่ยวกับเซลล์แบตเตอรี่มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน ซึ่งหลังจากเห็นแนวโน้มการใช้งานได้จริง ทำให้ GPSC ร่วมกับ ปตท. ในการวิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid เพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ทั้งด้านเทคนิค ต้นทุน รวมถึงความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ จากการแก้จุดอ่อนด้านพลังงาน
ถึงยุคอุตสาหกรรม “พลังงาน” ขยับตัว ?
แม้ว่าการดำเนินชีวิตล้วนมีเรื่องของพลังงานเข้ามาข้องเกี่ยว แต่สาเหตุที่ผู้ให้บริการธุรกิจด้านพลังงานจะต้องปรับตัวนั้น ไม่ได้มีเหตุผลจาก Pain Point ด้านพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการ Disrupt ด้วย เพราะพลังงานที่ GPSC นำมาใช้กับแบตเตอรี่ต้นแบบ คือ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลและเป็นพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์มีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ไม่มีแสงอาทิตย์ 24 ชั่วโมง ไม่สามารถกักเก็บได้ และมีต้นทุนการใช้ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าค่อนข้างสูงจากโรงงานไฟฟ้าสู่ครัวเรือน การขยับตัวครั้งนี้ จึงถือเป็นความท้าทายในการขยับตัวของ GPSC และกลุ่ม ปตท.
สำหรับเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้กับพลังงานหมุนเวียนแนวคิดใหม่นี้ เรียกว่าเทคโนโลยี Semi-Solid ซึ่งเป็นนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technologies ที่สามารถลดขั้นตอนการผลิตได้ถึง 50% แต่เซลล์แบตเตอรี่ยังมีความปลอดภัยสูง จึงมีประสิทธิภาพในธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (ESS) ระยะยาว
ภารกิจ “New S-Curves Business”
แนวคิดดังกล่าว ไม่ได้มีเป้าหมายแค่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ แต่ GPSC ยังคาดหวังถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน New S-Curves ที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการขยายธุรกิจอีกด้วย แต่ New S-Curves หมายถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาธุรกิจรวมถึงเม็ดเงินจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กัน แต่หากประสบความสำเร็จจริง ก็จะหมายถึงก้าวสำคัญที่บริษัทจะสามารถต่อยอดธุรกิจ
เทรนด์ Smart Energy ต่อยอดธุรกิจแบตเตอรี่
เนื่องจากแบตเตอรี่เริ่มเป็นตลาดที่หลายธุรกิจให้ความสนใจ เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และบริหารจัดการพลังงานภายในชุมชนและเมือง ซึ่ง ปตท. และ GPSC ก็มีแนวคิดสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบอยู่แล้ว ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับ 24M Technologies ถูกกำหนดกรอบดำเนินงานไว้ 2 ปี โดยคาดว่าโรงงานต้นแบบนี้จะสามารถผลิตแบตเตอรี่สูตร LFP เพื่อใช้งานภายในบ้านที่อยู่อาศัย และแบตเตอรี่ Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide หรือ NMC สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้
ทั้งนี้ ปตท. และ GPSC เริ่มนำร่องพัฒนา Smart Energy Community ในพื้นที่ EECi วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง ด้วยการติดตั้งโซลาร์รูฟและโซลาร์ลอยน้ำ มีการใช้ Blockchain ในการซื้อขายไฟฟ้าแต่ละอาคารและมีการใช้เทคโนโลยี AI ในการติดตามสภาวะอากาศที่เหมาะสมในการผลิตและเลือกใช้แหล่งผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม ทำให้เกิด Deep Learning หรือ Big Data จากระบบซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค