ย้อนดูการเดินทาง 86 ปีของ Samsung จากบริษัทการค้าเล็กๆ สู่อาณาจักรธุรกิจทรงอิทธิพลระดับโลก

  • 110
  •  
  •  
  •  
  •  

Samsung บริษัททรงอิทธิพลระดับโลกที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเกาหลีใต้ ยืนหยัดผ่านกาลเวลามา 86 ปี เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่หยุดยั้ง โดยก่อตั้งขึ้นในฐานะบริษัทการค้าขนาดเล็ก จนพัฒนาเป็นกลุ่มบริษัทที่เติบโตในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง ชีวเภสัชภัณฑ์ และอีกมากมาย 

ปัจจุบัน Samsung เป็นแกนหลักในวงการเทคโนโลยีระดับโลก โดยสร้างชื่อมาจากสมาร์ทโฟน โทรทัศน์ และเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำสมัย การลงทุนเชิงกลยุทธ์ในด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ Samsung ยืนหยัดอยูในฐานะแนวหน้าของด้านเทคโนโลยี ยิ่งไปกว่านั้น Samsung ยังมีบทบาทสำคัญอย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ตั้งแต่มีส่วนสำคัญต่อ GDP ของประเทศ ไปจนถึงสร้างโอกาสการจ้างงานจำนวนมาก

เราจะมาย้อนดูการเดินทางอันน่าทึ่งของ Samsung และ Turning Point ที่สำคัญ กลยุทธ์การขยายธุรกิจทั่วโลก และบทบาทสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้

ก่อตั้งและ Diversify ธุรกิจ (1938-1960s)

Samsung ก่อตั้งโดย Lee Byung-chul ในปี 1938 ที่เมืองแดกู ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยเงิน 30,000 วอน โดยเป็นบริษัทการค้าที่ทำธุรกิจเทรดดิ้งสินค้าอุปโภคบริโภคจากในท้องถิ่น โดยเฉพาะปลาแห้ง พืชผัก เส้นก๋วยเตี๋ยว และส่งออกไปยังประเทศจีนด้วย โดยมีพนักงาน 40 คน ซึ่งชื่อ ‘ซัมซุง’ ในภาษาเกาหลีหมายถึง ‘ดาวสามดวง’ สื่อถึงความยิ่งใหญ่, อุดมสมบูรณ์ และแข็งแกร่ง เนื่องจาก Lee Byung-chul นั้นอยากให้บริษัทของเขาเหมือนดวงดาวที่สุกสกาวอยู่บนท้องฟ้าตราบนานเท่านาน

อนุเสาวรีย์ของ Lee Byung-chul ผู้ก่อตั้ง Samsung หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในเครือบริษัท (Stock for you / Shutterstock.com)

ช่วงสงครามเกาหลีปะทุในปี 1950 บริษัท Samsung ก็เติบโตขึ้นและขยายไปยังกรุงโซล หลังการสู้รบยุติ Lee Byung-chull ก็ก่อตั้งโรงงานน้ำตาลในปูซาน ก่อนที่จะขยายไปทำธุรกิจสิ่งทอโดยก่อตั้งโรงงานทอผ้าขนสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี ณ ตอนนั้น เนื่องจาก Lee Byung-chul มีความต้องการที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังสงครามด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันธุรกิจของเขาก็ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลเกาหลี ซึ่งต้องการที่จะช่วยเหลือกลุ่มทุนหรือ ‘แชโบล’ ในประเทศ ด้วยการปกป้องจากการแข่งขันและให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยง่าย

แนวความคิดในการดำเนินธุรกิจแบบแชโบลหรือธุรกิจครอบครัวนั้น Lee Byung-chul ได้รับเอาแนวความคิดนี้มาจากบริษัทญี่ปุ่นอย่าง Mitsubishi ซึ่งเป็นระบบที่เหล่าผู้บริหารจะคอยรับฟังคำสั่งอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Samsung เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ปลายทศวรรษ 1950s Samsung ซื้อกิจการธนาคารใหญ่ 3 แห่งในเกาหลี เช่นเดียวกับบริษัทประกันชีวิตและโรงงานผลิตซีเมนต์และปุ๋ย เข้าสู่ทศวรรษ 1960s Samsung ซื้อกิจการเพิ่ม ทั้งบริษัทประกันชีวิต โรงกลั่นน้ำมัน บริษัทไนลอน และห้างสรรพสินค้า นี่คือวิสัยทัศน์ของ Lee Byung-chul ที่เชื่อในเรื่อง Diversify หรือกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตไปอย่างมั่นคง ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์รากฐานที่ Samsung ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

อาณาจักร Samsung Town ในกรุงโซล (Stock for you / Shutterstock.com)

เข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (1969)

หลังจากที่ Samsung กระจายธุรกิจไปยังหลากหลายเซกเตอร์ในช่วงทศวรรษ 1960s ทั้งสิ่งทอ ประกันชีวิต ค้าปลีก แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1969 เมื่อ Samsung ได้เข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นธุรกิจหลัก โดยก่อตั้ง Samsung-Sanyo Electronics ก่อนเปลี่ยนเป็น Samsung Electronics ในภายหลัง โดยผลิตทีวีขาวดำเป็นโปรดักต์แรก ก่อนขยายไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์โทรคมนาคม นับเป็นการปูทางไปสู่การเป็นเจ้าแห่งเทคเซกเตอร์ในอนาคต

หนึ่งในสินค้ารุ่นเก่าของ Samsung Electronics

ในช่วงทศวรรษ 1970s Samsung ยังได้เข้าสู่อุตสาหกรรมหนักอย่างอู่ต่อเรือและปิโตรเคมี ปลายทศวรรษ 1970s ต่อต้นทศวรรษ 1980s ยังขยายธุรกิจออกไปอีกอย่างรวดเร็ว เช่น Samsung Data Systems (ปัจจุบันคือ Samsung SDS) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจในการพัฒนาระบบ ซึ่งช่วยให้ Samsung กลายเป็นผู้นำในด้านบริการเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้สร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาสองแห่งที่ช่วยขยายสายผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของบริษัทออกไปอีกหลายอย่าง

(yllyso / Shutterstock.com)

ช่วงทศวรรษ 1980s Samsung Electronics หันมาโฟกัสและลงทุนในธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจทางกลยุทธ์ที่สำคัญของ Lee Byung-chul เพราะทำให้ Samsung ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลก และกลายเป็นแหล่งรายได้ของ Samsung Electronics 

นอกจากนี้ Samsung ยังเริ่มขยายการดำเนินธุรกิจทั้งโรงงานและเครือข่ายการจัดจำหน่ายออกไปในระดับโกลบอล ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศทั่วโลก

การขึ้นเป็นผู้นำของ Lee Kun-hee และ ‘คำประกาศแฟรงก์เฟิร์ต’ (1993)

หลังจากที่ Lee Byung-Chul เสียชีวิตในปี 1987 Lee Kun-hee บุตรชายของเขาก็ได้ขึ้นเป็นผู้นำของ Samsung และในยุคของ Lee Kun-hee ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลให้กับบริษัท เพราะเขาคือคนที่เปลี่ยน Samsung จาก Quantity เป็น Quality หรือจากการทำเพื่อปริมาณไปสู่การเน้นคุณภาพ

กล่าวได้ว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในความสำเร็จของ Samsung คือข้อเสนอของประธาน Lee ที่เรียกว่า New Management หรือ ‘การจัดการใหม่’ ที่เขาเสนอในปี 1993 ในขณะนั้น Lee มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการขาดความสามารถในการแข่งขันของ Samsung ในตลาดโลก ประกอบกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1990s เช่น โลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนผ่านสู่ความประชาธิปไตยของเกาหลี และการเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อกสู่ระบบดิจิทัล เหล่านี้ผลักดันให้ Lee ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของ Samsung Electronics (Remus Rigo / Shutterstock.com)

ในตอนนั้นเขาเรียกผู้บริหารกลุ่มหนึ่งของ Samsung Electronics ไปที่ร้าน Best Buy ในลอสแอนเจลิสเพื่อสำรวจตลาดเกี่ยวกับแบรนด์ Samsung และพบทีวี Samsung ซึ่งปกคลุมไปด้วยฝุ่นวางอยู่บนชั้น พร้อมด้วยป้ายราคาที่ถูกกว่าสินค้าของคู่แข่งอย่าง Sony เกือบ 100 ดอลลาร์

หลังจากนั้นจึงเกิดการประชุมติดตามผลอันตึงเครียด 9 ชั่วโมง ซึ่ง Lee ได้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ที่ Samsung เพื่อแชร์ส่วนแบ่งการตลาดผ่านคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ

Lee มองว่าการปฏิวัติทางดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นเป็นโอกาสทองในการก้าวนำหน้าบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น Sony บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้เป็นผู้นำในเทคโนโลยีแอนะล็อกที่มีอยู่เดิม แต่ยังลังเลที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มาใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง New Management ของ Lee มีเป้าหมายอันทะเยอทะยานในการทำให้ Samsung เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำระดับโลกแห่งศตวรรษที่ 21 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ประธาน Lee จึงเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนแปลงองค์กรของ Samsung 4 เดือนหลังจากการประชุมที่ลอสแอนเจลีส Lee เรียกทีมผู้บริหารของเขาไปที่ห้องประชุมของโรงแรมแห่งหนึ่งในแฟรงก์เฟิร์ต โดยปกติการประชุมผู้บริหารของ Lee ขึ้นชื่อเรื่องความโหดอยู่แล้ว ส่วนใหญ่มักใช้เวลานานเป็น 10 ชั่วโมง ซึ่งผู้เข้าร่วมไม่กล้าที่จะดื่มน้ำด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องการขัดจังหวะ Lee ด้วยการลุกไปห้องน้ำ

โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าแบบพับได้ของ Samsung ก่อนพัฒนาอย่างก้าวกระโดด (Parinussa Revy / Shutterstock.com)

ที่แฟรงก์เฟิร์ตนี้เอง Lee ได้กล่าวคำกระตุ้นผู้บริหารซึ่งได้กลายเป็นวาทะอันโด่งดังของเขา เรียกว่า ‘คำประกาศแฟรงก์เฟิร์ต’ (Frankfurt Declaration) นั่นคือ “จงเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ยกเว้นภรรยาและลูกๆ ของคุณ” (Change everything except your wife and children)

ตลอดช่วงทศวรรษ 1990s Samsung จึงปรับระบบการจัดการทุกด้านให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยคุณภาพ ไม่ว่าจะลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา การทำการตลาดเพื่อการสร้างแบรนด์ และความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัล

ผลลัพธ์ของโครงการ New Management ทำให้ตั้งแต่ปี 2004  กำไรจากการดำเนินงานของ Samsung Electronics แซงหน้าบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ 5 แห่งของญี่ปุ่น รวมถึง Sony และ Panasonic อย่างต่อเนื่อง

นวัตกรรมและความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟน (2009-ปัจจุบัน)

ปี 1995 เหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวขวัญของ Lee Kun-hee อันหนึ่งคือเขาสั่งให้ทุบทำลายโทรศัพท์มือถือ Samsung คุณภาพต่ำและเผาทิ้งกว่า 150,000 เครื่อง พร้อมป้ายประกาศว่า ‘เราจะทำสินค้าคุณภาพ 100%’

(Wongsakorn Napaeng / Shutterstock.com)

หลังจากเหตุการณ์นั้น 14 ปีต่อมาในช่วงสหัสวรรษใหม่ Samsung ก็ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนซีรีส์ Galaxy ในปี 2009 ถือเป็นการก้าวขึ้นสู่ความโดดเด่นของ Samsung ในตลาดสมาร์ทโฟนระดับโลก Samsung กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ Apple ในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน ด้วยการนำเสนอรุ่นที่หลากหลายเพื่อรองรับกลุ่มตลาดที่แตกต่างกัน Samsung จึงสามารถดึงดูดผู้บริโภคในวงกว้างและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ Samsung ยังเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีจอแสดงผล OLED ซึ่งสร้างความแตกต่างที่สำคัญในผลิตภัณฑ์มือถือและทีวีของแบรนด์

ปี 2010 Samsung ลงทุนอย่างหนักใน AI, 5G และ IoT นับเป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในเทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านี้ และยังได้ขยายการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ หรือยาชีวภาพ (Biopharmaceutical) โดยมีเป้าหมายที่จะกระจายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจของให้หลากหลายยิ่งขึ้น

(yllyso / Shutterstock.com)

ปี 2014 หลังจาก Lee Kun-hee มีอาการหัวใจวาย ลูกชายของเขา Lee Jae-yong (Jay Y. Lee) เข้ารับตำแหน่งผู้นำของ Samsung แทน ภายใต้การนำของเขา Samsung ยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและขยายตัวต่อไป

ต่อเนื่องมาถึง ยุค 2020s Samsung ยังคงเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี AI, 5G และอุปกรณ์สมาร์ทโฮม รวมถึงเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนแบบพับได้ นอกจากนี้ก็กำลังขยายขอบเขตการดำเนินงานไปสู่ส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีชีวภาพ 

ล่าสุดในปี 2024 Samsung เปิดตัว Galaxy AI เทคโนโลยี AI ที่ Samsung พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาพร้อมกับสมาร์ทโฟน Galaxy S24 series 

(javi_indy / Shutterstock.com)

อิทธิพลต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้

ธุรกิจมากมายในอุตสาหกรรมหลากหลายภายใต้ Samsung Group นั้น มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ตั้งแต่การมีส่วนสำคัญต่อ GDP โดยรายได้ของ Samsung นั้นมหาศาลมากเมื่อเทียบกับ GDP โดยรวมของเกาหลีใต้ โดยจะอยู่ที่ประมาณ 15-20% เลยทีเดียว ในปี 2022 GDP ของเกาหลีใต้อยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ เฉพาะแค่รายได้ของ Samsung Electronics อย่างเดียวก็มีมูลค่าประมาณ 240 พันล้านดอลลาร์แล้ว ตอกย้ำถึงความสำคัญของ Samsung ต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้

ด้านการจ้างงานและผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม การดำเนินงานที่กว้างขวางของ Samsung ในเกาหลีใต้และต่างประเทศสร้างงานจำนวนมากและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน การจ้างงานนี้ไม่ได้จำกัดเพียงงานโดยตรงภายในบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานทางอ้อมผ่านซัพพลายเออร์ ผู้รับเหมา และผู้ให้บริการต่างๆ

(Panwasin seemala / Shutterstock.com)
(Valeriya Zankovych / Shutterstock.com)

ส่วนการส่งออก Samsung เป็นผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ โดยมีผลิตภัณฑ์เช่น เซมิคอนดักเตอร์ สมาร์ทโฟน และจอแสดงผล ถูกส่งออกไปทั่วโลก ในปี 2022 การส่งออกของเกาหลีใต้มีมูลค่าประมาณ 683 พันล้านดอลลาร์ โดยการมีส่วนร่วมของ Samsung คิดเป็นส่วนใหญ่ของตัวเลขนี้

นอกจากนี้ ด้านผลกระทบทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม การลงทุนใน R&D ของ Samsung และความก้าวหน้าในเทคโนโลยีและการผลิต ยังส่งผลให้เกาหลีใต้กลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นนำ มีผลกระทบเชิงบวกต่อภาคส่วนอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรม IT การผลิต และการศึกษา

ชื่อเสียงในเวทีโลกของ Samsung และบทบาทในอุตสาหกรรมต่างๆ ยังช่วยนำรายได้จากต่างประเทศเข้าสู่เกาหลีใต้ นวัตกรรมของบริษัท เช่น ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยังช่วยตอกย้ำและยืนยันความเป็นผู้นำของ Samsung ในตลาดโลก

ที่มา:

samsung.com

britanica.com 

theincmagazine.com

koreaherald.com

tbsnews.net

– industryweek.com

kedglobal.com


  • 110
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE