“ผมจำได้ว่าแรกๆ พอไปถาม ไปเจอหลายคน จะบอกว่าไม่มีทางที่เราจะขาย Beauty Product ที่เป็น Hi-End ของคนไทยให้คนไทยได้เลย เป็นไปไม่ได้ ผมเคยเข้าไปเสนอ Buyer แล้วโดนปฏิเสธกลับมาว่า เขาใช้แต่ของเมืองนอก ของไทยไม่มีทาง
แต่ผมดีใจที่วันนั้น เราไม่ได้รู้สึกท้อกับคำพูดเหล่านั้น ดีใจที่มีคนมาบอกโจทย์เราว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และด้วยความที่เราชอบทำสิ่งที่ทำไม่ได้ ให้เป็นไปได้ เป็นจุดผลักดัน “Panpuri” มาตลอดถึงวันนี้…”
คุณวรวิทย์ ศิริพากย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปุริ จำกัด และผู้ก่อตั้งแบรนด์ปัญญ์ปุริ (Panpuri) เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงเริ่มต้นของการปลุกปั้น Panpuri ด้วยหมายมั่นต้องการปักธงเป็น “Thai Luxury Health & Beauty Brand”
ถ้าย้อนกลับไป เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์ความงามในระดับ “Luxury Brand” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่นึกถึงแบรนด์จากฝั่งยุโรป เพราะด้วย Heritage ที่สร้างมานาน
ในขณะที่ประเทศไทย แม้จะมีองค์ประกอบของการเป็นแบรนด์ระดับ Hi-End ได้ นั่นคือ Craftmanship และคุณภาพวัตถุดิบท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้นำมาต่อยอดพัฒนานวัตกรรม – แพ็คเกจจิ้ง และวางแผนกระบวนการด้านการตลาด – การขาย
ประกอบกับการพัฒนาของประเทศไทยเมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว มุ่งเน้น Mass Production และรับจ้างผลิต (OEM) อีกทั้งในอดีตยังมีปัจจัยความเชื่อมั่นแบรนด์ไทย ในหมู่คนไทยด้วยกันเอง และ Perception ว่าสินค้าไทย ต้องขายราคาถูก!
เป็นความท้าทายใหญ่ในการสร้าง “Thai Luxury Brand” ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในคนไทย และตลาดต่างประเทศ
ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่ผ่านมา และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 17 “Panpuri” พยายามพิสูจน์ว่าแบรนด์ไทย สามารถมี “Innovation” และพัฒนาแบรนด์ – สินค้าให้อยู่ในระดับ “Luxury Brand” ได้ไม่แพ้แบรนด์ความงามระดับโลก
ถึงปัจจุบัน “Panpuri” มีสาขาในประเทศไทยกว่า 40 สาขา ส่งออกไปตลาดต่างประเทศกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานกว่า 300 คน
MarketingOops! จะชวนผู้อ่านไปดูการเดินทาง และเคล็ดลับทำอย่างไรถึงปั้นแบรนด์ Luxury Health & Beauty Brand ได้สำเร็จ นับตั้งแต่วันแรกที่สร้างความแตกต่างให้กับตัวเองจากแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด ด้วยการวางตำแหน่งเป็น “Natural Organic Brand” เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ Organic ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย และซัพพลายเออร์วัตถุดิบ Organic ในไทยก็ยังไม่ค่อยมี
พร้อมด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจในวันนี้ และแผนต่อไปในอนาคตที่กำลังพัฒนาไปสู่การเป็น “Clean Beauty” เพื่อยกมาตรฐานแบรนด์ – สินค้าให้เป็นมากกว่า Organic Product
1. จาก Passion สู่ธุรกิจจริง และวางตำแหน่งแบรนด์ชัดเจน
แม้จะไม่ได้อยู่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และความงามมาก่อน แต่ด้วยความที่ คุณวรวิทย์ ชอบใช้ผลิตภัณฑ์ Skincare มาโดยตลอด และวันหนึ่งได้เดินทางกลับเมืองไทย หลังจากใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมากว่า 10 ปี ได้มีโอกาสไปใช้บริการสปาชั้นนำแห่งหนึ่ง กลับแปลกใจว่าทำไมผลิตภัณฑ์ในสปา มีแต่ของต่างประเทศ!
ก็เลยเกิดไอเดียว่าประเทศไทยควรมีผลิตภัณฑ์สุขภาพ และความงามระดับ Luxury Brand ในที่สุดนำมาสู่การถือกำเนิดขึ้นของแบรนด์ “Panpuri” ที่ต้องการเป็น Thai Luxury Brand ในด้านสุขภาพและความงาม
“หลังเรียนจบปริญญาตรีที่แคนาดา ไปทำงานที่นิวยอร์ก สายงาน Management Consultant ในธุรกิจการเงิน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 911 ได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่อิตาลี เมื่อถึงเวลาทำวิทยานิพนธ์ ใช้โมเดลของ Michael E. Porter มาวิเคราะห์ว่าในประเทศไทย มีอุตสาหกรรมอะไรบ้างที่แข็งแรง
พบว่าประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรม Wellness & Beauty เพราะความพร้อมหลายปัจจัย แต่ตอนนั้นยังไม่ได้มีแนวคิดจะมาทำธุรกิจ พอทำงานที่ต่างประเทศมาได้สักพัก อยากกลับมาเมืองไทย และหาอะไรทำสักอย่างหนึ่ง ตอนแรกยังไม่รู้ว่าตัวเองจะจับอะไร
กระทั่งวันหนึ่งได้ไปใช้บริการสปาชั้นนำ เราอยากได้ของที่ดีที่สุดของประเทศนั้นๆ เราไม่ได้อยากใช้ของยุโรป ของอเมริกา ก็เลยเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าต้องมีช่องว่างสักอย่าง และพบคำตอบว่าทำไมผลิตภัณฑ์ของไทยยังไม่ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ
1. ประเทศไทยมีพืชพันธุ์ และองค์ความรู้มากมาย แต่ยังไม่ได้ถูกปรับให้ modernize เพื่อประยุกต์ให้ใช้ได้ในปัจจุบัน
2. แพ็คเกจจิ้งยังไม่ตอบโจทย์ คนไทยเก่งหลายอย่าง แต่ยังไม่ถนัด presentation
3. ภาพลักษณ์การเป็น Luxury Brand ในสินค้าไทยยังไม่มี สมัยนั้นคนไทยอาจไม่ค่อยเชื่อว่ามี Luxury Brand ของไทยเกิดขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมาเราถนัดเป็น OEM หรือผลิตในเชิง Mass
นี่คือ ช่องว่างทางการตลาดที่เป็นไปได้ และประเทศไทยยังขาดอยู่
ขณะเดียวกันผมรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่าเราทำงานหนัก มีความเครียด จะต้องมีสิ่งที่ช่วยบาลานซ์เรา ซึ่งความงามที่ผสานกันระหว่างภายนอก – ภายใน เป็นจุดเด่นของการดูแลตัวเองตามศาสตร์ของชาวเอเชีย ในขณะที่ชาวตะวันตก เน้นแต่ผิวพรรณอย่างเดียว
ประกอบกับทรัพยากรทางธรรมชาติ และประวัติศาสตร์วัตถุดิบของไทยที่มีมายาวนาน ถ้าถูกตีความใหม่ และนำมาแพ็คเกจรวมกันให้ลงตัวได้ น่าจะเป็นจุดเด่น และสร้างเสน่ห์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “Panpuri” เมื่อปี 2546”
คุณวรวิทย์ เล่าเพิ่มเติมถึงเหตุผลเลือกสร้างแบรนด์ให้อยู่ในเซ็กเมนต์ Luxury ว่า หนึ่งในองค์ประกอบของความเป็น “Luxury” ต้องเกี่ยวกับ “Human Touch” และความเป็น “Art” เช่น นาฬิกา Swiss ประกอบขึ้นด้วยมือ และมีงานดีไซน์
ในขณะที่ประเทศไทย มีองค์ประกอบของความเป็น Luxury สูง แต่ที่ผ่านมาเมืองไทยอาจยังไม่เป็นที่รู้จักในด้านนี้เท่าไร เนื่องจากคนไทยมีความสามารถด้าน Art & Craft และมี Story กับ History มากมาย
“ผมมองเห็นองค์ประกอบเหล่านี้ และเมืองไทยมีวัตถุดิบเยอะ แต่แค่ยังไม่ถูกประกอบร่าง จึงเป็นแรงบันดาลใจว่าทำไมเราถึงอยากสร้าง Panpuri Luxury Brand ขึ้นมา
อย่างวัตถุดิบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ Panpuri คือ มะลิ ถือเป็นดอกไม้ประจำแบรนด์ตั้งแต่แรก และเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย ที่มีคุณค่ามากมาย เราเจอไร่ปลูกมะลิ Organic สายพันธุ์ Jasmin Sambac ที่จังหวัดตาก
ในขั้นตอนการเก็บมะลิ ต้องเก็บด้วยมือ มี Human Touch เข้ามา และเก็บเฉพาะตอนเช้ารุ่งอรุณ ประมาณตี 4 – 5 เท่านั้น พอเก็บเสร็จต้องรีบ Freeze และส่งมาที่ Lab ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเข้ากระบวนการอื่นต่อไป”
2. สินค้า-บริการต้องตอบโจทย์ 3 เสาหลัก “Happier – Healthier – More Beautiful”
หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ คือ “วิสัยทัศน์” ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ก็ตาม เพราะเปรียบเป็นเข็มทิศธุรกิจ ให้กับองค์กร และพนักงาน
สำหรับ “Panpuri” ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งธุรกิจ กำหนดวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า ต้องการจะ Empower ให้ผู้บริโภคมีสุขภาพ และความงามที่ดี ด้วย 3 แกนหลัก คือ “Happier – Healthier – More Beautiful”
ทั้งการทำให้ลูกค้ามีความสุขมากขึ้น – มีสุขภาพดีขึ้น – สวยขึ้น ยังเป็น Corporate Purpose ด้วยเช่นกัน
“เราเอาโจทย์ 3 อย่างนี้มาถามตัวเองตลอดเวล่า ทุกครั้งที่เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ รหือบริการขึ้นมา เราทำให้ผู้บริโภคมีความสุขขึ้น สวยขึ้น และสุขภาพดีขึ้นหรือเปล่า ถ้าทำให้ผู้บริโภคมีความสุขขึ้น และสวยขึ้น แต่เขาไม่ได้มีสุขภาพดีขึ้น เราก็ไม่ทำ หรือถ้าสุขภาพดีขึ้นอย่างเดียว แต่ไม่ได้สวยขึ้น ก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องตอบโจทย์ทั้ง 3 แกนนี้ และไม่ว่าแบรนด์ Panpuri จะพัฒนาการไปอย่างไร ต้องอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์นี้”
3. จะแจ้งเกิดได้ ท่ามกลางการแข่งขันสูง ต้องกล้าต่าง!
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ตลาดผลิตภัณฑ์ Organic ในไทย ยังเพิ่งเริ่มต้น และมีผู้บริโภคเพียงกลุ่มเล็ก แต่ทว่ามีสัญญาณว่าต่อไปผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งคนไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ และปลอดสารเคมีมากขึ้น
เนื่องจาก “สุขภาพ” จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ดังเช่นที่ปรากฏในทุกวันนี้
“Panpuri” จับสัญญาณดังกล่าว เลือกที่จะใช้คอนเซ็ปต์การเป็นผลิตภัณฑ์ความงามที่ทำจากวัตถุดิบ Natural Organic ซึ่งในยุคนั้น ต้องถือว่าเป็น Niche Market มากๆ
“เราให้ความสำคัญกับนวัตกรรมตั้งแต่ต้น เราบอกเลยว่าใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบ Organic ตอนนั้นเมื่อปี 2546 ตลาด Organic ในไทยยังไม่กว้างขวางอย่างในปัจจุบัน ซึ่งวันนั้นผมจำได้ว่าหาซัพพลายเออร์ที่นำเข้าส่วนผสม Organic ได้ยากมาก และต้นทุนสูง
เราบอกให้ซัพพลายเออร์นำเข้ามา ถึงมีเรารับซื้อคนเดียวก็ตาม เพราะถึงแม้ Volume ยังไม่มาก แต่ถ้าทำสำเร็จ จะเกิดเป็นวงจรที่ใหญ่ขึ้นมา มีซัพพลายเออร์บางราย ทำกับเรา และประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันมีวัตถุดิบบางอย่าง ที่เราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเองโดยตรง ถือว่าเราเป็น Innovator ผลิตภัณฑ์ความงาม Organic แบรนด์ไทยในยุคแรกๆ ก็ว่าได้ ขณะที่ปัจจุบัน ทุกคนพูดถึง Organic และผู้บริโภครู้จักมากขึ้น”
4. ตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ต้องไปควบคู่กัน
อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้ “Panpuri” สามารถขยายฐานธุรกิจ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้เร็ว มาจากเริ่มต้นลุยตลาดทั้งคู่ไปพร้อมกัน โดยเริ่มต้นออกงานแฟร์ที่เกี่ยวกับ Health & Beauty Fair จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก
ในงานจะมี Buyer จากต่างประเทศบินเข้ามาดูแบรนด์ไทยที่น่าสนใจ และยุคเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เป็นยุค Entrepreneur กำลังบูม ทำให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจ SME จำนวนมาก
“ในเป้าหมายอยากให้ Panpuri เป็น Regional Brand หรือ Global Brand แต่เรารู้ว่าถ้าแบรนด์ไม่แข็งแรงในประเทศตัวเอง ไม่มีทางที่จะไปบอกคนนอกบ้าน ให้ซื้อได้ เรียกได้ว่าถ้าคนในบ้าน ยังไม่ชื่นชมคุณ เป็นไปไม่ได้เลยที่คนนอกบ้านจะชื่นชมคุณ
ดังนั้น ผมเลยคิดตั้งแต่วันแรก คือ เราต้องทำตลาดในประเทศ และต่างประทเศควบคู่กันไป ฟังดูเหมือนจะขาดโฟกัส แต่เรารู้ว่าสองตลาดนี้ขาดกันไม่ได้ ถ้าเราทำตลาดต่างประเทศ แต่ไม่มีตลาดในประเทศ ก็ไม่ได้ หรือถ้ามีในประเทศ การจะให้คนไทยซื้อ ต้องได้รับความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศด้วย
เพราะบางทีก็ต้องยอมรับว่า เรายอมรับในสิ่งที่คนต่างประเทศยอมรับ โดยเฉพาะในยุคนั้น ซึ่งการทำตลาดต่างประเทศ ก็เหมือนเป็น Credibility อย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกิจ เราทำสองตลาดไปพร้อมกัน ถือว่าเป็นโมเดลที่เราเริ่มมาได้ถูกทาง และด้วยโมเดลธุรกิจนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ด้วย เพราะข้อดีของการไปทำตลาดต่างประเทศ โดยเราเริ่มจากตลาดญี่ปุ่น, ยุโรปก่อน ซึ่งประเทศเหล่านี้มี Requirement สูงมาก ในด้านผลิตภัณฑ์ความงาม โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เช่น ฉลากไม่ตรง ก็เป็นปัญหาแล้ว ถือว่าเป็น Defect แล้ว
การที่เราเรียนรู้จากตลาดต่างประเทศ ทำให้เรามีมาตรฐานสูงมากตั้งแต่วันแรก เพราะถึงแม้ตลาดในประเทศจะไม่มี Requirement ขนาดนี้ แต่เมื่อทำแล้ว ทำให้ได้มาตรฐานต่างประเทศไปเลย
พอเราไปเจอตลาดจริง ลูกค้าจริง เรารู้สึกไม่เป็นเรื่องยากสำหรับเรา ถ้าจะเปรียบ เหมือนเราฝึกฝนตัวเองมาแข่งโอลิมปิคตั้งแต่วันแรก ให้ไปอยู่ในตลาด Global พอไปลงสนาม เลยไม่รู้สึกเป็นเรื่องยาก เป็น Ambition ของแบรนด์ที่เราตั้งมาตรฐานไว้สูงตั้งแต่แรก”
5. เปิดบริการ Wellness สร้างประสบการณ์แบรนด์ครบวงจร
นอกจากทำ Retail Product ให้กับผู้บริโภค “Panpuri” ยังได้ขายในรูปแบบ B2B เข้าสปา และโรงแรมชั้นนำ รวมทั้งเปิด Panpuri Wellness Spa เป็นจิ๊กซอว์ของการสร้างประสบการณ์แบรนด์ และทำให้ได้เรียนรู้ความต้องการของลูกค้า
คุณวรวิทย์ เล่าว่า ตั้งแต่วันแรก Panpuri ไม่ได้ขายโปรดักต์อย่างเดียว แต่ยังเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจสปา และโรงแรม ในการหา Solution ว่าทำอย่างไรที่เขาจะให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น ผ่านโปรดักต์ของเรา ทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ
จนกระทั่งปี 2550 ได้เปิด “Panpuri Organic Spa” ครั้งแรกที่ศูนย์การค้าเกษร โจทย์คือ ทำอย่างไรไม่ให้แข่งกับลูกค้าที่เป็นสปา – โรงแรมโดยตรง และทำอย่างไรให้ Panpuri มีบริการ
“จากนั้นปี 2560 เรามีความรู้สึกว่าเราต้องมี Game Changer อะไรสักอย่าง จะทำแต่สปาเฉยๆ ไม่ได้ เพราะเห็น Insights คนเมืองเจอ 4 ปัญหาหลักๆ คือ ความเครียด (stress), การนอน (sleep), ความเหนื่อยล้า (fatigue) และมลภาวะ (detox)
เราคิดว่าจะแก้ 4 โจทย์นี้อย่างไร ณ ใจกลางเมืองเลย โดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องเดินทางไปพักผ่อนไกลๆ
ประกอบกับ “เกษร” กำลังสร้างตึกใหม่ จึงได้คุยกัน ได้ชั้น 12 พื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร พัฒนาเป็น “Panpuri Wellness” ใจกลางเมือง ให้บริการทั้งออนเซน, คลาสโยคะ – พีราทิส, นวด, บริการอาหาร – เครื่องดื่ม Organic เพื่อตอบโจทย์ 4 ปัญหาหลักของคนเมือง”
6. จาก Entrepreneur สู่ Professionalism
แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME และสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่แล้วมาจาก Passion ของผู้ก่อตั้ง ที่เรียกว่า “Entrepreneur Spirit”
เมื่อธุรกิจก่อร่างสร้างตัวได้สำเร็จ ขยายเป็นองค์กรใหญ่ขึ้น มีพนักงานมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ต้องมีระบบการบริหาร การทำงาน การวางแผนกลยุทธ์ หรือยุทธศาสตร์ธุรกิจที่มีความเป็น “มืออาชีพ” มากขึ้น เพื่อแข่งขันในสนามที่ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่แค่ตลาดในประเทศ แต่ต้องสามารถ scale up ธุรกิจไปได้ไกล
“แม้ตนเองจะเรียนสายการเงิน ที่ต้องมีเรื่อง Profit & Loss ชัดเจน แต่ตอนที่มาทำธุรกิจของตัวเอง ไม่ได้ดูเรื่องนั้น แต่ใช้ความบ้าบิ่นส่วนตัว และ Passion เพื่อทำสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้ ก็เลยไม่ได้คิดเรื่องผลกำไรตั้งแต่วันแรก ซึ่งสำคัญในการกำหนดการตัดสินใจว่า เราตั้งเป้าหมายทำสิ่งที่ดีที่สุดออกไปดีกว่า เพราะถ้ามัวแต่มอง Profit & Loss ตั้งแต่วันแรก แบรนด์ Panpuri คงจะไม่ไปไหน เราคงไม่กล้าขยับตัวทำอะไรทั้งสิ้น
การทำธุรกิจโดยไม่ได้มอง P&L เป็นปัจจัยแรก ทำให้เรากล้าเสี่ยงมากขึ้น และมองเห็นสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กับแบรนด์ระยะยาว มากกว่าผลกำไรระยะสั้น
แต่แน่นอนว่าตลอดระยะเวลา 16 ปี และกำลังเข้าสู่ปีที่ 17 เราต้องดูตัวเลขควบคู่กัน เนื่องจากธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น เติบโตมากขึ้น จะใช้ความรู้สึกข้างในอย่างเดียวไม่ได้
ตอนนี้ Panpuri อยู่ในสเต็ปเราเติบโตมาด้วยตัวเองตลอด จนมีพนักงานกว่า 300 คน ทำอย่างไรที่จะเป็น Next Stage พัฒนาองค์กรให้เป็น Professionalism พร้อมที่จะแข่งขัน ทั้งในเวทีระดับ Reginal และ Global ได้ อีกทั้งผมคิดอยู่เสมอว่า บริษัทฯ ต้องสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่ DNA ซึ่งเป็นรากฐานยังคงอยู่ และแบรนด์พัฒนาต่อไปได้
นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไม Panpuri ถึงขยาย และมีนักลงทุน เข้ามาร่วมทุนในรูปแบบ Private Equity ตั้งแต่ต้นปี 2561 โดยเป็น Minority Stakeholder เพราะฉะนั้นเรายังมี Entrepreneur Spirit เยอะอยู่ แต่ Entrepreneur ที่มากับ Professionalism มีระบบ กระบวนการภายในองค์กร มีกลยุทธ์ชัดเจน เพราะบริษัทโตขึ้น เราจะ Operate จากคนๆ เดียว ไม่ได้แล้ว ต้องมีระบบเข้ามารองรับด้วย”
7. ยกระดับจาก “Natural Organic” สู่ “Clean Beauty”
สเต็ปนับจากนี้ของ “Panpuri” ได้พัฒนาแบรนด์ และผลิตภัณฑ์ไปสู่การเป็น “Clean Beauty” ที่ครอบคลุม 3 ด้านคือ
-
Good ดีต่อผิว ดีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายสัตว์ ไม่ใช้ส่วนผสมจากสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้น
-
Effective คือ ให้ประสิทธิผลที่ดี
-
Necessary คือ ใส่วัตถุดิบเท่าที่จำเป็น ดังนั้นอะไรที่ใส่เพื่อเป็นลูกเล่น เอาไว้ดึงความสนใจผู้บริโภค ถ้าไม่จำเป็น จะไม่ใส่ เพราะไม่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค และสิ้นเปลืองทรัพยากร
คุณวรวิทย์ อธิบายความแตกต่างระหว่าง Organic กับ Clean Beauty ว่า “Organic” โฟกัสที่วัตถุดิบต้องมาเป็นธรรมชาติ เป็น Organic หรือที่เรียกว่า Clean Source ไม่ได้เน้นประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ กลายเป็นจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ Organic ในขณะที่ “Clean Beauty” ต้องมีครบทั้ง 3 องค์ประกอบดังกล่าว
“อยากเปรียบวงการเครื่องสำอางเหมือนกับภูเขาน้ำแข็งในทะเล เช่นเดียวกับเรือไททานิค เราจะเห็นเฉพาะก้อนน้ำแข็ง ส่นที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเท่านั้น ก็เหมือนกับเราพูดแต่คุณสมบัติด้านดี และส่วนผสมนั้น ส่วนผสมนี้ ช่วยบำรุงผิวด้านใด
แต่ก้อนน้ำแข็งส่วนที่อยู่ข้างล่างใต้ทะเล เรากลับไม่พูดถึง ซึ่งวัตถุดิบบางชนิด และการใส่วัตถุดิบที่มาเกิดความจำเป็น อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกับผิวในระยะยาว หรืออาจเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อคุณชำระล้างลงท่อไปแล้ว หรือเป็นส่วนผสมที่มาจากสัตว์
เพราะฉะนั้น Clean Beauty นำคอนเซ็ปต์ Organic มาเติมต่อว่า นอกจากใช้วัตถุดิบที่ได้จากแหล่งธรรมชาติแล้ว ยังเติมสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ ประสิทธิภาพ – ประสิทธิผล และไมได้ปฏิเสธเคมี 100% เพราะเคมีบางอย่าง จำเป็นต้องใส่ แต่ต้องเป็นเคมีที่ไม่ทำร้ายผิว และสิ่งแวดล้อม เช่น วิตามิน เกิดจากการสังเคราะห์”
นอกจากนี้ “Panpuri” ยังได้สร้างมาตรฐาน “Zero List” คือ ได้สกรีนส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ทั้งในระยะสั้น – ระยะยาว ส่วนผสมที่อาจทำลายสิ่งแวดล้อม และสัตว์ รวบรวมมาทั้งหมด 2,300 รายการ จะไม่เจอในผลิตภัณฑ์ของ Panpuri เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และยกระดับแบรนด์ไปอีกขั้น
“เป้าหมายของ Panpuri ต้องการให้เป็น First Asian Luxury Clean Beauty Brand ให้ได้ แม้ในระดับเอเชีย แบรนด์เป็นที่รู้จักระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องทำงานอีกเยอะมาก ทั้งในเมืองไทย และตลาดต่างประเทศ ทุกวันคือ การเรียนรู้ สิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดีแล้วเมื่อวาน วันนี้เราต้องพัฒนาให้ดีกว่านี้ แข่งกับตัวเอง
ผมพูดอยู่เสมอว่า การสร้างแบรนด์ คือ การวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร เพราะฉะนั้นจะไม่เห็น short term / ผมบอกทุกคนที่ทำงานด้วยกันเสมอว่าเรากำลังแข่งมาราธอน ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล แน่นอนระยะสั้น ผลกำไรธุรกิจต้องตอบผู้ถือหุ้น แต่เราก็ต้องสร้างความยั่งยืนในระยะยาว” คุณวรวิทย์ สรุปทิ้งท้าย