เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มส่งสัญญาณที่ดี ผู้คนเฝ้ารอคอยการกลับไปใช้ชีวิตปกติ ไม่ว่าจะเป็น รอการถอดมาส์ก การไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลดีทั้งด้านความรู้สึกประชาชนและฟื้นทั้งธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจฝั่งเอ็นเตอร์เทนเมนต์ต่างๆ ที่ถูกกดมานาน หนึ่งในงานที่เรียกว่าประสบความสำเร็จและอาจเรียกได้ว่าเป็นคอนเสิร์ตเฟสติวัลแรกของปี หลังจากที่เผชิญกับภาวะของโรคระบาดมานานกว่า 2 ปี และยังจัดริมทะเลอีกด้วย ได้แก่ “นั่งเล – NangLay Beach Party And Music Festival” โดย GMM SHOW ที่ Triple tree beach ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อซัมเมอร์ที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าสนใจของการจัดงานในครั้งนี้คือ การทำงานที่ผสานกันระหว่าง Creative + Big Data ซึ่งทำให้มิวสิคเฟสติวัลนี้แตกต่างและโดดเด่น ที่สำคัญคือเกิดความราบรื่นบนมาตรการเรื่องการแพร่กระจายของโรคระบาด ผ่านเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้เกิดความลื่นไหล ซึ่งน่าจะกลายเป็นการสร้างมาตรฐานของงานอีเวนท์อื่นๆ ได้อีกต่อไปในอนาคตด้วย ซึ่งเราได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานของ GMM SHOW ทั้ง 5 คน ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ได้แก่ ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์ (ป๊อบ) ผู้อำนวยการฝ่าย-ควบคุมการผลิต SHOWBIZ แบรนด์ครีเอทีฟ IDEA FACT ซึ่งเป็นแบรนด์ผู้จัดงานนั่งเล, สงวน เมธีธารา (หงวน) ผู้จัดการอาวุโส-ควบคุมการผลิต SHOWBIZ, ธารทิพย์ แสงสาตรา (กล้วย) รองกรรมการผู้อำนวยการ-หน่วยงาน CRM, ไกร กิตติกรณ์ (ไกร) ผู้อำนวยการอาวุโส-สื่อสารการตลาด และ พลัฏฏ์พล มิ่งพรพิชิต (บูม) ผู้อำนวยการ-สื่อสารการตลาด
Idea Creative ผลักดันงานให้มีเอกลักษณ์ โดดเด่นและแตกต่าง
คุณป๊อป ผู้อำนวยการฝ่าย-ควบคุมการผลิต SHOWBIZ แบรนด์ครีเอทีฟ IDEA FACT เล่าถึงไอเดียจุดเริ่มต้นของการจัด “นั่งเล” ว่า มันคือการต่อยอดจาก “นั่งเล่น” ซึ่งจัดมาได้ 5 ปี โดยกลุ่มเป้าหมายจะต่างจากคอนเสิร์ตหรือมิวสิคเฟสฯ อันอื่น โดย นั่งเล่นและนั่งเล จะเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน เฟิร์สจ็อบเบอร์เสียส่วนใหญ่ ไลฟ์สไตล์ของเขาคือ ชอบไปเที่ยวพักผ่อน ชอบถ่ายรูปในสถานที่เก๋ ชอบกิจกรรม และเน้นความสะดวกสบายตอบโจทย์การมาพักผ่อน บวกกับมิวสิคเฟสฯ ที่ทะเลไม่ค่อยมี มันก็เลยเกิดงานนั่งเลขึ้นมา
จุดแตกต่างของอีเวนต์อื่นในคาแร็ตเตอร์ของ นั่งเล่น นั่งเล คือ เราใส่ความเป็นศิลปะลงไปด้วย อย่างเรามีการดึงเอาศิลปิน “Pomme Chan” (ปอม–ธัชมาพรรณคุณ) มาดีไซน์จุดถ่ายรูป หรือก่อนหน้านี้มีการ เชิญ ศิลปิน “สเลดทอย” , KAPIZ, ANO “เนะ-อโณทัย นิรุตติเมธี” มาทำดีไซน์ มันก็เลยกลายเป็นว่าคนที่ไปมิวสิคเฟสติวัล คือเขาจะได้รูปเก๋ สวย ได้เรื่องของการถ่ายรูปสวย สำหรับลงใน IG สวยๆ มีการตกแต่งที่ต่างออกไป เป็น Iconic สำคัญของงาน นอกจากนี้ ยังนำเรื่องของกิจกรรมทางน้ำรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาช่วยสร้างสีสันด้วย เป็น Innovative activity ที่มีการใส่เข้าไป เช่น Lift Foils, SUP Board (stand up paddle board) เจ็ตสกี ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมทางน้ำพวกนี้ ก็เป็นการเชิญผู้ประกอบการในชะอำเอามาลง เพื่อสร้างรายได้ให้กับพวกเขา หรือแม้แต่เตียงผ้าใบ หรือมุมร้านอาหาร ก็เป็นผู้ประกอบการของชะอำเอง ก็คือชุมชนเองก็ต้องแฮปปี้และได้โปรโมทของดีของตัวเอง คนมาก็รู้สึกเซอร์ไพรส์กับสิ่งต่างๆ ในชุมชนได้ด้วย
การจัดงานที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว
สิ่งที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการยกระดับในการจัดอีเวนต์เมืองไทย โดยสามารถยกงาน “นั่งเล” เป็นโมเดลในเรื่องการจัดการการเข้างาน ที่ปัจจุบันนี้ต้องมีการแสดงผลการฉีดยาและผลตรวจ ATK โดยได้ คุณกล้วย รองกรรมการผู้อำนวยการ หน่วยงาน CRM ที่สำคัญคือยังเป็นเฮดที่นำข้อมูล Big Data มาใช้ในการจัดงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
คุณกล้วยเล่าว่า ปีนี้เราพัฒนาระบบของการเข้างาน “ลงทะเบียนล่วงหน้า” (Pre-register ) และการเชื่อมต่อระบบกับ “หมอพร้อม” ดังนั้น เกณฑ์การเข้างานเช่น ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ต้องมีผลตรวจ ATK ตรงนี้เราสามารถเชื่อมต่อกับระบบหมอพร้อมได้เลย และเราเป็นบริษัทแรกที่เชื่อมต่อกับระบบหมอพร้อมเพื่อการจัดงานอีเวนต์ โดยที่เรา สามารถต่อ API หลังบ้าน แค่คีย์หมายเลขบัตรประชาชนของผู้เข้างาน ก็จะไปดึงข้อมูลเข้ามาเลยว่า ฉีดวัคซีนกี่เข็ม มีผลตรวจ ATK มาเรียบร้อยไหม ซึ่งรองรับทั้งการตรวจกับหมอพร้อม แล้วก็ home test ซึ่งถ้าเป็น home test ก็จะให้ลูกค้าอัปโหลดภาพที่ตรวจเข้ามา แล้วมาถึงหน้างานก็มาแสดงอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าผ่านระบบหมอพร้อมมาแล้ว คือพอลงทะเบียนเสร็จได้ QR Code เจ้าหน้าที่ก็ยิง QR Code แล้วก็สามารถติด wristband เข้างานได้เลย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ลดเวลาในการตรวจสอบ และลดความแออัดออกันหน้างานได้เลย หนึ่งคนเราใช้เวลา 15-20 วินาทีเท่านั้น ในการตรวจสอบคนเข้างาน ทำให้ไม่มีติดขัดหน้างานเลย
ระบบนี้แทนที่คุณจะเดินมาหน้างานถือบัตรเดินเข้าไป แล้วไปทำโปรเซสต่างๆ หน้างาน ไม่จำเป็นแล้ว คุณสามารถทำได้ตั้งแต่อยู่ที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ก่อนมางาน ดังนั้น เมื่อทำทุกอย่างมาก่อนแล้ว เมื่อรับ QR Code unique ของคุณแล้วก็แค่รอสแกนเดินเข้างาน ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยเซฟเวลาเข้างานให้เร็วกว่าเมื่อก่อนได้ถึง 3 เท่าเลย
Big Data ตัวช่วยชั้นเลิศ ให้การจัดงานสำเร็จลุล่วงในทุกจุด
คุณกล้วย ย้ำว่า สิ่งที่ช่วยในการทำให้การทำงานคล่องตัว ก็คือการใช้ Big Data มันเป็นเรื่องของการใช้งาน Data ที่มันช่วยเราเรื่องการจัดการหน้างานหลายอย่าง เราเปิดลงทะเบียน 3 วันล่วงหน้า เรากะไว้ว่าอย่างน้อยมีคนเข้างาน 12,000 คน เราตั้งเป้าไว้ว่า 70% ต้องลงทะเบียนก่อนเข้างาน 30% ก็อาจจะเป็นคนทำหน้างานบ้างประปราย ซึ่งถ้าตัวเลขแบบนี้เราพอรับได้
ในความเป็นจริงวันแรกที่เราเปิดลงทะเบียน คนเริ่มลงทะเบียนวันแรกยังน้อยอยู่ เราก็ต้องเตรียมตัว ทีมสื่อสารช่วยประชาสัมพันธ์กระตุ้น เพราะว่าเรามี Data ที่เราดูได้ว่าระยะไปถึงไหนแล้ว จนเข้าวันที่ 2 อัตราการลงทะเบียนเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราเริ่มอุ่นใจ กระทั่งเที่ยงวันงานก็มีคนลงทะเบียนเป็น 68% ซึ่งโอเค. มากๆ เลย ซึ่งหลังเปิดประตูเข้างานก็พบว่ามีคนทยอยลงทะเบียนเข้ามาเรื่อยๆ แล้วก็ยังพบว่า มีหลายคนที่ลงทะเบียนขณะเดินทางบนรถ ช่วงรถติดก็มีการลงทะเบียนเข้ามา
ดังนั้น แทบทุกคนจะทำการลงทะเบียนก่อนถึงหน้างาน ประมาณ 90% เราเจอคนมาทำหน้างานน้อยมาก พอถึงหน้างานเรื่องการลงทะเบียนก็จะโฟลว์มากๆ เลย หนึ่งคนเราใช้เวลา 15-20 วินาทีเท่านั้น ในการตรวจสอบคนเข้างาน ทำให้ไม่มีติดขัดหน้างานเลย
เทคโนโลยี Data ยกระดับการจัดงานในยุคโควิด
คุณกล้วย ระบุว่า เรามีการใช้ Big Data ในการทำงานตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อซัพพอร์ตทุกๆ ทีมทั้งหมด เช่น ต้องการรู้ว่ากลุ่มคนดูเราเป็นใคร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน ชอบอะไรไม่ชอบอะไร ซึ่งจะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน หรือแม้แต่การคัดเลือก Line Up ศิลปิน เราก็จะเช็คว่ากลุ่มคนดูชอบใครบ้าง จะใช้ Big Data ในการดูว่าศิลปินกลุ่มที่เราเลือกจะพาให้ไปถึงเป้าหมายยอดคนดู หมื่นกว่าคนได้หรือไม่ ตรงนี้ก็จะเป็นข้อมูลที่ช่วยซัพพอร์ตการทำงานในมุมต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเราจะยึด Data เป็นแกนหลัก เพียงแต่ใช้เป็นข้อมูลซัพพอร์ตให้ Line Up ศิลปินเกิดความแข็งแรงขึ้น ซึ่งถ้าเกิดว่าฝั่งครีเอทีฟดูแล้วเห็นว่าศิลปินบางคนไม่เข้าพวก เช่น กลุ่มแฟนคลับไม่เกาะกลุ่มกันก็ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม นี่คือในส่วนกระบวนการทำงานช่วงแรก
ต่อมาก็คือหลังจากที่เราเคาะทุกอย่างแล้วทาง Marcom เริ่มทำงานแล้ว ต่อมาก็คือการโปรโมท ฝั่ง Data ของเราก็จะมีหน้าที่ในการมอนิเตอร์ติดตามดูการตอบรับเป็นอย่างไร engagement เป็นอย่างไร เพื่อ Prediction ว่า ในวันเปิดขายบัตรเราจะสามารถขายหมดได้หรือไม่ ทำตามเป้าหมายได้หรือไม่ และมีอะไรที่จะต้องแก้ไขบ้างเพื่อให้เป็นตามเป้าหมาย
หลังจบงาน เราก็จะเป็นเรื่องของการสำรวจความพึงพอใจ Post survey ว่าสร้างประสบการณ์ความพึงพอใจได้หรือไม่ โดยเราจะถามผู้ชมในหลายๆ แง่มุม เช่น การจราจร ห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก แสงสีเสียง อาหารฯลฯ แล้วเราก็จะรวบรวมทุกอย่างกลับมาส่งให้ทีม เพื่อเป็นเลิร์นนิ่งในการจัดงานครั้งต่อไป แต่เราก็ไม่ได้แบ่งแบบรวมกลุ่มก้อนผู้ชมเหมือนกันหมด แต่เรายังมีการแบ่งเลิร์นนิ่งตามกลุ่มลูกค้าแบบ Segmentation ด้วย เช่น ตอนนี้กลุ่มนักศึกษาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนทำงานก็จะสนใจเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น จราจร ห้องน้ำ เป็นต้น เพื่อให้เราเข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง
อุปสรรคและความท้าทายของการจัดงาน
ส่วนในเรื่องการจัดการ (Operation) ตั้งแต่การหาสถานที่ เตรียมพื้นที่ จัดตั้งเวที ไปจนถึงที่จอดรถและห้องน้ำ ล้วนเป็นงานช้างที่สำคัญ และถือเป็นหน้าตาของงาน โดยเฉพาะในช่วงโควิด ที่การจัดงานมีดีเทลมาก คุณหงวน ผู้จัดการอาวุโส-ควบคุมการผลิต SHOWBIZ เฮดทีมในส่วนนี้ เล่าเบื้องหลังการทำงานว่า ในยุคโควิดความยากคือระบบต่างๆ ที่มากขึ้น การจัดการ การคัดกรอง ฯลฯ อย่างนั่งเล เป็นครั้งแรกที่ได้มาจับงานใหญ่ที่ต้องรองรับคนกว่า 10,000 คนขึ้นไปที่ริมทะเล ซึ่งเราต้องทำการบ้านเยอะมาก ตั้งแต่ต้องมานั่งเฝ้าดูน้ำขึ้น น้ำลง ต้องเช็คด้วยว่าจัดงานข้างขึ้นหรือข้างแรม เพราะว่ามีผลต่อการจัดการเรื่องน้ำทะเล นอกจากนี้ ก็พบว่าในวันจัดงานอากาศก็ร้อนจัด ถึงขั้นว่าเที่ยงวันถึงสี่โมงเย็น ต้องพักการทำงานไว้ก่อนเลยเพราะอากาศร้อนมาก จับเหล็กจับของอะไรไม่ได้เลย ทรายก็ร้อน พักยาวถึง 4 ชั่วโมง ทำให้งานเสี่ยงต่อความล่าช้า
คุณหงวน ระบุว่า การใช้งาน Big Data เพื่อการจัดเตรียมงานและดำเนินงานสำคัญมาก ทำให้เรารู้ว่าคนเริ่มเข้างานในเวลาไหน เพื่อให้เราสามารถพร้อมในพื้นที่ได้ ตรงไหนรถแน่น รถติด ทำให้เราสามารถประสานได้ทั้งทีมงานและเจ้าหน้าที่รัฐ หรือห้องน้ำจุดไหนที่เริ่มออกันมากๆ เราก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยทำให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น และสร้างความพอใจให้กับผู้ชมได้ด้วย ซึ่งถือว่าการจัดงานนั่งเล น่าจะเป็นอีเวนต์แรกของการจัดเทศกาลดนตรีริมทะเลที่มีการจำหน่ายบัตรที่คนเยอะที่สุด แต่มีปัญหาน้อยที่สุด โดยเฉพาะในช่วงโควิดนี้ ซึ่งทั้งหมดสำเร็จได้เพราะการทำงานและการเตรียมพร้อมที่ดีของทุกฝ่าย
“คนมักจะแฮปปี้กับการดูโชว์อยู่แล้ว แต่คนมักจะบ่นเรื่องระบบการจัดการ อันนี้เราก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด เอาตัวไปคลุกคลีกับมันและเราไม่ปล่อยวาง ทำให้คนรู้สึกได้เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”
การสื่อสารทางการตลาด ในบริบทที่เปลี่ยนไปช่วงโควิด
หลังการได้บิ๊กไอเดีย และการเตรียมพร้อมในส่วนงานต่างๆ แล้ว ก็มาถึงการสื่อสารไปสู่กลุ่มคนดู เพื่อโปรโมทงาน คุณไกร ผู้อำนวยการอาวุโส-สื่อสารการตลาด เล่าในส่วนการทำ Marketing Communication ว่า ในมุมของเราคือการยั่วยวนให้คนอยากมาร่วมงาน โดยเราจะทำการสื่อสารไปกับกลุ่มแฟนเพลงของศิลปินที่จะมาร่วมงาน สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะกับงานในลักษณะนี้ ว่าคนกลุ่มนี้สนใจอะไรชอบอะไร เราก็จะครีเอทมันออกมาให้โดนใจ
“อย่างงานนั่งเล ที่ Data บอกว่าคนที่มางานนั่งเล คือคนที่ชอบเที่ยว ชอบปาร์ตี้ ผมก็ต้องไปเสาะหาพฤติกรรม ความคิดทัศนคติของเขา ผมจะยั่วเขาอย่างไรดี เหมือนว่าตอนนี้ลูกค้าเราคือคนที่ชอบมาทะเลและมาปาร์ตี้ กลางวันมาเที่ยวทะเล กลางคืนก็คือออกไปเที่ยวปาร์ตี้ เราก็ต้องหาคนกลุ่มนั้นดึงมาที่งานของเราให้ได้ ผมก็มีหน้าที่ในการทำชิ้นงานเพื่อยั่วคนกลุ่มนี้ ที่จะทำให้เขาได้รับในสิ่งที่ต้องการ คือได้ถ่ายรูปเที่ยวทะเลกลางคืนปาร์ตี้ได้มันกันแน่นอน”
เมื่อถามว่าเรามีวิธีดึงดูดคนเข้างานอย่างไรในสถานการณ์โควิดที่ยังไม่แน่นอน คุณไกร บอกว่า ถ้ามองตาม Data เราพบว่า คนที่ตัดสินใจจะมา เขาค่อนข้างมี mind set ที่ว่า ไม่ได้กังวลเรื่องโควิดเท่าไหร่ และค่อนข้างมีการเตรียมพร้อมตัวเองในระดับหนึ่งของการมาอีเวนต์ ดังนั้น สิ่งที่เราทำก็คือบอกเขาว่ามันสนุกมากแค่ไหน คุณจะได้มันเต็มที่แค่ไหน พร้อมๆ กับที่อีกมุมเรามีการสื่อสารอยู่แล้วในเรื่องมาตรการการควบคุมดูแลต่างๆ เราเตรียมพร้อมรับมืออยู่แล้วขอแค่ให้คุณมา และมาสนุกเต็มที่ได้เลยอย่างที่คุณต้องการ
อีกจุดที่น่าสนใจของการจัดอีเวนต์ในปัจจุบันคือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหลังโควิดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในมุมของการสื่อสาร (Communication online) คุณบูม ผู้อำนวยการ-สื่อสารการตลาด สิ่งที่เห็นได้ชัดในโซเชียลฯ คือหลังผ่านโควิดไป คนพร้อมมากที่จะออกมาคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ ดังนั้น จาก Data สิ่งที่เขาอยากจะรู้คือ เขาจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้สามารถเอาตัวเข้าไปร่วมงานได้ หรือเพื่อไม่ให้การจัดงานล่ม
“ผู้บริโภคเขาอัดอั้นจริงๆ เขาไม่ได้มาในมุมที่กลัวโควิด เขาจะมาในมุมที่ว่า จะทำอย่างไรให้มางานได้อย่างถูกต้อง เมื่อผู้คนได้ปรับตัวมานานถึง 2 ปี มีการฉีดวัคซีน มีการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น พอผ่านมาเกือบ 2 ปีคำถามมันเปลี่ยนไปว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง ลงหมอพร้อมอันนี้ยากไหม จะตรวจ ATK ต้องตรวจที่ไหน คือมีความพยายามในการพาตัวเองเข้ามาร่วมงานให้ได้”
ในส่วนของการใช้ Media ในการสื่อสาร กลุ่มคนดูของงานนั่งเล่นและนั่งเล ส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงานขึ้นมาหน่อย ดังนั้นพฤติกรรมของการใช้มีเดียของเขาจึงแตกต่างจากฐานแฟนบิ๊กเมาน์เท่นที่เด็กกว่า มี engage กับเพจมากกว่า ดังนั้นวิธีในการสื่อสารของเราจะแตกต่างกันไป
ส่วนในมุมการใช้โซเชียลมีเดีย Facebook เราจะใช้ในมุมการสื่อสารอย่างเป็นทางการอยู่ ส่วน Instagram เราใช้ในการสร้างบรรยากาศให้คนเห็นว่างานจะหน้าตาแบบไหน อย่าง Data บอกว่ากลุ่มลูกค้าเราคือคนที่ชอบถ่ายรูป ดังนั้น สิ่งที่เราสื่อก็ต้องบอกว่างานนี้คุณจะได้รูปสวยๆ กลับไป มีมุมในการถ่ายรูปสวยๆ อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น การสร้างคอมมูนิตี้ใน Instagram เพื่อให้เห็นทัศนียภาพ บรรยากาศ เห็นประสบการณ์ที่เขาจะได้เจอ มันคือการหล่อหลอมให้เห็นว่า ภาพของงานที่จะเกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นแบบนี้ ส่วน Twitter เราจะใช้ในการสื่อสารที่เป็น Trending right time
“ผมคิดว่าการเข้าใจ People น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งเราก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามการเติบโตของเขาด้วย ในขณะที่ Trust ก็สำคัญมากเลยโดยเฉพาะช่วงโควิด คือเราต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเราจัดได้ ซึ่งทุกๆ งานทุกๆ ปีมันก็มีปัญหาเข้ามาตลอด แต่ว่าในสภาพปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป มันก็ท้าทายเราเข้ามาเรื่อยๆ ว่า เราจะทำยังไงให้เขาเชื่อมั่น (Trust) ในฐานะ GMM Show ผู้นำอันดับ 1 ในการจัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี”
คุณบูม ตัวแทนของทุกท่านได้กล่าวถึงบทสรุปว่า
สุดท้าย GMM Show ของเราทำได้ และเป็นงานแรกหลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น งานนี้ (นั่งเล) เหมือนกับการตอกย้ำความพร้อมความสำเร็จของ GMM Show ที่สามารถจัดงานคอนเสิร์ตริมทะเลแบบขายบัตร และมีคนตอบรับกว่าหมื่นคนได้ ซึ่งน่าจะกลายเป็นมาตรฐานสำคัญของรูปแบบในการจัดงานที่ดี โดยที่ตัวเราเองก็จะไม่หยุดพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไปด้วย