เวลานี้ความนิยมของคอนเทนต์ “ซีรีส์วาย” หรือ “Y Series” ในประเทศไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง “ชายกับชาย” หรือที่เรียกว่า “คู่จิ้นหนุ่มวาย” หรือ “Boy’s Love” ซึ่งคำว่า Y ย่อมาจาก “Yaoi” ได้ขยายวงกว้างขึ้น จนกลายเป็นคอนเทนต์ “กระแสหลัก” ไปแล้ว จากในอดีตมี Audience เฉพาะกลุ่ม ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มคนดูไม่จำกัดแค่กลุ่มวัยรุ่น และวัยเริ่มทำงานเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในวงกว้างเป็น Mass Audience ที่แม้แต่กลุ่มผู้สูงวัย 65+ ก็ยังติดตามดูด้วยเช่นกัน
เมื่อพูดถึง “ซีรีส์วาย” แพลตฟอร์ม หรือช่องทางหลักที่คนนิยมดู คือ “LINE TV” ที่เริ่มนำมาฉายครั้งแรกบนแพลตฟอร์มเมื่อปี 2016 ถึงวันนี้ LINE TV เป็นแหล่งรวมคอนเทนต์ซีรีส์วายมากที่สุดในไทยถึง 33 เรื่อง
ตามย้อนรอยที่มาความฮิตของ “คอนเทนต์แนววาย” ในไทย และถอดรหัสว่าทำไม “ซีรีส์วาย” จากคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม พัฒนาและสามารถเติบโตกลายเป็นคอนเทนต์ “กระแสหลัก” ที่เข้าถึงคนดูได้ทุกกลุ่ม
พร้อมทั้งสถิติการรับชมคอนเทนต์ “ซีรีส์วาย” บน LINE TV และกลุ่มผู้ชมหลัก – พฤติกรรมการดูคอนเทนต์ประเภทนี้ ที่นักการตลาด และนักโฆษณาแบรนด์ – สินค้าต่างๆ ไม่ควรพลาดในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ผ่านคอนเทนต์แนววาย
ย้อนรอยกระแส “คอนเทนต์แนววาย” ในไทย จากนิยาย สู่ซีรีส์ดัง – จากคนดูเฉพาะกลุ่ม สู่ Mass Audience
หากย้อนหลังความนิยม “คอนเทนต์แนววาย” มีจุดเริ่มต้นมาจาก “ญี่ปุ่น” ก่อนจะขยายไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในไทย คอนเทนต์ประเภทความรักสายวายเป็นกระแสที่มีมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี จากการปรากฏขึ้นของศิลปินดารา หรือตัวละครชายในท่าทางใกล้ชิดสนิทสนมกัน ทั้งในละคร การประกวดร้องเพลง จนเกิดคำว่า “คู่จิ้น”
ประกอบกับนิยาย หรือการ์ตูนวายที่แพร่หลายมาในกลุ่มแฟนคลับนักอ่านที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าจะมีการสอดแทรกตัวละครสายวาย – คู่จิ้นในละครดังๆ หลายเรื่อง จนได้รับความนิยมและเป็นที่พูดถึงไม่แพ้คู่นักแสดงหลัก แต่ก็ยังไม่ถึงกับแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการที่น่าสนใจตั้งแต่นั้นมา
กระทั่งแต่ในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา ความนิยมดังกล่าวเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จากการที่มีช่องทีวีดิจิทัล และแพลตฟอร์มวีดีโอคอนเทนต์เพิ่มขึ้นมากมาย ผู้ผลิตจึงต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยคอนเทนต์ที่พวกเขาชื่นชอบ
หนึ่งในนั้นคือคอนเทนต์ประเภทสายวายชวนจิ้น จึงเกิดเป็นซีรีส์โทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องราวของคู่วายเป็นตัวละครหลัก ประกอบมิติเชิงสังคมที่มีการเปิดกว้าง และรับความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้คอนเทนต์ซีรีส์วาย กลายเป็นอีกหนึ่ง “ความแมส” หรือความนิยมกระแสหลักจนมาถึงทุกวันนี้
โดย Core Audience ของคอนเทนต์แนววาย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน – นักศึกษาเป็นกลุ่มหลัก รองลงมาคือ กลุ่มวัยทำงาน แต่ในระยะหลังมานี้ขยายไปยังกลุ่มกว้างมากขึ้น
5 ปัจจัยสร้างปรากฏการณ์ “ซีรีส์วาย”
คุณกณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย เจาะลึกปัจจัยหลักที่ทำให้ “ซีรีส์วาย” กลายเป็นกระแสหลัก และฐานผู้ชมขยายใหญ่กลายเป็น Mass Audience อย่างทุกวันนี้ ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลักคือ
1. “นักแสดงนำ” ซึ่งตามคอนเทนต์แนววายจะเรียกว่า “พระเอก” กับ “นายเอก” ผู้ผลิตคัดเลือกนักแสดงบุคลิกหน้าตาดี โดดเด่น และที่สำคัญเคมีทั้งคู่ต้องเข้ากัน จนสามารถจุดติดกระแส “คู่จิ้น”
ประกอบกับเวลาไปออกกิจกรรม นักแสดงทั้งคู่ได้เซอร์วิสแฟนคลับ ยิ่งโหมกระแสคู่จิ้น และซีรีส์เรื่องนั้นๆ ให้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น
2. “โครงเรื่อง” เล่าเรื่องผ่านชีวิตนักเรียน – นักศึกษา ทำให้เชื่อมโยงกับฐานคนดูในวัยเดียวกัน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชมหลักของคอนเทนต์ประเภทนี้
3. “เนื้อเรื่อง” แนวโรแมนติค เติมเต็มจินตนาการของผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนดูหลักได้ชวนจิ้นไปตามๆ กัน
4. “ต่อยอดการตลาด” ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในจอ เช่น กิจกรรมการตลาด, สร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์รูปแบบอื่น ที่นอกเหนือจากซีรีส์ เพื่อเข้าถึง และขยายฐานแฟนคลับให้หลากหลาย และกว้างขึ้นทั้งในไทย และต่างประเทศ
5. “แพลตฟอร์มออนไลน์” และการเกิดบทสนทนาบน “Social Media” สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมดูคอนเทนต์ต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่ง “ซีรีส์วาย” ก็เช่นกัน
ขณะเดียวกันในระหว่างรับชม คนดูเกาะติดกระแสซีรีส์วาย และนักแสดงเรื่องนั้นๆ บน Social Media ทำให้เกิดเกิดกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ตามมา ไม่ว่าจะเป็น hashtag และ conversation ที่คนดูได้ร่วมกันแชร์ความรู้สึกการดูซีรีส์วายเรื่องนั้นๆ
“LINE TV” ปักธง “King of Thai Content” – แพลตฟอร์มที่มีซีรีส์วายมากสุดในไทย
ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ “LINE TV” ทำหน้าที่เสิร์ฟหลากหลายคอนเทนต์ให้กับคนไทยทั่วประเทศ มียอดวิวรวมกว่า 6,000 ล้านวิวในแต่ละปี ถึงวันนี้ได้ขยับไปอีกขึ้น คือ ปักธงความเป็นแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ ที่รวบรวมคอนเทนต์ไทยที่มีความหลากหลายมากที่สุด หรือ “King of Thai Content Platform” และหนึ่งในจิ๊กซอว์ดังกล่าว คือ “ซีรีส์วาย”
โดยซีรีส์วายเรื่องแรกบน LINE TV คือ เรื่อง “Make it right” เป็น Exclusive Rerun จากช่อง 9 ในปี 2016 ในเวลานั้นยังเป็นช่วงเริ่มต้นของคอนเทนต์แนว Boy’s Love ในเมืองไทย จึงได้รับความนิยมจากผู้ชมกลุ่มหนึ่ง
แต่หลังจากนั้นมากระแส “ซีรีส์วาย” แนว Boy’s Love ค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนซีรีส์ที่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้ผลิตหยิบนิยายวาย มาสร้างในรูปแบบซีรีส์ ควบคู่กับการรีรันบน LINE TV เช่น Love Sick The Serie รักวุ่น วัยรุ่นแสบ, SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง, 2 Moons The Series เดือนเกี้ยวเดือน เดอะซีรีส์
ทำให้มีฐานผู้ชมแฟนคลับสายวายติดตาม LINE TV เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่เมื่อเขาพลาดจากการออกอากาศสด ก็จะตรงมาที่ LINE TV ได้เลย
สถิติพฤติกรรมคนดู และการเติบโตของ “ซีรีส์วาย” บน LINE TV น่าสนใจมีดังนี้
-
ปัจจุบัน Lineup คอนเทนต์ซีรีส์วายบน LINE TV มีมากถึง 33 เรื่อง (รีรัน 29 เรื่อง และ Original Content ของ LINE TV 4 เรื่อง)
-
ปี 2020 ในช่วง 4 – 5 เดือนที่ผ่านมา สัดส่วนคนดูคอนเทนต์ “ซีรีส์วาย” บน LINE TV เพิ่มขึ้นเป็น 20% จากในปี 2018 สัดส่วนคนดูคอนเทนต์หมวดนี้ อยู่ที่ 5%
-
ฐานคนดูซีรีส์วายบน LINE TV เพิ่มขึ้นถึง 328%
-
กลุ่มคนดูหลักของคอนเทนต์ซีรีส์วายบน LINE TV คือ ช่วงอายุ 18 – 24 ปี รองลงมาคืออายุ 25 – 34 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิง
-
กลุ่มคนดูซีรีส์วายที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเปลี่ยน Perception หรือภาพจำเดิมๆ ที่เรามักจะมองว่าซีรีส์วาย คนดูคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่
โดยพฤติกรรมการรับชมซีรีส์วายในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เดิมทีก่อนเกิด COVID-19 จะดูผ่านอุปกรณ์ของตนเอง เช่น มือถือ เพราะไม่อยากให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวเห็นว่าตัวเขาเองดูอะไร
แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้คนต้องอยู่บ้าน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา LINE TV ส่งเสริมประสบการณ์การรรับชมผ่านจอใหญ่มากขึ้น เช่น Smart TV ทำให้การรับชมผ่านจอใหญ่เติบโตขึ้น และพบว่าซีรีส์วายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่มีการรับชมผ่านจอใหญ่มากขึ้น
ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้เปลี่ยนพฤติกรรมจากรับชมคนเดียว ไปเป็นรับชมกับครอบครัว ในขณะที่สมาชิกในครอบครัวเข้าใจ และเปิดรับ จึงทำให้ฐานคนดูซีรีส์วาย ขยายไปยังกลุ่มผู้สูงวัย และจะเห็นว่า Audience ผู้สูงวัย นอกจากรับชมกับลูกหลานแล้ว ยังติดตามต่อด้วยตัวเองเช่นกัน
“เราพบพฤติกรรมของกลุ่มแฟนคลับวายว่า เมื่อพวกเขาฟิน และสนุกกับคอนเทนต์ ก็จะชวนให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ดูตาม เพราะฉะนั้นซีรีส์วายจึงไม่ใช่คอนเทนต์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมาย LGBT อย่างที่หลายคนมอง หากแต่เป็นกลุ่ม “Mass” ที่ชื่นชอบและเพลิดเพลินสีสันในเนื้อหาของคอนเทนต์วาย เพศไหนวัยไหนก็ดูซีรีส์วายได้ทั้งนั้น” คุณกณพ อธิบายเพิ่มเติม
-
3 ซีรีส์วายที่มาแรงบน LINE TV ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ และมาแรงติดเทรนด์บน Social Media คือ
– เพราะเราคู่กัน 2gether The Series
– EN OF LOVE รักวุ่น ๆ ของหนุ่มวิศวะ
– Why R U The Series เพราะรักใช่เปล่า
-
ซีรีส์วายทั้ง 3 เรื่องข้างต้น สามารถสร้างการเติบโตด้านยอดรับชมสูงสุดถึง 45% (Page view) หรือมากกว่า 350 ล้านวิวจากคอนเทนต์ในหมวดหมู่นี้
-
คนใช้เวลาดูคอนเทนต์ (Watch Time) ซีรีส์วายบน LINE TV นานขึ้น 34%
-
ขณะนี้ช่วงเวลา Peak Time ของ LINE TV (ภาพรวม) ขยายกว้างขึ้น คือ จากเดิมอยู่ในช่วงเวลา 22.00 – 23.00 น. เพิ่มเป็นไปถึง 24.00 – 01.00 น. อันเป็นผลมาจาก Lockdown และกระแสความนิยมคอนเทนต์
-
Top 5 อันดับ ซีรีส์วายที่มียอดรับชมสูงสุดบน LINE TV (ต้นปี 2020 ถึง ปัจจุบัน)
1. 2gether The Series
2. TharnType the Series
3. Until we meet again
4. Why R U The Series
5. En Of Love
-
ปีนี้ LINE TV ยังมีซีรีส์วายอีก 1 เรื่องคือ BKPP The Series (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) ของค่ายนาดาวบางกอก นำแสดงโดย บิวกิ้น – พีพี โดยคาดว่าจะฉายในช่วงกันยายน หรือตุลาคม
ใช้พลัง “LINE Ecosystem” ต่อยอดสู่โมเดล “Integrated Community Marketing”
จุดแข็งสำคัญของ “LINE TV” ที่ทำให้สามารถสร้างฐานคนดูได้อย่างเหนียวแน่น และ Advertiser ให้ความสนใจลงโฆษณา คือ การเป็นส่วนหนึ่งของ “LINE Ecosystem” ที่มีฐานผู้ใช้งานกว่า 45 ล้านคน และมีกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ร่วมกัน Synergy ต่อยอดความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นกรณีของ “ซีรีส์วาย” เรื่องที่ได้รับความนิยม “LINE TV” ไม่รอช้า ต่อยอดกระแสไปสู่การนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับบริการของ LINE อื่นๆ และกิจกรรมการตลาด ที่ทำให้กระแสยังคงอยู่ ขณะเดียวกันตอบโจทย์แฟนคลับ ในการทำให้นักแสดง – ซีรีส์ที่เขาชื่นชอบ อิน ฟิน เข้าไปอยู่ในโมเมนต์ต่างๆ ของชีวิตประจำวันเขาได้มากขึ้น
อย่างกระแสความนิยมในซีรีส์วายบน LINE TV 3 เรื่อง Why R U The Series เพราะรักใช่เปล่า, EN OF LOVE รักวุ่น ๆ ของหนุ่มวิศวะ และเพราะเราคู่กัน 2gether The Series ได้ต่อยอดเป็นแคมเปญเอาใจผู้ชมแฟนคลับ “อินจิ้นฟินเวอร์” โดยเป็นการตอกย้ำความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่าง LINE TV และพันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็น MandeeWork, Studio Wabi Sabi และ GMMTV
“เราชูโมเดล “Integrated Community Marketing” ที่มุ่งสร้าง Community กลุ่มผู้ชมแฟนคลับให้เหนียวแน่นมีสีสัน ด้วยการผสมผสานบริการและช่องทางการสื่อสารบน Ecosystem ของ LINE ไม่ว่าจะเป็น LINE TV, LINE STICKERS และ LINE Melody เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้เป็นมากกว่าแค่การรับชม ให้ใกล้ชิดกับคู่วายมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ผู้ชมแฟนคลับสามารถร่วมดู LIVE ย้อนหลังของคู่จิ้นต่าง ๆ และพูดคุยบน “LINE OpenChat” ของแต่ละแฟนคลับแต่ละกลุ่มไปพร้อม ๆ กัน เป็นการสร้าง Human Touch เพื่อเชื่อมโยงผู้ชมเข้ากับคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม LINE TV อย่างครบวงจร สามารถต่อยอดเป็นกลยุทธ์ในระยะยาวได้อีกด้วย”
สำหรับความสำเร็จของกิจกรรมในช่วงแรก เพียงแค่เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการไลฟ์ผ่าน LINE TV ไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ครองสถิติสูงสุดของแพลตฟอร์มแบบถล่มทลาย
-
คว้ายอดรับชมไลฟ์เติบโตสูงถึง 680% Engagement เพิ่ม 1,400 % ทุบทุกสถิติการไลฟ์บนแพลตฟอร์ม
-
พา #BrightWinxLINETV ทะยานติดอันดับเทรนด์ฮิตอันดับหนึ่งประเทศไทย และติดระดับโลกบนทวิตเตอร์ภายในเวลาไม่กี่นาที
-
คนดูซีรีส์เพิ่มขึ้น 32% สร้างยอดวิวรวมทั้งหมดถล่มทลาย ทะยานสู่ 160 ล้านวิวสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับซีรีส์คู่จิ้นบน LINE TV และคอนเทนต์ทั้งหมดบน LINE TV ในครึ่งปีแรก
-
ฟีเจอร์แชทสุดฮิต LINE OpenChat ของบรรดากลุ่มแฟนคลับก็แอคทีฟกันสุด ๆ เพิ่มขึ้นกว่า 300%
ส่วน LINE STICKERS และ LINE Melody ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ทะยานขึ้นท็อปชาร์ท สร้างปรากฏการณ์สุดฟินภายใน 24 ชั่วโมง
-
ยอดขายสติกเกอร์วันแรกโตทะลุ 1,000 % สูงสุดในรอบ 1 ปี
-
ขึ้นอันดับ 1 สติกเกอร์ขายดี ภายใน 15 นาที
-
ยอดขายเมโลดี้วันแรกสูงขึ้น 400 % สูงสุดในหมวดเมโลดี้จากซีรีส์ อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกกับเสียงรอสายสุดฟิน คำพูดประโยคฮิตจากซีรีส์อีกด้วย
-
มีคนกดฟังเมโลดี้ของสองหนุ่มมากกว่า 5,000 ครั้ง
-
แฟนคลับลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมผ่าน OFFICIAL ACCOUNT มากกว่า 10,000 คนภายใน 10 ชั่วโมง
นักการตลาด – นักโฆษณา จับเทรนด์ “ซีรีส์วาย” อย่างไร ?
จากความนิยมซีรีส์วายในกลุ่มคนไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมการรับชม และสถิติบน LINE TV ทำให้เห็นได้ว่า คนดูซีรีส์วาย ไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ หรือเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่คือ Audience กลุ่มใหญ่ที่นักการตลาด จึงเป็น “โอกาสทางการตลาด” ที่นักการตลาด และนักโฆษณาไม่ควรมองข้าม นั่นเพราะ
1. การสื่อสารในยุคดิจิทัล ต้อง Customize เฉพาะกลุ่ม
ด้วยความที่ซีรีส์แนววาย ทั้งเนื้อเรื่อง – นักแสดง และฐานคนดูกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่อายุ 18 – 25 ปี และ 25 – 34 ปี ดังนั้นหากแบรนด์ต้องการทำการตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ สามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้ ด้วยคอนเทนต์ซีรีส์วาย
2. คุณลักษณะพิเศษของซีรีส์วาย คือ มีกลุ่มคนดูที่เป็นแฟนคลับ (Advocate) และบางคนอยู่ในระดับสาวก (Evangelist)
เพราะฉะนั้นการเอาแบรนด์ หรือสินค้าเข้าไปผูกอยู่กับเรื่อง หรือนักแสดง ย่อมมีโอกาสที่แฟนคลับ และสาวกจะมาเป็น “แฟนแบรนด์” ด้วยเช่นกัน สิ่งที่ตามมาคือ แบรนด์นั้นๆ จะได้ฐานลูกค้าที่มี Brand Loyalty สูง และถ้าสร้าง Engagement ที่ดีกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะไม่ใช่แค่ Loyalty เท่านั้น หากแต่จะทำให้เกิด Brand Love
3. พฤติกรรมคนดูซีรีส์วายไม่ใช่แค่ดูอย่างเดียว แต่ในระหว่างที่ดู รวมไปถึงหลังดูจบ คือ โมเมนต์การเข้าไปมีส่วนรวม หรือได้ Engage บนโซเชียลมีเดียกับคนดูคนอื่นๆ ที่เป็นแฟนคลับ และติดตามเรื่องนั้นๆ
ดังจะเห็นได้จาก Hashtag ที่ขึ้นอันดับ 1 บนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Twitter แสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนดูซีรีส์วาย ไม่ได้แค่ต้องการสนุกกับคอนเทนต์ซีรีส์เท่านั้น แต่ยังต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม หรือแสดงความรู้สึกในคอนเทนต์นี้ผ่าน “Virtual Community” บนโซเชียลมีเดีย และ LIVE Chat บนแพลตฟอร์ม LINE TV ทำให้เกิด Networking ระหว่างคนดูด้วยกันเอง
4. ทุกวันนี้เป็นสังคมแห่งความหลากหลาย และเปิดกว้าง ดังนั้นมุมมองที่คนส่วนใหญ่มีต่อ “ซีรีส์วาย” จึงเป็นมุม Positive
แบรนด์ที่สื่อสารไปกับคอนเทนต์ซีรีส์วาย ไม่ว่าจะในรูปแบบโฆษณา หรือ Product Tie-in, Product Placement เข้าไปอยู่ในเนื้อเรื่อง จะทำให้ภาพลักษณ์ที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์/สินค้านั้นๆ ดูเป็นแบรนด์/สินค้าที่ทันสมัย อยู่ในเทรนด์ และเป็นแบรนด์ที่เปิดกว้าง
“กระแสซีรีส์วายอยู่ในทิศทาง Positive แต่จากทีมขายโฆษณา ที่ทำงานร่วมกับลูกค้า และเอเยนซีต่างๆ ได้ฟีดแบคมาคือ แบรนด์ค่อนข้าง concerns ยังไม่กล้าลงโฆษณาบนคอนเทนต์ซีรีส์วายอย่างเต็มที่นัก
อย่างไรก็ตามเป็นการบ้านของ “LINE TV” ในฐานะแพลตฟอร์ม OTT ที่อยู่บนพื้นฐานของ Advertising base ต้องทำให้เจ้าของแบรนด์ และนักการตลาดเปิดกว้าง และเข้าใจพฤติกรรมคนดูซีรีส์วายมากขึ้นว่ามี Engagement อย่างไร มี Loyalty กับแบรนด์อย่างไร และผู้บริโภคกลุ่มนี้ Positive กับสินค้า หรือแบรนด์ที่ปรากฏอยู่บนซีรีส์วาย”
อย่างปัจจุบันกลุ่มสินค้าที่มาลงโฆษณากับซีรีส์วายที่ฉายอยู่บน LINE TV ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้า FMCG เช่น ของใช้, เครื่องสำอาง และขณะนี้เราเริ่มเห็นสินค้าบริโภคเข้ามามากขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าที่จะเจาะคนดูกลุ่มนี้ได้ดี คือ สินค้าเทคโนโลยี และ Gadget ทั้งหลาย จึงมีโอกาสอีกมากสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ที่จะเข้าไป Connect กับผู้บริโภคที่เป็นคนดูซีรีส์วาย
“การดูคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม LINE TV โดยพฤติกรรมคนดู ไม่ได้ดู แล้วจบไป แต่มีการดูซ้ำ และในระหว่างดูมีส่วนร่วมกับ Virtual Community จึงเป็นโอกาสที่คนดูจะเห็นสินค้า หรือแบรนด์ที่ลงโฆษณาอีก ทำให้เกิดการจดจำ ซึ่ง LINE TV มีแพคเกจโฆษณาที่หลากหลาย เช่น รูปแบบ Pre-roll Ads โฆษณาก่อนเข้าคอนเทนต์ ซึ่งโฆษณาที่ปรากฏขึ้นจะ Personalize ตามความสนใจของคนดูแต่ละคน และ Sponsorship Package ทำในรูปแบบ Product Tie-in หรือ Product Placement
ซีรีส์วายบน LINE TV เป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันการเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย และมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกความชอบ ตามทันทุกกระแส ซึ่งนี่ถือเป็นความสำเร็จแรกของปีนี้ จึงอยากให้ติดตาม LINE TV ว่าจะสร้างปรากฏการณ์อะไรใหม่ๆให้กับธุรกิจ OTT TV และ ธุรกิจคอนเทนต์ของเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้” คุณกณพ สรุปทิ้งท้าย