“Soft Power” ทรงพลังที่ทำให้คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีขยายวงกว้างไปทั่วโลก ไม่ได้มีเพียง K-pop, K-series และ K-movie เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “K-food” ที่ถูกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกผ่านคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ ของเกาหลีได้อย่างแนบเนียน เช่น ซีรีส์ทั้งหลาย, ภาพยนตร์, รายการวาไรตี้ มีทั้งสอดแทรกอาหารการกินเข้าไปในเนื้อหา และมีรายการเกี่ยวกับอาหารโดยเฉพาะ
โดยมักจะปรากฏฉากกินรามยอน (Ramyeon), ซุปกิมจิ, บิบิมบัม, คิมบับ, ต๊อกโบกี, ปิ้งย่าง ฯลฯ ตลอดจนวัฒนธรรมการดื่ม ไม่ว่าจะเป็นโซจู (Soju), มักกอลลี (Makgeoli) คล้ายกับสาโทของไทย ตลอดจนการนำเสนอเทรนด์การกินดื่มยอดนิยมในคนเกาหลี เช่น โซจูบอมบ์ (Soju Bomb) หรือโซจูผสมเบียร์ ในเกาหลีเรียกว่า Somaek (Soju + Maekju คำว่า Maekju (맥주) หมายถึงเบียร์) หรือการรับประทานไก่ทอดสไตล์เกาหลีคู่กับเบียร์ เรียกว่า Chimaek (Chicken + Maekju)
ในขณะที่ดูฉากเหล่านี้ ผู้ชมไม่ได้รู้สึกถึงการยัดเยียด แต่กลับกระตุ้นให้อยากลอง อยากสัมผัสประสบการณ์วัฒนธรรมการกินดื่มของเกาหลี
อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลี หรือเรียกว่า “รามยอน” ได้ส่งออกไปทั่วโลก รวมทั้งตลาดไทย และปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์หลักของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยไปแล้ว โดยมีทั้งแบรนด์จากเกาหลี และผู้ผลิตไทย เช่น “มาม่า” ปั้น sub-brand “มาม่า OK” เจาะตลาดนี้โดยเฉพาะ
หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำชาติเกาหลีอย่าง “โซจู” เวลานี้กำลังเป็นกระแสในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือไทย เห็นได้จากตามซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อเพิ่มพื้นที่วางโซจูหลายยี่ห้อ หลายรสชาติ อีกทั้งผู้ผลิตแอลกอฮอล์รายใหญ่ ทั้งไทย และฝั่งตะวันตก กระโดดเข้ามาทำตลาดโซจูด้วยเช่นกัน
Demand “รามยอน” ในตลาดโลกพุ่ง! ไทยติด Top 5 ตลาดใหญ่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลี
กลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกยอดนิยม สำหรับ “รามยอน” หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่สามารถสร้างสถิติ New High ในปี 2021 และเมื่อเดือนมีนาคม 2022
โดยในปี 2021 ยอดส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลี ทำสถิติ New High ด้วยมูลค่า 674.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการเติบโต 7 ปีต่อเนื่อง โดยตลาดหลักคือ จีน ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และไต้หวัน
ขณะที่ยอดส่งออกรายเดือนของปี 2022 พบว่าเมื่อเดือนมีนาคม สามารถทะลุหลัก 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก ด้วยมูลค่าการส่งออก 71.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.8% จากเดือนกุมภาพันธ์ และสูงกว่าสถิติเดือนธันวาคม ซึ่งทำได้ 66.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ปริมาณการส่งออกของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็เป็นครั้งแรกที่มีปริมาณมากกว่า 20,000 เมตริกตัน
ตลาดส่งออกใหญ่ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลี ประกอบด้วย
– จีน: 19.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– สหรัฐอเมริกา: 9.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ญี่ปุ่น: 5.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ไทย: 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– แคนาดา: 2.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ฟิลิปปินส์: 2.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– มาเลเซีย: 2.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ฮ่องกง: 2.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– เนเธอร์แลนด์: 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ไต้หวัน: 1.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ออสเตรเลีย: 1.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 1.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– เวียดนาม: 1.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– เม็กซิโก: 1.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเจาะตลาดไทย เทรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเกาหลี ได้กระตุ้นให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มพรีเมียมขยายตัว และเติบโตในเชิง Value
เพราะมีแบรนด์ของผู้ผลิตรายใหญ่จากเกาหลี เช่น Samyang, Nongshim, Ottogi เข้ามาทำตลาดในหลากหลายรสชาติ วางเรียงอยู่เต็ม Shelf ในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ จำหน่ายในราคาโดยเฉลี่ยกว่า 40 – 50 บาทซอง
เช่นเดียวกับผู้ผลิตไทย ก็มองเห็นเทรนด์ดังกล่าว ได้พัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีออกมาทำตลาด อย่าง “มาม่า” ถือเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยรายแรกๆ ที่เข้ามาจับตลาดนี้
ด้วยการเปิดตัวกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เอเชี่ยน เส้นนุ่มสไตล์เกาหลี ภายใต้ sub-brand “มาม่า Oriental Kitchen” เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โดยวางจำหน่ายในราคาเฉลี่ย 15 บาทต่อซอง ซึ่งย่อมเยากว่าสินค้านำเข้า และเวลานั้นตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลียังไม่ได้เป็น Mainstream และมีให้เลือกมากมายอย่างในทุกวันนี้
กระทั่งปัจจุบัน “มาม่า Oriental Kitchen” ได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่เป็น “มาม่า OK” เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งพัฒนารสชาติใหม่ และขยายโปรดักต์ไลน์ไปยังกลุ่มเมนูข้าวกึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี ทั้งข้าวผัดกิมจิ และบิบิมบัม ถือได้ว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์มาม่า OK เป็น Growth Engine ให้กับแบรนด์มาม่าได้เติบโตในเชิง Value ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ธุรกิจของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ที่มุ่งเน้นเซ็กเมนต์พรีมียม และ High Value มากขึ้น นอกเหนือไปจากกลุ่มผลิตภัณฑ์มาม่าในตลาด Mass ที่เติบโต Volume base
ไม่เพียงแต่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลี ช่วยผลักดันการเติบโตเชิงมูลค่า (Value Growth) เท่านั้น ขณะเดียวกันทำให้ผู้บริโภคไทยยินดีจ่ายเงินซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ระดับราคากว่า 40 – 50 บาทขึ้นไป
แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคา 6 บาทต่อซองยังเป็นตลาดใหญ่ แต่เพื่อให้ได้ประสบการณ์ยังทำให้ผู้บริโภคไทยยินดีจ่ายเงินเพื่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ระดับราคากว่า 40 – 50 บาทขึ้นไป เพื่อให้มีประสบการณ์ร่วมไปกับซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือรายการวาไรตี้เกาหลี หรือในบางเวลาที่อยากรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติที่แตกต่างจากเดิมๆ
“โซจู ฟีเวอร์” จากเครื่องดื่มประจำชาติเกาหลี ขยายสู่ตลาดโลก และไทย
ไม่ว่าจะซีรีส์เรื่องไหน ภาพยนตร์เรื่องใด หรือแม้แต่รายการวาไรตี้ของเกาหลี ก็จะมีฉาก “ดื่มโซจู” ให้เห็นอยู่เสมอ สะท้อนภาพวัฒนธรรมของเกาหลีได้อย่างชัดเจนวา “โซจู” คือเครื่องดื่มประจำชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเกาหลี และเกือบทุกโมเมนต์ จะสุข เศร้า เหนื่อยล้า ปาร์ตี้สังสรรค์ หรืออยู่คนเดียว และแทบจะทุกมื้ออาหาร ต้องมีขวดโซจู และแก้วช็อตอยู่ด้วย
“โซจู” เป็นสุรากลั่นใส จัดอยู่ในหมวด White Spirit เช่นเดียวกับวอดก้า, เตกีลา, สาเก, จิน และเหล้าขาวของไทย มีการคาดการณ์มูลค่าตลาดโซจูทั่วโลกปี 2020 อยู่ที่ 3,025 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,553.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 หรือเติบโตโดยเฉลี่ย 2.3%
ปัจจุบันในเกาหลีมีแบรนด์โซจูมากมาย จากผู้ผลิตหลากหลาย โดยมีแบรนด์หลักๆ เช่น Chamisul ของ Hite Jinro ครองอันดับ 1 ของตลาดโซจู, Chum Churum ของ Lotte Liquor, Good Day ของบริษัท Muhak อีกหนึ่งผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ในเกาหลี
ทั้งนี้ Hite Jinro ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำตลาดโซจูในเกาหลีเท่านั้น แต่ยังเป็นแบรนด์ที่มียอดขายเชิงปริมาณสูงสุดของโลก ข้อมูลจากเว็บไซต์ Jinro Soju ระบุว่าเป็นแบรนด์สุราที่ขายดีที่สุดในโลก 20 ปีติดต่อกัน
นอกจากนี้ข้อมูลจาก “IWSR” รายงาน 100 อันดับแบรนด์สุราที่มีปริมาณยอดขายสูงสุดของโลก พบว่า “Jinro Soju” ครองอันดับ 1 ต่อเนื่อง (วัดจำนวนลัง โดย 1 ลังบรรจุ 12 ขวด)
– ปี 2016 ยอดขายกว่า 65 ล้านลัง คิดเป็น 780 ล้านขวด
– ปี 2017 ยอดขาย 75.91 ล้านลัง คิดเป็น 911 ล้านขวด
– ปี 2018 ยอดขาย 80.9 ล้านลัง คิดเป็น 970 ล้านขวด
– ปี 2019 ยอดขาย 86.3 ล้านลัง คิดเป็นกว่า 1,000 ล้านขวด
– ปี 2020 ยอดขาย 95.3 ล้านลัง คิดเป็นกว่า 1,140 ล้านขวด
ปัจจัยหลักที่ทำให้ “โซจู” กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเกาหลี และมียอดขายสูงสุดในตลาดโลก เพราะด้วยความที่หาซื้อได้ง่าย มีขายทั้งร้านมินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงร้านอาหาร และสถานบันเทิงต่างๆ ในราคาถูก และมีให้เลือกหลากหลายแบรนด
ขณะเดียวกันบรรดาผู้ผลิตได้ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ยิ่ง K-wave ขยายไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่เปิดรับวัฒนธรรมเกาหลีอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้ Demand โซจูในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทั้งประเทศแถบเอเชีย และแถบตะวันตก
Hwang Jung-Ho กรรมการผู้จัดการบริหาร Hite Jinro เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ยอดขายปี 2020 ในเกาหลีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และแม้จะเกิดวิกฤต COVID-19 แต่ก็มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มยอดขายโซจูโดยภาพรวม
ขณะที่ตลาดต่างประเทศ “เอเชีย” เป็นตลาดยุทธศาสตร์ของ Hite Jinro และได้วางกลยุทธ์เชิงรุก ทำให้ยอดขายในตลาภูมิภาคนี้เติบโต เช่น จีนและฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ฮ่องกงยอดขายเพิ่มขึ้น 4 เท่า ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วยอดขายตลาดต่างประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้น 20% ต่อปี
ขณะเดียวกัน Hite Jinro มองโอกาสตลาดนอกเอเชีย จากการเห็น Korean Wave กำลังขยายสู่โลกตะวันตกมากขึ้น เป็นผลมาจากความนิยม K-pop เพิ่มขึ้น เช่น วง BTS, ภาพยนตร์เกาหลีที่สามารถสร้างชื่อระดับโลกอย่าง Parasite และ Minari รวมทั้งความสนใจวัฒนธรรมอาหารเกาหลีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Jinro มียอดขายในตลาดสหรัฐฯ โตขึ้น 10.3% และสหราชอาณาจักร 19.6%
เมื่อมองกลับมายังตลาดไทย แม้ตลาดโซจูในไทยยังเป็น Niche Market อยู่ เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น แต่ถือว่าเป็นดาวรุ่งมาแรง โดยในช่วง 3 – 4 ปีมานี้ ตลาดโซจูในไทยเติบโตถึง 100% ผลักดันมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่กว่า 1,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
เห็นได้จากในซูเปอร์มาร์เก็ต จะเริ่มเห็นมุมจำหน่ายโซจูโดยเฉพาะ มีหลายยี่ห้อ หลายรสชาติ และในตู้แช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อ ก็จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับโซจู
นอกจากแบรนด์โซจูนำเข้าจากเกาหลีแล้ว ยังมีแบรนด์โซจูจากผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งของไทย และยักษ์ใหญ่จากตะวันตก กระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดโซจูเช่นกัน
อย่างเมื่อปีที่แล้ว “บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด” ผู้ผลิตและจำหน่ายสุรากลั่นครบวงจร ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักคาราบาวกรุ๊ป หนึ่งในนั้นคือ “คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์” ได้ปั้นแบรนด์โซจู “TAE YANG” (แทยัง) หมายถึงพระอาทิตย์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Dare to be YOUng” ชูจุดเด่นเป็นโซจูสไตล์ Trendy เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีทั้งรสผลไม้ และรสโยเกิร์ต ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ของตลาดโซจูที่กำลังได้รับความนิยมในเกาหลี
ขณะที่ล่าสุดแบรนด์วอดก้าระดับโลก “Smirnoff” (สเมอร์นอฟ) ที่มีต้นกำเนิดในรัสเซีย และปัจจุบันอยู่ในเครือดิอาจิโอ ก็เกาะเทรนด์โซจู และ K-wave เช่นกัน ด้วยการเปิดตัว Smirnoff ขวดเขียวเหมือนแบรนด์โซจูอื่นๆ ใน 2 รสชาติคือ Citron Lemon และ Strawberry Bingsu
4 ปัจจัย จาก “รามยอน” ถึง “โซจู” สร้างเทรนด์วัฒนธรรมกินดื่มเกาหลีในตลาดโลกได้สำเร็จ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมอาหารการกิน “K-food” ทั้งรามยอน และโซจูตามที่กล่าวไปข้างต้นนั้น หรือแม้แต่อาหารและเครื่องดื่มประเภทอื่นของเกาหลี กลายเป็นเทรนด์ความนิยมในตลาดโลกได้สำเร็จ นั่นเพราะ
1. เป็นผลสืบเนื่องมาจากความนิยมซีรีส์ – ภาพยนตร์ – เพลงเกาหลี – วาไรตี้เกาหลีที่ตีตลาดโลก อย่างในช่วงภาพยนตร์ Parasite บูม แฟน K-pop หรือคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ให้ความสนใจและลองทำเมนู “จาปากูรี” (chapaguri) นำรามยอน 2 รสคือ “Chapaghetti” บะหมี่กึ่สำเร็จรูปซอสดำ กับ “Neoguri” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ดมาผสมกัน
หรือเมื่อหลายปีก่อนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “Samyang” รสไก่เผ็ด กลายเป็นเทรนด์ฮิตอย่างมากในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย รวมทั้งความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีเพิ่มขึ้นในตลาดตะวันออกกลางเช่นกัน และในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เมื่อผู้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ยิ่งทำให้ Demand รามยอนทั่วโลก สำหรับเป็นอาหารฉุกเฉิน และอาหารมื้อด่วนเพิ่มสูงขึ้น
2. การเติบโตของแพลตฟอร์ม Video Stremaing เช่น YouTube, Netflix, Viu ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงคอนเทนต์เกาหลีได้ง่ายขึ้น และในหลากหลายประเภท ทั้งจากช่องของ YouTuber, ซีรีส์, ภาพยนตร์, รายการวาไรตี้ และสารคดีที่นำเสนอเรื่องราวน่าสนใจของเกาหลี ก็ยิ่งเพิ่มความอินมากขึ้นไปอีก และกระตุ้นให้ตลาด K-food เติบโต
3. ผู้ผลิตตอบรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ด้วยยุทธศาสตร์ Soft Power ของเกาหลี ไม่เพียงแต่ทำให้อุตสาหกรรมความบันเทิงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และต่อเนื่องมายังภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่สร้างผลเชิงบวกกับภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผู้ผลิตเกาหลีเล็งเห็น Demand ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ก็พร้อมเดินหน้าทำตลาดต่างประเทศ
ขณะเดียวกันผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ เมื่อเห็นการขยายตัวของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเกาหลี ก็ปั้นแบรนด์ แตกโปรดักต์ไลน์ เพื่อจับตลาดนี้โดยเฉพาะ ก็ยิ่งขับเคลื่อนวัฒนธรรมกินดื่มเกาหลีออกสู่วงกว้างมากขึ้น และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในประเทศต่างๆ
4. พัฒนานวัตกรรมใหม่ หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มคือ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ อย่างในตลาดโซจู แม้โซจู รสดั้งเดิมจะ dominate ตลาด แต่ด้วยความเข้าใจไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมการดื่มของผู้บริโภครุ่นใหม่ แสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ ทำให้บรรดาผู้ผลิตโซจูในเกาหลี ต่อยอดสู่การพัฒนารสชาติใหม่ เช่น รสผลไม้, รสมินท์ช็อกโก เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากการดื่มโซจูแบบเดิมๆ
Source: Koreaherald, MarketWatch, The Spirits Business, IWSR