กว่า 34 ปีแล้ว ที่ ‘ฮาตาริ’ มอบ ‘สายลมแห่งความสุข’ (Wind of Happiness) สู่คนไทยทุกบ้านทุกเรือน โดยเรื่องราวของฮาตาริเริ่มต้นจากความมุ่งมั่นของ ‘คุณจุน วนวิทย์’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์จากร้านซ่อมพัดลม ก่อนจะริเริ่มเปลี่ยนโฉมพัดลมเหล็กเทอะทะ ให้กลายเป็นพัดลมพลาสติกอันทันสมัย สะดวกต่อการใช้งาน ที่เราคุ้นชินกัน
จากจุดเริ่มต้นอันเรียบง่าย สานต่อสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยการนำของ ‘คุณศิริวรรณ พานิชตระกูล’ และ ‘คุณวิทยา พานิชตระกูล’ สองผู้นำรุ่นที่สองที่ได้นำวิสัยทัศน์ของคุณพ่อ มามุ่งมั่นสร้างสายลมแห่งคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยจนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และขึ้นแท่น Top of Mind เบอร์ต้นด้านพัดลม
ในวันนี้ Hatari กับยุค ‘Gen 3’ โดย ‘คุณจอยซ์-ทัศน์ลักษณ์ พานิชตระกูล’ และ ‘คุณแจส-ชัญญา พานิชตระกูล’ สองผู้บริหารรุ่นใหม่ ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ นำพาฮาตาริ ก้าวสู่ยุคดิจิทัล เดินหน้ายกเครื่อง Movement ของแบรนด์ใหม่ทั้งหมด นำนวัตกรรมความเย็น ผสานการออกแบบใหม่ในสินค้าทุกไลน์ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภค
จาก ‘สายลมแห่งความสุข’ เป็น ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’ – เปลี่ยนโฟกัสจาก ‘ลม’ สู่ ‘อากาศ’
“หลายปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว และหลากหลายมากขึ้น จุดยืนของฮาตาริ ไปจนถึงกลยุทธ์ธุรกิจ ก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน และต้องเปลี่ยนให้เร็วกว่าเทรนด์ในอนาคตจะมาถึงด้วย เพื่อให้ฮาตาริยังคงสามารถผสานเข้ากับวิถีชีวิตของคนทุกเจนได้ และเติบโตขึ้นไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือ The Wind of Change”
คุณชัญญา ได้เล่าถึงทิศทางของแบรนด์ ณ ตอนนี้ ที่เล็งขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z นอกจากนี้ยังเปลี่ยนโฟกัสของแบรนด์จาก ‘ลม’ สู่ ‘อากาศ’ หมายความว่า ฮาตาริจะไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างลมที่เย็นสบาย แต่จะสร้างอากาศที่ดี เพื่อยกระดับชีวิตของลูกค้าด้วย เราจึงจะเห็นได้ว่าฮาตารินั้นไม่ได้มีโปรดักต์พัดลม แต่จะมีไลน์เครื่องฟอกอากาศเข้ามาด้วย
คุณทัศน์ลักษณ์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า เพื่อตอบรับกับทิศทางใหม่ของแบรนด์ และสร้างสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง นับจากนี้ ฮาตาริจะเดินหน้ารีแบรนด์ผ่าน 3 กลยุทธ์อย่างเต็มรูปแบบ
1. Consumer at Heart มุ่งเน้นออกผลิตภัณฑ์ที่ทั้งตอบโจทย์ แก้ปัญหา และยกระดับ
เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอด แบรนด์จึงไม่สามารถยืนอยู่กับที่ และนำเสนอจากตัวเองเพียงอย่างเดียวได้ กลยุทธ์ ‘Consumer Centric’ จึงเป็นหัวใจสำคัญของหลายธุรกิจ เช่นเดียวกับ ฮาตาริ เพื่อนำลูกค้ามาเป็นศูนย์กลาง เพื่อออกสินค้า และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น ไปจนถึงการแก้ปัญหา Pain Point ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย
โดยกลยุทธ์ ‘Consumer at Heart’ จะแบ่งออกได้เป็น 6 ข้อ ดังนี้
– Enhance: สามารถทำให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น
– Optimised Space: ต้องสอดรับกับลักษณะที่อยู่อาศัยทุกรูปแบบ
– Nuturing air: ต่อเนื่องจาก Movement ใหม่ของแบรนด์ที่หันมาโฟกัสเรื่องอากาศที่สร้างสุขภาพที่ดี เช่น การรับมือกับฝุ่น หรือเชื้อโรคในอากาศ
– Ease of use: ลูกค้าสามารถใช้งานสินค้าได้เต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็น
– Evolving Functionality: มีฟังก์ชันมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น พัดลม ที่เป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วย
– Supporting Service: บริการหลังการขายต้องพร้อม ไม่ใช่แค่การรักษาความชื่นชอบของลูกค้า แต่ยังเป็นการยืดอายุของตัวสินค้า ไม่ให้กลายเป็นขยะที่ต้องทิ้งด้วย เพื่อตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทางฮาตาริให้ความสำคัญด้วย
2. Product Design เมื่อการออกแบบที่ดี คือหนึ่งในรูปแบบการสื่อสารกับลูกค้า
คุณทัศน์ลักษณ์แชร์ว่า จากผลการสำรวจ และวิจัยโดยทีม R&D ทำให้เห็นอินไซต์หลายอย่างที่แสดงว่าความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจริงๆ เช่น ในอดีตคนในชุมชนเมืองชอบพัดลมที่มีสีสันฉูดฉาด แต่ปัจจุบันจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุแทน ในขณะที่กลุ่มคนในเมืองหันมาชื่นชอบพัดลมดีไซน์มินิมอล เพื่อให้เป็นหนึ่งในของตกแต่งบ้านที่ไม่โดดออกมาจากเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ
เพราะในเมื่อพัดลมก็คือพัดลม แล้วฮาตาริจะแตกต่างจากแบรนด์อื่นได้อย่างไร กลยุทธ์ด้าน Product Design จึงเรียกได้ว่าสำคัญมาก ไม่เพียงแต่เรื่องการตอบโจทย์การใช้งาน แต่ยังแสดงความใส่ใจที่ฮาตาริใส่ลงไปในสินค้าทุกตัว แม้จะเป็นแค่ดีเทลเล็กๆ ก็ตาม โดย DNA ของผลิตภัณฑ์ฮาตาริ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แกน คือ
– Form: ลักษณะภายนอกของสินค้าที่ทันสมัย และทนทาน
– Details: รายละเอียดต่างๆ ที่ต้องสื่อข้อความจากแบรนด์ สู่ลูกค้า
– CMF (Colour, Material, and Finish): ตรงกับความชอบของลูกค้า และตอบโจทย์การใช้งานจริง
– Interaction: วิธีที่ลูกค้าใช้งานสินค้าตัวนั้น ไปจนถึงความรู้สึกที่ได้ใช้งาน
คุณทัศน์ลักษณ์มองว่าเพื่อให้กลยุทธ์ด้านดีไซน์สามารถตอบโจทย์ทิศทางของแบรนด์ฮาตาริต่อจากนี้ได้ สินค้าฮาตาริทุกตัวจะต้องรีดีไซน์ใหม่ และออกแบบมอเตอร์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันสามารถทำสำเร็จไปได้ 50% แล้ว ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะสำเร็จ 100% ทั้ง 70 SKU ในปี 2026 โดยปัจจุบันมีฮาตาริโรงงานผลิตขนาดใหญ่ 3 แห่งที่ผลิตชิ้นส่วนถึง 90% ด้วยตนเอง เป้าหมายในการรีดีไซน์สินค้าทั้งหมดจึงเกิดขึ้นได้จริง
3. Branding Communication – ทำให้ดีแล้ว ต้องสื่อสารออกมาให้เป็นด้วย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา นับจากรุ่นแรกอย่างคุณจุน เราจะเห็นได้ว่าฮาตาริเป็นแบรนด์ที่สื่อสารกับสังคม หรือผู้บริโภคค่อนข้างน้อย ซึ่งนอกจากโฆษณาทีวีแล้ว เราก็จะไม่ค่อยเห็นฮาตาริในช่องทางอื่นเท่าไหร่นัก หรือกระทั่งทางผู้บริหารเองก็ตาม
คุณชัญญาเล่าว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายเหมือนกันที่ก่อนหน้านี้ ฮาตาริไม่ได้ออกมาสื่อสารตัวแบรนด์เท่าไหร่ แต่สำหรับตัวเธอเองมองว่าการจะออกมาพูดอะไรบางอย่าง เช่น ความสำเร็จของแบรนด์ นั่นแปลว่าต้องทำสำเร็จแล้วจริงๆ หรือแม้จะเป็นเพียงทิศทาง ก็ต้องเป็นทิศทางที่ชัดเจน หรือทำไปจนถึงจุดที่จะสามารถออกมาพูดได้อย่างภูมิใจ
ในวันนี้ที่ฮาตาริทำได้อย่างที่เคยพูดไว้แล้ว ทั้งเรื่องความสำเร็ของแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งเกือบ 80% ในตลาดพัดลมไทย ปี 2023 ด้วยยอดขาย 7.5 ล้านยูนิต จากทั้งหมดราว 10 ล้านยูนิต สร้างยอดขายกว่า 7,000 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์ว่าปีนี้จะโตขึ้น 10% และยังเป็นพัดลมที่มีชื่อเสียง และครองใจคนไทยมาอย่างยาวนาน จึงถึงเวลาแล้วที่ฮาตาริจะออกมาสื่อสารกับผู้บริโภคให้มากขึ้น
ไม่ใช่แค่การสื่อสารด้านความสำเร็จเท่านั้น แต่ฮาตาริยังได้ออกแคมเปญสื่อสารการตลาด อย่าง ‘คนติด COOL’ ที่นับว่าเป็นครั้งแรกของฮาตาริในการผลิตพัดลมขนาดพัดลมพกพา เพื่อตอบโจทย์ชีวิตกลางแจ้งของคนไทย โดยจัดกิจกรรมมัดใจแฟนด้อมศิลปิน ‘แบมแบม’ ออกพัดลมพกพาสีเขียวมะนาวแบบพิเศษ พร้อมแฮชแทก ‘อากาเซ่ติด COOL’ และได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินความคาดหมาย
ยิ่งกว่านั้น ในเดือนมิถุนายนนี้ ฮาตาริเตรียมปล่อยแคมเปญใหม่ ในชื่อ ‘Shaped By Wind #พัดไทยให้ไกลกว่าเดิม’ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องราวของฮีโร่คนไทยในหลากหลายสายอาชีพ แสดงจุดยืนในการเป็นแบรนด์ที่จะพัดพาพลังบวกสู่สังคมไทย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจอีกมากมาย
Roadmap in 2024 – Rebrand to ‘New Hatari’
ในปี 2024 นี้ ฮาตาริเดินหน้าขยายฐานลูกค้าออกไปในกลุ่มเจนอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z ที่ตั้งเป้าให้ฐานกลุ่มนี้โตขึ้น 40% แต่ยังไม่ลืมกลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไปซึ่งเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่สุด ผ่านดีไซน์สินค้าที่ออกแบบใหม่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยใน Living Space แบบใหม่ๆ ไปจนถึงการสื่อสารทางการตลาดที่เราจะได้เห็นหน้าเห็นตาฮาตาริกันบ่อยมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเตรียมเสริมแกร่งด้านช่องทางการขาย โดยฮาตาริจะเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น สอดรับเทรนด์ยุคดิจิทัล ผ่านคู่ค้า และแพลตฟอร์มชั้นนำต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่ยังเตรียมขยายสู่ต่างประเทศเพิ่มจาก ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม สู่ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
Movement สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่า ฮาตาริเดินทางมาสู่อีกไมล์สโตนแห่งความสำเร็จของแบรนด์แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นไมล์สโตนที่ 3 ที่เราจะได้เห็นความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่น่าสนใจจากฮาตาริกันอย่างแน่นอน